‘ไทยสร้างไทย’ห่วงใยเกษตรกร หลังพบการนำเข้าผัก-ผลไม้จากจีนมหาศาล หวั่นทำเกษตรกรไทยล้มหายตายจาก แถมเกิดช่องว่างความปลอดภัยด้านอาหาร แนะ‘กษ.’ใช้กลไกการทูต เร่งแก้ปัญหา พร้อมพัฒนาสินค้าเกษตรคุณภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจใน‘ค่านิยมของไทย’
1 กันยายน 2567 นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย อดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีร้ายแรงในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นกรณีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ามีรถไฟขนส่งสินค้าผัก - ผลไม้ แบบตู้แช่เย็น ข้ามพรมแดนขบวนแรกจากมณฑลยูนนานจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมายังเวียงจันทน์ ประเทศ สปป.ลาว จากนั้นขนถ่ายสินค้าทางถนนไปยังกรุงเทพมหานคร ซึ่งคาดว่าเส้นทางนี้จะมีการขนส่งผัก - ผลไม้ มากกว่า50,000 ตัน/ปี นอกเหนือจากด่านอื่นทั่วประเทศ
นายชวลิตฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเป็นกรรมาธิการงบประมาณปี 2567 ที่ผ่านมา เลขาธิการ อย.รายงานต่อที่ประชุมว่า ไทยนำเข้าผัก - ผลไม้ ปีละนับล้านตัน ด่านสำคัญ คือ ด่านเชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งเมื่อย้อนไปในปี 2562 ในขณะที่ตนเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ปัญหาสารเคมีภาคเกษตรดังกล่าว พบว่าตามด่านชายแดนไม่มีห้องแล็บสำหรับสุ่มตรวจผัก - ผลไม้ ว่ามีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานหรือไม่ ต้องส่งตัวอย่างมาตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งไม่ทันกับเหตุการณ์ คนไทยจึงสุ่มเสี่ยงต่อการสะสมสารเคมีในร่างกายจากการรับประทาน ผัก - ผลไม้ที่มีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน
เท่ากับเป็นการ "ตายผ่อนส่ง" สอดคล้องกับสถิติที่คนไทยมีสาเหตุการตายด้วยโรคมะเร็ง ปีละ 67,000 คน ชั่วโมงละ 8 คน ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ติดต่อกันมาหลายสิบปี จริงอยู่แม้สาเหตุการเป็นโรคมะเร็งจะมีหลายสาเหตุ แต่งานวิจัยก็พบว่า การรับประทานผัก - ผลไม้ ที่มีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการเป็นมะเร็งเช่นกัน
หากประเทศไทยปล่อยให้มีการนำเข้าผัก - ผลไม้ ด้วยวิธีที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการทุ่มตลาด ก็จะเกิดผลเสียหายกับคนไทยและประเทศไทย อย่างน้อย 2 ประการ ดังนี้
1.เกษตรกรไทยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จะค่อย ๆ ล้มหายตายจาก เพราะศักยภาพในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการปลูก การผลิตผัก - ผลไม้ ตลอดจนพื้นที่การเพาะปลูก ฯลฯ เราไม่อาจเทียบประเทศใหญ่ ๆได้โดยเฉพาะ "ราคา" สินค้า หากมีการดัมพ์ราคา เกษตรกรไทยไม่สามารถสู้ได้
2. การสุ่มตรวจผัก - ผลไม้ ว่ามีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานหรือไม่ อย.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ต้องสุ่มตัวอย่างส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งไม่ทันเหตุการณ์ ส่งผลให้คนไทย "ตายผ่อนส่ง" จากการรับประทานผัก - ผลไม้ที่มีสารเคมีปนเปื้อนสะสมทุกวัน ๆ
นายชวลิต ฯได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาว่า เนื่องจากไทยมีข้อตกลง เอฟทีเอ อาเซียน - จีน ภาษีสินค้าเกษตร เป็นศูนย์ การแก้ปัญหาดังกล่าวจึงควรอาศัยกลไกทางการทูต เจรจาการค้าสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นอยู่ร่วมกันได้
ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ต้องปฏิรูปงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างขนานใหญ่ ในการพัฒนาการผลิตที่มีคุณภาพ ทั้งการลดต้นทุน ที่สำคัญต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งผลิตเพื่อตรวจสอบควบคุมการใช้สารเคมีไม่ให้มีการปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน
ที่สำคัญ รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสร้าง "ค่านิยมไทย" เช่น ไทยทำไทยใช้ ไทยเจริญ หรือไทยปลูก ไทยกิน ไทยเจริญ เป็นต้น
ที่สำคัญเราต้องให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังอาหารปลอดภัย ตลอดจนการปราบปรามผู้กระทำผิด มีความจำเป็นต้องมีการพัฒนา ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบมีอยู่หลายกระทรวง และในกระทรวงเดียวกันก็มีหลายกรม ทำงานเป็นเอกเทศ ส่งผลให้งานไม่มีเอกภาพ ซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองงบประมาณ
จึงสมควรที่จะยกระดับงาน "ระบบอาหารปลอดภัย" ขึ้น เป็นองค์กรเดียวที่มีเอกภาพ รับผิดชอบวางระบบอาหารปลอดภัยโดยเฉพาะ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของงาน ลดงบประมาณในการปฏิบัติหน้าที่ที่ซ้ำซ้อน ที่สำคัญ จะส่งผลให้ลดค่ารักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย ทั้งจากภาครัฐและประชาชนผู้เจ็บป่วยลงได้อย่างมากเมื่อคนไทยเจ็บป่วยน้อยลง ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศในทุกด้านตามมา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี