ภาพประกาศติดอยู่ในลิฟต์ของ ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ที่ผู้อ่านอาจแวะไปดูได้ในปัจจุบัน เมื่อใดจะติดอยู่ในลิฟต์ของหน่วยราชการอื่นบ้าง รวมทั้งที่รัฐสภา
เมื่อต้นเดือนกันยายน 2567 บทความในหัวข้อเดียวกันนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า วิธีการสรรหา หัวหน้าผู้ใช้อำนาจบริหารแทนปวงชนชาวไทย (หรือนายกรัฐมนตรี นั่นเอง) ที่เราใช้กันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นวิธีการที่ล้มเหลว เพราะได้พิสูจน์กันมาแล้วเกือบ 100 ปี ว่าวิธีดังกล่าว ที่ฝรั่งเรียกว่าParliamentarian Democracy (ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา) และเราไปลอกมาใช้นั้น ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ในประเทศไทย เพราะเราได้นายกรัฐมนตรีที่มาด้วยวิธีของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งมอบให้พรรคการเมือง และ สส.แห่งอำนาจนิติบัญญัติ เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีถึง 19 คน บริหารประเทศกันคนละ 1 ปีเศษๆ (รวม 30 ปี292 วัน)
แล้วเราจะยังคงใช้วิธีนี้ ต่อไปหรือ ถ้าใช้ต่อไปอีก 100 ปี ประเทศเราคงจะกลายเป็นประเทศที่พลเมืองยากจนที่สุดในโลก การคอร์รัปชั่น ซึ่งขณะนี้กระจายจากฝ่ายบริหารลงไปถึงฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ (บางกรณี)กระจายจากเจ้ากระทรวงลงไปถึงหัวหน้าสำนักงานจังหวัด และเสมียนพนักงาน คงจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ต่างชาติ จะรังเกียจเดียดฉันท์ในการที่จะมาลงทุน เป็นที่สุด
เพราะเต็มไปด้วย “ธุรกิจการเมือง” “การใช้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่คนรวย” การขาดการบริหารราชการที่ดีมีคุณธรรม (Good public governance) การ
กอบโกยประโยชน์ให้แก่ตนและญาติมิตร มิใช่เพื่อปวงชนชาวไทยโดยส่วนรวม
ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentarian Democracy) อาจจะใช้ได้ดี ในประเทศอังกฤษ ในประเทศญี่ปุ่น หรือในประเทศสิงคโปร์ ก็เพราะพลเมืองของเขามีระเบียบวินัย รักความถูกต้องยุติธรรม มีความเคารพในศักดิ์ศรีและเกียรติยศของตนเอง ไม่มีใครใช้เงินมาซื้อได้ ประเทศเขาจึงเป็นนิติรัฐโดยแท้จริง และติดอยู่ในอันดับสูงๆ ของประเทศที่ปราศจากคอร์รัปชั่น
ประเทศอื่นๆ เขาก็ปรับปรุงวิธีการสรรหาหัวหน้าผู้ใช้อำนาจบริหารแทนปวงชนกันไปมากแล้ว และเราจะไม่คิดหาวิธีใหม่ๆ แบบไทยๆ มาใช้กันบ้างหรือ เพื่อให้ได้
1.รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ มีเวลาพอที่จะพัฒนาประเทศได้
2.รัฐบาลที่มีผู้บริหารเป็นนักบริหารมืออาชีพ ที่อาจจะสรรหามาจากนักบริหาร จากผู้มีอาชีพด้านรัฐกิจ ด้านประชากิจและด้านธุรกิจ ไม่ใช่จะต้องรอให้นักบริหารมืออาชีพ จากฝ่ายทหารที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหารแต่อย่างเดียว
3.รัฐบาลที่มีคุณธรรม ไม่โกงกิน ไม่เห็นแก่ประโยชน์ของตนมากกว่าประโยชน์ของส่วนรวม มีมาตรฐานทางจริยธรรมตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
พูดมาถึงตอนนี้ ก็ขอย้อนมากล่าวถึงนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ความจริงก็เข้าคุณลักษณะเป็นนักบริหารมืออาชีพจากภาคธุรกิจ (Business Sector) ได้ แต่ที่มีอายุสั้นเพียง 1 ปี ก็เพราะตนมิใช่นักการเมืองอาชีพ ที่มีเสียงของ สส.หนุนหลัง ต้องฟังคำสั่งจาก “ผู้มีอิทธิพลนอกระบบ” จนต้องไปสอบตกด้านมาตรฐานทางจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
รัฐบาลของนายกเศรษฐา ที่น่าจะเป็นรัฐบาลแรกจากระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่หัวหน้ามาจากนักบริหารมืออาชีพ อยู่บริหารประเทศอย่างมีเสถียรภาพครบ 4 ปี จึงต้องจากไปด้วยอายุเพียง 1 ปี
สำหรับระบอบประชาธิปไตยในโลก แต่ละประเทศก็ต้องปรับปรุงประชาธิปไตยของตนเอง ให้เข้ากับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ความมีระเบียบวินัย คุณภาพของพลเมือง ของตนเอง อาทิ
ฝรั่งเศส ประเทศซึ่งปฏิวัติ จับพระราชาและพระราชินีของตน เข้าแท่นกีโยตีน เมื่อปี ค.ศ. 1789 ขณะนี้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยกึ่งประธานาธิบดี (Semi-PresidentialDemocracy) โดยประชาชนเลือกประธานาธิบดี อยู่ในตำแหน่งได้ยาวถึง 5 ปี การถอดถอนก็เป็นไปได้ยาก แต่คณะผู้บริหารประเทศ กลับเป็นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้เลือกและให้ความเห็นชอบ
จึงเป็นที่เห็นได้ชัดว่า เขาไม่ได้ให้ สส.หรือพรรคการเมือง เป็นผู้เลือกหัวหน้ารัฐบาล เช่นในระบอบที่ไทยเราใช้มา เพราะเขาเคยก็ทำเช่นนี้ และล้มเหลวมาแล้ว ในยุคสาธารณรัฐที่ 4 (Quatrieme Republique) พลเอกชาร์ล เดอ โกล จึงได้มาทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เป็นสาธารณรัฐที่ 5 (ค.ศ.1958) ที่มีฝ่ายบริหารที่มีเสถียรภาพมาจนถึงทุกวันนี้ และเขาเข้าใจดีว่า อำนาจทั้งสามของคำว่า ประชาธิปไตย (อำนาจสูงสุดของประชาชน) ซึ่งมี 3 อย่างได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ จะต้องมีการวางดุลอำนาจ (Balance of Power) กันให้ดีเหมาะสม จึงจะทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าได้
รัสเซีย ซึ่งการปกครองในระบอบกษัตริย์ ถูกโค่นล้มไปปัจจุบันก็ใช้ระบบเดียวกับฝรั่งเศส คือการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบกึ่งประธานาธิบดี (Semi-Presidential Democracy) ประธานาธิบดีปูตินเอง ก็ต้องเลือกนายกรัฐมนตรี มาเป็นผู้บริหารบ้านเมืองภายใต้การกำกับดูแลของประธานาธิบดี ที่ประชาชนเป็นผู้เลือกมา เพื่อความมีเสถียรภาพของประเทศ ไม่ได้ปล่อยให้ สส., สว. จากอำนาจนิติบัญญัติ มาเป็นผู้เลือก
สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เรียกว่า Presidential Democracy ที่ประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าผู้ใช้อำนาจบริหารแทนปวงชนอเมริกันด้วยตนเองเลยเป็นผู้เลือก ครม. และตำแหน่งบริหารอื่นๆ เอง แต่ประธานาธิบดีก็มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม สส. และประชาชนมิใช่เป็นผู้เลือกประธานาธิบดีโดยตรง Electoral College ซึ่งเป็น Electoral body ตัวจริง มาจากรัฐต่างๆ อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ชี้ขาดว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ
บราซิล,ฟิลิปปินส์ และอีกหลายประเทศอเมริกาใต้ ก็ใช้ระบบ Presidential Democracy เต็มตัวอยู่ โดยไม่มี Electoral College
จีน ประชาธิปไตยในจีน เป็นประเทศที่น่าศึกษา เพราะมีพรรคการเมืองพรรคเดียว คือพรรคคอมมิวนิสต์ อยู่ในตำบล อำเภอ จังหวัด มณฑล ไล่ขึ้นไปจนถึงประเทศ ทุกคนจะต้องไต่เต้า ผ่านการพิสูจน์ว่าเป็นผู้มีคุณธรรม เห็นแก่ประเทศชาติมากกว่าตนเองและพวกพ้อง มีความสามารถในการรับใช้ และการบริหารพรรค และชุมชนมาแล้วทุกระดับ จนเมื่อเข้าไปถึงระดับชาติแล้ว ก็ยังต้องถูกทดสอบเลี้ยงดู (Grooming) ว่าจะมาเป็นผู้นำของประเทศได้ดีหรือไม่
ผลลัพธ์ก็พิสูจน์แล้วว่า ระบอบประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจใหม่ของจีน สร้างความเจริญให้แก่ประเทศจีนเป็นอย่างมาก สร้างความกินดีอยู่ดี ให้แก่ประชากร 1,400 ล้านคนได้ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี และระบบจะไม่ทำให้ขาดผู้นำที่ดีเลย เพราะผ่านการทดสอบกลั่นกรองกันมาหลายต่อหลายชั้น
ตัวอย่างประชาธิปไตยข้างต้น ยกมากล่าวเพื่อสนับสนุนว่า ประเทศไทยคงจะต้องมีการปรับปรุงระบบการสรรหาหัวหน้าคณะผู้ใช้อำนาจบริหารแทนปวงชนชาวไทย
(นายกรัฐมนตรี) เสียใหม่ อย่าไปฝังใจอยู่กับตำราประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentarian Democracy) ซึ่งเราไปลอกแบบมาจากอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2475 และประสบความล้มเหลวมาอย่างเห็นได้ชัด (Proven Failure) ระบบนี้ยังใช้ได้ผลดีอยู่ในอังกฤษ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เพราะคนของเขาไม่เหมือนคนไทย คนไทยชอบ “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” “รู้อะไร ไม่สู้ รู้วิชา รู้รักษาตัวรอด เป็นยอดดี” “มีเงินเขาเรียกว่าน้อง มีทองเขาเรียกว่าพี่” “ไม่เอาพรรคเอาพวก ไม่เอาญาติพี่น้อง แล้วจะเอาใคร”
ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องมาปรับปรุงระบอบประชาธิปไตยของไทย เพื่อให้
1.มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ
2.มีนักบริหารมืออาชีพที่พิสูจน์แล้ว ว่ามีความสามารถบริหารธุรกิจ ประชากิจ และรัฐกิจ ที่ตนเคยรับผิดชอบ ได้เป็นผลสำเร็จด้วยดี (proven success) มาบริหารบ้านเมือง
3.ผู้ใช้อำนาจบริหารแทนปวงชนชาวไทย ทั้งข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ (ทหาร ตำรวจ พลเรือน พนักงานของรัฐ) ต้องเป็นผู้มีมาตรฐานทางจริยธรรมที่ดี
ไม่เคยมีความเสื่อมเสียทางศีลธรรม และคุณธรรม ที่สังคมไม่ยอมรับมาก่อน
นอกจากขอฝากให้ปวงชนชาวไทยทุกท่านช่วยกันคิดแล้วยังขอฝากไปถึง ผู้ชำนาญในกฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งมีชื่อเสียง เช่น อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์, อาจารย์วิษณุ เครืองาม, อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นพิเศษด้วย
ศิริภูมิ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี