‘เศรษฐา’ปรับหน้าดิน ‘แพทองธาร’หว่านเมล็ดเพื่อเติบโต!‘ลูกเสธ.แดง’กางปีกป้อง‘นายน้อยอิ๊งค์’พาคนไทย‘4มี’ไปพร้อมๆกัน อย่าล้อกันเป็นเรื่องตลก เปิดใจเป็นธรรม เลิกอคติ จะมองเห็นความฝันอยากเห็นสังคมน่าอยู่
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 12 กันยายน 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162
น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย(พท.) ลุกขึ้นอภิปรายเป็นคนแรกของฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล ว่า เหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี สร้างความกังวลใจให้กับพี่น้องประชาชนและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากทั่วโลก ว่าสภาวะสุญญากาศทางการเมืองนี้ จะทำให้นโยบายต่างๆที่ได้เริ่มไว้ของนายเศรษฐาต้องยุติลงหรือไม่ แต่มาในวันนี้ ตนมั่นใจว่าหลังจากที่พี่น้องประชาชนและนักลงทุนจากทั่วโลกแต่เห็นรายชื่อของคณะรัฐมนตรี และได้ฟังคำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี ย่อมเกิดความมั่นใจได้ว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้ จะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการบริหารประเทศ จะรับไม้ต่อจากรัฐบาลชุดก่อนแล้วจะสร้างนโยบายใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและจะสร้างผลสำเร็จให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างแน่นอน ตนอยากจะเรียกความต่อเนื่องว่า 1 ปีซ่อม 3 ปีสร้าง วางรากฐานโอกาสไทย
“1 ปีซ่อมของนายเศรษฐา เหมือนกับการปรับหน้าดินที่มีปัญหาให้กลับมาเป็นเนื้อดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นการเตรียมหน้าดินให้พร้อมกับการลงเมล็ดพันธุ์ใหม่ ในการเพาะปลูกครั้งต่อไป 3 ปีสร้างที่จะเกิดขึ้นกับนางสาวแพทองธารกับเปรียบเสมือนการหว่านเมล็ด ใส่ปุ๋ย รดน้ำและพรวนดิน เพื่อเป็นการสร้างการเติบโตให้กับเมล็ดพันธุ์ที่รัฐบาลชุดนี้จะทำ การเพาะปลูกลงไป และเตรียมรอรับดอกผลการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” น.ส.ขัตติยา กล่าว
น.ส.ขัตติยา อภิปรายขยายความถึงคำพูดของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ช่วงหาเสียง ที่ระบุว่า อยากเห็นคนไทย มีกินมีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี” จนมีการนำไปพูดตลกล้อเลียน ว่า หากเรามองประโยคนี้ด้วยใจที่เป็นธรรม ระหว่างอคติและความเกลียดชังทางการเมือง เราจะพบว่าประโยคดังกล่าวไม่ใช่คำพูดล้อเล่น ไม่ใช่เรื่องตลกแต่จริงๆแล้วประโยคนี้มีหลักการสามข้อที่สะท้อนถึงความฝันที่อยากเห็นสังคมที่ดี สังคมที่น่าอยู่ และสังคมที่มีความเป็นธรรม
1.มีกิน มีใช้ สะท้อนสังคมที่มีระดับกระจายทรัพยากรทางเศรษฐกิจ มีการกระจายโอกาสและมีการกระจายความมั่งคั่งอย่างทั่ว ทำให้สังคมไม่มีความเหลื่อมล้ำมากเกินไป สังคมที่มีกินมีใช้คือสังคมที่ประชาชนหรือ คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตและพัฒนาตนเองได้อย่างมีคุณภาพ
2.มีเกียรติ สะท้อนถึงสังคมที่เคารพและยอมรับในความแตกต่างหลากหลายทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพ วัฒนธรรม ศาสนา ชาติติพันธ์ สังคมที่มีเกียรติ คือสังคมที่สามารถอยู่ร่วมกับความแตกต่างหลากหลายได้ พลเมืองทุกคนให้เกียรติซึ่งกันและกัน แม้จะมีความแตกต่างกัน และพลเมืองทุกคนได้รับการปฏิบัติจากรัฐด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติทั้งในระดับกฎหมายและระดับของนโยบาย
3.มีศักดิ์ศรี สะท้อนให้เห็นสังคมที่มีรากฐานทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองที่เข้มแข็ง พลเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกๆด้าน จนทำให้สังคมนั้นมีชื่อเสียงและรับการยอมรับจากสายตาชาวโลก
“สุดท้าย อยากขอฝากความเชื่อมั่นและความหวังของคนไทยทุกคนเอาไว้ในมือของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ดิฉันเชื่อมั่นศักยภาพและวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย เราจะมีโอกาสได้เห็นประเทศนี้กลับมาเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความหวังเป็นบ้านที่เต็มไปด้วยความฝัน เต็มไปด้วยโอกาสและทำให้คนไทยรู้สึกภาคภูมิใจอีกครั้ง”น.ส.ขัตติยา กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี