‘อังคณา’ขอคำมั่นจากรัฐบาลหยุดวัฒนธรรม‘ลอยนวล’พ้นผิด ถามจะพลิกฟื้นความเชื่อมั่นได้อย่างไรในเมื่อหลักนิติรัฐนิติธรรมถูกทำลาย ห่วงคดีฆาตกรรม-บังคับสูญหาย ซุกอยู่ในมาตรการปราบปราม ซ้ำรอยยุคสงครามยาเสพติด ด้าน‘ทวี สอดส่อง’ยันรัฐบาลไม่ทำนอกกฎหมาย ส่วนอดีตเป็นอีกเรื่อง
12 กันยายน 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาเรื่องด่วน ครม. แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162
นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายว่า ขอชื่นชมรัฐบาลที่กำหนดนโยบายให้ผู้เสพยาเสพติดเป็นผู้ป่วย ซึ่งทำให้ผู้เสพยาเสพติด ได้รับโอกาสในการดำเนินชีวิต และได้รับกาสรบำบัดโดยสมัครใจ แทนการลงโทษจำคุก กรณีนี้อาจทำให้จำนวนนักโทษลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ผู้ต้องขังคดียาเสพติดในเรือนจำจะลดลง แต่คนเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน และแม้สมัครใจรับการรักษาแทนการจำคุก แต่ที่จริงแล้วก็ไม่ค่อยได้ไปบำบัดรักษา คนเหล่านี้ยังอยู่ในสังคมอยู่ในครอบครัว
นางอังคณา กล่าวว่า เป็นความท้าทายมาก เพราะเรื่องปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้นในชุมชน เป็นภาระของครอบครัวและชุมชนอย่างมาก เนื่องจากชุมชนขาดศักยภาพในการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ขณะที่กรมคุมประพฤติเอง ก็มีข้อจำกัดในด้านงบประมาณ และบุคลากร ทั้งการทำงานด้านการสืบเสาะ หรือติดตามการบำบัดรักษา
นางอังคณา กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลระบุ จะร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการปราบปรามยาเสพติด โดยมีความกังวลว่า รัฐบาลจะสร้างหลักประกันได้อย่างไร ว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะไม่เป็นการปราบปราม โดยเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน ซึ่งปรากฏในรายงานของสหประชาชาติว่าประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน ทั้งการค้า และการบังคับสูญหาย ซึ่งทำในนามของการปราบปรามยาเสพติด และการปราบปรามการก่อการร้าย
นางอังคณา กล่าวว่า รัฐบาลจะมีหลักประการได้อย่างไรว่า การแก้ปัญหายาเสพติด จะไม่ซ้ำรอยนโยบายในช่วงสงครามยาเสพติดที่ผ่านมา เนื่องจากภายหลังการดำเนินนโยบายนั้น มีคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นเป็นจำนวน 2,604 คดี และมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 2,873 ราย ประกอบด้วย คดีฆาตกรรมที่ผู้ตายมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด และไม่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด รวมถึงไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนั้น ยังมีคนถูกบังคับให้สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งยังมีการระบุว่ามีคนหายมากกว่า 10 กรณี จากกรณีคนหายในประเทศไทยทั้งหมด 77 กรณี โดยส่วนมากเป็นกลุ่มชาติพันทางภาคเหนือและภาคอีสาน
“วันนี้คดีการเสียชีวิตของคนนับพันคนหมดอายุความ โดยไม่มีใครต้องรับผิดหรือรับโทษ จนชาวบ้านบอกว่า มีคนตาย มีคนหาย แต่ไม่มีคนผิด” นางอังคณากล่าว
นางอังคณา กล่าวว่า ในเรื่องการพลิกฟื้นความเชื่อมั่นโดยยึดหลักนิติธรรม รัฐบาลจะสร้างหลักนิติรัฐ นิติธรรม หรือความโปร่งใสได้อย่างไร ในเมื่อประเทศไทยยังมีวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด และประชาชนไม่เคยเข้าถึงสิทธิที่จะสร้างความจริงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ
“การลอยนวลพ้นผิด คือ การใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อประชาชน โดยไม่มีผู้ใดรับผิด การลอยนวลพ้นผิด จึงเป็นการทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรมของประเทศ และเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะหลักนิติรัฐคือการรับประกันว่า ประชาชนทุกคนจะมีความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย รัฐจะปกป้องผู้ไร้อำนาจจากผู้มีอำนาจ แต่ถ้าความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายถูกทำลายลง รัฐจะสร้างความเท่าเทียมหรือพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนได้อย่างไร ในเมื่อประชาชนทำผิดต้องถูกลงโทษ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดแทบไม่มีใครถูกลงโทษ” นางอังคณา กล่าว
นางอังคณา กล่าวว่า การพลิกฟื้นความเชื่อมั่นที่สำคัญ ไม่ใช่แค่การพูด แต่คือการที่รัฐต้องทำให้ประชาชนเท่าเทียมกันทางกฎหมายอย่างแท้จริง รัฐต้องไม่ปกป้องคนผิด ไม่ปล่อยให้มีการฆ่านอกกระบวนการยุติธรรม และการอุ้มหาย รัฐบาลต้องยุติวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของประเทศไทย ตนอยากได้ยินคำมั่นจากรัฐบาลในประเด็นนี้
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ลุกขึ้นชี้แจงว่า รัฐบาลได้แถลงนโยบายว่าเราจะยึดหลักนิติธรรม และยกระดับหลักนิติธรรมของเราให้เข้มแข็ง คำว่าการแก้ปัญหายาเสพติดให้เด็ดขาดของเราก็คือดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ได้มีการดำเนินการนอกกฎหมาย ที่สำคัญอยากให้ทุกคนมั่นใจว่าวันนี้เราได้มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ซึ่งตนนั่งเป็นประธานคณะกรรมการป้องกันฯ หากมีการจับกุมจะต้องมีกล้องบันทึก หรือมีภาพให้ญาติดู เพื่อเป็นหลักประกัน
“ส่วนเรื่องอดีตเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในปัจจุบันเราเข้าใจและจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ยาเสพติดเป็นภัยในความรู้สึกของประชาชนทุกคน และเชื่อว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมในเรื่องนี้” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี