ปิดฉากแถลงนโยบายรัฐบาล! 2วันใช้เวลามาราธอนเกินอัตราพุ่งกว่า31ชั่วโมง ด้าน ‘ปชน.’ หยันทิ้งท้าย ‘ครม.ตรายาง’ ไร้อำนาจตัดสินใจ หวั่นเป็นตัวประกันอำนาจเก่า ถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายภัยคุกคาม สับ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ แค่ลมปาก ส่วน ‘แก้ รธน.’ ก็ยึกๆยักๆ ไร้คืบ ขณะที่ ‘ภูมิธรรม’ ขอบคุณ ‘รัฐสภา’ ช่วยชี้แนะ เหน็บกลับ ‘ฝ่ายค้าน’ นี่ไม่ใช่เวที ‘ซักฟอกไม่ไว้วางใจ’ ขอเชื่อมือบริหารประเทศ ย้ำเป้าหมายสูงสุดคนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี
14ก.ย.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระพิจารณาแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา162 ต่อเนื่องเป็นวันสุดท้าย โดยตลอดทั้งวันจนถึงช่วงดึกเข้าสู่วันที่14ก.ย. สมาชิกรัฐสภา ทั้งสส. และสมาชิกวุฒิสภา(สว.) รวมถึงฟากของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่มีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี สลับกันขึ้นมาอภิปราย ตอบชี้แจง กันอย่างกว้างขวาง มีการประท้วงโต้เถียงกันอยู่เป็นระยะๆ โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคประชาชน ที่ใช้เวทีดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่เสมือนการอภิปรายแบบไม่ไว้วางใจ แต่ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายบานปลายจนเกินควบคุมแต่อย่างใด
โดยในเวลา23.42น. นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นผู้อภิปรายสรุปของพรรคฝ่ายค้านว่า วาระนี้ไม่ใช่การแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ แต่เป็นการแถลงความคืบหน้าและแผนงานของรัฐบาลเดิมที่ได้ทำงานครบมาแล้ว 1 ปี เพราะถึงแม้นายกรัฐมนตรีอาจจะเปลี่ยนคน แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนพรรค ถึงแม้รัฐมนตรีบางกระทรวงอาจจะเปลี่ยนชื่อ แต่หลายคนก็ไม่ได้เปลี่ยนนามสกุล ในขณะที่องค์ประกอบโดยรวมของรัฐบาลก็ยังเป็นแบบเดิม มีเพียงการเปลี่ยนอะไหล่เล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้มีนัยยะสำคัญแต่อย่างใด ซึ่งก่อนที่เราจะเริ่มเคลิ้มกับนโยบายของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ได้แถลงต่อรัฐสภา 2 วันที่ผ่านมา เราต้องย้อนไปดูก่อนว่ารัฐบาลของเศรษฐา ทวีสิน ได้ทำตามคำพูดที่สวยหรู ได้สัญญาต่อรัฐสภาตอนแถลงนโยบายเมื่อ 1 ปีที่แล้วหรือไม่ เพราะวิธีคาดการณ์ที่ดีที่สุดในอนาคตคือการศึกษาอดีต ดังนั้น 3 ปีข้างหน้าภายใต้รัฐบาลน.ส.แพรทองธาร จะเป็นเช่นไร ตนคิดว่า 1 ปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลเศรษฐา เป็นคำตอบได้ในเบื้องต้น
นายพริษฐ์ กล่าวว่า หากจะประเมินนโยบายเศรษฐา ระยะสั้น 5 เรื่องที่ประชาชนคาดหวังจะทำให้สำเร็จ 1 ปี ได้แก่ ดิจิตัลวอลเล็ต ก็เป็นแค่ลมปากกลับไปกลับมา ซึ่งตลอด 1ปี ก็หมกมุ่นอยู่กับการกับการปัญหาจนไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับไป กลับมา จากที่เคยบอกแจกสงกรานต์ จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถแจกได้แม้แต่บาทเดียว เรื่องปัญหาหนี้สิน เป็นมาตรการเดิมๆ เพิ่มเติมคืองานอีเวนต์ เรื่องพลังงาน เป็นโปรโมชั่นระยะสั้น ที่แปปเดียวหมดอายุ เรื่องท่องเที่ยว ก็ขยันผิดจุด ทำเยอะ แต่ยังไม่ตรงจุด เรื่องรัฐธรรมนูญ ก็ยึก ๆ ยัก ๆ เดินหน้าเป็นวงกลม ประชามติยังไม่เกิด
“ผลงานรัฐบาลเศรษฐา ในมิตินโยบายระยะสั้น 5 ข้อ เปรียบเสมือนกับการนำพาประเทศไทยขึ้น “รถไฟเหาะ” ที่เหมือนจะเดินไปข้างหน้า แต่เดินแบบซ้ายที ขวาที ขึ้นๆ ลงๆ ตีลังกาไปตีลังกามา แต่สุดท้ายก็นำพาประเทศกลับมาอยู่ที่จุดเดิม 1ปีที่ผ่านมารัฐบาลเศรษฐา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่สามารถทำได้ตามคำพูดที่แถลงเอาไว้ต่อรัฐสภา แล้วอะไรจะเป็นรับประกันว่าในอีก 3 ปีข้างหน้ารัฐบาลของคุณแพทองธาร จะสามารถทำตามคำพูดสวยหรูที่ได้ให้ไว้กับรัฐสภาตลอด 2 วัน ที่ผ่านมา” นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ตนมีความกังวลใจต่อชุดนโยบายรัฐบาลแพทองธาร ถ้านำของทั้ง 2 รัฐบาลเศรษฐา มาเปรียบเทียบกันจะเห็นว่ารัฐบาลแพทองธาร มีปัญหาหลัก 3 ด้านคือ 1. คิดไม่ครบ มาตั้งแต่ต้นเลยทำให้กลับไปกลับมา บางเรื่องต้องยอมถอย เช่น นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่สุดท้ายต้องกลับลำแบบ 180 องศาในนโยบายเรือธง ค่าแรงขั้นต่ำ 2. คิดไม่ออก เลยต้องเขียนกว้างๆ ไว้ก่อน เช่น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สวัสดิการทุกช่วงวัย 3. คิดไม่ซื่อ โดยเอาประชาชนมาบังหน้า เช่น สถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ที่มีการเพิ่มเติมเข้ามาในนโยบายท่องเที่ยว ที่ดูเหมือนไม่ได้ยึดประชาชนเป็นตัวตั้ง เพราะควรจะออกมายืนยันว่าจะตั้งในเมืองรองเพื่อกระจายนักท่องเที่ยวและกระจายรายได้ไปทุกภูมิภาค แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะไปตั้งอยู่เมืองใหญ่ ซึ่งมีการลือกันว่ากลุ่มทุนใหญ่กำลังแย่งชิงสัมปทานกันอยู่ เรื่องรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ตนมีความกังวลเกี่ยวกับที่มาที่ไปและองค์ประกอบของ ครม.ที่จะเข้าไปผลักดันนโยบายดังกล่าว ที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์เยอะเกี่ยวกับองค์ประกอบของรัฐบาลชุดนี้ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการสานต่อนโยบาย “1 ครอบครัว 1ซอฟท์พาวเวอร์” มาเป็น “1ครอบครัว 1 ที่นั่งรัฐมนตรี” ซึ่งท้ายสุดไม่ว่ารัฐมนตรีจะเป็นลูกหลานใคร ญาติใคร แต่เชื่อว่ารัฐมนตรีท่านนั้นรู้ดี ว่าประชาชนจะประเมินท่านจากผลงานและความสามารถ หากถูกสั่งให้ทำนโยบายที่ไม่ได้ยึดประชาชนเป็นตัวตั้ง เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ สุดท้ายคนที่ประชาชนจะลงโทษในคูหาเลือกตั้งจะสาปแช่ง จะถูกดำเนินคดีก็ไม่ใช่คนที่สั่งแต่คือตัวท่านเอง
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ส่วนความกังวลถึงองค์ประกอบของ ครม. 3 ข้อที่จะเป็นอุปสรรค ต่อรัฐบาลในการผลักดันนโยบาย ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเป็นบทพิสูจน์ สำคัญต่อภาวะผู้นำ ของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย คือ 1. ครม.เสี่ยงเป็นครม.ต่างคน ต่างอยู่ ไม่สามารถผลักดันนโยบายที่ต้องอาศัย การประสานงานข้ามกระทรวงได้ 2. ครม.ชุดนี้ เสี่ยงเป็น ”ครม.ตรายาง” ที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจอย่างแท้จริง จะเกิดวิกฤตในการบริหารราชการแผ่นดินจะตามมาอย่างแน่นอน 3.ครม.ชุดนี้เสี่ยงเป็น “ครม.ตัวประกัน” ที่จะเจออุปสรรคในการผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เมื่อ 1 ปีที่แล้วพรรคเพื่อไทยตัดสินใจตัดขาดกับพรรคก้าวไกล เพื่อวิ่งเข้าหาเครือข่ายอำนาจเก่าและจับมือกันตั้งรัฐบาล จนไปอยู่ในสภาวะการเป็นตัวประกันในอุ้งมือเครือข่ายอำนาจเก่า
นายพริษฐ์ กล่าวว่า แม้ 1 ปีที่ผ่านมาท่านได้ทิ้ง วาระทางการเมือง เอาใจเครือข่ายอำนาจเก่าจนต้องสูญเสียความศรัทธาและความนิยม จากประชาชนที่เก็บสะสมมาตลอด 10-20 ปีที่ผ่านมา แต่ท้ายสุดท่านก็หนีไม่พ้นการถูกระบบและสถาบันทางการเมืองที่ถูกออกแบบโดยเครือข่ายอำนาจเก่า หันกลับมาทิ่มแทง จนนายกฯคนก่อน ของพรรคเพื่อไทยก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งและนายกฯคนใหม่ ก็ถูกล้อมรอบด้วยนิติสงครามอันวิปริต จากทุกทิศ ซึ่งเราไม่อยากจะเห็นในการเมืองไทย
“วันนี้รัฐบาลและนายกฯ กำลังยืนอยู่บนทาง 2 แพร่ง หากท่านยังเลือกวิ่งเข้าหาเครือข่ายอำนาจเดิม โดยเอาอนาคตของประชาชนทุกคนไปแลก ก็อย่าหวังว่าจะได้รับความเห็นใจจากประชาชน และแม้เครือข่ายอำนาจเก่าอาจจะยังปราณีท่านไว้ชั่วคราว เพราะหวังจะใช้พวกท่านเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างภัยคุกคามใหม่อย่างพวกตนเอง ท้ายที่สุดแล้ว หากเขาทำสำเร็จ ตนเองเชื่อว่าเขาก็อาจจะไม่เก็บภัยคุกคามเก่าอย่างพวกท่านไว้ด้วยเช่นกัน หากรัฐบาลเลือกหันหลังให้กับอำนาจเก่า แล้ววิ่งเข้าหาประชาชน มาร่วมมือกับพรรคประชาชนในบางวาระ เพื่อปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองให้กลับมาเป็นประชาธิปไตยปกติ ให้อำนาจจากการเลือกตั้งอยู่เหนืออำนาจจากการแต่งตั้ง เชื่อว่าแม้จะเห็นต่างกัน จะสามารถฝ่าฟันกับดักและนิติสงครามของอำนาจเก่าไปได้อย่างแน่นอน” นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ ยังกล่าวฝากไปถึงนายกรัฐมนตรีว่าเวลาของท่านในการตัดสินใจมีอยู่ไม่มาก ความอดทนของพี่น้องประชาชนมีขีดจำกัด เชื่อว่าอีก 3 ปีหลังจากนี้ ท่านจะต้องเผชิญกับหลายสถานการณ์ที่ท่านต้องตัดสินใจแทนพวกเราทุกคน ว่าท่านจะทำให้อนาคตข้างหน้า เป็นอนาคตที่อำนาจลงตัว แต่ประชาชนลงเหว หรือเป็นอนาคตที่อำนาจเปลี่ยนผ่าน และประเทศชาติเปลี่ยนแปลง ตนเองเพียงแต่หวังว่าท่านจะตัดสินใจทุกครั้ง โดยไม่ยอมให้ประโยชน์ส่วนตัวของใคร มาอยู่เหนือประโยชน์ส่วนรวมของของประเทศชาติและประชาชนทุกคน
กระทั่งเวลา01.04น. ภายหลังสมาชิกอภิปรายตามคิวกันครบถ้วนทุกคนแล้ว นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะตัวแทนรัฐบาล กล่าวปิดการแถลงนโยบายของรัฐบาลว่า ตนขอบคุณในการแถลงนโยบายของ ครม.ต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญไม่ใช่มากล่าวขอบคุณในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในฐานะผู้แทนรัฐบาล ขอบคุณประธานและสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกคนที่ได้ร่วมกันอภิปรายแสดงความเห็นต่อนโยบายของรัฐบาล ตลอดระยะเวลา 2 วัน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกท่านได้รับฟังข้อเสนอแนะและความเห็น สส. ทั้งฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล ตลอดจนสมาชิกวุฒิสภาทุกคนซึ่งล้วนแต่เป็นข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน อยู่บนฐานเจตนารมณ์เดียวกัน กับนโยบายต่างๆ
นายภูมิธรรม กล่าวว่า อย่างไรก็ดีแม้จะมีการอภิปรายที่เบี่ยงเบนในจากข้อเท็จจริงบ้างและบางครั้งเกิดจากการจินตนาการไปไกลเกินกว่าความเป็นจริง แต่ก็ถือว่าข้อเสนอทั้งหลายเริ่มต้นจากเจตนาที่อยากจะเห็นบ้านเมืองได้รับประโยชน์ ครม.ก็จะนำเอาข้อเท็จจริงเหล่านี้ไปจำแนกแยกแยะ เพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุดต่อประเทศ พร้อมที่จะนำข้อเสนอและข้อคิดเห็นของสมาชิกทุกคนไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ ในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดต่อไป
นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า โดยภาพรวมของนโยบายที่รัฐบาลได้แถลง เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ต่อยอดการพัฒนา เช่น การแก้ไขหนี้ทั้งระบบ การลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้ประชาชน การแก้ปัญหายาเสพติด การแก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ ทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ วางรากฐานสู่อนาคต เช่น การส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากฐานวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทย การปฏิรูประบบราชการ การยกระดับทักษะแรงงาน รวมทั้งการสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีนโยบายด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านต่างประเทศ ที่สอดประสานและส่งเสริมความเชื่อมั่นของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ
“รัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นว่าการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ที่จะช่วยสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียมให้คนไทย มีกิน มีใช้ มีเกียรติ และศักดิ์ศรี เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดตามความมุ่งหวังของรัฐบาลและสมาชิกสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ทุกคน”นายภูมิธรรม กล่าว
จากนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ ได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 01.09น. ทั้งนี้ สมาชิกรัฐสภา ทั้ง สส. สว. รวมถึงครม. ใช้เวลาในการอภิปราย และตอบชี้แจงตลอดทั้ง2วัน (12-13ก.ย.) ไปทั้งสิ้นกว่า31ชั่วโมง ซึ่งกินเวลาไปมากกว่าที่วิป3ฝ่ายตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ที่ 29 ชั่วโมง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี