"หญิงหน่อย"ตาเจ็บ แต่ขอลุย"หนองคาย"ช่วยน้ำท่วม ลงเรือลุยน้ำส่งกำลังใจ พร้อมมอบถุงยังชีพถึงหน้าบ้าน เผยอุทกภัยหลายจุดยังน่าห่วง กำชับ"ทีมไทยสร้างไทย"คอยช่วยเหลือประชาชนเต็มที่ ชี้หลายพื้นที่จมบาดาล สะท้อนความล้มเหลวการทุ่มเม็ดเงินมหาศาล ระบุถึงเวลารัฐไทยบูรณาการแก้ปัญหาชลประทานทั้งระบบ ลุยแก้น้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืน
ค่ำวันนี้ (15 กันยายน 2567) ที่ จ.หนองคาย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย พร้อมด้วย นายรัตนมงคล เลิศทวีวิทย์ รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย นายทิวากร สุระชน รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย นายพิชชาวุธ เหล่าศิริวิจิตร นางสาวทศพร จันทร์ศรี และนายกฤษฎา เข็มรัตน์ ทีมไทยสร้างไทย จ.หนองคาย ลงพื้นที่ จ.หนองคาย ที่ชุมนุมบ้านดอนสวรรค์ หมู่ 9 ต.มีชัย อ.เมือง จ.หนองคาย และพื้นที่ชุมชนริมโขง ซึ่งขณะนี้ยังมีน้ำท่วมขังหลายจุด โดยระดับน้ำนั้นยังสูงกว่า 1 เมตร ซึ่งหลายชุมชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น และหลายพื้นที่งดจ่ายกระแสไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน
โดยที่ชุมชนบ้านดอนสวรรค์ คุณหญิงสุดารัตน์ พร้อมทีมไทยสร้างไทย จ.หนองคาย เดินลุยน้ำจากนั้นได้ลงเรือเข้าไปพบปะเพื่อให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่ติดอยู่ภายในชุมชน และต้องการเฝ้าบ้านเรือนเนื่องจากกังวลสิ่งของมีค่าจะสูญหาย
หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยว่า แม้จะมีอาการบาดเจ็บที่ดวงตา เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาใช้สายตาทำงานอย่างหนัก แต่เมื่อเห็นความทุกข์จากสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวหนองคายแล้ว จึงต้องลงพื้นที่มาให้กำลังใจ มอบถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากให้ผู้ประสบภัยในวันนี้ พร้อมตรวจเยี่ยมศูนย์ประสานงานซึ่งจะมีทีมไทยสร้างไทยหนองคาย นำโดย นายพิชชาวุธ เหล่าศิริวิจิตร นางสาวทศพร จันทร์ศรี และนายกฤษฎา เข็มรัตน์ เป็นผู้ประสานงาน จะคอยติดตามให้ความช่วยเหลือ จนไปถึงติดตามข้อเรียกร้อง เพื่อเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยในครั้งนี้
คุณหญิงสุดารัตน์ ย้ำว่า ที่ผ่านมาพี่น้องคนไทยโดยเฉพาะในพื้นที่อีสาน ประสบปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งมาตลอด แม้รัฐไทยจะมีหน่วยงานในการจัดการน้ำมากมาย และใช้เงินจำนวนมหาศาลในแต่ละปี แต่กลับขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ จึงเห็นภาพความเสียหายต่อประชาชน ระบบเศรษฐกิจมหาศาล พรรคไทยสร้างไทยจึงประกาศเดินหน้านโยบายเพื่อแก้ปัญหา โขง เลย ชี มูล อย่างเป็นระบบ ซึ่งจากการศึกษา พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ 103.5 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 63.85 ล้านไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่ชลประทานเพียง 8.69 ล้านไร่ หรือประมาณ 13.6% เท่านั้น ทำให้เหลือพื้นที่ทางการเกษตรที่ไม่มีระบบชลประทานมากถึง 55.16 ล้านไร่ ทั้งที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่เพาะปลูกสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ที่ทุ่งกุลา มันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา รวมทั้งเป็นภาคที่มีประชากรสูงที่สุด แต่กลับมีระบบชลประทานน้อยที่สุด
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะทำให้ระบบคลองส่งน้ำและพื้นที่ชลประทานครอบคลุมทั้งภาคอีสาน 20 จังหวัด 281 อำเภอ เป็นพื้นที่ชลประทาน 31.78 ล้านไร่ คลองสายใหญ่จำนวน 6 สาย ความยาวรวม 2,271 กม.เกษตรกรได้รับประโยชน์ประมาณ 1.36 ล้านครัวเรือน หรือ 5.39 ล้านคน ช่วยลดปัญหาภัยน้ำท่วมน้ำแล้ง ลดความเสี่ยงจากฝนตกล่าช้าและฝนทิ้งช่วง รวมถึงปริมาณฝนที่สูงเกินกว่าที่คาดการณ์ ขณะเดียวกันยังสามารถเพิ่มระดับน้ำใต้ดิน ซึ่งจะช่วยบรรเทาอุทกภัยจากปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืน
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี