‘ชูศักดิ์’ยันแก้รธน.
ริบอำนาจศาลรธน.
ตีกรอบ‘จริยธรรม’
ไม่ให้สอยเก้าอี้ง่าย
ปธ.รัฐสภา เลื่อนประชุมร่วมรัฐสภา 25 กันยายน รอพรรคการเมืองเสนอร่างแก้รธน.เพิ่ม คาดกลางตุลาคมได้พิจารณา “ชูศักดิ์”ยันแก้รธน. ริบอำนาจศาลรธน.-ตีกรอบปมจริยธรรม-
ไม่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ย้ำเดินสายกลางเพื่อความยุติธรรม ไม่ให้สอย นายกฯ-รมต.-ส.ส.ง่ายๆ ปัดอุ้ม นายกฯ’อิ๊งค์’หลังเสนอแก้ในนามพรรค หวั่นเกิดความ”อีหลักอีเหลื่อ”เพราะรบ.เตรียม แก้ทั้งฉบับ โว มั่นใจประชามติผ่านฉลุย เชื่อมีผลบังคับใช้ต้นปี68 ยังแย้มดาบสองเตรียมแก้อำนาจป.ป.ช.‘ภูมิธรรม’คาดนัดสัปดาห์เชิญพรรคร่วมฯถกแก้รธน.รายมาตรา
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภาให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมรัฐสภาวาระพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การลบล้างผลพวงการทำรัฐประหารและการป้องกันการรัฐประหารในอนาคตในวันที่ 25 กันยายนนี้ว่า เดิมที่ประชุมวิป3ฝ่ายได้ตกลงร่วมกันว่า จะประชุมวันดังกล่าว แต่เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการอภิปรายการแถลงนโยบายของรัฐบาลซึ่งใช้เวลานานมากและค่อนข้างดึกทำให้สมาชิกรัฐสภาเหน็ดเหนื่อย
“ประกอบกับพรรคการเมืองบางพรรคจะเสนอการแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราซึ่งเห็นพ้องว่าจะต้องประชุมไปพร้อมๆกันทำให้การประชุมรัฐสภา ในวันที่ 25 ก.ย.นี้อาจต้องเลื่อนไปก่อน เพราะวาระเดิมมีอยู่แล้ว3ฉบับ หากเพิ่มวาระอีก 2 ฉบับก็ต้องพิจารณาอีกรอบ ทั้งๆที่เป็นเรื่องเดียวกันดังนั้นจึงขอเลื่อนไปก่อน คาดคงไม่เกินกลางเดือน ต.ค.นี้ จะพิจารณาได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยากให้จบวาระแรก เพื่อรับหลักการในสมัยประชุมนี้ และเมื่อปิดสมัยประชุมสมาชิกจะได้ลงพื้นที่ไปทำงานอย่างเต็มที่ ก็ขอให้รออีกนิด”ประธานรัฐสภา ระบุย้ำ
ที่ทำเนียบรับบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ถึงสาระสำคัญของการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ฉบับพรรคเพื่อไทย 6 ประเด็น ว่า ในส่วนของมาตรฐานจริยธรรม เรายังไม่มีจุดเริ่มว่าจะนับตรงไหน แต่มีความคิดว่าจะเริ่มตั้งแต่ศาลฎีการับฟ้องคดีจริยธรรมเป็นต้นถึงจะเข่าข่ายขัดจริยธรรมอย่างร้ายแรงห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
โดยกระบวนการจริยธรรมจะต้องมีการไปร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน ซึ่งจะต้องมีมูล และร้องไปที่ศาลฎีกา เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีหลักฐานพอสมควรว่าฝ่าฝืนจริยธรรม แตกต่างจากเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ที่จะใช้เกณฑ์ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ เนื่องจากเป็นการบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่
นายชูศักดิ์ กล่าวถึงประเด็นแก้มติศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดในการตัดสินความสิ้นสุดสมาชิกภาพความเป็นสส. สว. และรัฐมนตรี จากเดิมที่ใช้เสียงข้างมาก มาใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่าที่มีอยู่ ว่า หากคดีดังกล่าวมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 ท่าน ก็ต้องมี6 เสียงที่สั่งให้พ้นหน้าที่ จึงจะมีผลทำให้หลุดจากตำแหน่ง
โดยหลักคิดของเราการที่จะเอาคนออกจากตำแหน่งควรจะต้องใช้เสียงพอสมควร เพราะถึงขั้นเอาคนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสส. จึงควรเป็นเรื่องที่มีพยานหลักฐานพอสมควร ตนคิดว่าถือเป็นการสร้างความชอบธรรม ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องยุบพรรค เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่จะไปว่ากันตรงนั้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา
เมื่อถามว่ารัฐมนตรีที่เคยติดคุก แต่ตัดทิ้งเพราะอะไร อย่างกรณีที่ศาลชั้นต้น ตัดสินคดียังไม่ถึงที่สุด แต่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ มีแนวคิดอย่างไร นายชูศักดิ์ กล่าวว่า คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของคุณสมบัติ และเหตุของการพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีมากกว่า เพราะเหตุที่เขาเป็นรัฐมนตรีครั้งแรก ความจริงแล้วยังไม่เคยถูกจำคุก หรือบางคน ก็ถูกศาลสั่งให้รอลงอาญา ซึ่งคนเหล่านี้ยังไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิด แต่หากดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว และมีเหตุนั้นเกิดขึ้นหรือคดีถึงที่สุด เป็นความชอบธรรมมากกว่า จึงได้เขียนไป เหตุสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี
เมื่อถามว่าจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้วันไหน หลังประธานรัฐสภาระบุเลื่อนประชุมร่วมรัฐสภาวัน 25 ก.ย.นี้ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ร่างพรรคเพื่อไทยมีการเสนอแล้ว ในวันนี้(19ก.ย.)ส่วนที่กำหนดไว้วันที่ 25 ก.ย.เป็นเพียงตุ๊กตา ซึ่งสามารถบวก ลบวันที่จะพิจารณาได้ โดยหลักการคือพิจารณาไปพร้อมกันกับพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งจะพิจารณาในรัฐสภา 3วาระ และก่อนทูลเกล้าฯจะต้องมีการทำประชามติสอบถามประชาชน คาดว่าจะทำประชามติไป พร้อมกับการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)รวมทั้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ช่วงเดือนมกราคมปี 68
เมื่อถามว่ามีคนมองว่าทำไม พรรคเพื่อไทย เลือกแต่เพียงแก้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่แตะการแก้อำนาจของ ป.ป.ช อย่างที่พรรคประชาชน เสนอ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ความจริงป.ป.ช. เราก็มี ร่างแก้ไขพ.ร.บ. ป.ป.ช.เหมือนกัน ซึ่งมีการแก้ไขหลายเรื่อง
เมื่อถามว่ากรณีที่พรรคการเมืองดำเนินการเองโดยที่ไม่เป็นร่างของรัฐบาล เป็นการป้องกัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ แต่เราเห็นว่า เรื่องนี้ร่างของรัฐบาลก็มีภาระหน้าที่อยู่แล้วในการที่มีเรื่องของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ต้องทำอยู่ ถ้ารัฐบาลนำเรื่องนี้ไปทำอีก มันก็อีหลักอีเหลื่อเราจึงคิดว่า ขณะนี้สส.ทำอยู่แล้ว ก็ให้สส.ในพรรคการเมืองทำกันไป ก็แยกหน้าที่กัน เพราะการที่รัฐบาลทำทั้งฉบับอยู่แล้ว จะเสนอให้ทำเป็นรายมาตราอีก มันก็ดูยังไงอยู่ ว่าจะเอายังไงกันแน่
เมื่อถามว่าเสียงในสภาไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะฉะนั้นการทำประชามติจะมีอุปสรรคอะไรหรือไม่โดยเฉพาะการทำประชามติ ดูเหมือนกับว่านักการเมืองจะได้ประโยชน์อย่างเดียวและประชาชนไม่ได้อะไร ซึ่งอาจทำให้ถูกคว่ำประชามติได้ เพราะอาจทำให้ถูกร้องว่าผลประโยชน์ขัดกัน นายชูศักดิ์ กล่าวว่า อย่าไปพูดว่าประชาชนไม่ได้อะไร เรามองว่าทำกฎหมายให้ชัดเจน ให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งเราระมัดระวังจุดนี้ ต้องทำให้เกิดความยุติธรรมในระบบ มองอย่างนั้นจะดีกว่าสบายใจกว่า ส่วนของประชาชน รอทั้งฉบับเลย เพราะรัฐบาลเขาก็ใช้แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
เมื่อถามว่าในชั้นประชามติจะไม่มีปัญหาใช่หรือไม่เพราะได้แก้ไขกฎหมายโดยใช้เสียงข้างมากปกติแล้ว จากเดิมต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น นายชูศักดิ์ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
เมื่อถามอีกว่าในประเด็นเรื่องการถูกมองผลประโยชน์ทับซ้อนนายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่น่าจะมีอะไร มันไม่ได้ทับซ้อนอะไร ทุกอย่างยังเดินสายกลาง ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย เพียงแต่จะทำให้เกิดความชัดเจน หลักเกณฑ์ชัดขึ้นซึ่งคิดว่าสังคมจะเป็นธรรมมากขึ้นมากกว่า และคาดว่าเดือน ม.ค.ปีหน้า ก็น่าจะเสร็จสิ้น
ที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) นายภูมิธรรม เวชยยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการนัดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ รายมาตราในสัปดาห์หน้า ว่าได้เคยพูดคุยกันยังไม่เป็นทางการบ้างแล้ว แต่บางครั้งรู้สึกว่ามีกฎระเบียบ หรือวิธีปฏิบัติที่บั่นทอนการทำงานหรือการจัดการต่างๆ ก็อยากให้การเมืองมีเสถียรภาพ และต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส ทั้งหมดนี้อยู่ที่การแก้รัฐธรรมนูญเพราะมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ซึ่งก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
สิ่งที่จะทำควรทำให้ชัดเจนขึ้น ยุคสมัยเปลี่ยนไปสถานการณ์เปลี่ยนไป ซึ่งกฎหมายบางฉบับ หรือ รัฐธรรมนูญบางข้อ อาจเกิดมาในสถานการณ์ที่ต้องการแก้ปัญหาบางอย่าง ต่เมื่อเปลี่ยนผ่านไปก็น่าจะแก้ได้ แต่เป็นเรื่องของสภา ทั้งส.ส.และ สว.ซึ่งควรเป็นประเด็นร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล โดยจะมีการหารือกัน ว่ามีประเด็นไหนบ้างที่คิดว่าร่วมกันเพื่อนำเสนอในการแก้ปัญหา
นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่าทั้งนี้ คาดว่าสัปดาห์หน้า จะเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาปรึกษาหารือ ส่วนตอนนี้ให้ไปรับฟังสิ่งต่างๆ ที่คิดว่าเป็นข้อปฏิบัติที่มีปัญหา และมาเขียนเป็นร่างกฎหมาย ซึ่งวิธีที่ดีที่สุด และเร็วที่สุดคือการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราซึ่งสามารถแก้ได้เลย แต่ต้องเข้ากระบวนการทั้งหมดที่กำหนดไว้ เรื่องนี้ไม่ได้ขัดแย้งกับการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งที่ตนเคยเป็นประธานฯ ตรงนั้นก็ให้ดำเนินการไปตามขั้นตอนที่จะแก้กฎหมายประชามติ เพื่อทำให้ประชามติสะท้อนความเป็นจริงให้มากที่สุด ซึ่งตรงนี้จะแก้คู่ขนานกันไป
ส่วนที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) จะเน้นไปเรื่องของจริยธรรม ไม่ให้มีผลย้อนหลัง นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 60นายภูมิธรรม กล่าวว่า ต้องหารือกับ 6 พรรคร่วม คิดว่าประเด็นไหน มีปัญหาจะครอบคลุม หรือ แก้ไขยึดโยงไปถึงระยะเวลาอย่างไร ตอนนี้ไม่สามารถพูดได้ เพราะเป็นเจตนารมณ์และความต้องการของแต่ละบุคคลซึ่งอาจจะเห็นเหมือนหรือต่างกันได้ แต่หากพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง6พรรค เห็นพ้องต้องกันรวมไปถึง ส.ส.และ สว.เห็นตรงกันประเด็นนี้ ก็จะง่าย เพราะฉะนั้น จะต้องมาดูว่าสิ่งที่ 6 พรรคการเมืองคิด พรรคฝ่ายค้านคิด สภาผู้แทนราษฎรคิด วุฒิสภาคิด ย่อมมีหนทางข้อเสนอร่วมกันได้อย่างไร
ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้งโพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ“ระวังการแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องจริยธรรม จะเป็นเหตุของการสิ้นสุดรัฐบาล”ว่า การแก้รัฐธรรมนูญต้องเริ่มจากประโยชน์ส่วนรวม แต่ข้อเสนอที่เร่งรีบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ประสานเสียง ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนว่าต้องการแก้ในประเด็นจริยธรรมและอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระในการวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว อาจต้องคิดทบทวนให้ดี จะเป็นเหมือนการแก้แบบสุดซอยอีกหรือไม่ เพราะเพื่อไทยเคยโดนวินิจฉัย ประเด็นความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์จนเป็นเหตุให้นายกฯกระเด็นจากเก้าอี้ไปแล้ว กลัวว่าหากไม่รีบแก้ นายกคนฯปัจจุบันอาจจะโดนซ้ำรอย ขณะที่ก้าวไกลโดนยุบพรรคด้วยเหตุมีพฤติกรรมล้มล้างและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและลามต่อยัง สส.44คนว่า อาจเข้าข่ายละเมิดจริยธรรมขั้นร้ายแรง ในมาตรฐานจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์โดยขณะนี้เรื่องอยู่ที่ ป.ป.ช.
“การประสานเสียงแก้ของ 2 พรรค จึงดูเหมือนเริ่มจากประโยชน์ส่วนบุคคลหรือของพรรคเป็นหลักหรือไม่ ในขณะที่เรื่องอื่นๆเช่นระบบการเลือกตั้งสส. การได้มาซึ่ง สว. เรื่องคุณสมบัติองค์กรอิสระ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องกม.พรรคการเมือง กลับไม่แตะต้อง บอกรอไปแก้รวมเวลาร่างใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อใดไม่รู้ นิรโทษกรรมสุดซอยเคยมีมาแล้ว จบด้วยการสิ้นสุดรัฐบาล การแก้รัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรมแบบสุดซอย กำลังจะเกิดขึ้น หวังว่า คงไม่นำไปสู่การสิ้นสุดของรัฐบาล”นายสมชัย ระบุทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี