ขณะนี้น้ำกำลังท่วมอยู่ในประเทศไทย พม่า ลาว เวียดนาม จีน และโดยสาเหตุที่เกิดจากโลกร้อน และการทำลายสิ่งแวดล้อม จึงเกิดน้ำท่วม ฝนแล้ง พายุรุนแรง ไฟไหม้ป่า หิมะตกหนักน้ำทะเลละลาย กันทุกทวีปของโลก
ผมเองก็ผ่านน้ำท่วมบ้านท่วมเมือง รวมทั้งท่วมบ้านผมเอง เป็นเวลาเกือบ 2 เดือน ในกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์นี่เอง เมื่อปีพุทธศักราช 2485
หลายท่านคงยังไม่เกิด หรืออาจเกิดเป็นปลาว่ายน้ำอยู่แถวลานพระบรมรูปทรงม้า หรือแถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก็เป็นได้ เพราะน้ำท่วมคู คลอง บ่อน้ำ บ่อเลี้ยงปลา ท้องไร่ท้องนา เราติดน้ำท่วมอยู่บนบ้านที่ปลูกแบบใต้ถุนสูง (1 เมตร-2.5 เมตร) จึงสามารถตกปลาได้ จากบนบ้านของเราเอง
สมัยนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็ยังไม่มี พระเจ้าอยู่หัวของเราในขณะนั้นก็กำลังทรงศึกษาอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ มูลนิธิและสมาคมอาสาสมัครก็ยังมีน้อยมาก พรรคการเมืองก็ยังมีบทบาทน้อยมาก ทุกคนจึงต้องช่วยตัวเอง
เผอิญผมเกิดมาก่อนปีน้ำท่วม และอยู่ในอายุพอจะจำความได้ จึงขอเล่าให้ท่านผู้อ่าน นสพ. แนวหน้า ว่า ผมและครอบครัว ชาวบ้านชาวเมือง (ชาวกรุงเทพ) ในขณะนั้น ได้ช่วยตัวเองอย่างไร
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ปี 2485
บ้านผมอยู่ริมถนนพหลโยธิน ใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ขณะนั้นถนนพหลโยธินเป็นถนนลาดยางเล็กๆ สองฝั่งถนนเป็นคลอง เรือวิ่งเข้ามาถึงหน้าบริเวณบ้านได้ ส่วนฝั่งตรงข้าม คลองค่อนข้างใหญ่ วิ่งไปถึงสนามเป้า (ที่ซ้อมยิงปืนของทหาร) หรือที่เป็นสถานีโทรทัศน์ ช่อง 7 เดี๋ยวนี้ ปัจจุบันใครมาถมดินไปหมดก็ไม่ทราบ เพราะไม่มีหน่วยงานดูแล กรมเจ้าท่าก็ออกแต่ใบอนุญาต และตรวจสภาพเรือ กรมทางหลวงก็ได้แต่สร้างทางบนบก ส่วนกรมการดูแลเส้นทางทางน้ำ (Waterway Department) ไม่มี คูคลองทั่ว กทม. จึงแคบลง แคบลงแต่ก่อนเรือเอี้ยมจุ้น วิ่งคลองสามเสนและคลองแสนแสบได้ตลอด มาจนถึงต้นถนนวิภาวดี เชื่อมโยงกันได้ตลอดกรุงเทพจึงถูกเรียกว่า Venice of the East ส่วนในปัจจุบันน่าจะเรียกได้ว่า The most traffic congested city ก็ได้
__________________________________
เมื่อน้ำท่วมสูงประมาณ 2 เมตร-2.50 เมตรเช่นนี้ ชาวกรุงเทพก็ต้องไปหาซื้อไม้กระดานแบบหนา (ซึ่งตอนนั้นราคาถูกอยู่) มาพาดจากหน้าต่างถึงหน้าต่าง อาศัยอยู่กันบนนั้นอย่างสันติ ส่วนบ้านผู้มีอันจะกิน มักจะเป็นบ้านสองชั้นใต้ถุนสูงประมาณ 1 เมตรเศษ น้ำก็ดันพื้นชั้น 1 ขึ้นไปจนพื้นบ้านโก่งงอขึ้นไป ผู้อยู่อาศัยก็ต้องเอาไม้มาพาดตามหน้าต่างเช่นกัน
ส่วนบ้านใต้ถุนสูงขนาด 2 เมตรนั้น มักจะปลูกอยู่ตามริมคลอง และริมแม่น้ำ ดังเช่นที่เห็นกันอยู่จนปัจจุบันนี้น้ำจะท่วมบ้านตามฤดูกาล สี่ซ้าห้าวันก็ไม่เดือดร้อนอะไร
__________________________________
พอมาถึงการจราจรในกรุงเทพ ซึ่งใช้รถราง รถลาก (รถเจ๊ก) รถจักรยาน และรถยนต์ ก็ต้องหยุดชะงักไปหมด ประชาชนก็ต้องขวนขวายช่วยตัวเอง หาซื้อเรือพาย เรือแจวมาใช้กันทุกบ้าน โรงเรียนทุกโรงเรียนก็ปิดกันหมด ผู้ปกครองไปทำงานก็ต้องพายเรือไป แม้แต่ สส., รมต. จะไปประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็ต้องนั่งเรือไปกัน ลานพระบรมรูปทรงม้า (หน้าสวนดุสิต) และถนนราชดำเนิน ก็เป็นที่พายเรือเล่นกันแทนที่จะเป็นนักเล่นสเก็ต มาวิ่งเล่นและรับประทานมะพร้าวอ่อนแช่เย็นจนเป็นวุ้น ดับกระหายเช่นเดิม
__________________________________
สนามหลวง ปี 2485
แต่โดยที่มีทางรถไฟ ขวางกรุงเทพอยู่ตลอด จากบางซื่อ บางเขน หัวลำโพง มักกะสัน การพายเรือจากทิศตะวันออก ไปยังทิศตะวันตกของกรุงเทพ ก็ประสบปัญหา เช่นที่ถนนราชวิถี จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รพ.พระมงกุฎฯ เรือก็ข้ามทางรถไฟไปไม่ได้ ตอนถนนศรีอยุธยา จากกรมทางหลวง ไปสวนจิตรลดา และสนามม้าราชตฤณมัย ก็ข้ามไปไม่ได้ ตรงยมราช จากถนนเพชรบุรี ไปถนนหลานหลวง ก็ติดทางรถไฟเช่นกัน
จึงต้องมีอาชีพใหม่ขึ้น โดยบรรดาผู้ชายที่ยังแข็งแรง ก็มารับจ้างยกเรือข้ามทางรถไฟ ลำละ 2 คนบ้าง (เรือพายลำเล็กๆ) ลำละ 4-6 คนบ้าง (เรือแจวลำใหญ่หน่อย) ส่วนผู้โดยสารในเรือก็ต้องลุยน้ำลงจากเรือ เดินด้วยเท้าข้ามทางรถไฟเอาเอง
__________________________________
ส่วนพ่อค้าแม่ค้าตามตลาด ก็ต้องเปลี่ยนจากการนั่งขาย มาเป็นการพายเรือขายบ้าง ตั้งแผงขายบนถนนบ้าง อย่างริมถนนพหลโยธิน ก็มีคนมาตั้งแผงสูง ทอดกล้วยแขกขาย ชาวบ้านที่สัญจรไปมาทางเรือ ไปจนถึงซอยอารีย์สัมพันธ์ และสะพานควาย ก็พายเรือออกมาเป็นลูกค้า
รู้สึกว่าพลเมืองไทยสมัยนั้น ช่างมีทัศนคติที่ดีต่อธรรมชาติมาก เมื่อน้ำท่วม หรือน้ำหลากตามฤดูกาล ก็ก้มหน้าก้มตาช่วยตัวเองกันไป สมดังพุทธภาษิตว่า อตฺตาหิ อตฺตโนนาโถ (ตนเอง เป็นที่พึ่งแห่งตน)
สมัยปัจจุบัน ขณะที่น้ำท่วมจังหวัดเชียงรายบ้าง จังหวัดหนองคาย นครพนม ริมฝั่งโขงบ้าง ความรุนแรงมากกว่าเมื่อปี พ.ศ. 2485 ทั่วจังหวัดพระนคร-ธนบุรี มากนัก เพราะเมื่อปี 2485 (82 ปีมาแล้ว) เป็นการท่วมแช่ยาวนานถึง 2 เดือน การช่วยเหลือและกู้ภัยในปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งต้องขอชมเชยหน่วยราชการ ทั้งมหาดไทย ทหาร ตำรวจ อบจ. อบต. สมาคม มูลนิธิ ต่างๆ ที่ออกมาช่วยราษฎรอย่างแข็งขันและเต็มที่
ลานพระบรมรูปทรงม้า ปี 2485
นอกจากนั้น ในปี 2567 ณ ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ยังเป็นการท่วมอย่างรุนแรงและฉับพลัน ทำความเสียหายให้กับชาวเชียงราย และจังหวัดใกล้เคียงอีกมาก การระดมสรรพกำลังเข้าช่วยประชาชนจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
ถึงวันนี้ ก็ยังไม่แน่ว่าน้ำจะท่วมทางภาคเหนืออย่างรุนแรง และทางภาคอีสานอย่างมากมายอีกหรือไม่ เพราะจากการพยากรณ์ของทางราชการหลายหน่วย ก็บอกว่าสัปดาห์ปลายเดือนกันยายนนี้ พายุลูกใหม่จะถาโถมเข้ามาอีก
__________________________________
แม้แต่กรุงเทพเอง ก็อย่าเพิ่งนอนใจ ถ้าน้ำเหนือไหลหลากมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง และน้ำทะเลหนุนขึ้นมารวม กรุงเทพก็อาจจะได้พบ
น้ำท่วมขังแช่อยู่เป็นเดือนๆ เช่นในอดีตก็เป็นได้
อาจจะมากกว่าปีพ.ศ. 2554 สมัยรัฐบาลของนายกฯยิ่งลักษณ์ และปีพ.ศ. 2518 สมัยรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
ถ้าจะย้อนหลังที่กรุงเทพจมน้ำมาหลายต่อหลายครั้ง จนป่านนี้ 200 ปี แล้ว รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยก็ยังไม่สามารถทำแผนระยะยาว ป้องกันน้ำท่วมบ้าน
ท่วมเมืองเป็นระยะยาวเลย แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปแต่ละครั้งที่เกิดน้ำท่วม ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีก็ก้าวหน้า และเงินงบประมาณของประเทศก็มีมากพอ หากไม่นำไปใช้ในทาง “ประชานิยม” เสีย
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปี 2485
ย้อนไปถึงพ.ศ. 2328 น้ำท่วมกรุงเทพสูงถึง 4 เมตรเศษ สายน้ำได้ไหลบ่าเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง ท่วมพระที่นั่งต่างๆ ไปจนถึงท้องพระโรงที่เสด็จออกว่าราชการ ในสมัยรัชกาลที่ 1
พอสมัยรัชกาลที่ 2 พ.ศ. 2362 น้ำก็ท่วมกรุงเทพอีก แต่คราวนี้เพียง 3 เมตรเศษ จึงต้องเสด็จออกท้องพระโรงที่หน้ามุขพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเช่นเดียวกับสมัยรัชกาลที่ 1
หลังจากนั้นอีก 12 ปี สมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อปีพ.ศ. 2375 น้ำก็ท่วมอีก แต่สูงเพียง 75 ซม. การเสด็จออกว่าราชการ ก็ยังทำได้ในท้องพระโรง โดยใช้ไม้กระดานปูยกพื้นขึ้นมา
ต่อมาในปี 2402 และ 2410 สมัยรัชกาลที่ 4 น้ำก็ท่วมกรุงเทพอีก แต่ไม่รุนแรงเหมือนครั้งก่อนหน้านั้นรวมทั้งปี 2422 สมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนปีพ.ศ.2460 สมัยรัชกาลที่ 6 ก็รุนแรงพอสมควร เพราะท่วมถึงเกือบ 2 เมตร
ปีพ.ศ. 2485 ที่ผู้เขียนได้เห็นมา เป็นรัชสมัยรัชกาลที่ 8 และเป็นน้ำท่วมกรุงเทพครั้งที่ 8 ซึ่งค่อนข้างจะรุนแรง เพราะท่วมเมืองหลวงของประเทศอยู่เกือบ 2 เดือน (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2485) น้ำท่วมสูงถึง 2 เมตรเศษ
หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง ปี 2485
ถ้าเรายังแก้ปัญหากันเฉพาะหน้าทุกๆ ครั้งที่น้ำท่วม ภาคเหนือ ภาคอีสาน และกรุงเทพ เราก็คงจะต้องเผชิญน้ำท่วมเช่นนี้กันตลอดไป
ทางที่ดีต้องออกมาระดมความคิด ว่าทำอย่างไรจะไม่ให้ “น้ำท่วม (หน้าฝน) และขาดแคลนน้ำ(หน้าแล้ง)” กันปีแล้วปีเล่า
ทั้งๆ ที่ฝนก็ตกหนักมาให้เราทุกๆ ปี แต่เรา ก็ยังไม่คิดระบายน้ำออก และ คิดเก็บน้ำไว้ใช้ ให้จริงจังกันเสียที
อย่ารอจนถึงน้ำท่วมกรุงเทพ 2 เดือน เป็นครั้งที่ 9 ก็แล้วกัน
ศิริภูมิ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี