ไม่ใช่คนชั่วแล้วจะไปกลัวอะไร
สว.ขวางแก้รธน.
จี้นักการเมืองไร้จริยธรรม
วางมือแล้วกลับไปอยู่บ้าน
พปชร.เตือนอย่าคิดกินรวบ
เข้าข่ายประโยชน์ทับซ้อน
เอาแล้ว! สว.ตั้งป้อมขวางแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อโละปมจริยธรรม ซัดกลับ ถ้าไม่ใช่คนชั่วกลัวอะไร ย้ำชัดรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีปัญหากับประชาชน หากทนไม่ได้ก็ควรวางมือกลับไปอยู่บ้าน ด้านอดีตสว.ดิเรกฤทธิ์-สมชาย เตือนระวังผลประโยชน์ทับซ้อนฝ่าย “ไพบูลย์” พปชร.จวกซ้ำ ระบุงานนี้เข้าข่ายขัดกันซึ่งผลประโยชน์ “บิ๊กทิน” อ้างรัฐธรรมนูญ ทำนักการเมืองอ่อนแอ
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2567 พ.ต.อ.กอบ อัจนากิตติ สมาชิกวุฒิสภา(สว.)กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีความเคลื่อนไหว
ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่จะเข้าสู่การพิจารณาที่ประชุมร่วมรัฐสภาในเดือนตุลาคมว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดบทบาทของแต่ละฝ่ายไว้แล้วในรัฐธรรมนูญเช่นสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกรัฐสภา ดังนั้น ทุกคนต้องเคารพรัฐธรรมนูญก่อนเป็นลำดับแรก เวลาปฏิญาณตนเข้าปฏิบัติหน้าที่ฯก็บอกว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
“แล้วจู่ๆจะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วที่ออกสื่อว่าจะแก้ไขเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ในเมื่อไม่มีจริยธรรมแล้วคุณมาเป็นนักการเมืองทำไม จริยธรรมมันอยู่ที่ตัวคน หากคุณคิดเสียสละเพื่อบ้านเมือง ต้องมีจริยธรรมก่อนเป็นลำดับแรกเลย ซึ่งจริยธรรม คือ การปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ละอายและเกรงกลัวต่อการปฏิบัติตัวผิด ทุจริตคิดมิชอบ เท่านี้เอง นี้คือจริยธรรม หากนักการเมืองไม่มีจริยธรรมก็กลับไปอยู่บ้านเลยเพราะที่รัฐสภา ไม่ใช่จะมาทำอะไรตามอำเภอใจ”
ลั่นถ้าไม่ใช่คนชั่ว คุณกลัวอะไร”
เมื่อถามถึงว่าฝ่ายพรรคการเมืองให้เหตุผลว่า ที่เสนอแก้ไขมาตรา 160 (4) และ(5)เพราะไม่มีความชัดเจนเลยต้องเสนอแก้ไขให้ชัดเจน พ.ต.อ.กอบกล่าวว่า“จะมาแก้ไขเรื่องนี้ มันอยู่ในตัวคน เพียงแต่มาเขียนให้เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นเอง แล้วคุณจะไปกลัวอะไร เรื่องต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ถ้าคุณไม่ใช่คนชั่ว คุณกลัวอะไร”
พ.ต.อ.กอบ ยังกล่าวอีกว่า“ถ้าจะแก้ไขตอนนี้ ผมไม่เห็นด้วยในการจะมาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยากให้ไปแก้ปัญหาปากท้องประชาชนก่อน อย่างที่ผมอภิปรายไว้ตอนรัฐบาลแถลงนโยบาย เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นปัญหาอะไร ส่วนจะแก้ไขอย่างไรต่อไป ก็ว่ามา ให้เห็นเป็นร่างก่อน จะมาพูดตีปลาหน้าไซว่าจะแก้อะไรตรงไหน ผมไม่เห็นด้วย คุณมาทำให้ผมเห็นก่อน และในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันปี 2560 ก็เขียนไว้ว่า วิกฤตทางรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาช่วงที่ผ่านมา ก็เพราะมีบางคนไม่เคารพกติกาบ้านเมือง ไม่เคารพกฎหมาย กฎหมายเมืองไทยมีมากมาย แล้วบังคับใช้เต็มประสิทธิภาพหรือยัง นี้ต่างหากที่ต้องไปทำ”
เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน
เมื่อถามว่าการแก้ไขรธน.ดังกล่าว เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ แก้เพื่อตัวเอง พ.ต.อ.กอบ กล่าวว่า “ถูกต้องอยู่แล้ว แต่เขาคงไม่รับหรอก” ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าหากจะเสนอแก้ไขรธน.เรื่องมาตรฐานจริยธรรมฯอะไรต่างๆ เห็นด้วยหรือไม่ พ.ต.อ.กอบ กล่าวว่า ไม่เอา ไม่แก้ ผมถือว่าคนต้องมีจริยธรรมก่อน ผมชัดเจนอยู่แล้ว เพราะผมไม่ได้มาด้วยผลประโยชน์ทับซ้อนกับใคร
สำหรับ พ.ต.อ.กอบช่วงที่ผ่านมา ตกเป็นสว.คนดัง หลังโซเชียลมีเดีย เผยแพร่คลิปการอภิปรายนโยบายรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พ.ต.อ.กอบ อภิปรายตอนหนึ่งว่า“ รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ปัญหา การปฏิวัติ ไม่ใช่ปัญหา แต่คนโกงเป็นปัญหา และเป็นต้นเหตุ”จนทำให้โซเชียลมีเดียมีการแชร์คลิปดังกล่าวอย่างกว้างขวางที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะต้องพิจารณาในที่ประชุมร่วมรัฐสภาร่างแก้ไขรธน.ที่จะผ่านความเห็นชอบทั้งวาระหนึ่งและวาระสามต้องได้เสียงโหวตเห็นชอบจาก สว. อย่างน้อย 67 เสียง
แก้รธน.ผลประโยชน์ทับซ้อน
นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นหนึ่งแกนนำอดีตกลุ่ม 40 สว.ที่ร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในคดีนายเศรษฐา ทวีสิน จนทำให้นายเศรษฐา พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯ กล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราขณะนี้ว่า เห็นได้ชัดว่าการยื่นแก้ไขรธน.ครั้งนี้ เป็นการทำเพื่อนักการเมืองและพรรคการเมือง ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม การเสนอแก้ไข รธน.รายมาตรา ทั้งเรื่องอำนาจศาลรธน.หรือแก้ไขเรื่องมาตรฐานจริยธรรมของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ไม่เห็นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ตรงไหน มันเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนของพวกคุณด้วยซ้ำไป ไม่เชื่อว่าประชาชนจะลงประชามติเห็นด้วยกับร่างที่เสนอฯ
“รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาจากความเห็นชอบของประชาชนผ่านการทำประชามติ 16ล้านเสียง แต่ก็ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่แก้ไขไม่ได้ หลักสำคัญ 3 อย่าง ที่ยังคงยืนมั่นอยู่ในรัฐธรรมนูญคือ 1.หลักแก้ไขไม่ได้เลย ก็คือเรื่องรัฐไทยเป็นหนึ่งเดียว2.แก้ง่าย ที่ก็เคยแก้ไขมาแล้วในรัฐสภาสมัยที่ผ่านมาคือแก้ไขกติกาการเลือกตั้งเปลี่ยนจากระบบเลือกตั้งส.ส.แบบบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ 3. แก้ยาก ที่เป็นหลักความคุ้มครองหลักนิติรัฐ นิติธรรม และการปฏิรูปประเทศ การถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ รวมถึงองค์กรอิสระที่ใช้อำนาจหน้าที่ต่างๆ การออกแบบให้มี ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่เพิ่งเกิดในรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่เกิดมาตั้งแต่รธน.ปี 2540 โดยที่ผ่านมาทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี”อดีตส.ว.สมชาย ระบุ
ปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคล ไม่ใช่รธน
นายสมชายกล่าวอีกว่า กรณีที่เสนอแก้ไขรธน.เรื่องศาลรัฐธรรมนูญเวลานี้ พรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านคือพรรคประชาชน อาจจะมีการแสวงจุดร่วม เพราะทั้งสองฝ่าย ได้เคยถูกศาล รธน.วินิจฉัยโดยหลักนิติรัฐ-นิติธรรมแล้วทั้งคู่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการป้องกันไม่ให้คนไม่ดี เข้ามามีอำนาจ รัฐธรรมนูญ จึงบัญญัติเรื่อง รัฐมนตรี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ฯต้องไม่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา160(4)และ (5) ปัญหามันจึงอยู่ที่ตัวบุคคล ไม่ใช่อยู่ที่รัฐธรรมนูญ และไม่ได้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหามันอยู่ที่ดุลยพินิจ และการเลือกใช้คนรัฐธรรมนูญปี2560จึงออกแบบมาให้ นายกรัฐมนตรี พรรคการเมือง ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ด้วยการต้องคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริตและไม่ประพฤติผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อมาบริหารประเทศ
รธน.เขียนปมซื่อสัตย์สุจริตไว้ชัด
“รัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ(5) เขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้วและยิ่งชัดมากขึ้นเมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา ยิ่งเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เป็นเรื่องที่วิญญูชนรู้ดีอยู่แล้วว่าความซื่อสัตย์สุจริตเป็นอย่างไร อย่างเช่นเรื่องถุงขนมสองล้านบาท เรื่องนี้ก็เพียงแค่คนไหนมีปัญหาก็อย่าตั้งให้มีตำแหน่ง ถ้าตั้งโดยซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีเบื้องลึกแอบแฝงมา หรือเป็นเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน ก็ตั้งได้ทั้งสิ้น รัฐธรรมนูญไม่ได้มีปัญหา ไม่ได้มีความผิด ไม่อย่างนั้นประเทศชาติไปไม่ได้ ถ้าไม่มีกรอบกติกา การจะเสนอแก้ไขรธน.โดยอ้างว่า รธน. มาตรา 160 (4) และ (5) บัญญัติไม่ชัดเจนนั้น มันเป็นความไม่ชัดเจนของพวกคุณกันเอง เพราะมีทั้งคำตัดสินของศาลฎีกา และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องมาตรฐานจริยธรรมฯออกมาแล้ว”
ฉะพท.จ้องลิดรอนอำนาจศาลรธน.
นายสมชาย อดีตสว.กล่าวด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำลังเริ่มดำเนินการต่อจากนี้ ไม่เชื่อว่าประชาชนจะลงประชามติเห็นด้วย อยากจะแก้ไขก็ทำกันไปในรัฐสภา จะได้เป็นการพิสูจน์ว่า พรรคเพื่อไทย ที่กำลังจะเข้าไปลิดรอนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เช่นการแก้ไขให้การลงมติวินิจฉัยคดีในการให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งต้องใช้เสียงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 2 ใน 3 เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว -พวกพ้อง หรือทำเพื่อผลประโยชน์ประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลเอง ไม่ว่าจะเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา จะไปเห็นพ้องด้วยหรือไม่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง ไม่เชื่อว่าประชาชนจะออกเสียงประชามติให้ผ่าน
ขวางรื้อมติศาลรธน.เป็นเสียง2ใน3
อดีตสว.สมชายกล่าวถึงที่พรรคเพื่อไทยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้ผลการลงมติให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่งโดยใช้เสียง2ใน 3ของตุลาการศาลรธน.ที่ปฏิบัติหน้าที่ว่าถ้าแบบนี้เหตุใดไม่แก้เรื่องการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาฯและวุฒิสภาไปด้วย โดยแก้ว่าร่างพรบ.ที่จะผ่านความเห็นชอบจากสภาฯและวุฒิสภา ต้องได้เสียงเห็นชอบจากสมาชิกไม่น้อยกว่า2 ใน 3ของสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่ ทำไม ให้ใช้เสียงแค่เกินกึ่งหนึ่งของสภา ที่มีส.ส.500 คน สว.200 คน เมื่อก่อนเวลามีประชุมเช่น สว.มาไม่ถึงครึ่งหนึ่ง สว.ลงมติเสียงข้างมาก 80 เสียง ต่อ 70 เสียง กฎหมายก็แก้ไขได้แล้ว ไม่ถึงกึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ จนกระทั่ง มีคำวินิจฉัยศาลรธน.จนรัฐธรรมนูญเขียนในเวลาต่อมาว่า สมาชิกต้องมาเป็นองค์ประชุมเกินกึ่งหนึ่งและเสียงเห็นชอบต้องมีเกินกึ่งหนึ่ง
“การวินิจฉัยคดีของศาลรธน.ไม่ได้วินิจฉัยแบบชุ่ยๆกว่าจะออกคำวินิจฉัยมา ต้องมีการไต่สวนคดี กว่าจะออกมาเป็นคำวินิจฉัย ศาลต้องรับผิดชอบต่อบ้านเมืองอยู่แล้ว ไม่ว่าเสียงข้างมากจะออกมาอย่างไร จะเป็น 5 ต่อ 4 หรือ 6 ต่อ 3 ก็ต้องใช้ดุลยพินิจกันเยอะ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนต้องเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนเวลาวินิจฉัยคดีต่างๆ แล้วส.ส.เคยเขียนอะไรหรือไม่เวลาส.ส.ลงมติเรื่องต่างๆ หากเข้าใจเรื่องนี้ มันก็เหมือนกันคือเป็นเรื่องหลักการเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง ถูกต้องเหมาะสมแล้วสำหรับการลงมติวินิจฉัยคดีของศาลรธน.ไม่จำเป็นต้องมาแก้ไขโดยให้เป็นมติ 2 ใน 3 แต่อย่างใด” อดีต สว.สมชาย ย้ำ
‘ดิเรกฤทธิ์’อัดยับแก้รธน.ปมจริยธรรม
ดร.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา(สว.) นักวิชาการอิสระและที่ปรึกษา ด้านการเมืองการปกครองและกฎหมายมหาชน สถาบันสุจริตไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ดร.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว.059 ระบุข้อความว่า... นี่หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน? เราอยากได้นักการเมืองที่ต้องสุจริต ก็ขอแก้เป็น”ที่ไม่ถูกจับได้ว่าทุจริต”เรามีศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อชี้ว่าใครไม่สุจริต ก็แก้เงื่อนไขให้การลงมติเอาออกจากตำแหน่ง ทำได้ยากขึ้น แม้ ปปช.จะชี้ว่าทุจริต แล้วก็ไม่เพียงพอ ต้องให้ศาลฎีกาเท่านั้น ตัดสินก่อน โดยโยนภาระให้ฝ่ายประชาชนเป็นผู้หาหลักฐานมากล่าวหา และตัดอำนาจ ปปช.ที่จะฟ้องตรงต่อศาลได้ “ใครกันนะที่มีพฤติกรรมไม่อยากได้ประชาธิปไตยสุจริต?”
พปชร.ย้ำค้านแก้รธน.รายมาตรา
นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)กล่าวถึงการนัดหมายพรรคร่วมรัฐบาล หารือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตราในสัปดาห์หน้า ว่า พรรคพปชร.ไม่เห็นด้วยกับการที่ จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ รายมาตรา หรือกฎหมายใดๆที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มตัวเอง ลดมาตรฐานจริยธรรมและการตรวจสอบ เรื่องความสุจริตโปร่งใส และจำกัดบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม สังคมตำหนิ และต้องระวังว่าจะสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายขัดกันซึ่งผลประโยชน์ ในการเสนอร่างกฎหมายในลักษณะนี้ ที่อาจจะมีปัญหาตามมาได้
ซัดทำเพื่อตัวเอง เตือนระวังให้ดีๆ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า เราคัดค้าน หากจะทำเพื่อตัวเอง และควรระวังให้ดีๆ หากจะแก้ไขเป็นรายมาตรา หรือจะแก้กฎหมายใด ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะมาจากใครเป็นผู้ร่าง หรือมาจากการรัฐประหาร ตรงนี้ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่สาระสำคัญอยู่ที่การเขียนกฎหมาย หากไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน และเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลัก นิติธรรม เราไม่สนับสนุน เช่นกฎหมายนิรโทษกรรม หากเป็นการแก้ไขเรื่องมาตรา112 แต่หากแก่ในฐานความผิดอื่นจะควรพิจารณาว่าเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่
“พรรคพลังประชารัฐมีจุดยืนยึดความถูกต้อง เป็นสาระสำคัญไม่ว่าพรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคฝ่ายค้านจะเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายใดใดก็ตาม โดยจะยึดหลักนิติธรรมไม่เอื้อประโยชน์กลุ่มการเมืองหรือพรรคพวก และแก้ไขเพื่อประชาชน เท่านั้น คนอื่นจะเห็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของพรรคอื่น”นายไพบูลย์ ย้ำ
‘สุทิน’โวแก้รธน.ควบคู่แก้ปากท้องได้
ด้านนายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หลายฝ่ายระบุว่าทำไมไม่แก้ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชนก่อนว่าตนคิดว่าเรื่องนี้มาจากเสียงเรียกร้องของจำนวนไม่น้อย เราฟังจากเสียงทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายค้านรวมถึงภาคประชาสังคม นักวิชาการ แต่การที่เราจะแก้รัฐธรรมนูญวันนี้ ไม่ได้รีบร้อนมากจนทิ้งปัญหาของประชาชนจะเห็นได้ว่าเราทำควบคู่กันไป ดังนั้นเราทำและคำนึงความสำคัญของทุกฝ่าย ไม่ให้กระทบปัญหาปากท้องของประชาชน
เมื่อถามว่ามีความเห็นอย่างไรที่บางส่วนมองว่าแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นผลประโยชน์กับนักการเมืองนายสุทินกล่าวว่าการมองรัฐธรรมนูญ ต้องมองเป็นหลายชั้นคืออาจจะมองว่าเป็นประโยชน์กับนักการเมืองแต่ถ้านักการเมืองเข้มแข็ง หรือมีอำนาจยึดโยงกับประชาชนและสามารถใช้อำนาจนั้นทำงานสนองต่อเจตนารมณ์ของประชาชนได้ นั่นคือประโยชน์ของประชาชน ก่อนที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ นักการเมืองต้องมีพลังพอเพื่อทำให้พี่น้องประชาชน จะได้รับประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เมื่อสมบูรณ์อำนาจของประชาชน ก็จะยิ่งใหญ่ด้วย
“ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญหลายฉบับ ไปตัดทอนอำนาจและวางระบบให้นักการเมืองทำงานไม่ได้ ถ้านักการเมืองทำงานไม่ได้ ก็จะสนองต่อประชาชนไม่ได้ ฉะนั้น ส่วนใหญ่ปัญหาอยู่ที่ตัวของกฎหมายไปทำให้นักการเมืองอ่อนแอ ประชาชนจะพึ่งใครก็ไม่ได้”นายสุทิน ย้ำ
อนุสรณ์ยันแก้จริยธรรมให้ชัดเจน
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี พรรคเพื่อไทย เร่งขับเคลื่อนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราว่า เป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่หลายพรรคเห็นตรงกันที่จะแก้ประเด็นมาตรฐานจริยธรรม ให้มีความชัดเจน ไม่เกิดปัญหาในการบังคับใช้ พรรคเพื่อไทย ไม่ได้เสนอให้ยกเลิกในประเด็นจริยธรรมนี้เพียงแต่จะเสนอให้มีความชัดเจนและเป็นมาตรฐานที่ทุกฝ่าย สามารถปฏิบัติได้ บนพื้นฐานที่ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์
แก้ครอบงำพรรคเพื่อให้รัดกุมขึ้น
ส่วนประเด็นปัญหาการครอบงำ เป็นคนละส่วนกัน เป็นขั้นตอนเตรียมยื่นแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่จะยื่นร่างกฎหมายดังกล่าวต่อสภาฯ และพิจารณาแก้ไขในหลายประเด็น อาทิ การแก้ไขความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะเดิมใช้คุณสมบัติของผู้สมัคร สส. ทำให้หลายคนไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคได้ สิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรค ควรเปิดกว้างให้ทุกคน
ร่างศึกษากม.นิรโทษฯเข้าสภา26กย.
ขณะที่นายนิกร จํานง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงการเสนอรายงานของ กมธ. ต่อที่ประชุมสภาฯ ว่า เรื่องนี้เสร็จมาเป็นเดือนแล้ว แต่เนื่องด้วยจังหวะของสภาฯ จึงขยับไปพิจารณา ในวันที่ 26 กันยายน ซึ่ง กมธ.มีข้อสรุปสำคัญของทุกเรื่อง ทั้งสภาพปัญหา และรูปแบบของคณะกรรมการ
นายนิกร กล่าวต่อว่า ส่วนความเห็นที่สำคัญของร่างศึกษาฉบับนี้ คือความเห็นต่างเรื่องมาตรา 112ว่าจะรวมอยู่ในการนิรโทษกรรมหรือไม่ ซึ่งกมธ.ไม่สามารถหาข้อสรุปได้จึงให้สมาชิกกมธ.แต่ละคน บันทึกความเห็นไว้ในรายงาน โดยแบ่งเป็น3ประเภทคือ 1.ไม่รวม เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง 2.รวมอย่างมีเงื่อนไข 3.รวมโดยไม่มีเงื่อนไข สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ข้อสังเกตของรายงานที่ระบุว่าให้รัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพในการยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยใช้ข้อเสนอของ กมธ.คือนับคดีความ 25 ฐานความผิด ตั้งแต่ปี 48 โดยให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการประสานจัดทำร่างขึ้นมาเอง
ทั้งนี้ ยังมีข้อสังเกตว่ากรณีมาตรา112เป็นเรื่องที่มีความเปราะบาง รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งยุบพรรคก้าวไกล อาจจะส่งผลต่อเรื่องนี้ด้วย จึงต้องไปหารือกันว่าจะตีความเรื่องนี้อย่างไร
‘จักรภพ’ค้านนิรโทษฯรวมคดี112
ขณะที่นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่ง เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมควรรวมคดี 112 ด้วยหรือไม่ว่า “ผมไม่เห็นว่า 112 ควรจะรวมในนิรโทษกรรม พูดผมเสียใจ ควรจะรวมอยู่โดยอัตโนมัติ แต่ผมต้องให้ล้อเลื่อนผ่านไปก่อนในความรู้สึกส่วนตัว ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าตัวเองปลอดภัยแล้วมาพูด แล้วถ้ามันไม่ปลอดภัยผมจะมานั่งอยู่ได้อย่างไร และการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นในมาตราใดก็ตาม รวมถึงมาตรา 112 และโดยเฉพาะมาตรา 112 นั้น เราควรที่จะกระทำ แต่เราต้องกระทำโดยที่ไม่ทำให้ใครเกิดความหวาดกลัว เพราะความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นว่าเขาจะอยู่ไม่ได้
“ถ้าคุณได้ฉันเสียหมด ถ้าฉันได้คุณเสียหมด เป็นความรู้สึกที่ไม่ตรงกับการเมือง เพราะการเมืองต้องหาจุดร่วมกัน เขาบ้างเราบ้าง แต่ถ้าความรู้สึกนี้เกิดขึ้นจะกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางทุกอย่างหมดฉะนั้นผมคิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องของระยะในการทำ เป็นเรื่องการคอยเวลา ทั้งหมดไม่ได้พูดว่าจะไม่รวมตลอดไป แต่เราต้องรอจนบรรยากาศเปลี่ยน ความรู้สึกเปลี่ยนบางอย่างแล้วก็นำไปสู่จุดนั้น”นายจักรภพ ระบุ
ทั้งนี้ ความเห็นของนายจักรภพ ถูกแชร์ไปวิพากษวิจารณ์ด่าทอด้วยความไม่พอใจ ในหมู่นักเคลื่อนไหวบางส่วนที่ผู้สนับสนุนพรรคประชาชน ตลอดจนผู้ลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศ ทำนองไม่เชื่อว่านายจักรภพ จะเปลี่ยนทัศนะมุมมองต่อโครงสร้างสังคมกรณี 112 ได้ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี