‘มาริษ’ นั่งหัวโต๊ะในยูเอ็น ปลุกเพื่อน รมต. บรรลุเป้า UHC ปี 2573 ย้ำไทยเชื่อมั่นความเท่าเทียมด้านสุขภาพ เดินหน้า ‘30 บาท’ 22 ปี ประชาชน 99% มีประกันสุขภาพแล้ว
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ตามเวลาท้องถิ่นนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นประธานร่วม และกล่าวเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีประจำปีครั้งที่ 5 ของกลุ่มเพื่อนด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสุขภาพทั่วโลก (UHC) ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 79 ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ
นายมาริษ กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้ต้อนรับทุกท่านสู่การประชุมประจำปีครั้งที่ 5 ของกลุ่มเพื่อนด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสุขภาพทั่วโลก และขอแสดงความขอบคุณสำหรับการสนับสนุนอันมีค่า จากพันธมิตรและมิตรสหายของเราในการจัดงานนี้ ได้แก่ ประธานร่วม จอร์เจียและญี่ปุ่น และสมาชิกอื่น ๆ ของกลุ่มเพื่อนฯ องค์การอนามัยโลก และ UHC2030 รวมถึงคณะผู้ทรงเกียรติที่มาร่วมเสวนาและมาร่วมงานในวันนี้ด้วย
จากการประชุมระดับสูงเรื่อง UHC เมื่อปีที่แล้ว สิ่งสำคัญคือการรักษาพลวัตรและผลักดันการสนทนาและการดำเนินการต่อไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการบรรลุ UHC ภายในปี 2573 นี่คือเหตุผลที่ทำให้รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งกับหัวข้อการประชุมในวันนี้ ซึ่งเน้นการคุ้มครองทางการเงิน ที่เป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และความสัมพันธ์ระหว่าง UHC กับการแก้ไขปัญหาสำคัญอย่างการดื้อยา (AMR)
ประเทศไทยเชื่อมั่นในความเท่าเทียมด้านสุขภาพ หลังจากที่เราดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UCS) มาเป็นเวลา 22 ปี ตอนนี้เราสามารถพูดได้ว่า คนไทยมากกว่า 99% มีประกันสุขภาพแล้ว นอกจากนี้ เรายังขยายความคุ้มครองไปยังแรงงานข้ามชาติ และผู้ที่มีปัญหาเรื่องสัญชาติผ่านโครงการอื่น ๆ ด้วย
ล่าสุด เราได้นำโครงการ “30 บาท รักษาทุกที่” มาใช้ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายทางอ้อม สำหรับการดูแลสุขภาพ ผู้รับประโยชน์จาก UCS จะสามารถเข้าถึงการรักษาที่สถานพยาบาลนอกเหนือจากผู้ให้บริการที่ตนกำหนดได้อย่างง่ายดาย
นอกจากนี้ คนไทยยังสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพผ่านเครือข่ายร้านขายยา คลินิกพยาบาล และคลินิกเทคนิคการแพทย์ ที่เรียกว่า “หน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่” ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ เวลาที่ต้องรอคอย และค่าเดินทางสำหรับผู้ที่ต้องพึ่งพาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ร้านขายยาที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนริเริ่มนี้ ยังช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ดีขึ้น ในขณะที่ได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิดจากเภสัชกรที่มีใบอนุญาต ซึ่งจะช่วยให้การจัดการยาต้านจุลชีพมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากประชาชนได้รับคำแนะนำและเข้าถึงยาที่ถูกต้อง พร้อมทั้งรับประกันการใช้ยาอย่างมีเหตุผลและมีประสิทธิผล
ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธาน Foreign Policy and Global Health Initiative (FPGH) อีกครั้งในปีนี้ เมื่อเราดำรงตำแหน่งประธาน FPGH เป็นครั้งแรกในปี 2560 เราได้เสนอญัตติในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ซึ่งนำไปสู่การประชุมระดับสูงครั้งแรกเกี่ยวกับประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2562
ในครั้งนี้ เราเสนอญัตติเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วย การส่งเสริมสุขภาพเป็นแนวทางเชิงรุกที่ช่วยให้บุคคลสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้ ซึ่งไม่เพียงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของบุคคลเท่านั้น แต่ยังช่วยลดภาระของระบบสาธารณสุขโดยรวมอีกด้วย
“มีแนวทางมากมายในการพัฒนาและขยาย UHC เรามาทำงานร่วมกันต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ในการมีสุขภาพที่ดีของทุกคน และขอให้การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานร่วม การประชุมระดับรัฐมนตรีประจำปีครั้งที่ 5 ของกลุ่มเพื่อนด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสุขภาพทั่วโลก (UHC) กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี