‘ดิเรกฤทธิ์’ชี้กระแสสังคมทำ‘เพื่อไทย’ถอยแก้รธน.ปมจริยธรรม แต่ต้องจับตาร่างที่ยังค้างในสภา-รื้อทั้งฉบับ
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2567 นาย ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ว่าด้วยจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้จะเห็นพรรคเพื่อไทยพยายามผลักดันผ่านการหาทางพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล ก่อนที่จะยุติการดำเนินการโดยอ้างว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้เริ่มเองตั้งแต่ต้น แต่มาจากพรรคร่วมรัฐบาล ว่า ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะหากดูข้อมูลย้อนหลังหลายแหล่งที่เผยแพร่ทางสื่อมวลชน ก็มีข้อสังเกต
เช่น ข้อมูลไม่ตรงกัน หาทางหลีกเลี่ยงกระแสสังคม หรือเปลี่ยนแนวคิดจริงๆ ซึ่งเนื้อหาเรื่องนี้ตนคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ของบ้านเมือง เพราะเรากำลังจะไปด้วยดีในเรื่องวิธีคิดและเรื่องประชาธิปไตยสุจริต เนื่องจากกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตีความกฎหมายเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เรื่องจริยธรรมของนักการเมือง
รวมถึงเรื่องการตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้คนไม่ดีเข้าสู่อำนาจ และใช้อำนาจไปในทางทุจริต ทำเพื่อพวกพ้องไม่ทำเพื่อประชาชน หรือที่ใช้ภาษาชาวบ้านว่าต้องการปราบโกง ดังนั้นประชาชนก็จะรู้สึกว่านักการเมืองทำเพื่อตนเองหรือไม่ ให้เข้าง่ายออกยาก ให้คนมีประวัติอย่างไรก็ได้มาเป็นรัฐมนตรีแล้วหากทำผิดต้องมีการะบวนการสอบสวนที่ต้องใช้มติเสียงข้างมากเป็นพิเศษจึงจะให้พ้นจากตำแหน่งได้ ซึ่งภาพแบบนี้เป็นปัญหาสังคม
ส่วนคำถามว่าการที่พรรคเพื่อไทยยอมถอยเพราะกังวลถูกร้องเรียนเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ ตนมองว่าเรื่องนั้นคงไกลเกินไป เมื่อเทียบกับกรณีที่ชัดเจน เช่น กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกระเบียบขึ้นเงินเดือนตนเอง ซึ่งเมื่อดูเหตุผลที่เพื่อไทยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะอ้างถึงประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนเรื่องการทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพไม่สะดุดติดขัดกับเรื่องไม่เป็นเรื่องหรือถูกกลั่นแกล้ง การถอยของพรรคเพื่อไทยจึงไม่น่าใช่เพราะกลัวเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
“ประเด็นก็คือว่าเรื่องนี้มันมีประโยชน์กับใคร ผมคิดว่ามันไมได้มีประโยชน์กับประชาชนหรือนักการเมืองทั้งสภา ที่เป็นข้อสังเกตของประชาชนก็คือว่าเรื่องนี้มันอาจจะได้ประโยชน์ แล้วก็เร่งรีบทำขึ้นมาเพื่อคนบางกลุ่มหรือเปล่า? เพื่อคนเป็นรัฐมนตรีไม่ได้เพราะติดขัดปัญหาการตรวจสอบหรือเปล่า? หรือเพื่อจะให้โอกาสของคนที่ทำผิดในอดีตกลับมาเป็นรัฐมนตรีได้ เพราะถ้าดูเนื้อหานี่น่าสนใจ” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว
นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า กระแสสังคม ซึ่งยุคนี้ประชาชนไม่จำเป็นต้องลงไปบนท้องถนนกันมากๆ เพียงแต่มีการแชร์ความคิดว่าไม่เห็นด้วยและตำหนิคนที่ทำเรื่องนี้ ประกอบกับพรรคร่วมรัฐบาลก็รับแนวความคิดนั้น เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึงบางส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงจุดยืนไม่เอาด้วย เหมือนจะลอยแพพรรคเพื่อไทยหากยังพยายามจะผลักดันต่อ เรื่องเหล่านี้มากกว่าที่ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องกลับไปทบทวน เพราะหากยังดันต่อไปพรรคเพื่อไทยจะเสียเครดิตเอง
อย่างไรก็ตาม ตนทราบว่ายังมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ว่าด้วยจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เข้าสู่การพิจารณาของประธานรัฐสภาแล้ว ดังนั้นก็ต้องจับตามองกันต่อไปว่ามีพรรคใดที่ร่วมอยู่บ้าง มีจุดยืนหรืออุดมการณ์อย่างไรที่จะแสดงออก นอกจากนั้น ท่าทีที่ถอยออกไปจากเรื่องนี้ของพรรคใดก็ตาม ยังจะมีการนำไปซ่อนไว้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ เพราะแก้ทั้งฉบับคือเอาทุกมาตรามาดู ยกเว้นเฉพาะหมวด 1 และ 2 เท่านั้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี