‘วุฒิสภา’นัดถก‘ร่างกฎหมายประชามติ’ 30 ก.ย.นี้ หลังกมธ.ชงที่ประชุม พบเสียงข้างมากฟื้นเกณฑ์ผ่านประชามติ ด้วยเสียงข้างมาก 2 ชั้น เฉพาะเรื่อง‘แก้ รธน.’
27 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุมวุฒิสภา วันที่ 30 ก.ย. โดยมีวาระพิจารณา เรื่องด่วน คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ... ซึงคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งมี พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. เป็นประธานกมธ. ได้พิจารณาเสร็จแล้ว
สำหรับสาระสำคัญของรายงานซึ่งกมธ.เสนอต่อที่ประชุม พบว่ามีการแก้ไขเพียง 1 มาตรา ในมาตรา 7 ซึ่งแก้ไขมาตรา 13 ว่าด้วยเกณฑ์การผ่านประชามติ โดยกมธ.ได้แก้เพิ่มเติมไปจากบทบัญญัติที่สภาฯ เห็นชอบ โดยได้เติมข้อความในวรรคสอง กำหนดให้การทำประชามติเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียยงในเรื่องที่ทำประชามตินั้น ซึ่งแปลความได้ว่า ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น หากเป็นกรณีที่ทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขณะที่เรื่องทั่วๆ ไปนั้น กมธ.ยังคงหลักเกณฑ์ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว คือ “เสียงข้างมากของผู้ออกมาออกเสียง และเสียงข้างมากนั้นต้องสูงกว่าคะแนนไม่แสดงความคิดเห็นเรื่องที่ทำประชามติ"
ในรายงานดังกล่าว ต่อการแก้ไขมาตรา 7 นั้น พบว่ามีกมธ.เสียงข้างน้อยที่ขอสงวนความเห็น ได้แก่ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. นายกฤช เอื้อวงศ์ นายนิกร จำนง นายวุฒิสาร ตันไชย และ น.ส.อุดมลักษณ์ บุญสว่าง ซึ่งเป็นกมธ.ในโควตาของรัฐบาล
นอกจากนั้นในรายงานยังระบุถึงข้อสังเกตของกมธ. ด้วยว่า
1.ในการกำหนดระยะเวลาออกเสียงนอกราชอาณาจักร ควรเผื่อระยะเวลาเพราะแต่ละประเททศมีองค์ประกอบและปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการจัดส่งบัตรเลือกตั้งและบัตรออกเสียงประชามติ ที่พบว่าในอดีตมีความล่าช้าจากหลายปัจจัย
2.การประชาสัมพันธ์ เพื่อให้รอบคอบ ครบถ้วน โปร่งใส ตรวจสอบได้และเป็นธรรมรวมถึงให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักความสำคัญของการออกเสียงประชามติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรจัดเวทีแสดงความคิดเห็นโดยอิสระเท่าเทียม ทั้งผู้เห็นชอบและไม่เห็นชอบ ต้องอำนวยความสะดวกด้านอื่นให้ประชาชนทุกคนเข้าร่วมใช้สิทธิเต็มที่ นอกจากเผยแพร่วัน เวลาและสถานที่ใช้สิทธิเท่านั้น และให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องที่มีการออกเสียงประชามติ
3.การออกเสียงลงคะแนนด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ต้องสร้างระบบให้มีความน่าเชื่อถือ และดำเนินการได้ภายในวันเดียวกันหรือควบคู่กันเพื่อประหยัดงบประมาณ โดย กกต.ต้องบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และระบบดังกล่าวต้องป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.การตั้งประเด็นคำถาม ควรมีถ้อยคำชัดเจนเพียงพอให้ผู้มาออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ป้องกันปัญหาการตีความ ทั้งนี้หากคำถามประชามติเป็นคำถามเชิงซ้อนควร ใช้การออกเสียงแบบแยกย่อยคำถามจนครบทุกประโยเชิงซ้อนด้วย จึงจะถือว่ามีข้อยุติ
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี