‘ประธานสภาฯ’คาดกลางตุลาฯนี้ ประชุมร่วมรัฐสภา ถกร่าง‘แก้รธน.’ที่อยู่ในวาระ รับมีปัญหาหาก‘สว.’เดินหน้าแก้ไขออกเสียง‘ประชามติ’ อาจต้องตั้งกมธ.ร่วม ทำแก้รธน.อืด แจงเดาไม่ได้จะเสร็จทันรัฐบาลนี้หรือไม่
27 กันยายน 2567 ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ว่า เบื้องต้นได้รับการประสานจากกองการประชุม ขณะนี้มีร่างที่ถูกบรรจุในระเบียบวาระแล้ว 3 ร่างของพรรคประชาชน(ปชน.) แต่ไม่ทราบความชัดเจนกรณีที่เป็นข่าว ว่าพรรคเพื่อไทยจะส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 2-3 ร่างอีกหรือไม่ จึงต้องรอดูว่าสุดท้ายจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังรอความชัดเจนทั้งร่างที่เสนอโดยพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทยให้ครบถ้วน ก่อนบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเพิ่มเติมในเรื่องเดียวกัน เพื่อที่จะพิจารณาพร้อมกัน
“คาดว่าน่าจะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในช่วงกลางเดือนตุลาคม ตามที่กำหนด หากยื่นแล้วต้องบรรจุในระเบียบวาระไม่เกิน 15 วัน ซึ่งเป็นการพิจารณาตามขั้นตอนที่วิปทุกฝ่ายได้หารือกัน เพื่อกำหนดวันเรียบร้อยแล้ว” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
เมื่อถามว่าร่างของพรรคประชาชน ที่ส่งมาแล้วจะต้องทำประชามติหรือสำรวจความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า หากมีการแก้ไขทั้งฉบับหรือแก้ไขอำนาจองค์กรอิสระ หรืออำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะลดหรือเพิ่มอำนาจต้องทำประชามติถามความเห็นประชาชน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ขณะที่เรื่องการแก้ไขมาตรฐานจริยธรรม จะต้องพิจารณาว่าแก้ไขเป็นอย่างไรเนื่องจากมีทั้งประเด็นที่ต้องทำและไม่ทำประชามติ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับสาระสำคัญ
เมื่อถามถึงกรณี่ สว. ต้องการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ไม่เห็นด้วยกับการใช้เสียงข้างมากปกติ หรือ single majority แต่ให้ใช้วิธี DOUBLE MAJORITY หรือ “เสียงข้างมาก 2 ชั้น” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ต้องรอดูสุดท้ายจะเป็นอย่างไร เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรเคยแก้ไขและประกาศใช้ไปแล้ว ดังนั้น สว. คิดเห็นไม่เหมือนกัน จะต้องมีการแก้ไขอีกครั้งโดยการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม ซึ่งผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตามนั้น
เมื่อถามว่าจะส่งผลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ไม่ต้องทำประชามติก็ไม่ต้องรอ แต่ยอมรับว่าหากร่างไหนที่ต้องผ่านการทำประชามติก่อน คงล่าช้า แต่จะทันสมัยประชุมนี้หรือไม่ตนไม่ทราบ ไม่อยากพูดไปล่วงหน้า เพราะหากมีการแก้ไขกระบวนการทำประชามติ ที่ต่างจากร่างเดิมกระบวนการต่างๆก็จะล่าช้าไปด้วย
เมื่อถามว่า หากเป็นเช่นนี้การแก้ไขประชามติอาจจะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ทันกลับรัฐบาลนี้หรือไม่ ประธานสภาฯ กล่าวว่า จะช้าหรือไม่ช้าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามีการแก้ไขกฎหมายประชามติเวลาที่ดำเนินการมาทั้งหมดก็ใช้ไม่ได้ ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ หรือทำประชามติแต่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ครึ่งหนึ่งแต่เห็นชอบไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ์ จึงต้องดูรายละเอียดเพราะขึ้นอยู่กับกฎหมาย
“ขณะนี้ความเห็นร่วมกันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่มีข้อยุติ ส่วนจะทันในสมัยรัฐบาลนี้หรือไม่ยังไม่มีความชัดเจน ว่าจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ เช่น ประเด็นการทำประชามติเป็นประโยชน์น่าสนใจสำหรับประชาชนหรือไม่ ตัวอย่าง การเลือกสส.ที่มีประชาชนมาใช้สิทธิ์ เกิน 70% เพราะได้รับความสนใจจากประชาชน ขณะที่ การทำประชามติไม่รู้ว่าประชาชนสนใจหรือไม่ และยังไม่รู้ว่าจะถามอะไร จะคุ้มค่ากับที่ประชาชนต้องเสียเวลามาหรือไม่ หากแก้ไขไม่ถูกใจ ประชาชนก็มองว่าไม่ออกมาดีกว่า เพราะไม่ให้ความสำคัญ ทำให้เสียโอกาส เสียเวลา และเสียงบประมาณ ซึ่งเรื่องนี้เดาล่วงหน้าไม่ได้เพราะยังไม่เกิดขึ้น” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี