‘ประธานวันนอร์’ชี้‘มาตรฐานจริยธรรมทางการเมือง’จำเป็น แต่ถ้าเข้มเกินไปจน‘ผู้นำ’หวาดระแวงถูกร้อง จะกระทบทำงานยาก แนะต้องสมดุลทางกฎหมาย รับทำอะไรไม่ได้กฎหมายเปิดช่อง สส.ลาประชุม เผย ‘กก.จริยธรรม’ เตรียมเดินหน้าสอบ ชี้เป็นเรื่องดี เช็คการทำหน้าที่ผู้แทนฯ จะได้เห็นตอนเลือกตั้ง
27 กันยายน 2567 ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงความจำเป็นที่ต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง ว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความสมดุลกฎหมาย แต่กฎหมายเรื่องจริยธรรมในสังคม อาจจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กร โดยมาตรฐานจริยธรรมของผู้นำศาสนาก็จะต้องสูงในระดับหนึ่งเช่นเดียวกับผู้พิพากษา ที่เป็นองค์กรที่ต้องตัดสินคดีต่างๆ ต้องสร้างความน่าเชื่อถืออีกรูปแบบหนึ่ง รวมถึงมาตรฐานทางจริยธรรมของทูต ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศก็ต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง
ในส่วนของสส.และ สว.ก็ควรจะต้องมีมาตรฐาน ทุกอย่างต้องเพื่อประโยชน์ของประชาชน และประชาชน ยอมรับได้ ถ้าไม่มีก็ไม่ได้เพราะจะวุ่นวาย หรือมีแล้วอ่อนเกินไปเท่ากับไม่มี ก็ไม่ดี หากมีหรือมีเข้มเกินไป ทำให้ทำหน้าที่ไม่ได้ ไม่มีความมั่นคงในการตัดสินใจทำให้ไม่กล้าทำอะไรเลย ก็จะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ จึงคิดว่าทุกอย่างอยู่ที่ความสมดุลว่ามีแล้วได้ประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ และถ้าไม่มีแล้วประชาชนเสียประโยชน์ก็ควรต้องมี
ประธานสภาฯ กล่าวต่อว่า มาตรฐานทางจริยธรรมของแต่ละองค์กรไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ในปัจจุบันที่เป็นปัญหาถกเถียงอยู่ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 129 กำหนดว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้เขียนมาตรฐานทางจริยธรรม สำหรับศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และให้บังคับถึงคณะรัฐมนตรี(ครม.)และสมาชิกรัฐสภาด้วย กลายเป็นประเด็นว่าเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกอาชีพ ถ้าถามว่าดีหรือไม่ เพราะบางอย่างปฏิบัติแล้วทำให้เกิดความไม่มั่นคง ทำให้ผู้นำรัฐบาลไม่สามารถตัดสินอะไรๆ ได้เพราะกลัวจะถูกถอดถอน และกังวลว่าจะถูกมาตรฐานทางจริยธรรมทำให้บริหารงานไม่มีความมั่นคง ทำให้คนไม่ไว้วางใจในรัฐบาลเพราะไม่มั่นใจว่าอยู่นานเท่าไร
“ดังนั้นควรต้องมีความมั่นคงพอสมควร แต่มาตรฐานทางจริยธรรม เช่น การไม่โกง ไม่ทุจริต ไม่เอาประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม และควรระบุให้ชัดว่ามาตรฐานของแต่ละอาชีพนั้นควรอยู่ตรงไหน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานะของผู้นั้น”ประธานสภาฯกล่าว
เมื่อถามว่าพฤติกรรมในอดีตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรนำมาเป็นหลักเกณฑ์ในเรื่องของจริยธรรมหรือไม่นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดปัญหาเพราะเดิมเราไม่มีการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมที่ชัดเจน แต่ไปตัดสินที่ศาลเลย ซึ่งหากยึดคำพิพากษาของศาล ถือเป็นจริยธรรมของบุคคลทั่วไป แต่สมาชิกรัฐสภาควรมีจริยธรรมระดับหนึ่งไม่เท่ากับคนทั่วไป การที่กำหนดมาตรฐานทางธรรมสูงเท่าผู้พิพากษา ตนก็คิดว่าเกินไปหน่อย ซึ่งความจริงมาตรฐานสูงเป็นเรื่องดีแต่ปฏิบัติลำบาก
“ถ้าเกินขนาดนั้นดีหรือไม่ ต้องบอกว่าดี แต่มันปฏิบัติลำบาก เมื่อคนมาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ไม่กล้าตัดสินใจอะไรสักอย่าง ประชาชนเสียประโยชน์แน่นอนอย่างจริยธรรมของแพทย์ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันเป็นเรื่องที่มีของแต่ละองค์กร”นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
เมื่อถามว่า มีการยื่นคำร้องว่ามีสส.ลาประชุม 84 ครั้ง จากที่มีการประชุม 95 ครั้ง ถือว่าผิดจริยธรรมหรือไม่ ประธานสภาฯ กล่าวว่า พูดยากเพราะเป็นเรื่องข้อบังคับและกฎหมายที่สส.สามารถทำได้ แต่ก็ตรวจสอบความเหมาะสมได้ และถือเป็นความรับผิดชอบ ซึ่งความจริงกรณีเช่นนี้มีน้อยมาก เพราะพรรคการเมืองก็ได้เข้มงวดสมาชิกในการลงมติต่างๆโดยตลอด แต่กรณีนี้ถ้ามีการเสนอให้ตรวจสอบก็ต้องนำเรื่องเข้าคณะกรรมการจริยธรรมของสภาราษฎร ซึ่งจะมีอนุกรรมการแต่ละฝ่ายพิจารณาอีกที
อย่างไรก็ตามยอมรับว่ายังไม่มีการประชุมกรรมกรรมการจริยธรรมเนื่องจากขาดองค์ประกอบ เพราะคณะกรรมการจริยธรรม ประกอบด้วยประธานสภาฯ ตัวแทนของฝ่าย ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน และต้องมีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้มีปัญหาว่าขาดผู้นำฝ่ายค้านฯ แต่ตอนนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯผู้นำฝ่ายค้านฯแล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องสัดส่วนตัวแทนที่สลับเปลี่ยนกันใหม่ จึงต้องมาดูสัดส่วนที่เป็นจริงและต้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน ซึ่งจะต้องเป็นไปตามพรรค เพราะบางพรรคแบ่งซีกนั่งฝ่ายค้านครึ่งหนึ่งฝ่ายรัฐบาลครึ่งหนึ่ง ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กำหนด ซึ่งพรรคพลังประชารัฐถือว่าเป็นฝ่ายค้าน คาดว่าน่าจะเรียบร้อยได้ในเร็วๆนี้ เพราะมีเรื่องยื่นเข้ามารออยู่ประมาณ 6-7 เรื่อง โดยจะให้ฝ่ายเลขาประธานสภาฯไปดำเนินการให้ครบ เพื่อเรียกประชุมคณะกรรมการจริยธรรม
เมื่อถามย้ำว่า คนที่เซ็นอนุญาตให้ลาได้คือประธานสภาฯข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายวันมูหะหมัดนอร์ กล่าวว่า เรื่องนี้มอบให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง เป็นผู้ดูแลเรื่องการลาของสมาชิก ทั้งนี้ยอมรับว่าตามข้อกฎหมายเป็นเรื่องยาก เพราะกำหนดให้สมาชิกลาได้ ถ้าจำเป็น ซึ่งการลาสมาชิกก็บอกว่าจำเป็น ติดภารกิจ หรือไม่สบายก็ต้องมีเหตุผลมา แต่ความเหมาะสมอยู่ตรงไหน ตนคิดว่าประชาชนซึ่งเป็นผู้เลือกสมาชิกคงจะวัดได้
เมื่อถามว่าในอดีตมีการลามากขนาดนี้หรือไม่ประธานสภาฯ กล่าวว่า ก็มีคนลา ส่วนใหญ่ที่ลาบางคนเป็นสส.และเป็นรัฐมนตรีด้วย หรือสมัยก่อนนายกรัฐมนตรีเป็นสส.ก็ติดภารกิจเยอะเช่นกัน แต่ไม่แน่ใจว่าจำนวนมากขนาดนี้หรือไม่เพราะไม่ได้ตรวจสอบย้อนหลัง บางคนไม่ได้เป็นทั้งสองอย่างก็ขาดประชุมก็มี แต่ตนก็เห็นว่าถือเป็นเรื่องดีที่มีคนสนใจการปฏิบัติหน้าที่ของ สส. ซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชน และต่อไปก็จะเป็นประเด็นหนึ่งที่เวลาไปเลือกตั้งประชาชนก็จะได้เห็น จึงถือเป็นเรื่องดีที่ทั้งสื่อมวลชนและประชาชนจะตรวจสอบ เพื่อให้การทำหน้าที่เป็นไปอย่างโปร่งใสและชัดเจน
เมื่อถามว่าการตรวจสอบเรื่องลักษณะนี้จะต้องเรียกเจ้าตัวมาชี้แจงหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า การสอบถามเป็นเรื่องของอนุกรรมการที่จะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม แต่เราไม่มีกฎหมายที่จะไปบังคับเหมือนศาลว่าต้องมาให้ถ้อยคำ ถ้าเจ้าตัวไม่มาให้ถ้อยคำ ก็ถือเอาตามเหตุการณ์แวดล้อม และคำร้อง ซึ่งคนที่ถูกร้องก็จะเสียเปรียบเอง
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี