เมื่อต้นเดือนที่แล้ว 2 สัปดาห์ (1 และ 8 กันยายน 2567) คอลัมน์นี้ได้มาชวนให้ท่านผู้อ่าน ช่วยกันคิดวิธีสรรหานายกรัฐมนตรี กันใหม่ เพราะวิธีที่เราใช้กันมายาวนานถึง 92 ปี (จากปีพ.ศ. 2475) โดยให้ สส. (ผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนปวงชนชาวไทย) เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี และลงคะแนนเสียงรับรองคณะรัฐบาล (ผู้ใช้อำนาจบริหารแทนปวงชนชาวไทย) เพราะระบบนี้ได้:-
-นำปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นมาสู่ทุกวงการและทุกระดับจนใกล้จะกลายเป็น “ประเทศที่ล้มเหลว” (failed state) อยู่แล้ว
-ทำให้จริยธรรม และศีลธรรม เสื่อมโทรมลง
-นำความล้มเหลวมาสู่การพัฒนาประเทศไทย ในการเข้าสู่การแข่งขันในเวทีโลก
-ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ มีนายกรัฐมนตรีถึง 19 คน ในระยะเวลา 30 ปีเศษ (30 ปี 292 วัน)
-ทำให้ขาดการสมดุลแห่งอำนาจอธิปไตยทั้งสาม (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) ฝ่ายนิติบัญญัติพยายามแย่งชิงกันเข้าสู่อำนาจบริหาร (โดยมาเป็นรัฐบาลเสียเอง) ทำให้การควบคุมและการกำกับดูแล อ่อนแอ และไม่มีการคานอำนาจระหว่างอำนาจทั้งสาม
-ทำให้ประเทศมีวัฒนธรรมที่อ่อนแอ (Soft Culture) เพราะการขาดจริยธรรม (Ethics) ขาดศีลธรรม (Moral)ไม่เคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย
-และอะไรอื่นๆ อีกมากมาย ที่ผู้อ่านทราบกันดีอยู่แล้วทุกคน
ประชาธิปไตยแบบนี้ เขาเรียกกันว่า “ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา” (Parliamentarian Democracy) ซึ่งเราเอามาใช้เป็นปีที่ 92 แล้ว ตั้งแต่รัชสมัย ร.7 ถึงรัชสมัย ร.10
แล้วเราไม่คิดหาประชาธิปไตยแบบอื่นมาใช้บ้างหรือขอสรุปสั้นๆ ให้คน Gen Z อ่านได้เร็วๆ ว่า
1.เราต้องการมีรัฐบาล (ฝ่ายบริหาร) ที่มีเสถียรภาพ (Stability) จะได้เอาเวลามาพัฒนาบ้านเมือง ไม่ต้องเสียเวลาอยู่กับการแก้รัฐธรรมนูญ การต่อสู้กับฝ่ายที่ต้องการล้มรัฐบาล
2.เราต้องการมีหัวหน้ารัฐบาล (นายกรัฐมนตรี)ที่เป็นมืออาชีพจริงๆ เคยบริหารกิจการของตน ไม่ว่าจะเป็นการค้า หรืออุตสาหกรรม (ธุรกิจ) ประชากิจ เช่น มูลนิธิ, สมาคม (กิจการเพื่อสังคม) และรัฐกิจ (กิจการของรัฐ) เป็นผลสำเร็จที่พิสูจน์ได้ ไม่ใช่เอาใครก็ได้ หรือญาติคนไหนก็ได้ มาทดลองบริหารประเทศให้เราดู และเสียเวลากันไปมาก
3.เราต้องการมีหัวหน้ารัฐบาล (นายกรัฐมนตรี) ที่มีจริยธรรมสูง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ มากกว่าประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีความเสียสละเป็นที่ประจักษ์
4.เราต้องการมีหัวหน้ารัฐบาล (นายกรัฐมนตรี) ที่เป็นคนเก่ง รอบรู้ในเรื่องการบริหาร, การต่างประเทศ, การเศรษฐกิจในประเทศ และระหว่างประเทศ เทียบเคียงกับ
ผู้นำประเทศอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเล็กๆ เช่น สิงคโปร์ หรือเนเธอร์แลนด์ หรือประเทศที่ใหญ่กว่าเช่นญี่ปุ่น หรือฝรั่งเศส
5.เราต้องการมีหัวหน้ารัฐบาล (นายกรัฐมนตรี) ที่เป็นคนกล้า กล้าตัดสินใจ ไม่ลังเลที่จะฟาดฟันผู้ทุจริตผิดกฎหมาย ข้าราชการที่ทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่กับอาชีพสีเทา ไม่ลังเลที่จะยอมรับผิดและยอมให้ญาติพี่น้องหรือตนเอง ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรมของบ้านเมือง
6.เราต้องการมีบุคคลข้างต้น ให้เข้ามาทำหน้าที่ครั้งละ 4 ปี หรือ 2 ครั้ง 8 ปี โดยไม่ต้องห่วงกับการเลื่อยขาเก้าอี้ของฝ่ายนิติบัญญัติ พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์กลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น หรือกลุ่มอิทธิพลอาชีพ โดยการมีกลไกในระบอบประชาธิปไตย ที่ให้ผู้ที่เหมาะสมข้างต้น ได้ทำงานให้แก่ปวงชนชาวไทยอย่างมีประสิทธิภาพ และอยู่ดีกินดี พ้นจากความยากจน ได้เร็วกว่าระบบปัจจุบัน
ทั้งนี้ โดยเราตระหนักดีว่า เราจะอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ ที่อำนาจสูงสุดเป็นของปวงชนชาวไทย ทั้งสามอำนาจ คือ อำนาจบริหาร (รัฐบาล) อำนาจนิติบัญญัติ (รัฐสภา) และอำนาจตุลาการ (ศาล)
โดยเราตระหนักดีว่า
1.การมีพรรคการเมืองและให้ สส. เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่วิถีทางเดียวของประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentarian Democracy)ซึ่งนำความล้มเหลวมาให้เราเกือบ 100 ปีแล้ว (92 ปี)
2.การเลือกตั้ง ไม่ได้หมายความถึงวิถีเดียวของความเป็นประชาธิปไตย ในปัจจุบันเราก็ให้ประชาชนได้เลือกตั้ง ผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ แล้ว ส่วนอำนาจตุลาการ เราก็ใช้วิธีคัดเลือก กลั่นกรอง อบรมและสร้างจิตวิญญาณของผู้ที่จะเข้าไปใช้อำนาจตุลาการ แทนปวงชนชาวไทย
ส่วนการเข้าสู่อำนาจบริหาร ก็มีวิธีอื่นอีกมากมาย ที่ไม่ใช่ให้พรรคการเมืองเป็นผู้เลือก
3.เราตระหนักดีว่า ประชาธิปไตยมีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส... จีน เวียดนาม ก็มีวิธีการเข้าสู่อำนาจแตกต่างกันออกไป ไม่จำเป็นต้องให้พรรคการเมืองหรือ สส. มาเป็นผู้เลือกรัฐบาล และเข้าไปเป็นฝ่ายบริหารเสียเอง แบบประเทศไทยในปัจจุบัน (ดูบทความตอน 2 ใน แนวหน้า ฉบับลงวันที่ 8 กันยายน 2567) และแต่ละประเทศ ก็ย่อมหาวิธีกระจายและถ่วงดุลอำนาจทั้งสาม (นิติบัญญัติ-ออกกฎหมายใช้บังคับ, บริหาร-รัฐบาล, และตุลาการ-ศาล) ต่างกันออกไป ให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของตนเอง
เมื่อเราได้ตระหนักถึง ผลเสียของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ในประเทศไทย ซึ่งทำให้เกิดธุรกิจการเมือง (Business politics) และการต่อรองเพื่อประโยชน์ทางการเมือง (Political transaction) และการใช้อำนาจ อิทธิพล และอำนาจเงิน (Money Politics) เพื่อเข้าสู่อำนาจทั้งสามแล้ว เราจะต้องร่วมกันแก้ไขการสรรหานายกรัฐมนตรี (หัวหน้าของฝ่ายบริหาร) เสียใหม่
โดยคำนึงถึงคุณสมบัติ ของผู้ที่จะมาเป็นหัวหน้ารัฐบาล (หรือหัวหน้าของอำนาจบริหาร) เป็นหลัก
ขณะนี้ก็มีผู้ทรงคุณวุฒิ ตามคุณสมบัติในข้อ 2 ถึงข้อ 5 อยู่มากมาย ที่ควรจะนำมาเป็น ผู้ที่สมควรได้รับการคัดเลือก (candidate) ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรี) ได้
ในด้านประชากิจ ก็มีผู้ที่ดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่ง ในมูลนิธิ สมาคมวิชาชีพ สมาคมช่วยเหลือประชาชน ฯลฯ อยู่มากมาย อาทิ
ประธาน เลขาธิการ เหรัญญิก ของมูลนิธิชัยพัฒนามูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สภากาชาดไทย มูลนิธิรามาธิบดี และอื่นๆ อีกมาก
ในด้านธุรกิจและการประกอบการ ก็มีบรรษัทในตลาดหลักทรัพย์ โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรมโรงพยาบาล อีกมากมาย ที่ประธาน เลขาธิการ กรรมการ มีคุณสมบัติตามข้อ 2 ถึงข้อ 5
ในด้านรัฐกิจและรัฐวิสาหกิจ ก็มี ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าการ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้เคยดำรงตำแหน่งเหล่านี้ อีกมากมาย ที่มีคุณสมบัติ ตามข้อ 2 ถึงข้อ 5
เมื่อเราได้ ชื่อบุคคลเหล่านี้มาแล้ว การที่ใครจะเป็นผู้มาคัดเลือกและสรรหา ผู้ที่จะมาใช้อำนาจบริหารแทนปวงชนชาวไทย ก็คงจะเป็นบุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ควรจะเป็นนักการเมือง พรรคการเมือง หรือผู้ที่อยู่ในอำนาจนิติบัญญัติอย่างแน่นอน
คงจะต้องเอาไปช่วยกันคิด หรือรออ่านคราวหน้า
ศิริภูมิ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี