นายกฯ‘อิ๊งค์’โชว์วิชั่น
เวทีประชุมผู้นำACD
ไทยพร้อมเป็นสะพาน
เชื่อมสันติภาพเอเชีย
ACD มั่นใจวิสัยทัศน์ นายกฯของคนไทยย้ำบทบาทไทย ในเวทีประชุมผู้นำ ACDกรุงโดฮา จะสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคและส่งเสริมสันติภาพ นายกฯอิ๊งค์“โชว์วิชั่นไทยพร้อมเป็นสะพานเชื่อมหนุนสันติภาพพร้อมผลักดันวาระ“ศตวรรษแห่งเอเชีย” ในช่วงการเป็นประธานฯ 1มกราคม 2568นี้ พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการกระทำปฏิปักษ์ทุกรูปแบบและปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567เวลา 10.30 น. เวลาท้องถิ่นกรุงโดฮา หรือเวลา 14.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย ณ โรงแรม Ritz-Carlton Doha กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) ครั้งที่ 3 และขึ้นกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ ท่ามกลางผู้นำประเทศสมาชิก 35 ประเทศ
นายกฯอิ๊งค์’โชว์วิชั่นเวทีผู้นำACD
โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณ เจ้าภาพกาตาร์ที่ต้อนรับอย่างอบอุ่น และกล่าวถึงความสำเร็จของการจัดการประชุม ACD ครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “การทูตผ่านกีฬา”(Sports Diplomacy)ซึ่งชี้ให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของการใช้การกีฬา ที่สามารถเชื่อมความแตกต่างและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของโลก ซึ่งความสำเร็จจากการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของกาตาร์ เมื่อปี 2022 เป็นตัวอย่างที่สำคัญและแนวคิดนี้สอดคล้องกับจุดยืนของประเทศไทยที่จะะส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก
ส่วนในประเด็นสถานการณ์ความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นในภูมิภาค ประเทศไทยมีความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายลง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ และด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับประชาคมระหว่างประเทศ ไทยขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุด และขอให้ยุติการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ทั้งหมดโดยทันที เพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน และปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของ ACD ท่ามกลางสถานการณ์โลกปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนและต้องการการแก้ไข เช่นความขัดแย้งทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในฐานะผู้นำของประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่นำพาและสร้างความร่วมมือเพื่อเสถียรภาพและการเติบโตของประเทศ และในภูมิภาคอาเซียน ขณะเดียวกัน ศตวรรษที่ 21 นี้ได้ถูกกล่าวขานว่าเป็น “ศตวรรษแห่งเอเชีย” และเอเชียมีประชาชนกว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลกอีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ พลังงาน และความมั่นคงทางอาหารของโลก เปรียบเสมือน “แหล่งพลังงาน” และ “ครัวของโลก“
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการเกษตรและอาหาร ซึ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจและการตอบสนอง ต่อความต้องการอาหารทั่วโลก และประเทศไทยเห็นว่าการประชุมในครั้งนี้สมาชิก ACD จะได้ร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายทางการค้า และปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในห่วงโซ่อุปทานอาหารโลก โดยประเทศไทยอยู่ในภูมิศาสตร์ที่สำคัญ สามารถเป็นประตูสู่การเชื่อมต่อในโลกตะวันออก กับโลกตะวันตกได้เป็นอย่างดี รัฐบาลไทยจึงได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการขนส่งทางบก การขนส่งทางราง และทางน้ำให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และยังพร้อมเพิ่มสนามบินใหม่ๆและพัฒนาศักยภาพสนามบินที่มีอยู่เพื่อรองรับทั้งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าต่างๆ ทั้งนี้ประเทศไทยขอเชิญชวน ประเทศสมาชิก ACD มาร่วมกันพัฒนาเส้นทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อเชื่อมต่อและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วทั้งเอเชียในฐานะที่เอเชียเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก
พร้อมเป็นสะพานเชื่อสันติภาพ
ปัจจุบันบทบาทของACDมีความสำคัญมากขึ้นโดยเป็นกรอบความร่วมมือระดับทวีปแห่งแรกและแห่งเดียวของเอเชียซึ่งรวมภูมิภาคต่างๆที่หลากหลายเข้าด้วยกัน นายกรัฐมนตรี มุ่งหวังที่จะสานต่อแนวคิดนี้ในการดำรงตำแหน่งประธาน ACDในวันที่ 1มกราคม 2568นี้
โดยเล็งเห็นว่าACDจะเป็น”เวทีหารือของเอเชีย” (converging forum of Asia)และเน้นย้ำว่าไทยในฐานะผู้เป็นสะพานเชื่อม ACD มุ่งหวังที่จะทำงานร่วมกับทุกประเทศสมาชิก เพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ทั้งนี้ ในการเป็นประธาน ACD ของไทยในต้นปีหน้านี้ ประเทศไทยจะขับเคลื่อนการทำงานภายใต้การขับเคลื่อนในกรอบ 6 เสาความร่วมมือ (pillar of cooperation ) กันอย่างมียุทธศาสตร์ ผนวกกับความร่วมมือของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่นได้แก่ASEAN GCC(Gulf Cooperation Council: GCC) BRICS CICAและSCOเพื่อร่วมกันสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจโลก
นายกฯยังกล่าวถึงความสำคัญของการทบทวน สถาปัตยกรรมทางการเงิน โดยบทเรียนจากประสบการณ์ในอดีตจากวิกฤตการเงิน ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการมีระบบการเงินที่มีความสมดุลและยืดหยุ่น ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะสร้าง “สถาปัตยกรรมการเงินที่สมดุล” ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งภายใต้การเป็นประธานACDในปีหน้า ประเทศไทยจะจัดการประชุมเพื่อพิจารณาการพัฒนาสถาปัตยกรรมทางการเงิน
เน้นร่วมมือ‘ศตวรรษแห่งเอเชีย’
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณรัฐกาตาร์ ที่เป็นเจ้าภาพการประชุม และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านในการทำหน้าที่อย่างแข็งขัน ในฐานะประธานการประชุมปีนี้ พร้อมแสดงความยินดีที่ได้ร่วมงานกับเลขาธิการACDคนใหม่ โดยการประชุมนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นร่วมกันของACD ที่พร้อมร่วมมือกัน มากกว่าการแข่งขันและความขัดแย้ง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศของสมาชิก ACD และยกระดับชีวิตประชาชนหลายล้านคน นำไปสู่การฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าในฐานะที่ประเทศไทยจะเป็นประธานในปีหน้า ไทยมุ่งมั่นที่จะผลักดันวาระของ ACDเพื่อสร้างเอเชียที่แข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นพร้อมกับเน้นความร่วมมือเพื่อทำให้ศตวรรษนี้เป็น “ศตวรรษแห่งเอเชีย”อย่างแท้จริงโดยมีACDเป็น”เวทีหารือแห่งเอเชีย”(Forum of Asia)ที่พร้อมจะร่วมกันผลักดัน “วาระของเอเชีย” (Asia’s agenda) ต่อไปให้ก้าวหน้า เพื่อการพัฒนาที่สำคัญของประเทศสมาชิกต่อไปนายจิรายุกล่าว
อนึ่ง กรอบACDมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อน 6 เสาความร่วมมือ (Pillar of Cooperation)ได้แก่ (1) ตุรกีและรัสเซีย เป็นประธานร่วมคณะทำงานด้านความเชื่อมโยง (2)อินเดียเป็นประธานคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (3)อิหร่านเป็นประธานคณะทำงานด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (4) จีนเป็นประธานคณะทำงานด้านความเชื่อมโยงระหว่างความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และน้ำ (5) อิหร่านเป็นประธานคณะทำงานด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (6) ไทยเป็นประธานคณะทำงานด้านการส่งเสริมแนวทางไปสู่การพัฒนาอย่างทั่วถึงและยั่งยืน โดยประธานของแต่ละคณะทำงานมีภารกิจในการจัดประชุมเพื่อหารือ และจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือโดยประธานคณะทำงานดังกล่าวมีวาระ 1 ปี และต้องสรรหาใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนประธาน ACD ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก ACD อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดตั้งเสาความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน
ภท.ยังไม่คุยแก้รธน.ช่วยปชช.สำคัญกว่า
วันเดียวกัน เวลา 10.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาลนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทยในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย(ภท.)ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการพบหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อหารือเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่ายังไม่มีการนัดหมาย และขณะนี้นายกรัฐมนตรีก็ไม่อยู่ เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศ จึงยังไม่มีกำหนดว่าจะนัดพูดคุยกันเมื่อใด เพราะเรามีเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขให้พี่น้องประชาชน ซึ่งสำคัญกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“ในวันนี้ที่ จ.เชียงใหม่มีฝนตกหนักมีสถานการณ์น้ำหลากเข้ามาอีก จึงต้องเร่งไปแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนก่อน และได้รับรายงานจากผู้รับผิดชอบงานจาก ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และ รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายว่าได้มีการเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องการอพยพชาวบ้าน และสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จะไปช่วยเหลือ ดังนั้นยืนยันว่าไม่มีขาดแน่นอน อีกทั้งในการเยียวยาก็ได้เร่งดำเนินการโอนเงินไปยังบัญชีแต่ละครัวเรือนแล้ว”นายอนุทิน ย้ำ
สัปดาห์หน้าพท.ถกพรรคร่วมฯ
เวลา11.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการนัดแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลพูดคุย เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ว่าคงจะนัดกันเร็วๆนี้ คาดว่าน่าจะเป็นสัปดาห์หน้า หลังจากที่เราได้ดูปัญหาที่เกิดขึ้น ตนก็จะสรุปรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ตั้งแต่เรื่องการทำประชามติ ซึ่งโยงกับรัฐธรรมนูญ ก็จะคุยไปพร้อมๆกันว่าจะเดินกันอย่างไร เมื่อถามว่า ส่วนตัวได้มีการตั้งธงไว้หรือไม่ว่าจะมีประเด็นอะไรบ้างที่จะหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก็คงต้องดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันมีทางออกอย่างไร ตนก็จะเตรียมให้ และเอาทางออกเหล่านี้ไปหารือร่วมกัน
เครือข่ายปชช.จี้สภาเร่งบรรจุแก้รธน.
ที่รัฐสภา เวลา13.00น. เครือข่ายภาคประชาชนในนาม กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ(Con for All) เข้ายื่นหนังสือต่อ นายวันมูหะมัดนอ์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องให้รัฐสภาเร่งดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วที่สุดโดยมี นายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร,นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยในฐานะประธานคณะกรรมการคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร(วิปรัฐบาล)และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชนในฐานะกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับแทน
โดยเครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน เหลือเวลาดำรงตำแหน่งในวาระอีกเพียง 2 ปี 8 เดือนเท่านั้น หากกระบวนการนี้ เนิ่นช้าไปและไม่ได้เริ่ม ก็กลัวว่าจะไม่เสร็จในรัฐสภาชุดนี้ หรือกลัวว่าจะไม่เสร็จเลย เราจึงมาติดตามสถานการณ์ เพราะทราบอยู่ตลอดว่าพรรคเพื่อไทย โดยคณะรัฐมนตรีชุดนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี มีแนวทางที่ประกาศออกมาแล้วว่าจะมีกระบวนการไปสู่รัฐธรรมนูญใหม่โดยการทำประชามติ 3 ครั้ง เรากำลังรอการเริ่มครั้งแรกอยู่แต่สว.ก็ยังไม่ให้พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติผ่าน แต่กว่าจะรอพ.ร.บ.ประชามติเสร็จ และกว่าจะได้ทำประชามติครั้งแรก แล้วค่อยเริ่มกระบวนการ ทั้งหมดทั้งปวงนี้ก็น่าจะชัวร์แล้วว่า จะไม่ทันภายในรัฐสภาชุดนี้ หรือภายในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
ไม่ต้องรอพ.ร.บ.ประชามติผ่าน
เราจึงขอเสนอและยืนยันว่า เราไม่ได้คัดค้านการทำประชามติครั้งแรก แต่ถ้าไทม์ไลน์เป็นเช่นนี้ ไม่ต้องทำจะดีกว่า เพราะในปัจจุบัน การทำประชามติครั้งแรก ไม่ได้มีกฎหมายฉบับบังคับให้ทำและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บอกว่าต้องทำ ดังนั้น เราควรจะเริ่มกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้โดยการเปิดสภา เพื่อบรรจุวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา256เพื่อพิจารณาจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)แล้วเดินหน้าต่อไป ซึ่งสามารถทำได้เลยตั้งแต่วันนี้โดยไม่จำเป็นต้องรอพ.ร.บ.ประชามติก่อน เพราะนี่จะเป็นหนทางเดียวที่มีอยู่ ที่จะทำให้มีโอกาสได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายในรัฐสภา และรัฐบาลชุดนี้ ทั้งนี้คาดหวังว่าการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราจะต้องคำนึงถึงสิทธิของประชาชนด้านต่างๆด้วย
ด้านนายมุขให้ความมั่นใจว่าประธานสภาฯเห็นด้วย และยินดีให้ความร่วมมือ1000%จะรีบบรรจุกฎหมายฉบับนี้ให้เร็วที่สุดเพราะรัฐสภาอยากให้เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ พร้อมขอความร่วมมือจากประชาชนว่าหากอยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นอย่างที่ทุกคนมีความประสงค์ ก็ต้องช่วยกันผลักดันทำให้สภาสูงและสภาล่างมีความเห็นเหมือนที่ประชาชนต้องการ เนื่องจากขณะนี้ยังมีบางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย
‘รัฐบาล-ฝ่ายค้าน’เห็นด้วยพร้อมหนุน
ขณะที่นายวิสุทธิ์กล่าวว่าขอบคุณประชาชนที่มาวันนี้ เหมือนเป็นการให้กำลังใจพวกเราในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หลายพรรคการเมืองให้สัญญาประชาคมเอาไว้ทั้งการแก้ทั้งฉบับและการแก้ไขรายมาตรา ถือเป็นกฎหมายแรกที่ทางรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน เห็นพ้องต้องกันตั้งแต่ต้น ยอมรับว่าขณะนี้มีอุปสรรค ทุกอย่างไม่ได้รวดเร็วเป็นไปตามที่เราหวังไว้ แต่วุฒิสภาจะส่งร่างกลับมาเพื่อตั้งกรรมาธิการร่วมกันว่าสุดท้ายแล้วจะเอาอย่างไรกันแน่
ด้านนายพริษฐ์ยืนยันว่าตนเป็นตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งให้คำมั่นสัญญาประชาชนในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจุดยืนของพรรคประชาชน ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน เรายืนยันมาตลอดว่ารัฐธรรมนูญปี2560มีปัญหาและเห็นด้วยว่าต้องมีการเดินคู่ขนานกันโดยหนทางที่หนึ่ง ซึ่งเราเห็นว่าดีที่สุดในการที่จะทำให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งปี 2570คือการต้องลดขั้นตอนทำประชามติจาก3ครั้งเหลือ2ครั้งแต่ก็อยู่ที่การตัดสินใจของประธานสภาฯว่าจะบรรจุวาระหรือไม่ทั้งนี้พรรคประชาชนได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา7แพ็กเก็จแล้ว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี