สัปดาห์ที่แล้ว ได้เอาตำแหน่งซึ่งบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งนั้นๆ ได้ตามจำนวนปีที่จะเห็นเหมาะสม และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ น่าได้รับการคัดสรร (classified) ได้ว่า “เป็นนักบริหารมืออาชีพ” ในกิจการที่ตนเคยรับผิดชอบ น่าจะได้รับการพิจารณา ให้เข้ามาเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม (qualified condidate) ที่จะสามารถมาเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร (Executive Power) แทนปวงชนชาวไทย (นายกรัฐมนตรี)ดูบ้าง แทนการให้ สส. และพรรคการเมืองแห่งอำนาจนิติบัญญัติ มาปู้ยี่ปู้ยำ เป็นผู้คัดเลือกเสียเอง ตั้ง 92 ปีแล้ว จนบ้านเมืองวุ่นวาย แตก เป็นก๊กเป็นเหล่า ศีลธรรมและจริยธรรมเสื่อมโทรม เห็นแก่เงินกันไปหมด
ศิลปินชื่อดังของจังหวัดเชียงราย ที่ใครๆ ก็เห็นผลงานและฝีมือมาแล้ว ได้ระบายความอึดอัดใจมาว่า
“การเมืองแบบไทยไทย ต้องเป็นเช่นนี้ต่อไปเพราะเรารักสบาย มักง่าย เล่นพรรค เล่นพวกไม่ซื่อสัตย์ ไม่มีอุดมการณ์ เราไม่ได้ดูค่าของคนที่จิตใจ ความถูกต้อง ความดีงาม ความสามารถ อีกต่อไป
คนส่วนใหญ่ จะมีเป้าหมายใหม่ ทำอย่างไรก็ได้ ให้มีเงินมากที่สุด
การคอร์รัปชั่น จึงมีขึ้นแทบทุกหน่วยงานราชการรวมไปถึงในภาคเอกชน และภาคครัวเรือนด้วย โดยยอมให้ชาติเสียประโยชน์ เพื่อตนเองได้ประโยชน์
ด่านักการเมืองว่าเลว ถึงเวลา ก็ขอให้ช่วยฝากลูกเข้าเรียน
ด่าตำรวจว่าไม่ดี ถึงเวลาก็ขอให้ช่วยหนูหน่อย ขี้เกียจไปโรงพัก
ระบบแบบไทยๆ หยั่งรากลึก
เราก็คงจะเป็นเช่นนี้กันต่อไป
ถ้าเรายังไม่ปฏิวัติตัวเองจากข้างใน
ผมเองเห็นด้วยกับศิลปินชื่อดังท่านนี้เพียงครึ่งเดียวว่า ความไม่ดี ไม่งามของคนไทย คงจะเป็นเช่นนี้ต่อไป ถ้าเรายังไม่คิดแก้ไขต้นตอของปัญหา ที่นำมาซึ่งความเสื่อม นั่นก็คือ ระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentarian Democracy) ที่นำมาซึ่งความแตกแยก นำมาซึ่งการหาเงินด้วยการคอร์รัปชั่นในทุกวงการ นำมาซึ่งความเห็นแก่ได้ นำมาซึ่งรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ ด้อยคุณภาพ
แต่การจะให้ทุกคนปฏิวัติตนเองจากข้างใน รู้จักทำความดี มีคุณธรรม ลดความเห็นแก่ตัว เคารพสิทธิผู้อื่น เป็นรูปแบบใหม่ (New Version) ของสังคมไทย เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากมาก คำว่า “ชนชาติไทย ชาวไทย คนไทย และประเทศไทย” อาจจะสูญหายไปก่อนที่จะถึงจุดหมายนั้น
โดยเฉพาะในขณะที่ทุนจีน หลายหมื่นล้านและหลายหมื่นคน และแรงงานพม่าอีกหลายล้านคน รอแปลงประเทศไทยและความเป็นไทย อยู่ในบ้านเราแล้ว
ความจริง แต่ก่อนคนไทยเป็นคนดีอยู่แล้ว อยู่ในศีล อยู่ในธรรม มีระเบียบวินัย มีการเสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่โกงกิน ไม่คอร์รัปชั่น สส.ที่ได้รับเลือกตั้งมา สมัยประชาธิปไตยใหม่ๆ พ.ศ.2475-2485 จะเป็นครูบาอาจารย์ที่ดีน่าเคารพของท้องถิ่น เป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ข้าหลวง ที่มีคุณธรรม และรับใช้ประชาชน แต่เมื่อประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ไม่วางดุลแห่งอำนาจ เพื่อให้มีการถ่วงดุลกันอย่างเหมาะสม คานอำนาจทั้งสาม (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) ให้พอเหมาะพอดี จึงได้เกิดธุรกิจการเมือง (Business politics) การเมืองที่ต้องใช้เงิน (money politics) และการแลกเปลี่ยนเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง (Politics Transaction) นำความเสื่อมโทรมมาสู่ประเทศชาติ จนทุกวันนี้
คอลัมนิสต์ชื่อดังท่านหนึ่ง “สิริอัญญา” ได้เขียนไว้ว่า
“ปัจจุบันนี้ต้องถือว่าความขัดแย้งในประเทศไทยได้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวางในหมู่ชนทุกหัวระแหง ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสาขาอาชีพ และเป็นความขัดแย้งชนิดที่ไม่คำนึงถึงเหตุผลและความถูกต้องเป็นหลัก คำนึงกันแต่เพียงว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์กับใคร เป็นพวกของใคร
ถ้าเป็นเรื่องของพวกกูหรือเป็นเรื่องของกูแล้วไม่ว่าอะไรก็ถือว่าถูกต้อง แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องของกู หรือพวกของกู ก็จะถือว่าเป็นเรื่องผิดที่จะต้องต่อต้านขัดขวาง
สภาพเช่นนี้ได้กลายเป็นกระแสความขัดแย้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วไปในประเทศไทยของเรา เป็นความขัดแย้งใหญ่กระแสที่สามที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากครั้งที่สอง และถ้าหากแก้ไขไม่ได้หรือไม่แก้ไขให้ทันท่วงที ประเทศไทยของเราก็จะหลีกลี้หนีจากความล่มจมไม่ได้เป็นแน่แท้”
ดังนั้น การเลิกใช้การเข้าสู่อำนาจบริหาร ของประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่ให้ สส.ของอำนาจนิติบัญญัติ มาเป็นผู้เลือกฝ่ายบริหาร และมาเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารอีกด้วย ในขณะเดียวกัน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ประเทศไทย จะต้องถอนตัวออกมา ไม่นำมาใช้อีกต่อไป
เราต้องการระบอบประชาธิปไตย ที่มีการถ่วงดุลแห่งอำนาจทั้งสาม อย่างเหมาะสม คานอำนาจซึ่งกันและกัน ควบคุมซึ่งกันและกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเสื่อมถอยลงของประเทศไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง ศีลธรรม วัฒนธรรม และความมั่นคงของชาติ
ระบอบประชาธิปไตย ที่เราต้องการในขณะนี้ น่าจะเรียกได้ว่า เป็น “ระบอบประชาธิปไตยที่สมดุล(Balanced Democracy)” เป็น 1 ใน 4 ตัวใหม่ ของประชาธิปไตยในโลกตะวันตก ซึ่งมีอยู่แล้ว 3 แบบ ได้แก่ ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentarian Democracy) ประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี (Presidential Democracy ในสหรัฐ ฟิลิปปินส์ เม็กซิโกฯลฯ) และประชาธิปไตยแบบกึ่งประธานาธิบดี (Semi Presidential Democracy ในฝรั่งเศส รัสเซีย) ยังไม่นับประชาธิปไตย แบบจีน เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา ซึ่งตะวันตกยังไม่ยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตย (เพราะขัดกับผลประโยชน์ของตน)
ในระบอบประชาธิปไตยที่สมดุล (Balanced Democracy) นี้ ซึ่ง
มีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุขของประเทศ อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นศูนย์รวมแห่งความเป็นไทย ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนไทย เป็นผู้รักษา สืบสาน และต่อยอด ความดีงาม ขนบธรรมเนียมไทย วัฒนธรรมไทย และบรรดาพลังละมุน (soft power) ของชนชาติไทย
มีอำนาจนิติบัญญัติ (Legislative Power) ซึ่งประชาชนเป็นผู้เลือกเข้ามา (electoral body) อย่างทั่วถึง(universal vote) อยู่แล้ว ทำให้อำนาจนิติบัญญัติใกล้ชิดกับประชาชน รู้ความต้องการของประชาชน สามารถบันดาล (manipulate) อะไรก็ได้ โดยการออกกฎหมายบังคับใช้แก่อำนาจอื่นๆ เพื่อให้มีงบประมาณมาจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่ประเทศชาติต้องการมีกฎหมายให้ความเป็นธรรมทั้งทางแพ่ง, อาญา, ภาษีอากร ฯลฯ อย่างสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว
มีอำนาจตุลาการ (Judicial Power) ที่มีระบบการสรรหา การแข่งขัน การคัดเลือก การอบรมปลูกฝังให้เข้าสู่วัฒนธรรมองค์กรที่ดี (grooming into corporate culture) และผู้ที่จะเลือก (electoral body) ผู้ที่จะมาใช้อำนาจสูงสุดของอำนาจตุลาการ หรือ คณะกรรมการตุลาการของแต่ละศาล ก็ได้แก่บรรดาผู้พิพากษาเอง ไม่ใช่ประชาชน หรือ สส.เป็นผู้เลือก
เราจึงต้องการมี อำนาจบริหาร (Executive Power) ที่มีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ในอาณัติการเมืองของพรรคใด มาจากนักบริหารมืออาชีพ ที่มีความถนัดและความสำเร็จในอาชีพของตน เป็นที่พิสูจน์ได้ มีความเป็นผู้นำมาเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรี) ในกำหนดเวลาที่เหมาะสม (ครั้งละ 4 ปี ไม่เกิน2 ครั้ง) เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง สร้างโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวได้สำเร็จในยุคที่ตนบริหาร เช่น โครงการระบายน้ำเมื่อฝนมากเกินควรและกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามฤดูแล้งที่น้ำขาดแคลน โครงการรักษาสิ่งแวดล้อม โครงการป้องกันภัยธรรมชาติ โครงการสร้างระเบียบวินัยที่ดีแก่เด็กไทย โครงการให้แรงงานต่างด้าวกลมกลืนกับ ชาวไทยเจ้าของถิ่น (assimilation) และเป็นกำลังของประเทศไทยไปด้วยความสันติสุข โครงการขจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net Zero) ฯลฯ เป็นต้น
แต่ฝ่ายบริหารก็จะถูกถอดถอนได้ เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติมีมติไม่ไว้วางใจด้วยเสียง 2 ใน 3 และอาจถูกจำคุก หรือรับโทษทางอาญาอื่นๆ ตามที่อำนาจตุลาการจะตัดสินตามตัวบทกฎหมาย
ในขณะเดียวกัน ก็มีอำนาจที่จะยุบสภาได้ หากผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่เกินขอบเขต หรือกล่าวหาและดำเนินคดีกับฝ่ายตุลาการได้ หากการปฏิบัติงานเป็นไปโดยมิชอบ
ที่กล่าวมาข้างต้น น่าเป็นการถ่วงดุลอำนาจอย่างเหมาะสมและควรจะเรียกว่า เป็นระบอบประชาธิปไตยที่สมดุล (Balanced Democracy)ที่จะนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศไทยได้แก้ปัญหาความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่มีมายาวนานถึง 92 ปี เสียที
แต่บรรดา “นักบริหารมืออาชีพ” จะก้าวเข้ามาสู่อำนาจบริหารได้อย่างไรนั้น คงจะต้องช่วยกันพิจารณาคราวหน้า เพราะนักบริหารมืออาชีพทุกคนคงจะเข็ดกับความไม่ดีของธุรกิจการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภากันมานานพอทีเดียว
ศิริภูมิ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี