"วิปฝ่ายค้าน"ชี้สามารถเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ถก"กม.ประชามติ"ให้ทันเลือก อบจ.ต้นปีหน้าได้ ปลุกจับตาแต่ละฝ่ายจริงใจหรือไม่
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒนสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 9 - 10 ต.ค.นี้ ว่า วันที่ 9 ต.ค.จะมีรายงานที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม 4 ฉบับ, กฎหมายเกี่ยวกับประมวลที่ดิน ที่ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค ปชน.เป็นผู้เสนอ รวมถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติที่ทางวุฒิสภาแก้ไขกลับมาเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติจะรับตามที่ สว.แก้ หรือจะยืนยันร่างของ สส.ส่วนกระทู้ถามในวันที่ 10 ต.ค.นั้น ต้องรอติดตาม
เมื่อถามว่า แนวทางต่อจากนี้ สส.มองทางออกเรื่องประชามติอย่างไร นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เท่าที่มีการพูดคุยกันวิปรัฐบาลก็เห็นตรงกับวิปฝ่ายค้าน ซึ่งเราคงมีการยืนยันในหลักการของร่างที่ สส.ส่งไปให้ และคงต้องมีการตั้ง กมธ.ร่วมกันเพื่อเข้าไปพิจารณาว่าท้ายที่สุดแล้วจะออกมาเป็นเช่นไร
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ตนกังวลและตั้งข้อสังเกตไว้คือ ไทม์ไลน์ที่ตอนแรก มีการวางแผนกันไว้ว่าจะทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีหน้า และเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งหากทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งนายก อบจ.ในคราวเดียวกันก็น่าจะประหยัดงบประมาณได้เยอะและสะดวกกับประชาชนในการออกมาใช้สิทธิ์
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวต่อว่า การแก้ไขร่างและการตั้ง กมธ.ร่วมกันอาจทำให้กระทบไทม์ไลน์ แต่ตนยังมั่นใจว่าหากทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่านี่คือประตูบานแรกที่จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นฉบับของประชาชนจริงๆ และหากทุกคนที่เข้าไปเป็น กมธ.ร่วม พิจารณาด้วยความรวดเร็วและรอบคอบเพื่อให้ทัน ตนคิดว่าน่าจะมีประโยชน์
"อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องใช้เวลาและเป็นช่วงที่คาบเกี่ยวกับช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯ ผมคิดว่าสภาฯ ควรพิจารณาเปิดสมัยประชุมวิสามัญ เพื่อให้การประชามติสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงต้นปีหน้า" นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ หากประชามติไม่ทันช่วงต้นปีหน้า แล้วต้องจัดเอง อาจทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์น้อยนายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ตนคิดว่าขั้นแรกเราพยายามทำให้ทันก่อน และคิดว่าหากทุกฝ่ายไม่มีเจตนาที่จะถ่วงเวลาแล้วร่วมกัน ก็สามารถทำได้อยู่แล้ว หาก กมธ.พิจารณาเสร็จเร็วแล้ว สภาฯ สามารถขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ ก็มั่นใจว่าประชามติสามารถเสร็จทันท่วงทีได้ เพราะทาง สว.ก็ไม่ได้แก้หลายประเด็น
เมื่อถามว่า มีการประสานไปยังพรรครัฐบาลหรือประธานสภาฯ เปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญแล้วหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ตนคิดว่าหลังวันที่ 9 ต.ค.คงต้องมีการพูดคุยกับ กมธ.ร่วมก่อน หากการวางแผนเป็นไปได้ด้วยดีวางแผนได้ว่าจะเสร็จสิ้นช่วงไหน ก็สามารถพูดคุยกับประธานสภาฯ ต่อได้ ตนคิดว่าไม่น่ามีปัญหา และ สส.ทั้งสภาฯ ก็น่าจะเห็นพ้องต้องกัน
เมื่อถามถึง กรณีที่ สว.มองว่าหาก สส.อยากแก้ ก็สามารถใช้กฎหมายประชามติฉบับปัจจุบันดำเนินการได้เลย นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ตนมองว่าอยากให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์พร้อม น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ยืนยันว่ายังเป็นไปได้อยู่
เมื่อถามต่อว่า การไม่ใช้กฎหมายประชามติปี 64 เพราะกังวลว่าอาจจะไม่ผ่านใช่หรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า หากเราใช้ฉบับใหม่น่าจะมีความชอบธรรมกว่า เพราะมีหลายประเด็นที่ สส.ได้แก้ไข และยืนยันว่ายังมั่นใจว่าประเด็นที่ สว.แก้ไขมานั้น ไม่ต้องใช้เวลานาน
เมื่อถามว่า หากท้ายที่สุดแล้ว การมาตั้ง กมธ.ร่วม แล้วนำกฎหมายกลับไปที่แต่ละสภาฯ แต่ยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกันทำให้กฎหมายฉบับนี้ต้องพักไป 6 เดือน นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องพิสูจน์ความจริงใจ เพราะที่ผ่านมาก็มีคนครหาว่าเป็นการถ่วงเวลาหรือไม่ เพื่อไม่ให้มีการประชามติ ไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ซึ่งต้องตั้งเป็นข้อสังเกตว่าแต่ละฝ่ายมีความจริงใจเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี