เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 พล.อ.วีรชน สุคนธปฏิภาค อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โฟนอินให้สัมภาษณ์กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีไปกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) รวมถึงการพูดคุยกับผู้นำอิหร่าน ในลักษณะจ้องหน้าจอแท็บเล็ตเพื่ออ่านสคริปต์ที่เตรียมมาอยู่ตลอดเวลา ว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะการพบปะหรือการประชุมซึ่งก็มีอยู่หลายรูปแบบ
เช่น การประชุมที่เป็นคณะ มีการตกลงอะไรเป็นกิจจะลักษณะ ก็อาจจำเป็นต้องมีสคริปต์ แต่หากเป็นการพูดคุยกับผู้นำแบบ 2 ต่อ 2 แบบที่เราเห็นผู้นำ 2 คนนั่งเก้าอี้หันหน้าออกมาให้ถ่ายรูป แบบนี้จะมีสคริปต์ไว้เพียงเพื่อเตือนความจำ (Reminder) หยิบมาดูเป็นครั้งคราวกันลืม ไม่ค่อยจะต้องมานั่งอ่านเท่าไร ซึ่งผู้นำประเทศอื่นๆ อาจมีแบบนี้ก็ได้แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวแล้วตนก็ยังไม่เคยเห็น
ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับไปสมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ในการไปประชุมกับต่างประเทศ ก็จะต้องเตรียมศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดให้รู้ที่มาที่ไปของเรื่องราว ประเด็นใดบ้างที่ควรหรือไม่ควรพูด การเตรียมตอบโต้ในประเด็นอ่อนไหวที่คาดว่าจะมีการซักถามหรือหารือ ก็จะมีแนวทางว่ารับข้อห่วงใยไว้แต่ก็จะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาหารือกันอีกครั้งหนึ่ง และหากเป็นการหารือเรื่องสำคัญๆ พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้ล่ามแปลภาษา ซึ่งก็จะต้องเตรียมตัวกับล่ามด้วย อย่างตนที่เคยเป็นล่ามให้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะหารือกัน เรื่องนี้เราจะตอบแบบนี้ หรือเรื่องไหนเราจะไม่พูด
ส่วนผู้นำที่เลือกจะไม่ใช้ล่ามแปลภาษา ก็จะต้องเป็นคนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก และแม้จะเป็นประเทศที่ทราบว่าใช้ภาษาอังกฤษได้ดี หลายประเทศก็ยังเลือกใช้ล่ามเพราะคิดว่าสะดวกกว่า หรือบางครั้งหากเกิดความผิดพลาดก็ยังอ้างว่าเกิดจากล่ามได้ ส่วนคำถามว่าภาษาอังกฤษจำเป็นหรือไม่ในเวทีประชุมนานาชาติ เพราะเห็นผู้นำหลายประเทศก็เลือกใช้ภาษาของตนเอง ประเด็นนี้ก็มีตัวอย่าง เช่น จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี กัมพูชา ลาว เวียดนาม เพราะทำให้ผู้นำมั่นใจว่าจะพูดได้อย่างถูกต้อง และมั่นใจว่าล่ามจะช่วยถ่ายทอดคำพูดได้อย่างครบถ้วน
ถึงกระนั้นภาษาอังกฤษก็ยังจำเป็นในระดับหนึ่ง อย่างน้อยในระดับเริ่มต้นทักทายกัน ในช่วงที่ยังไม่ถึงวาระหรือเรื่องราวหลักที่จะหารือกัน เป็นการสื่อสารโดยตรงระหว่างบุคคลต่อบุคคล แต่หากไมได้จริงๆ ก็ไม่ว่ากัน สามารถใช้ล่ามได้ แต่อย่างที่ตนเคยเห็นก็ยังมีคนที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ ก็ใช้ตอนทักทายกัน แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงหารือกันก็เลือกใช้ล่าม ทั้งนี้ ต้องเน้นย้ำว่า หากไม่ใช่คนที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีจริงๆ การใช้ล่ามจะมีประโยชน์ในการสร้างความมั่นใจและทำให้ครอบคลุมทุกประเด็นอย่างถูกต้องชัดเจนมากกว่า
“บางทีเราต้องยอมรับว่าเราไม่ใช่เจ้าของภาษา แล้วศัพท์แสงหรือภาษาที่ใช้มันไม่ใช่ภาษาที่เราใช้ประจำวัน ในบางครั้งบางเรื่องบางราวเราก็ต้องให้คนที่เขามีความเชี่ยวชาญ เช่นล่ามที่เขาเตรียมตัวมา ได้ทำหน้าที่แทนเรา ผมคิดว่าการใช้ล่ามมีประโยชน์มากกว่า แทบจะไม่มีผลเสีย มีแต่มีประโยชน์” พล.อ.วีรชน กล่าว
ชมคลิปเต็มได้ที่นี่ : https://www.youtube.com/watch?v=2T1HBueGrEk (นาทีที่ 22.55 - 39.55)
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี