ท่านผู้อ่านแนวหน้า ตั้งแต่เดือนที่แล้วมา (กันยายน 2567) คงจะได้เห็นถึงการปรับทุกข์ระหว่างกันว่าทำอย่างไร ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้า ประชาชนมีฐานะดี
ได้เช่นเดียวกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย ที่ผ่านสงครามมาอย่างโชกโชน และเริ่มต้นชีวิตใหม่จากศูนย์ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เวียดนาม รวมทั้งเกาะเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ หรือจีน ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939-1945) ภายในเวลาไม่กี่สิบปี ก็สามารถตั้งเนื้อตั้งตัวได้ เป็นประเทศติดอันดับชั้นดีของโลก ทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านการศึกษา ด้านความอยู่ดีกินดีของพลเมือง ด้านการมีคอร์รัปชั่นที่เกือบเป็นศูนย์
นั่นก็เป็นเพราะเขามี
มีฝ่ายบริหารที่ดีและมีเสถียรภาพ
มีนายกรัฐมนตรี หัวหน้าฝ่ายบริหาร ที่ดีมีคุณธรรมมีความสามารถและซื่อสัตย์
มีข้าราชการของฝ่ายบริหาร ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่สำนึกในหน้าที่ ว่ามาทำงานเพื่อประชาชน มิใช่เพื่อความร่ำรวยของตนเอง
แต่ 92 ปีมาจนบัดนี้ ประเทศไทยเรายังไม่สามารถเป็นเช่นนั้นได้ เพราะระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่เราไปลอกตะวันตกมาใช้อยู่ บังคับให้ผู้ที่อาสาสมัครเข้ามารับใช้ชาติในฝ่ายบริหาร ต้องมาจากฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น
นักการเมืองส่วนใหญ่จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รับเลือกตั้ง
นักการเมืองส่วนใหญ่จึงต้องหาเงินมาเพื่อการหาเสียงในการเลือกตั้ง
นักการเมืองส่วนใหญ่จึงใช้เงินเพื่อตั้ง บ้านใหญ่ มุ้งใหญ่ เพื่อมีเสียง สส. สนับสนุนให้ได้เป็นรัฐมนตรี
นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามก็มีหน้าที่หาทางโค่นล้มฝ่ายรัฐบาลจนขาดเสถียรภาพ
สรุปคือ ระบอบปัจจุบันเอื้ออำนวย (หรือบังคับ) ให้นักการเมืองต้องทำเช่นนั้น จนคนดีมีคุณธรรม มีความสามารถ ที่เป็นนักบริหารมืออาชีพ ไม่มีใครสนใจลงมาเล่นการเมืองแบบนี้
เราจึงต้องคิดวิธีแก้ปัญหาข้างต้น โดยการมีระบอบประชาธิปไตยที่สมดุล (Balanced Democracy) เพื่อให้อำนาจอธิปไตย อันเป็นอำนาจสูงสุดทั้งสามของปวงชน
ชาวไทย แยกออกเป็นอิสระจากกัน ไม่ก้าวก่ายหรือทับซ้อนกัน ถ่วงอำนาจซึ่งกันและกัน ควบคุมดูแลกันและกัน อย่างมีดุลยภาพ
แต่เราจะเอานักบริหารมืออาชีพ (Professional Executive) หรือ (Professional public Administrator)ที่มีความสำเร็จเป็นที่พิสูจน์ได้ มารับใช้ชาติบ้านเมืองได้อย่างไร เพราะ
ในภาคประชากิจ (Public Sector) เขาก็มีฐานะทางสังคมที่ดีอยู่แล้ว ไม่ว่าในมูลนิธิ สมาคมวิชาชีพ สภาการสาธารณกุศลต่างๆ เช่น สภากาชาดไทย แพทยสภา สภาวิศวกรรมสถาน มูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และสมาคมใหญ่ๆ ด้านสาธารณประโยชน์อีกมากมาย
ในภาคธุรกิจ (Business Sector) เขาก็มีฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม ความรับผิดชอบ มากมายอยู่แล้วไม่ว่าจะในกิจการค้าประเภทต่างๆ กิจการโรงแรม กิจการอุตสาหกรรม กิจการท่องเที่ยว และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ (SET), ฯลฯ
ในภาครัฐกิจ (Government Sector) เขาก็เป็นหรือเคยเป็น ผู้ว่าการธนาคารของรัฐ ของเอกชน เป็นผู้ว่าการรัฐวิสาหกิจ อธิการบดี คณบดี ผู้บัญชาการผู้บังคับการ เอกอัครราชทูต ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มีชื่อเสียงและประวัติการทำงานดีเด่นกันมาแล้วทั้งนั้น
คงจะหาคนที่ยอม “เปลืองตัว” ลงมาสมัครเป็นผู้รับการคัดเลือกและสรรหา เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร (Candidate for Chief of Executive power) ตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา กันยากมาก
ดังนั้น สำหรับระบอบประชาธิปไตยที่สมดุล ไม่เกี่ยวกับธุรกิจการเมือง การซื้อขายเสียงจึงจำต้องมี องค์กรอิสระ องค์กรใดองค์กรหนึ่ง ที่เป็นผู้กำหนดคุณสมบัติ ของนักบริหารมืออาชีพเหล่านี้ ซึ่งขณะนี้ก็มี กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) อยู่แล้ว หรือจะให้มีคณะกรรมการชุดใหม่ ที่ประกอบด้วย ประมุขของศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธาน ป.ป.ช. และอื่นๆ เป็นผู้กำหนดคุณสมบัติก็ได้
เมื่อได้ประกาศกำหนดคุณสมบัติไปแล้ว ก็ให้ถือว่าเป็นหน้าที่ ของผู้ที่เข้าคุณสมบัติดังกล่าว จะต้องกรอกแบบฟอร์มมาลงทะเบียนที่ กกต. หรือคณะกรรมการพิเศษข้างต้นซึ่งจะต้องตรวจสอบและประกาศชื่อบุคคลดังกล่าว ให้เป็นผู้มีคุณสมบัติ ที่อาจได้รับการคัดเลือก เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร (Chief of the Executive Power) ได้ และเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้คัดเลือก หัวหน้าฝ่ายบริหารของรัฐบาลได้ด้วย ภายในเวลาอันเหมาะสมต่อไป
สมมุติว่าเราได้บุคคลที่เข้าคุณสมบัติข้างต้น
จากภาคประชากิจ 20,000 ราย
จากภาคธุรกิจ 100,000 ราย
จากภาครัฐกิจ 130,000 ราย
เราจะได้ ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็น นักบริหารมืออาชีพ จากสายอาชีพทั้งสาม มาถึง 250,000 คน โดยไม่ต้องมีการประกาศรับสมัคร หรือการเลือกตั้ง แต่เป็นหน้าที่ของบุคคลเหล่านั้น ที่จะต้อง กรอกแบบฟอร์มมาลงทะเบียนไว้ ณ องค์กรที่ได้รับมอบหมาย
ถึงได้รายชื่อ 250,000 คน หรือถ้าผ่อนปรนหลักเกณฑ์ของคุณสมบัติให้หย่อนลงหน่อย ก็อาจจะได้มาถึง 500,000 คนก็คงจะหาคนมาเป็นผู้สมัคร (candidate) ในการสรรหาและคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ได้ยากอีกเช่นกัน
ทางออกก็คือ กำหนดให้บุคคลในภาคประชากิจ ภาคธุรกิจ และภาครัฐกิจ เป็นผู้คัดเลือกและเสนอบุคคลในภาคของตน ที่เห็นเหมาะสมว่าจะเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารได้ มาภาคละ 10 คน โดยไม่ต้องมีการสมัคร
เมื่อได้ชื่อผู้ที่เหมาะสม โดยการสรรหาจากบุคคลในภาคอาชีพของตน ภาคละ 10 คน รวมเป็น 30 คน จึงจะมีการประกาศรายชื่อบุคคลที่เหมาะสมทั้ง 30 คน และเปิดรับสมัครบุคคลดังกล่าว ให้เข้ามาเป็น ผู้สมัครรับการคัดเลือกเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร (Candidates to the Selection of the Chief of the Executive Power ) ได้
ตอนนี้แหละ ที่จะต้องมีการรับสมัครจากบุคคลทั้ง 30 คน ที่ถูกคัดเลือกมาแล้วจากภาควิชาชีพของตน ซึ่งเมื่อตนสมัครแล้วก็จะต้องออกรายการสื่อต่างๆ แสดง
วิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ ให้แก่ผู้ที่จะทำการคัดเลือกทั้ง 250,000 หรือ 500,000 คน ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป
นักบริหารมืออาชีพด้วยกันเอง จากภาคประชากิจภาคธุรกิจ และภาครัฐกิจ นี่แหละที่จะเป็นผู้คัดเลือก นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่จะบริหารประเทศ วาระละ 4 ปี ไม่เกิน 2 วาระ (8 ปี)
เหมือนกับการเลือกคณะกรรมการตุลาการ ก็มิได้ให้ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้ง แต่ตุลาการด้วยกันเอง ซึ่งรู้กันอยู่แล้วว่าใครมีความสามารถหรือไม่ ใครเป็นคนดีมีจริยธรรมหรือไม่ หรือว่าใครมีความกล้าที่จะอยู่กับความถูกต้อง
การคัดเลือกนักบริหารมืออาชีพ ให้มาทำหน้าที่ หัวหน้าฝ่ายบริหารของประเทศ จึงควรกระทำโดยนักบริหารมืออาชีพด้วยกัน ซึ่งเขาเหล่านั้นรู้ฝีมือกันดีอยู่แล้วรู้ความประพฤติ ใครมีจริยธรรมมากน้อยเพียงใด
ส่วนการเลือกตั้ง สส. ของฝ่ายนิติบัญญัติ ให้ประชาชนนั้นไปเป็นผู้ทำการเลือก (election) สส. ในเขตของตน ก็เหมาะสมมาก เพราะผู้สมัครย่อมใกล้ชิดกับประชาชนในเขตเลือกตั้งอยู่แล้ว และเมื่อไม่มีตำแหน่งในฝ่ายบริหาร (นรม., รมต. ฯลฯ) ล่อใจอยู่ เราก็คงจะได้คนดีๆ ที่ไม่ต้องรวยหรือเป็นเจ้าพ่อ เข้ามาในสภาอีกจำนวนมาก
หมายเหตุ บทความชิ้นนี้ จึงเหมือนกับการเอาซุงกลมๆ ยาวๆ มาเปิดปีก เจียนหัวเจียนท้ายเป็นเลาๆ พอให้มีลักษณะคล้ายเรือ แต่ยังไม่ได้ขุดเป็นเรือมาด
สุภาษิตโบราณ บอกว่า อย่าติเรือทั้งโกลน แต่บทความนี้กลับขอให้ ผู้อ่านช่วยกันติเรือทั้งโกลน นี้ด้วยเพื่อจะได้เรือชั้นดี เป็นพาหนะของชนชาวไทยต่อไป
ส่งข้อคิดเห็นของท่านมายัง นสพ.แนวหน้า หรือส่งอีเมลมายัง kangsdal.y@hotmail ได้
ศิริภูมิ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี