"ปธ.สภาฯ"ยันพร้อมสอบทางลึก หาก"กมธ."ปล่อยปละไม่จัดการพวก"แอบอ้าง-เรียกรับประโยชน์" เตือน"ประธานกรรมาธิการ"อาจถึงขั้นพ้นตำแหน่ง เหตุเป็นคนแต่งตั้งเข้ามา ต้องรับผิดชอบ
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอยู่ระหว่างร่วมการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียนครั้งที่ 45 ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) กล่าวถึงกรณี นายษิทรา เบี้ยบังเกิด (ทนายตั้ม) เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชน ยื่นหนังสือให้ตรวจสอบและปลด นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกจากคณะกรรมาธิการทุกคณะ หลังปรากฏมีเสียงคล้ายคนในคลิปเรียกรับผลประโยชน์ผู้บริหารดิไอคอน ว่า วานนี้ (17 ต.ค.) ตนได้เซ็นหนังสือออกไปฉบับหนึ่งให้ประธานคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ได้ตรวจสอบบุคคลที่แต่งตั้งเป็นคณะทำงานหรือที่ปรึกษา ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับการสร้างความเสียหาย ทั้งการเรียกรับเงิน การแอบอ้าง ขอให้ถอดถอนออกได้ทันที เพราะเป็นหน้าที่ของประธานกรรมาธิการแต่ละชุดที่สามารถทำได้ ขณะที่อีกทาง รัฐสภาจะมีการตรวจสอบในทางลึกอีกครั้ง ว่ามีกรรมาธิการชุดใดที่มีคณะทำงานหรือที่ปรึกษา ที่สร้างความเสียหายในทำนองนี้เกิดขึ้น ก็สามารถลงโทษได้ในเรื่องของจริยธรรม แต่ถ้ามีความเสียหาย มีผู้ร้องเรียนเป็นคดีอาญาก็สามารถดำเนินการได้
"ผมได้มีการตักเตือนไปแล้ว เพราะจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภา และสมาชิกกรรมาธิการ มีอยู่ชัดเจนแล้ว หากประพฤติก่อให้เกิดความเสียหาย คนแต่งตั้งคือประธานกรรมาธิการ ต้องรับผิดชอบ ซึ่งบทลงโทษค่อนข้างสูง เพราะต้องส่งเรื่องไปคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ ป.ป.ช.ก็ส่งต่อศาลฎีกา ถ้าผิดก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะคนที่ทำความเสียหายจะฉวยโอกาสเอาผลประโยชน์ไปแอบอ้าง แต่คนรับผิดชอบคือสมาชิกรัฐสภา กับ ประธานกรรมาธิการ ซึ่งอาจจะต้องพ้นจากตำแหน่ง ที่ผ่านมาก็เคยมีมาแล้ว ก็คิดว่าแต่ละกรรมาธิการจะได้ตระหนักตรงนี้และแก้ไข เพราะเราทำความเสียหายแบบนี้ไม่ได้ บางคนเป็นกรรมาธิการ เป็นที่ปรึกษา เอาบัตรไปแอบอ้างหาประโยชน์ หรือสร้างความสัมพันธ์ให้กับตัวเอง ทั้งที่ความจริงบทบาทของกรรมาธิการเป็นผู้ช่วย ที่ทำงานให้กับคณะกรรมาธิการเท่านั้น ไม่ได้มีบทบาทในการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ใดได้เลย และคณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นมา ก็ไม่ได้เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ แต่ก็มีบุคคลประเภทเหล่านี้ที่ชอบไปอ้าง เรื่องที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็ดีจะได้มีการระมัดระวังมากขึ้น" นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
เมื่อถามว่า การแต่งตั้งคนนอกเข้ามา มีทั้งข้อดีข้อเสีย เพราะบางครั้งต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญของบุคคลนั้นโดยเฉพาะ แต่ต่อไปจะเลือกอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีก ประธานสภาฯ กล่าวว่า กติกาข้อกฎหมายของรัฐสภาเวลามีกรรมาธิการก็กำหนดชัดเจนว่า ถ้ากรรมาธิการวิสามัญต้องมีตัวแทนของรัฐบาล ตัวแทนของสมาชิกที่ประกอบไปด้วยทุกพรรคการเมืองตามสัดส่วน และมีบุคคลภายนอกอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง เพราะสภาอยากทำงานเชื่อมโยงกับภาคประชาชน จึงจำเป็นต้องมีกรรมาธิการจากบุคคลภายนอกมาเสนอความเห็นในการทำงาน แต่บางครั้งถ้าไม่ได้มาเป็นคณะทำงาน เป็นคนที่ถูกเชิญมาให้ข้อคิดเห็นก็ทำอยู่ตลอด แต่สำหรับที่ปรึกษากรรมาธิการ ต้องทำด้วยความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี