‘สภาสูง’ไฟเขียวตั้ง‘14 สว.’ยืนตาม‘วิปวุฒิสภา’นั่ง‘กมธ.ร่วมกันฯศึกษาร่างพ.ร.บ.ประชามติ’ ด้าน‘พันธุ์ใหม่’เดินเกมสู้‘สีน้ำเงิน’ เสนอ‘นันทนา-ประภาส’เข้าร่วม อ้างเปิดโอกาสเสียงข้างน้อย สุดท้ายโหวตแพ้
21 ตุลาคม 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีพล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาให้ความเห็นชอบการตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ในสัดส่วนของสมาชิกวุฒิสภา(สว.) จำนวน 14 คนสืบเนื่องจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่9ต.ค.ที่ผ่านมา มีมติไม่เห็นชอบกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ฯประชามติฯ ของวุฒิสภาที่ส่งมายังสภาฯในประเด็นสำคัญที่มีการแก้ไขเกณฑ์การออกเสียงประชามติแบบเสียงข้างมาก2ชั้นจึงได้มีมติตั้งกมธ.ร่วมกันฯ และได้กำหนดบุคคลเข้ามาเป็นกมธ.ฯ สภาฯละ14คน รวมเป็น28คน
จากนั้นนายสุทนต์ กล้าการขาย สว. ลุกขึ้นเสนอชื่อกมธ.ฯ ในสัดส่วนของสว. 14 คน ได้แก่ 1.พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย 2.นายธวัช สุระบาล 3.พ.ต.อ.กอบ อัจนากิตติ 4.นายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล 5.นายอภิชาติ งามกมล 6.นายประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล 7.พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร 8.นายกมล รอดคล้าย 9.นายชีวะภาพ ชีวะธรรม 10.นายเอนก วีระพจนานันท์ 11.นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ 12.นายพิชาญ พรศิริประทาน 13.นายสิทธิกร ธงยศ และ14.นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร
ทั้งนี้ รายชื่อทั้ง14คนดังกล่าว เป็นไปตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา(วิปวุฒิสภา) ให้ความเห็นชอบ ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา
นายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ ในฐานะ1ในเสียงข้างน้อยโหวตไม่รับรองเสียงข้างมาก2ชั้น ลุกขึ้นเสนอชื่อ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. และนายประภาส ปิ่นตบแต่ง สว. เพื่อร่วมเป็นกมธ.ร่วมกันฯ เป็นสมาชิกฝั่งเสียงข้างน้อย โดยระบุว่า เป็นการเคารพเสียงส่วนใหญ่ ไม่ละเลยเสียงส่วนน้อย
ด้านนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสัดส่วน เนื่องจากในการโหวตร่างฯแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ฯประชามติฯ วาระ2-3 มีสว.19คนเป็นเสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกลับไปเป็นเสียงข้างมาก2ชั้น แต่รายชื่อ14คนที่วิปวุฒิสภา เสนอเป็นกมธ.ร่วมกันฯ ต่างโหวตเห็นชอบกับการแก้ไข มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนเสียงข้างมาก2ชั้น ดังนั้นหากคิดเฉลี่ยตามจำนวนสว.200คน จะตกอยู่ที่14.28คน เท่ากับว่าอย่างน้อยที่สุดใน19คนที่เป็นเสียงข้างน้อย ต้องมี1คนเป็นอย่างน้อยที่อยู่ในโควตากมธ.ร่วมกันฯ แต่กลับไม่มีเสียงส่วนน้อยเลย
ทั้งนี้หากกมธ.ร่วมกันฯ ทั้งสส. และสว. ไม่มีพื้นที่ของเสียงส่วนน้อย จะทำให้เกิดปัญหา ไม่สะท้อนข้อเท็จจริง เราต้องแสดงให้ฝั่งของสส.เห็นว่าเราฟัง และเคารพทุกเสียง นอกจากนี้ทั้ง14คนที่เสนอเป็นกมธ.ร่วมกันฯ ไม่มีตัวแทนของกมธ.พัฒนาการเมืองฯที่ภารกิจหน้าที่มีความใกล้เคียงที่สุดเลย จึงควรพิจารณาให้เสียงข้างน้อยอย่างน้อย1-2คนเข้าไปเป็นกมธ.ร่วมกันฯในสัดส่วนของสว.14คน เพื่อที่จะได้แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม
ขณะที่น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย กล่าวว่า มีคำถามมากมายมาที่ตนว่าทำไมวุฒิสภาจึงมีโผออกมาว่าจะมีรายชื่อ14สว.ออกมา ที่เป็นเสียงข้างมากทั้งสิ้น ไม่มีเสียงข้างน้อย ที่ได้แสดงความคิดเห็นทั้งในกมธ.ฯ และในที่ประชุมวุฒิสภา หมายความว่ากมธ.ร่วมกันฯ ไม่เห็นความสำคัญของสัดส่วนสว. และเสียงข้างน้อย เราจะตอบประชาชนที่กำลังสงสัยว่าวุฒิสภาแห่งนี้เป็นของใครได้อย่างไร ไม่ใช่วุฒิสภาของประชาชนหรือ ทุกครั้งที่มีการลงมติเสียงข้างมากจะชนะทั้งหมด เพราะฉะนั้นการตั้งกมธ.ร่วมกันฯควรเป็นสัดส่วนทั้งเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย หากสุดท้ายแล้วกมธ.ร่วมกันฯทั้ง28คน โหวตออกมาเป็นอย่างไร ก็สามารถอธิบายกับประชาชนได้ว่าเป็นสัดส่วนที่มีทั้งเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย ไม่ใช่สัดส่วนที่เกิดขึ้นมาแต่เสียงข้างมาก ไม่ใส่ใจเสียงข้างน้อย
“หลักการที่อธิบายกันไปมากมายว่าการทำประชามติ ต้องเห็นแก่ประชาชนส่วนใหญ่ ต้องทำให้รัดกุม ท่านพูดจริงๆหรือเพียงต้องการเอาชนะ แล้วยืดเยื้อออกไป ถ้าเห็นความสำคัญจริงๆ ต้องให้ทุกฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็น แล้วสะท้อนออกมาในกมธ.ร่วมกันฯชุดนี้ที่ควรมีสัดส่วนเสียงข้างน้อย เพื่อเข้าไปอภิปรายแสดงความคิดเห็นว่าเพราะเหตุใดควรทำประชามติแบบชั้นเดียว หากเสียงข้างมากต้องการเสียงแบบ2ชั้น ก็อภิปรายให้เหตุผลมา ประชาชนรอฟังดิฉันไม่อยากให้วุฒิสภาแห่งนี้ถูกนินทาว่าเป็นสภาฯที่รวบรัดตัดตอน เป็นสภาฯที่มีใบสั่ง แล้วโหวตตามใบสั่ง ขอวิงวอนสมาชิกให้เห็นแก่ภาพลักษณ์ของวุฒิสภาชุดใหม่ ว่าวุฒิสภาชุดนี้เป็นสภาฯของประชาธิปไตย ให้สัดส่วนสะท้อนความเป็นวุฒิสมาชิกที่มีหลากหลาย เคารพเสียงข้างน้อย จึงควรให้มีกมธ.เสียงข้างน้อยไปชี้แจงเหตุผล เพราะประชาชนรอฟังอยู่ และรอดูการลงมติ เราต้องทำให้ภาพลักษณ์วุฒิสภาไม่บิดเบี้ยวไป ไม่ทำให้ประชาชนขาดศรัทธาในวุฒิสภาแห่งนี้” น.ส.นันทนา กล่าว
ขณะที่นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ในฐานะโฆษกวิปวุฒิสภา ชี้แจงว่า ไม่มีข้อกำหนดใดๆเกี่ยวกับการกำหนดสัดส่วนกมธ.ฯ ที่ผ่านมาวุฒิสภาฯ ไม่เห็นชอบ และให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.ฯประชามติฯ ที่สภาฯส่งมากว่า160เสียง กรณีที่วุฒิสภาต้องเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อตั้งเป็นกมธ.ร่วมกันฯในสัดส่วนของสว. ต่อที่ประชุมวิปวุฒิสภาพิจารณา ต้องคำนึงถึงสัดส่วนผู้แทนของเจ้าของเรื่อง กรรมการเสียงข้างมาก กรรมการเสียงข้างน้อย ผู้สงวนความเห็น หรือสงวนคำแปรญัตติ ซึ่งเป็นผลการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงผู้ที่เห็นชอบกับสภาฯเลย ขอย้ำว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นผู้ที่มีสิทธิที่จะเข้าไปเป็นกมธ.ร่วมกันฯ14ราย ต้องเป็นผู้ที่เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น หรือเป็นผู้ที่ต้องการยกมือแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประชามติเท่านั้น ไม่ได้มีสัดส่วนใดๆ
ทำให้น.ส.นันทนา ลุกขึ้นโตแย้งนายพิสิษฐ์ว่า เข้าใจผิด ในกลไกลระบอบประชาธิปไตย เรามีทั้งเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย แต่เราจะทำตามมติเสียงข้างมาก โดยเคารพเสียงช้างน้อย เมื่อไหร่ก็ตามที่เราบอกว่าไม่ต้องมีสัดส่วนมีแต่พวกของเราเท่านั้น นั้นคือระบอบเผด็จการ ขอให้เข้าใจใหม่ ท่านเป็นสว.ในกลไกระบอบประชาธิปไตย แต่ท่านปฏิเสธในการให้มีสัดส่วนของคนที่คิดต่าง แปลว่ากำลังยึดหลักเผด็จการ ไม่ใช่ประชาธิปไตย น่าผิดหวังอย่างยิ่ง ขอให้ท่านทำความเข้าใจใหม่ไว้ด้วย
นายพิสิษฐ์ จึงลุกขึ้นชี้แจงว่า ตนไม่ได้มีความคิดเป็นเผด็จการ ตนเชื่อว่าวุฒิสภาแห่งนี้ไม่มีพรรคพวก หรือพรรคการเมืองมาเกี่ยวข้อง ตนเคารพสิทธิทุกคน แต่ตนพูดถึงความเป็นจริง ว่าเราต้องการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ฯประชามติสัดส่วนของคนที่จะไปคุยกับคนที่เห็นชอบร่างฯ มันควรเป็นคนที่เห็นต่างกับสส.
นายเทวฤทธิ์ ชี้แจงว่า ที่บอกว่าไม่ได้อิงตามสัดส่วน แต่ทางสส.ก็อิงตามสัดส่วน เพราะสัดส่วนมาจากพรรคการเมืองพรรคที่โหวตงดออกเสียง ก็มีสัดส่วนตัวแทนถึง3คนในกมธ.ร่วมกันฯ มันมีการฟังของทุกเสียงอยู่ ดังนั้นเราต้องการความเป็นตัวแทนจริงๆ ไม่ได้ต้องการผู้ชนะได้ทั้งหมด พร้อมทั้งเสนอญัตติงดใช้ข้อบังคับชั่วคราวสำหรับกรณีข้อบังคับที่83 วรรค3 เรื่องของการออกเสียงเป็นชุด ให้เป็นการออกเสียงแบบ 1 คนต่อ 1ช้อยส์ตัวเลือก เพื่อสะท้อนว่ากมธ.ฯท่านนั้นคือตัวแทนเสียงของเราอย่างแท้จริง แก้ปัญหาการออกเสียงแบบเต็มโควตา รวมถึงเสียงข้างมากลากไป แต่พล.อ.เกรียงไกร ทักท้วงว่า อาจจะเสนอเป็นญัตติซ้อน
ทั้งนี้การถกเถียงใช้ระยะเวลามาพอสมควร มีสมาชิกเสนอให้ลงมติ และยืนยันตามที่วิปวุฒิสภา มีมติเสนอรายชื่อกมธ.ร่วมกันฯ ในสัดส่วนของสว.14คนก่อนหน้านี้ อาทิ นายสุทนต์ ชี้แจงว่า วิปวุฒิสภา ที่มีตัวแทนจากกมธ.สามัญประจำวุฒิสภาทั้ง21คณะ ได้ตกลงกันแล้ว ว่าจะเสนอทั้ง14รายชื่อนี้ เหตุใดยังมีสมาชิกบางคนยังไม่เข้าใจว่าเราทำงานอย่างไร ยืนยันว่าก่อนที่ตนจะเสนอชื่อ ทางวิปวุฒิสภาได้มีการประชุมและมีมติเรียบร้อย จึงเสนอตามสัดส่วนทั้งวุฒิสภา 200 คน
ทำให้พล.อ.เกรียงไกร ชี้แจงว่า ในการเสนอตั้งกมธ.ร่วมกันฯ มีการเสนอรายชื่อเกินมา2คน จาก14รายชื่อเดิมที่ทางวิปวุฒิสภามีมติเสนอก่อนหน้านี้ คือน.ส.นันทนา และนายประภาส รวมเป็น16คน ถือว่าเสนอรายชื่อกมธ.ฯเกินกว่าที่กำหนด จากนั้นได้มอบให้เจ้าหน้าที่จัดทำบัตรออกเสียงเพื่อลงมติเลือกกมธ.ฯไปตามนี้ พร้อมสั่งพักการประชุมเป็นเวลาประมาณ 30 นาที
ต่อมาเวลา 15.40 น. นายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ประกาศผลการนับคะแนน ซึ่งเสียงส่วนใหญ่โหวตเห็นชอบตามรายชื่อที่วิปวุฒิสภา มีมติ 14 คน ส่วนตัวแทน สว.เสียงข้างน้อย คือน.ส.นันทนา ได้เพียง 27 คะแนน และนายประภาส ได้ 25 คะแนน เป็นอันว่ารายชื่อทั้ง 14 คนที่ได้รับเลือกเป็นไปตามที่วิปวุฒิสภา อนุมัติแล้ว
อย่างไรก็ตาม รายชื่อกมธ. ร่วมกัน จำนวน 14 คน ประกอบด้วย 1. พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย 2. นายธวัช สุระบาล3. พ.ต.อ.กอบ อัจนากิตติ 4. นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร 5. นายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล 6. นายอภิชาติ งามกมล 7. นายประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล 8. พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ แสงเพชร 9. นายกมล รอดคล้าย 10. นายชีวะภาพ ชีวะธรรม 11. นายเอนก วีระพจนานันท์ 12. นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ 13. นายพิชาญ พรศิริประทาน และ14. นายสิทธิกร ธงยศ
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี