อีก 2 วันกว่าคดีหมดอายุความ!!! "สว.อังคณา"ติง"รัฐบาล" ออกพรก.หยุดอายุความ"คดีตากใบ"ได้ทันที ชี้เป็นเรื่องเร่งด่วน-ความหวังสุดท้ายผู้เสียหายโอดทำอะไรไม่ได้ กระบวนการล่าช้า ความไว้ใจเริ่มหมดไป กระตุกเตือนหากไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหา-จำเลยมาขึ้นศาลได้ทันเส้นตาย 25 ต.ค.นี้ คงเลี่ยงเกิดความรุนแรงยาก อัด"นายกฯ-หน่วยเกี่ยวข้อง"ไร้หนุนพิสูจน์ความจริง วอนหยุดสร้างวาทกรรมโยนบาป ถามใครจะรับผิดชอบ 78 ชีวิต ที่เสียไปจากการควบคุมของเจ้าหน้าที่
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มี นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เป็นประธาน กมธ.ฯ เพื่อพิจารณาติดตามกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบ ก่อนที่จะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง ได้แก่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 รองผู้กำกับกลุ่มงานสอบสวนคดีความมั่นคง ตำรวจภูธรภาค 9 หัวหน้างานซักถาม ศูนย์พิทักษ์สันติ ที่ปรึกษาด้านการประสานกิจการความมั่นคง สภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย สภาความมั่นคงแห่งชาติ อัยการภาค 9 นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย นายดอน ปาทาน นักวิเคราะห์สถานการณ์ชายแดนใต้ นายอาเต๊ฟ โซ๊ะโก ประธาน The Patani รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
โดย นางอังคณา ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม กมธ.ฯ ถึงแนวโน้มการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หยุดอายุความในคคีตากใบ ที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลไปศึกษา พร้อมยอมรับอาจออกกฎหมายไม่ทันกับอายุความในคดีที่จะหมดลงในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ว่า ในกรณีเร่งด่วน รัฐบาลสามารถออก พ.ร.ก.ฯ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ ได้เองเลย ขณะที่ในวันที่ 24 ต.ค.นี้ ยังมีการประชุมสาผู้แทนราษฎร ก็สามารถเสนอ พ.ร.ก.ฯ ได้ ที่นายภูมิธรรม ออกมาระบุว่าไม่น่าจะทัน แต่ส่วนตัวตนคิดว่าทัน เนื่องจากเป็นกรณีเร่งด่วนสามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว
เมื่อถามว่า ที่ไม่ทันเพราะเหตุใด นางอังคณา กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ที่นายภูมิธรรม ออกมาระบุว่าไม่น่าจะทัน ตนก็ยังไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดถึงไม่ทัน หากเตรียมการก็สามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นเรื่องของการหยุดอายุความไว้จนกว่าจะสามารถนำตัวผู้ต้องหา หรือจำเลยมาปรากฎตัวต่อหน้าศาลได้
"มันเหมือนเป็นความหวังสุดท้ายของผู้เสียหาย หากรัฐบาลหยุดชะลออายุความไว้ก่อน ยังเป็นความหวังว่าเขาจะสามารถได้รับความยุติธรรม แต่หากประตูตรงนี้ถูกปิด ก็ยังมองไม่ออกว่าถ้าหากผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มาศาลฯ ภายในอีก 2 วันกว่าๆ คดีก็จะหมดอายุความไปตามกฎหมาย" นางอังคณา กล่าว
เมื่อถามว่า ผลจากคดีที่หมดอายุความไปแล้ว ทุกคนที่เกี่ยวข้องจะถือว่าลอยตัวพ้นผิดหรือไม่ ประธาน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ กล่าวว่า ก็เป็นแบบนั้น เหมือนกับคดีการเสียชีวิตของประชาชน 31 ราย ในมัสยิดกรือเซะ แต่กรณีคดีตากใบเป็นการเสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ ถือเป็นความรับผิดชอบที่ไม่อาจปฏิเสธได้
เมื่อถามถึงทางออกสุดท้ายในเรื่องนี้ นางอังคณา กล่าวว่า หากกลไกในประเทศไม่ทำงาน ประชาชนสามารถฟ้องศาลระหว่างประเทศได้ เพราะมีกลไกของสหภาพยุโรปหลายประเทศจะอนุญาตให้ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถฟ้องร้องคดีได้ เมื่อศาลฯ รับฟ้อง หรือมีคำพิพากษา บุคคลเหล่านั้นจะไม่สามารถเดินทางเข้าไปในปนะเทศนั้นๆ ได้ นอกจากนี้ ยังสามารถถูกลงโทษภายใต้กฎหมายของประเทศนั้นๆ ได้ ก็เป็นอีกทางที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม เพราะประเทศไทยยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ในคดีเหล่านี้มากนัก ขณะเดียวกันการเสียชีวิตของบุคคลจำนวนมาก อาจเข้าข่ายอาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาติ หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อีกด้วย ก็อาจนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ ถ้าวันหนึ่งประเทศไทยให้สัตยาบรรณ
"แต่ขณะนี้ยอมรับว่าคงทำอะไรไม่ได้เพราะกระบวนการที่ล่าช้า ที่ผ่านมาทุกคนตั้งคำถามแล้วโยนความผิดให้ผู้เสียหาย แต่คดีอาญาแผ่นดิน ไม่ได้เป็นหน้าที่ของผู้เสียหายที่จะลุกขึ้นมาฟ้องร้องเอง แต่เป็นหน้าที่ของอัยการเป็นผู้ฟ้องร้องแทนประชาชน" นางอังคณา กล่าว
เมื่อถามว่า 20 ปีที่ผ่านมา มีการตั้งข้อสังเกตกระบวนการยุติธรรมไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อประชาชนดย่างแท้จริงนางอังคณา กล่าวว่า มันทำให้เกิดการเปรียบเทียบ เวลาประชาชนทำผิด ประชาชนต้องถูกลงโทษ มีการจับกุมผู้กระทำผิดได้ แต่เวลาเจ้าหน้าที่รัฐทำผิด แทบจะไม่เคยจับกุมผู้กระทำผิดได้เลย โดยเฉพาะกรณีที่เกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เปราะบาง มีความอ่อนไหว และยังเกิดความรุนแรง แม้ประเทศไทยจะไม่ยอมรับว่าเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นความขัดแย้งทางอาวุธ แต่ในทางสากลเข้าข่ายความขัดแย้งทางอาวุธ เพราะมีความยืดเยื้อ มีความขัดแย้งเกี่ยวกับชาติพันธุ์ ความเชื่อ ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม เข้ามาเกี่ยวข้อง
เมื่อถามว่า ถึงเวลาต้องสังคายนากฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ประธาน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าจำเป็นต้องปฏิรูปกฎหมาย กรณีความผิดละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงจะต้องไม่มีอายุความ ขยายนิยามของผู้เสียหายให้มากขึ้นและสอดคล้องอนุสัญญาทรมาน และบังคับสูญหาย เช่น ผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เป็นต้น
เมื่อถามว่า ประเมินสถานการณ์อย่างไร หากคดีตากใบหมดอายุความวันที่ 25 ต.ค.แล้วยังไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาและจำเลย มาขึ้นศาลฯ ได้ทั้งหมด นางอังคณา กล่าวว่า กังวลจริงๆ เพราะเราอยู่กับเหตุการณ์นี้มาตลอดเกือบ 20 ปี รู้สึกเสียดายความไว้เนื้อเชื่อใจที่ริเริ่มขึ้นและมีมาระยะหนึ่งที่มันอาจจะหมดไป เมื่อคนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมอาจมีคนกลุ่มหนึ่งใช้การต่อสู้ใช้ความรุนแรงในการที่จะให้ได้รับความเป็นธรรม ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ทุกฝ่ายตระหนักเรื่องนี้ หากไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาปรากฎตัวต่อหน้าศาลฯ ได้ หรือปล่อยโอกาสในการพิสูจน์ความจริงไป คงหลีกเลี่ยงยากในการเกิดความรุนแรงตามมา
เมื่อถามว่า อยากฝากอะไร โดยเฉพาะ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ที่ดูเรื่องนี้โดยตรง รวมถึงพรรคประชาชาติ ที่ทำพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นางอังคณา กล่าวว่า เราเห็นความพยายามของ รมว.ยุติธรรม มาโดยตลอด แต่หน่วยงานภายใต้กำกับกระทรวงอื่น หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้มีการสนับสนุนส่งเสริมในการพิสูจน์ความจริง เช่น ศาลออกหมายจับแล้วกลับปล่อยบุคคลในคดีทีเกี่ยวข้องหายไปถึง 7 - 8 คน มีข่าวว่าคนหนึ่งอยู่อังกฤษ อีกคนอยู่ญี่ปุ่น แล้วที่เหลือไปไหน ตรงนี้เป็นคำถามที่ท้าทายอย่างมาก แล้วเราจะคืนความยุติธรรมให้ประชาชนได้อย่างไร วันนี้ประเทศไทยกำลังสร้างความรู้สึกไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นมาอีก
"รัฐบาลต้องหยุดสร้างวาทกรรมการโยนความผิดให้ผู้เสียหาย เราจะเห็นหน่วยงานรัฐบางหน่วย พยายามพูดว่ากรณีของตากใบเป็นการจัดการ เป็นขบวนการการกระทำของคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้เกิดการชุมนุม แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายที่พูดในวันนี้คือ ใครจะรับผิดชอบการเสียชีวิตของคน 78 คน ในเหตุการณ์ตากใบ ไม่ว่าเขาจะมาจากไหน มีความเชื่ออย่างไร เขาต้องไม่เสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ตรงนี้คือประเด็นสำคัญ" นางอังคณา กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี