‘ถาวร’มองคดี‘ตากใบ’ ถามกระบวนการยุติธรรมปล่อยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เชื่อไม่กล้าออก‘พรก.’ขยายอายุความ
23 ตุลาคม 2567 นายถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีต สส.สงขลา ให้สัมภาษณ์กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นคดีสลายการชุมนุมที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 และกำลังจะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค. 2567 โดยที่ยังจับกุมผู้ต้องหาที่หลบหนีไม่ได้แม้แต่คนเดียว ซึ่งอาจทำให้เหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมารุนแรงอีกครั้ง ว่า สิ่งแรกของเป้าหมายการก่อความไม่สงบคือการแบ่งแยกดินแดน เป็นเรื่องจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้
ทั้งนี้ ในมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐไทย จะอยู่บนหลักคิดว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียวจะแบ่งแยกมิได้ ขณะที่ในมุมมองของขบวนการแบ่งแยกดินแดน จะกล่าวถึงรัฐปัตตานี มาตุภูมิ ศาสนา และที่สำคัญที่สุดคือชาติพันธุ์ เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายขัดแย้งกันจึงเกิดเหตุความไม่สงบ อย่างไรก็ตาม การกระทำของฝ่ายแบ่งแยกดินแดนนั้นผิดกฎหมาย แต่ในทางกลับกัน หากเจ้าหน้าที่รัฐไปทำผิดกฎหมายก็ต้องไม่ถูกละเว้น สังคมจะอยู่กันได้ต้องมีความสมานฉันท์ จึงเกิดการเจรจาทั้งทางลับตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา จนมาเปิดเผยกันในปี 2556 ที่เรียกว่าการพูดคุยสันติภาพหรือสันติสุข
แต่ปรากฏความไม่พึงพอใจ แกนนำต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มพูโล ตอนหลังยังมีกลุ่มเปอร์มูดอ ที่เรียกกันว่าพวกนักรบหน้าขาว หรือกลุ่มเยาวชน ถูกก่อตั้งขึ้นและก่อความไม่สงบเรื่อยมา แต่ขบวนการเหล่านี้จะไม่ยอมบอกว่ากลุ่มใดเป็นผู้ลงมือ กลุ่มเหล่านี้มีการจัดตั้ง ยุยงปลุกปั่น และทำพิธีซูเปาะ หรือการสาบานตนและฝึกปฏิบัติ ถึงกระนั้น เจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปในพื้นที่ หลายคนก็ใช้อำนาจโดยมิชอบ ตั้งแต่การใช้ความรุนแรง ไปจนถึงการอ้างสถานการณ์เพื่อทำการทุจริต เช่น การจัดซื้อ-จัดจ้างโดยวิธีพิเศษ จนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ปัญหามีแต่พอกพูน
กระทั่งในปี 2544 ในยุครัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 7 เม.ย. 2544 เกิดเหตุระเบิดที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ จ.สงขลา มีผู้เสียชีวิต นายกฯ ทักษิณ ก็ถามผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ในขณะนั้น ได้ทราบว่าเป็นเรื่องของผู้ก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน เมื่อถามว่ากลุ่มเหล่านี้เหลือสมาชิกเท่าใด สมาชิก 50-60 คน คาดว่า 5-6 เดือนน่าจะจัดการให้จบได้ นำไปสู่การใช้นโยบายกำปั้นเหล็ก แต่กลายเป็นทำให้เหตุการณ์ที่ดูจะสงบลงไปกลับมารุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กระทั่งในปี 2547 ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. เกิดเหตุปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง ปืนหายไป 413 กระบอก ทหารเสียชีวิต 4 นาย ต่อมาในวันที่ 28 เม.ย. เกิดเหตุปะทะระหว่างแนวร่วมขบวนการที่เป็นเยาวชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมกัน 11 จุด ฝ่ายแนวร่วมขบวนการเสียชีวิต 107 ราย ฝ่ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 5-6 นาย หรือเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ จนมาถึงเหตุการณ์ตากใบ ในวันที่ 25 ต.ค. มีชุดรักษาหมู่บ้าน (ชรบ.) ถูกจับเพราะตำรวจไม่เชื่อว่าถูกปล้นปืน นำตัวมาฝากขัง แล้วก็มีผู้คนมาชุมนุมหน้าสถานีตำรวจ เรียกร้องให้ปล่อยตัว ชรบ. ที่ถูกจับ จากนั้นเกิดเหตุความรุนแรง
เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 7 ราย แต่หลังจากนั้น ระหว่างนำตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร เกิดเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 75 ราย ซึ่งการเสียชีวิตที่เกิดจากปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องมีกระบวนการไต่สวนในศาล เรียกว่าไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หรือหากการเสียชีวิตในที่เกิดเหตุเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องทำเป็นคดี ซึ่งคดีแรกสั่งไม่ฟ้องเพราะระบุตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ แต่การไต่สวนชันสูตรพลิกศพ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จก็จะต้องส่งสำนวนให้อัยการสั่ง แต่ปรากฏว่าเรื่องนี้กว่าจะส่งได้ก็มาถึงปี 2567 แล้ว
“สำนวนมันเดิน ส่งไปไต่สวนที่ศาล ศาลสั่งเสร็จแล้วก็ส่งกลับมา ตำรวจจะส่งให้อัยการ อัยการสูงสุดจะต้องสั่ง แต่ส่งช้า อันนี้ตั้งข้อสังเกต เมื่อญาติผู้ตายเขาไม่สามารถทนได้ก็ไปฟ้องเอง ศาลสั่งไต่สวนมีมูล 7 คนตกเป็นจำเลย ขณะนี้ถูกออกหมายจับ ส่วนคดีที่อัยการสูงสุดสั่งก็สั่งฟ้อง ดังนั้นปัญหามีอยู่ว่าเมื่อเอาตัวจำเลยมาดำเนินคดีในศาลไม่ได้ ถึงวันที่ 25 ต.ค. 2567 เที่ยงคืน ก็ขาดอายุความ เอามาดำเนินคดีไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น” นายถาวร กล่าว
นายถาวร กล่าวต่อไปว่า ส่วนคำถามว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น อย่างแรกคือจะมีการปลุกระดม ขยายความคิดว่ารัฐไทยเพิกเฉยต่อหลักนิติรัฐ-หลักความยุติธรรม เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ต้องเคลื่อนไหวรุนแรงโดยใช้เรื่องนี้กล่าวอ้าง ทั้งนี้ กระบวนการเจรจาสันติภาพ เริ่มต้นขึ้นสมัยรัฐบาลนายกฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มากิเดเหตุปล่อยปละละเลยในยุครัฐบาลนายกฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร โดยสรุปคือคดีตากใบ เหตุการณ์เกิดในยุคพ่อ มีความพยายามเจรจาในยุคอา แต่ก็มาเกิดปัญหาในยุคลูก
แม้จะมีความพยายามเยียวยา แต่นั่นเป็นเรื่องทางแพ่ง กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย แต่การเพิกเฉยของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ย่อมตกเป็นเป้าโจมตี ดังนั้นอดีตนายกฯ ทักษิณไม่อาจหนีความรับผิดชอบไปได้ และเจ้าตัวก็เคยยอมรับแล้วว่าผิดพลาดที่ใช้นโยบายกำปั้นเหล็ก ส่วนการเสนอแนวคิดให้ออกพระราชกำหนด (พรก.) เพื่อขยายอายุความของคดีนี้ออกไป ตนเห็นว่าการออก พรก. ต้องมีเหตุผล เพราะแม้จะไม่ทำให้ขาดอายุความ แต่ก็จะมีคำถามว่าแล้ว 20 ปีที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมทำอะไรกันอยู่
อย่างตำรวจเพิ่งส่งสำนวนให้สำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ แม้อัยการจะสามารถทวงถามได้แต่ต้นเรื่องไม่อยู่ ทั้งที่การไต่สวนชันสูตรพลิกศพเพื่อระบุตัวตนผู้เสียชีวิตและสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตนั้นเสร็จสิ้นไปนานแล้ว เมื่อส่งผลกลับไปให้ทางตำรวจ ซึ่งตำรวจก็จะต้องพิจารณาและส่งสำนวนให้กับอัยการสูงสุดเพื่อวินิจฉัยว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ โดยสรุปคือสำหรับเรื่องนี้ต้องบอกว่ากระบวนการยุติธรรมเน่าเฟะ
ส่วนการจะไปออก พรก. ก็ต้องถามกลับเรื่องหลักนิตินิยม ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ถามว่ากล้าเสี่ยงทำหรือไม่ เพราะแม้แต่พูดชี้แจงยังไม่กล้าเลย ส่วนคำถามว่า หากบรรดาผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับแล้วอยู่ระหว่างหลบหนีในขณะนี้ ปรากฏตัวหลังจากวันที่คดีหมดอายุความ จะยิ่งกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของคนในพื้นที่หรือไม่ ตนคิดว่าข้ออ้างที่ทำให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเข้มแข็งขึ้น ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องนี้ เพราะหากไปเอ็กซเรย์ว่าคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เขาอยากให้แก้ปัญหาอะไร
อันดับที่ 1 ไม่ใช่เรื่องความมั่นคง แต่เป็นความยากจน ต้องไปส่งเสริมการประกอบอาชีพของพวกเขา เกษตรกรรม ประมง ส่งเสริมให้ดี ไม่ใช่ใช้เงินทั้งหมดไปกับการทำรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ต้องกระจายอำนาจและงบประมาณลงไป เพราะเมื่อคนไม่ยากจนแล้วจะคิดแบ่งแยกดินแดนไปเพื่ออะไร ขณะที่ปัญหาอันดับ 2 ของพื้นที่ชายแดนใต้ คือยาเสพติด เจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลยหรือไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนความมั่นคงนั้นเป็นปัญหาอันดับ 3
“อย่าลืมว่า 85% นับถือศาสนาอิสลาม เขาเชื่อผู้นำ อย่าลืมว่า 2 ล้านคนนิดๆ เป็นคนดั้งเดิม ฉะนั้นเมื่อคุณไม่อยู่ในหลักนิติรัฐ ไม่ปกครองด้วยหลักนิติธรรม ถูกยุยงปลุกปั่นตลอดแน่นอน ผมไม่ได้เข้าข้างฝ่ายรัฐหรือฝ่ายที่คัดจะแบ่งแยกดินแดน แต่ผมเข้าข้างความถูกต้อง ฝ่ายแบ่งแยกดินแดนเมื่ออยู่ในรัฐหลังจากนี้แล้วก็ต้องทำตัวให้อยู่ในกฎเกณฑ์กติกาของราชอาณาจักรนี้ ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายรัฐไทยก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดความยุติธรรม โดยใช้หลักความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพ ความมั่นคงของมนุษย์และสิทธิมนุษยชน กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย” นายถาวร กล่าว
ชมคลิปเต็มได้ที่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี