พรรคร่วมรบ.ย้ำจุดยืนโหวตรายงานนิรโทษฯ
ห้ามแตะม.112
‘อนุทิน’ลั่นภท.ขอสงวนสิทธิ์
มติรทสช.ย้ำชัดไม่รับรายงาน
ปิดประตูแก้มาตรา112ทุกกรณี
พท.มั่นใจจับมือปชน.ผ่านฉลุย
“ภูมิใจไทย”ย้ำจุดยืนโหวตรายงาน“นิรโทษกรรม” 24 ตุลาคมนี้ ไม่แตะ“ม.112”แจงเป็นแค่ผลศึกษา หลายพรรคขอสงวนสิทธิ์ ยันพรรคร่วมรัฐบาลไร้แตกแยกแค่เห็นต่างในระบอบประชาธิปไตย ยันวงดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีคุยขอ‘ภท.’ประสาน‘สว.’แก้รัฐธรรมนูญ-เดินหน้านิรโทษกรรม ดันเอ็นเตอร์เทนเม้นต์คอมเพล็กซ์ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ย้ำจุดยืนเดิม ‘ไม่เห็นชอบ’ รายงานนิรโทษกรรม ป้อง อนาคตคนนำไปสร้างความเห็นชอบ ลั่น ต้องการปิดประตูนิรโทษ ม.112 ด้าน พท.จ่อโหวตรับรายงานนิรโทษกรรม มั่นใจเสียง พท.-ปชน.เข็นผ่านสภาได้ แต่ถ้าไม่ผ่านก็ไม่ซีเรียส ถือว่าเสียหน้าทุกพรรค
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ที่กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงทิศทางของพรรคในการโหวตรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎรในการประชุมสภาฯ วันที่ 24 ต.ค.นี้ ว่า พรรคภูมิใจไทยขอยืนยันหลักการเดิมคือไม่แตะเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการพิจารณาดังกล่าวเป็นแค่ผลการศึกษา หลายพรรคการเมืองได้สอบถามดู เห็นว่า หลายเรื่องยังไม่มีความชัดเจน จึงขอสงวนสิทธิ์เอาไว้
“ขอยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ถือเป็นความขัดแย้งในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ถือเป็นความเห็นต่าง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย เราอยู่รัฐบาลเดียวกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันทุกเรื่อง แต่ถ้าสิ่งใดเป็นประโยชน์สูงสุดแก่บ้านเมือง และประขาชน เราจะต้องยึดถือเรื่องนั้นเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้และสามารถทำงานได้ตลอด แต่ในทางกลับกัน หากเห็นตรงกันทุกเรื่องก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี” นายอนุทิน กล่าว
รทสช.ย้ำไม่เห็นชอบรายงานนิรโทษกรรม
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการลงมติร่างรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ในวันที่ 24 ตุลาคม ว่า เราจะลงมติไม่เห็นชอบ ยังคงยืนยันในหลักการเดิมคือเราไม่เห็นชอบกับรายงานฉบับนี้ เพราะไม่มีข้อสรุป เป็นปลายเปิด 3 แนวทางคือให้นิรโทษกรรมผู้กระทำผิดมาตรา 112, ไม่ให้นิรโทษกรรมผู้กระทำผิดมาตรา 112 และนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดมาตรา 112 โดยมีเงื่อนไข
“การเป็นปลายเปิดเช่นนี้อาจทำให้ในอนาคตมีคนนำรายงานฉบับนี้ไปสร้างความชอบธรรมว่าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ 3 แนวทางในการที่จะดำเนินการการนิรโทษกรรม ฉะนั้น พรรครวมไทยสร้างชาติจึงต้องการปิดประตูการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112” นายอัครเดชกล่าว
เมื่อถามว่า ต้องมีการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลก่อนลงมติหรือไม่ นายอัครเดชกล่าวว่า ไม่ต้องมีการพูดคุย เพราะถือเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละพรรค ซึ่งเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา พรรค รทสช.เราก็ได้มีการพูดคุยกันในประเด็นนี้ชัดเจน ซึ่งเรายังคงยืนยันว่าเป็นมติพรรคที่จะไม่เห็นชอบ เนื่องจากรายงานฉบับนี้เป็นปลายเปิด ยังไม่เสร็จสมบูรณ์
เพื่อไทยจ่อโหวตรับรายงานนิรโทษกรรม
ทางด้าน นายสมคิด เชื้อคง กรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 24 ต.ค.ที่มีวาระการลงมติพิจารณารายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า การโหวตในวันที่ 24 ต.ค. เป็นการโหวตเฉพาะข้อสังเกตของ กมธ.ว่า ที่ประชุมสภาจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ ส่วนตัวรายงานไม่ต้องโหวต เพราะเป็นเรื่องรับทราบ อย่างไรก็ตาม วิปรัฐบาลไม่มีมติจะให้โหวตข้อสังเกตในรายงานดังกล่าวไปทางใด ให้แต่ละพรรคโหวตตามแนวทางของตัวเอง เพราะเป็นเรื่องที่มีความเห็นต่างในแต่ละพรรค ในส่วนพรรคเพื่อไทยจะประชุม สส.ตอนเช้า วันที่ 24 ต.ค. แนวโน้มพรรคเพื่อไทยจะโหวตเห็นชอบข้อสังเกตรายงานของ กมธ.
มั่นใจประสาน ปชน.เข็นผ่านสภาได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวโน้มสภาจะผ่านความเห็นชอบข้อสังเกตรายงานนิรโทษกรรมของ กมธ.หรือไม่ นายสมคิด ตอบว่า เสียงโหวตก้ำกึ่งสูสี แต่น่าจะผ่านความเห็นชอบจากสภาได้ ถ้าเสียงพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนให้ความเห็นชอบอย่างพร้อมเพรียงก็มีเสียงเกินครึ่งของสภา น่าจะผ่านได้ ถ้าเพื่อไทยโหวตไม่เห็นด้วยก็เป็นเรื่องแปลก อย่างไรก็ตามแม้จะโหวตไม่ผ่านในวันที่ 24 ต.ค. ก็ไม่ใช่เรื่องซีเรียส ไม่เป็นไร ถือว่าเสียหน้าทุกพรรค ไม่ใช่เฉพาะพรรคเพื่อไทย กมธ.มีตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง ถ้าไม่ผ่านเท่ากับไม่เชื่อใจกมธ.ตัวเอง สิ่งที่โหวตวันที่ 24 ต.ค. เป็นแค่รายงานการศึกษาการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ใช่การออกกฎหมายนิรโทษกรรม แต่มีความพยายามปั่นให้คนภายนอกเชื่อว่า เป็นการออกกฎหมายนิรโทษกรรม บางคนโยงไปถึงเรื่องการเดินหน้าแก้ไขมาตรา 112 ทั้งที่ข้อเท็จจริง ถ้ารายงานดังกล่าวผ่านสภาต้องส่งให้รัฐบาลดำเนินการต่อ ยังไม่รู้รัฐบาลจะตัดสินใจออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือไม่ ถ้าออกจะมีเนื้อหาในแนวทางใด มีเรื่องมาตรา 112 หรือไม่ก็ยังไม่รู้ แต่ก็ปั่นให้ไม่เอารายงานกมธ.
“ชาญชัย”แจงปมยื่นคำร้องเทวดาชั้น14
ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส. นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีเตรียมร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขอให้ไต่สวนกรณีกรมราชทัณฑ์นำตัว นายทักษิณ ชินวัตรจากเรือนจำไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้ร้องขออนุญาตต่อศาลฯ ก่อน และการไปรักษาตัวที่นี่ ไม่ถือว่าเป็นการถูกจำคุก ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะขอพักโทษ หรือทุเลาโทษโดยกรมราชทัณฑ์ต้องบังคับการลงโทษตามคำพิพากษาศาลนั้น
โดยนายชาญชัยกล่าวว่า ตนขอชี้แจงข้อเท็จจริง ในกรณีนี้ว่าที่ผ่านมา ตนเคยยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 โดยตนและนายนิติธร ล้ำเหลือ ได้ร่วมกันยื่นร้องต่อศาลฯในประเด็นว่า นายทักษิณได้รับโทษจำคุกและได้ขอพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษเหลือ 1 ปี แต่เหตุใดจึงไม่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาลแม้แต่วันเดียว โดยมีรายละเอียดข้อเท็จจริง พฤติกรรมการกระทำของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย ป.วิอาญาและคำสั่งของศาลฯหรือไม่ โดยศาลฯ ได้วินิจฉัยตอบในวันนั้นว่า ศาลฯ ออกหมายจำคุก เมื่อคดีถึงที่สิ้นสุดไปแล้ว การบังคับโทษและอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ปัญหาว่า เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฯ จึงไม่ต้องไต่สวน ให้ยกคำร้อง
“เท่ากับศาลฯได้ชี้ประเด็นกลับมาให้ดูว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทำผิดกฎหมายเรื่องใด มีพฤติกรรมเช่นใด เพราะคำร้องนี้ ร้องเกี่ยวกับพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ต้องไปร้องต่อศาลอื่น ศาลฎีกานักการเมืองไม่มีอำนาจวินิจฉัย“ นายชาญชัย กล่าว
เตรียมยื่นคำร้องครั้งที่3
นายชาญชัย กล่าวอีกว่า ต่อมา เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตนได้ยื่นคำร้องต่อศาลฯ ครั้งที่สอง ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2562 ว่าด้วยหมวด 9 การบังคับคดีข้อ 61 และ 62 ว่า มีกฎหมายมาตรา 246 และบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมถึงมาตรา6 ของพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ที่ระบุ มิให้ออกกฎกระทรวง หรือมาตรการบังคับโทษด้วยวิธีการอื่น ที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กรณีกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติต่อ นายทักษิณ เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ การที่นายทักษิณ ออกมานอนรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ถือเป็นการทุเลาโทษ และชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลจึงมีคำวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีไม่ปรากฏ มีการทุเลาการบังคับโทษ จึงไม่ต้องตามบทบัญญัติประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 246 และมาตราอื่นที่ผู้ร้องอ้างมา จึงไม่ต้องไต่สวนให้ยกคำร้อง”
การที่ศาลวินิจฉัยเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่า มาตรา 246 อยู่ในอำนาจของศาลที่สามารถวินิจฉัยได้ แต่ไม่มีการยื่นคำร้องขอทุเลาโทษจากเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้อง เสมือนศาลต้องการให้ตนไปเขียนคำฟ้องใหม่โดยต้องรวบรวมพยานหลักฐานและตัวผู้กระทำความผิดให้ครบถ้วน จึงสามารถยื่นคำร้องใหม่เป็นครั้งที่ 3 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองได้
รวบรวมหลักฐานได้50% แล้ว
ขณะนี้ตนสามารถรวบรวมพยาน หลักฐาน พฤติการณ์การกระทำความผิดได้ 50% แล้ว หรืออาจจะยื่นเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้รับไปดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จ
“ผมและคณะได้ทำหน้าที่ ในฐานะพลเมืองที่ต้องการรักษาความยุติธรรมและความถูกต้องตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญโดยชี้เป้าโดยการชี้เป้าให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับทราบพฤติการณ์และข้อเท็จจริงข้อกฎหมายเพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ ถึงปัญหากระบวนการยุติธรรมที่ถูกกัดเซาะ บ่อนทำลาย ว่า เหตุใดเมื่อทรงพระราชทานอภัยโทษ โดยลดโทษให้เหลือ 1 ปี แล้วทำไมหน่วยงานราชการของรัฐจึงไม่ปฏิบัติตาม
ทั้งนี้ ตนขอแจ้ง สิทธิของพลเมืองต่อพี่น้องประชาชนผู้ที่ต้องการรักษาผดุงความยุติธรรมว่า ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2562 หมวด 9 เกี่ยวกับการบังคับคดี ข้อที่ 62 ระบุไว้ว่า “เมื่อบุคคลภายนอกยื่นคำร้องหรือคำขอต่อศาลในชั้นบังคับคดี ให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาอย่างน้อยสามคนเป็นองค์คณะพิจารณาชี้ขาดคำร้องหรือคำขอดังกล่าว” หรือพูดตามภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า ประชาชนคนไทยทุกคนมีสิทธิ์ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ ตามกฎหมายนี้
‘พิชิต’ชี้ดินเนอร์แค่พิธีกรรมลวง
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ดินเนอร์ เชือดทีละพรรค กินข้าวร่วมโต๊ะ เพื่ออะไร เพราะสุดท้ายคนเคาะ.....ก็อยู่บ้านจันทร์ส่องหล้า ที่มากินข้าวกันก็เป็นไปตามธงที่ ทักษิณ ชินวัตร พูดเมื่อวันที่ 22 ส.ค.67 ทั้งนั้น ถ้าไม่เชื่อก็ดูนโยบายเร่งด่วนของรัฐ มันตรง 100 % กับที่ ทักษิณ พูด กินข้าวร่วมโต๊ะจึงเป็นเหมือนพิธีกรรมลวงๆ พิธีศักดิ์สิทธิ์จริงๆ คือพิธีที่มาจากวัดจันทร์ส่องหล้านั่นไง และจะเริ่มกระชับอำนาจมากขึ้น ไล่บี้มากขึ้น ด้วยการขยับกินข้าวรายพรรค บี้รายกระทรวง อันนี้ละ ครอบครอง ครอบงำ แทรกแซง จัดการรายพรรคของจริง คิดดูซิ ทักษิณ อยากกระชับอำนาจเบ็ดเสร็จจะทำอย่างไร ก็จัดการทีละพรรคไง วิธีที่เชือดนิ่มมากที่สุดคือ กระชับสัมพันธ์ด้วยการกินข้าวทีละพรรค กระชับทีละกระทรวง เจอแบบนี้ไป เขาเรียกว่า บอสแม้วให้มาดามแพ เดินหน้าแทรกแซงรายพรรค รายกระทรวง ตีเมืองขึ้น ไม่ใช่ซิ ตีพรรคร่วมให้ขึ้นตรงต่อเพื่อไทย แบบนี้เขาเรียก ยึดอำนาจพรรคร่วมโดยปริยาย ใช้อำนาจรัฐ ยึดอำนาจพรรคร่วม สไตล์ บอสแม้ว รีเทิร์น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี