‘ชาญชัย’ซัดส่ง‘ทักษิณ’นอนรพ.
ผิดมาตั้งแต่ต้น
นำตัวออกคุกต้องขออนุญาตศาล
ชี้กระทำการขัดป.วิอาญา
เล็งยื่นฟันกรมคุกผิด 157
“ชาญชัย”ชี้ กรมราชทัณฑ์ อ้างระเบียบออกเอง ส่ง“ทักษิณ”รักษานอกคุก ชี้กระทำขัดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นำตัวออกจากคุก ต้องขออนุญาตศาล ชงเอาผิด กรมคุก-รมว.ยุติธรรม กระทำผิด ม.157 เตรียมยื่นศาลฎีกา นักการเมืองเอาผิดฟันซ้ำ “วันนอร์”ฟุ้งสภาฯชุดนี้ไร้องค์ประชุมล่มเป็นประวัติการณ์
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์กับรายการ“สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง”ทางช่องยูทูบ“แนวหน้าออนไลน์”ในประเด็นการออกมายืนยันว่า กรณีกรมราชทัณฑ์ใช้อำนาจส่งตัว นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ต้องโทษจำคุก 1ปี ออกจากเรือนจำไปพักรักษาตัวที่ชั้น14 โรงพยาบาลตำรวจ ยาวนานถึง 6เดือน ก่อนได้รับอนุญาตให้กลับไปพักที่บ้านได้ตามมาตรการพักโทษในอีก 6เดือนที่เหลือ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ว่า เรื่องนี้ตนเก็บข้อมูลมาตลอด อย่างเมื่อ3ปีก่อน นายทักษิณ ขณะที่ยังอยู่ในต่างประเทศ ได้กล่าวผ่านสื่อเป็นระยะๆว่า มีแผนจะเดินทางกลับไทยและบอกว่า จะกลับมาแบบไม่ติดคุก เวลานั้นตนก็คิดในใจว่าจะเป็นไปได้อย่างไร ซึ่งตนกับ นายทักษิณ เริ่มเล่นการเมืองพร้อมกันในปี2538 ดังนั้นในช่วงที่อยู่ในสภา นายทักษิณทำอะไรก็จะรู้กันดี รวบรวมข้อมูลอภิปราย เช่น เครื่องตรวจวัตถุระเบิดCTX บอกได้เลยว่า นายทักษิณ เป็นคนไม่รู้จักพอและมีศัตรูไม่รู้จักหยุด
‘ชาญชัย’งง’แม้ว’โวกลับไทยไม่ติดคุก
แต่เรื่องที่บอกจะกลับมาโดยไม่ติดคุก ตนก็คิดว่าจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะไม่ใช่เพียงคดีอาญาธรรมดา แต่เป็นคดีทุจริต อันเป็น1ใน3เรื่องที่ต่อสู้กันมาตลอด เพื่อไม่ให้บ้านเมืองวุ่นวาย เรื่องทุจริตหากแก้ไม่ได้บ้านเมืองจะวุ่นวายไม่จบไม่สิ้น นักการเมืองได้อำนาจมาก็ค้าอำนาจ ซื้อเสียงจาก 20 ต่อมาก็ซื้อกันเป็นพัน ก็มาจากการทุจริต ลงทุนเพื่อให้ได้อำนาจรัฐแล้วก็ใช้อำนาจไปหาผลประโยชน์กับกลุ่มทุนทั้งหลาย นี่คือปัญหาที่พยายามแก้กันมาเป็นสิบปี แต่วันนี้นอกจากจะแก้ไม่จบแล้วยังเละยิ่งกว่าเก่า ซึ่งการออกมาเปิดประเด็นดังกล่าว ก็เพราะเกิดจากการท้าทายส่งเสริม เหมือนว่าคนทุจริตทำผิดก็ไม่เห็นเป็นอะไร หากปล่อยไว้แบบนี้ประเทศอยู่ไม่ได้ จะกลายเป็นวัฒนธรรมใช้กับนักการเมือง หากมีเงินก็ไม่ต้องติดคุกหรือไม่ก็คดีหลุดหมด เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวของนายทักษิณ อีกต่อไป
ชี้นำตัวออกจากคุกต้องขออนุญาตศาล
นอกจากนั้นเมื่อนายทักษิณ บอกว่า เข้ามาแล้วต้องการให้บ้านเมืองสงบก็ต้องยอมรับกติกา ซึ่งก็ไม่ได้เป็นกติกาที่ประเทศไทยตั้งขึ้นเอง แต่เป็นหลักสากล ดังนั้นหากกรณีของ นายทักษิณ ไม่ได้ข้อยุติ กลายเป็นตัวอย่างว่า ทำผิดแล้วไปขอพระราชทานอภัยโทษ แล้วก็ไม่ต้องคิดคุก ก็เป็นความผิดต่อเนื่อง ตนมองว่า เรื่องนี้ยิ่งกว่าคำว่ากัดเซาะ เพราะเป็นการทุบ เนื่องจากทำให้คนเข้าใจผิดว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไปส่งเสริมให้ นายทักษิณ ไม่ต้องติดคุก ส่วนที่ไปยื่นเรื่องยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะตนรู้ข้อกฎหมาย ซึ่งมีอยู่มาตราหนึ่ง ว่าด้วยเมื่อศาลตัดสินแล้วจะมีการบังคับคดี ดังนั้นเมื่อเข้าเรือนจำไปแล้ว การนำตัวออกมาปกติต้องขอศาล
แห่รับเต็มสนามบินผิดกฎระเบียบ
“ทีแรกเราก็ไม่ได้สนใจ นึกว่า 2-3เดือน นึกว่าคนป่วยจริงก็เอาไปรักษา แต่เราเห็นท่าทางตอนลงจากเครื่องบินมา ไม่ใช่คนป่วย ยังแข็งแรงยิ่งกว่าเราเลย มาถึงก็แสดงท่าทางอิทธิฤทธิ์ เดินออกมาจับไม้จับมือ กุญแจมือก็ไม่ต้องใส่ ตำรวจก็ไม่ต้องคุม ผมว่ามันผิดปกติตั้งแต่วันนั้นแล้ว ตรงนั้นเป็นเขตหวงห้ามก็ดันปล่อยให้พวกบริวารเข้าไปอยู่เต็มไปหมด สนามบินก็ผิดอีก ตรงนั้นหิ้วทองเข้าเอาเฮโรอีนออกได้หมด ผมเห็นอะไรผิดปกติตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ก็จับทิศทางมาเรื่อย เขาจะทำอะไรกัน สุดท้ายไม่ได้จำคุกแล้วเอาตัวไปไว้โรงพยาบาล” นายชาญชัย กล่าว
กรมราชทัณฑ์ทำหน้าที่ชอบหรือไม่
นายชาญชัย กล่าวอีกว่า ในช่วงปลายเดือนพ.ย. 2566 ตนเริ่มร่างหนังสือตรวจสอบ ดูข้อกฎหมายแล้วเห็นว่าผิดแน่ ซึ่งแรกๆ กรมราชทัณฑ์บอกจะทำตามขั้นตอนทางกฎหมาย พักอยู่เรือนไหน กักโรคกี่วัน แต่ยังไม่พ้น 10ชั่วโมงก็ไปอยู่ รพ.ตำรวจ ตนก็เริ่มสังเกต จนวันที่ 19ธ.ค.2566 ตนเริ่มยื่นศาลเป็นครั้งแรก ซึ่งตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2562 ในหมวด9การบังคับคดี ข้อ62 ว่าด้วยหากบุคคลภายนอกพบว่า ไม่มีการดำเนินการตามการบังคับคดี ศาลต้องตั้งองค์คณะ3คนขึ้นมาพิจารณา เท่ากับว่า ข้อกฎหมายให้บุคคลภายนอกสามารถร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ก็บรรยายไปว่า เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์กระทำผิดกฎหมายอย่างไรบ้าง ในเวลานั้นศาลได้ตอบกลับมาว่า ศาลออกหมายจำคุก เมื่อคดีถึงที่สิ้นสุดไปแล้ว การบังคับโทษและอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ปัญหาว่า เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฯ จึงไม่ต้องไต่สวน ให้ยกคำร้อง จึงต้องกลับไปทบทวนใหม่
ป่วยจิต-เป็นโรคติดต่ออกไปรักษาได้
ทำให้ในเดือน ม.ค. 2567 ตนทำหนังสือถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ แจ้งว่าทำผิดกฎหมาย หากไม่ทำให้ถูกจะดำเนินคดี มีการรับหนังสือวันที่ 23 ม.ค. 2567 ซึ่งกรมราชทัณฑ์ก็อ้างกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ที่ออกตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม(ในขณะนั้น) เป็นผู้ออกกฎกระทรวง หากสังเกตในข้อ2ของกฎกระทรวง จะระบุไว้เพียง 2กรณี คือมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือเป็นโรคติดต่อ ที่ให้นำตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวในสถานพยาบาล ซึ่งตนเข้าใจว่า ในขณะที่ออกกฎกระทรวงกำลังเป็นช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19และมีข่าวผู้ต้องขังติดเชื้อกันมาก จึงต้องมีระเบียบมารองรับการนำตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวภายนอก แต่ถึงกฎกระทรวงจะให้อำนาจนำตัวผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยไปรักษาตัวในโรงพยาบาลภายนอกได้ ใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา6ก็ระบุว่า ต้องไม่ขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้นการนำตัวผู้ต้องขังออกไปนอกเรือนจำต้องขออนุญาตศาล
นอนรพ.ทับอำนาจศาล-ขัดป.วิอาญา
ซึ่งการไปออกกฎกระทรวงว่ากรมราชทัณฑ์มีอำนาจนำตัวผู้ต้องขังออกนอกเรือนจำได้เอง ก็เป็นการไปทับอำนาจศาลและขัดกับ ป.วิฯ อาญา เพราะใน ป.วิฯ อาญา จะกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องไว้ชัดเจน ตั้งแต่ตำรวจจับกุมผู้ต้องหา นำไปฝากขังที่ศาล การประกันตัวและคัดค้าน เช่น ไม่ใช่อยู่ๆ ตำรวจหรืออัยการจะสั่งขังผู้ต้องหาได้เอง อย่างตำรวจมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาได้เพียง 48 ชั่วโมง หากจะควบคุมตัวนานกว่านั้นก็ต้องไปขออำนาจศาล ส่วนที่มีการแถลงข่าวเรื่องนายทักษิณมีอาการเครียดและช็อก ซึ่งเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิต ตนก็มองว่าเข้าข่ายทุเลาโทษ ตามขั้นตอนก็ต้องไปขออนุญาตศาล อาจขอภายหลังจากนำตัวส่งโรงพยาบาลแล้วก็ได้ โดยหลังจากนั้นศาลก็จะไต่สวน เรียกตรวจสอบหลักฐาน หากพบว่าเป็นความจริงศาลก็จะออกหมายทุเลาโทษ ที่สำคัญคือ แม้จะเป็นการป่วยจริงและได้รับหมายทุเลาโทษให้ไปรักษาตัว ช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่ถูกนับเป็นเป็นเวลารับโทษด้วย แต่กรมราชทัณฑ์ไปเขียนไว้ในกฎกระทรวงว่าให้นับช่วงที่ไปรักษาตัวนอกเรือนจำรวมไปในระยะเวลาต้องโทษด้วย เรื่องนี้หากพูดแบบภาษากฎหมายคือผิดกันมาตั้งแต่ต้น
“เรื่องนี้เคยมีกรณีตัวอย่างที่ศาลจังหวัดจันทบุรีสั่งให้กรมราชทัณฑ์ มีเรื่องปี 2560 กฎหมายออกแล้ว หนังสือลงวันที่ 16ก.พ. 2560 หารือเรื่องวิฯอาญา มาตรา246 มีหญิงตั้งครรภ์คนหนึ่ง ญาติเขาร้อง มีครรภ์ 2 เดือน พอศาลได้รับเรื่อง สั่งให้เอาผู้หญิงคนนี้ไปขังนอกเรือนจำโดยการดูแลของราชทัณฑ์ 246 มี 4 โรคที่ห้ามขังในเรือนจำ 1.วิกลจริต 2.มีความเสี่ยงเสียชีวิต 3.หญิงมีครรภ์ และ 4.หญิงเพิ่งคลอดลูกยังไม่ถึง 3 ปีแล้วต้องเลี้ยงลูก เป็นเรื่องที่ศาลสั่งให้ไปทุเลาโทษ อันนี้กรมราชทัณฑ์รู้ ศาลก็สั่งมาแล้วตามมาตรา 246” นายชาญชัย ระบุ
เล็งยื่นศาลกระทำขัดป.วิอาญาม.246
นายชาญชัย ยังกล่าวอีกว่า ในเวลานั้นกรมราชทัณฑ์ได้แจ้งว่ายังไม่มีการออกกฎกระทรวง ซึ่งต่อมาก็มีการออกในปี 2563 ซึ่งในกรณีหญิงท้องดังกล่าว มีการพูดถึงปัญหาการบังคับตามคำสั่งศาลเกี่ยวกับการทุเลาโทษตาม ป.วิฯ อาญา ม.246 เพราะยังไม่มีการประกาศสถานที่คุมขังนอกเรือนจำ และศาลจังหวัดจันทบุรีสั่งให้กรมราชทัณฑ์ทำรายงานแจ้งศาลด้วย เพราะเกรงจะเข้าข่ายขัดคำสั่งศาล ดังนั้นไม่ใช่กรมราชทัณฑ์ไม่รู้เรื่องนี้ แต่พยายามฝืนเพื่อช่วย นายทักษิณ หากเรื่องทั้งหมดพบว่า นายทักษิณ ป่วยจริงแต่ไม่ได้ไปขออนุญาตศาล ก็ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะขัดคำสั่งศาล แต่หากไม่ป่วยจริงก็จะยิ่งกลายเป็นเรื่องใหญ่เพราะแจ้งเท็จเพื่อขอบระบรมราชโองการอภัยโทษ ตนจึงไปยื่นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นครั้งที่2 คราวนี้ขอความชัดเจนว่า ป.วิฯ อาญา ม.246 เป็นอำนาจใคร ซึ่งศาลก็ไม่ได้ตอบชัดๆ ว่า เป็นอำนาจศาล แต่ระบุว่า ในเมื่อญาติผู้ต้องขัง หรือกรมราชทัณฑ์ไม่ได้มาขอทุเลาโทษ ศาลจะยกมาตราดังกล่าวมาพิจารณาไม่ได้ ตนก็เห็นแล้วว่า เป็นอำนาจศาล
กรมคุก-รมว.ยุติธรรมส่อทำผิดม.157
จึงนำมาสู่การเตรียมยื่นเรื่องเป็นครั้งที่3ว่า กรมราชทัณฑ์และรมว.ยุติธรรม ออกคำสั่งที่เป็นการขัดคำสั่งศาลและขัดต่อ ป.วิฯอาญา รวมถึงมีเจ้าหน้าที่คนใดบ้างที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157 ซึ่งระหว่างที่รอการรวบรวมข้อมูล ก็เห็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ออกมาให้ข้อมูลว่า ได้ไป นายทักษิณ ที่ชั้น14 รพ.ตำรวจ มีรายงานของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รวมถึงรายงานของแพทยสภา ยื่นศาลจะเป็นดุลพินิจของท่าน อยู่ที่กระบวนการ เราจะทำอีกครั้งให้สมบูรณ์ เพื่อให้กฎหมายเป็นกฎหมาย แล้วให้ท่านใช้กฎหมายพิจารณาเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมมันไปถูกต้อง” นายชาญชัย กล่าว
‘วันนอร์’ฟุ้งสภาฯไม่ล่มเป็นประวัติการณ์
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า ขอขอบคุณสส.ในการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติ ตลอดสมัยประชุมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้การประชุมผ่านไปด้วยดี ไม่มีปัญหาองค์ประชุมล่ม แม้จะมีปัญหาโต้เถียงกันมาก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของสภาฯ และยังสามารถทำให้การประชุมผ่านลุล่วงและลงมติด้วยดี นอกจากนี้ต้องขอบคุณพรรคการเมืองทุกพรรค สมาชิกรัฐสภาและพี่น้องประชาชนที่ให้ความสนใจมอบความไว้วางใจ เป็นประวัติได้ว่าในการประชุมสมัยนี้ไม่มีสภาล่มหรือองค์ประชุมขาด แสดงถึงความเอาใจใส่ของสมาชิกที่ทำงานเพื่อประชาชนหวังว่าในการประชุมจะได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชน สำหรับการทำงานในสมัยประชุมที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ 46ฉบับและยังมีที่อยู่ระหว่างให้คำรับรองจากนายกรัฐมนตรี 44ฉบับและอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ5ฉบับ ส่วนนายกรัฐมนตรีให้คำรับรองเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการเงินจะให้ดำเนินต่อไปให้เสร็จสิ้นส่วนร่างกฎหมายที่ผ่านการรับรองจากสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว5ฉบับและอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมมาธิการร่วมกันของรัฐสภา1ฉบับ คือร่างพรบ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติและอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา5ฉบับ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว3ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมธิการ14ฉบับ
สภาฯพิจารณา15ญัตติ-ตอบ447กระทู้
นายวันมูหมัดนอร์ กล่าวอีกว่า ขณะที่การพิจารณาญัตติและมีมติส่งให้รัฐบาลดำเนินการ15 ญัตติจำนวน 5เรื่องและญัตติที่สภาตั้งกรรมาธิการและมอบหมายให้กรรมาธิการไปพิจารณา มีการรับทราบและเห็นชอบกับข้อสังเกต 20ญัตติและมีกรณีที่รับรับทราบแต่เห็นชอบกับข้อสังเกต คือรายงานเกี่ยวกับการตรากฎหมายนิรโทษกรรม นอกจากนี้ ยังรอบรรจุในระเบียบวาระ2เรื่อง 8ญัตติและอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ18เรื่อง15ญัตติ สำหรับกระทู้ถามสดด้วยวาจา18กระทู้ ที่ผ่านการพิจารณา ส่วนกระทู้ถามทั่วไป180กระทู้ กระทู้ทั่วไปที่ตอบในราชกิจจานุเบกษา447กระทู้ กระทู้แยกเฉพาะ172กระทู้ ส่วนข้อหารือของสมาชิกเกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชน2,642เรื่อง ยังมีการรับทราบรายงานขององค์กรหน่วยงานต่างๆ26เรื่องและให้ความเห็นชอบบุคคลสมควรจะเป็นนายกรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดมาตรา159 จำนวน1เรื่องและยังมีการเลือกตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง
สมัยหน้าเริ่มพิจารณาร่างแก้ไขรธน.
นอกจากนี้ การประชุมร่วมของรัฐสภาได้รอการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ขณะนี้มีอยู่3ฉบับและรอการบรรจุระเบียบวาระอีก14ฉบับ ที่ต้องไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด“คิดว่าในการประชุมกฎหมายหน้าที่ได้ตกลงไว้จะประชุมร่วมจะประชุมร่างพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ประธานสภาฯ กล่าวและว่า ส่วนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มีรอบรรจุระเบียบวาระประชุม2ฉบับและอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี1ฉบับ ส่วนหนังสือสัญญาสภาให้ความเห็นชอบเป็น1ฉบับและยังมีการแถลงนโยบายของรัฐมนตรี1ครั้ง ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา151ของรัฐธรรมนูญยังไม่มี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี