โฆษก‘ธปท.’ชี้มีกฎหมายถ่วงดุล
ห้ามนักการเมืองจุ้น
ขอบคุณทุกฝ่ายที่ห่วงใยแบงก์ชาติ
‘รศ.หริรักษ์’ฉะอย่าดันทุรัง
อุ้ม‘กิตติรัตน์’นั่งปธ.ธปท.
โฆษก แบงก์ชาติ เผย มีกฎหมายถ่วงดุลอำนาจ ประธานบอร์ด ธปท.หลังหลายฝ่ายเป็นห่วงกลุ่มการเมืองแทรกแซง “โต้ง-กิตติรัตน์”ส่อแววไปไม่ถึงเก้าอี้ปธ.บอร์ดธปท. “เจิมศักดิ์-อาจารย์มธ.”รุมยี้สับเละ ฝ่ายการเมือง เข้าครอบงำ ย้ำธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระน.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวถึงหลายฝ่ายแสดงความเห็นเป็นห่วง การแทรกแซงทางการเมือง ในการคัดเลือกประธานกรรมการ ธปท. ว่า ถือเป็นการส่งผ่านความห่วงใย และความกังวลไปยังคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 4 พ.ย.นี้ ดังนั้นคงต้องรอดูการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก่อน ว่าผลจะออกมาอย่างไร
โฆษกธปท.ยังมีกม.ถ่วงดุล
“อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งประธานกรรมการ ธปท.นั้น โดยหลักแล้วจะเป็นเรื่องการบริหารงานเป็นส่วนใหญ่ เพราะการตัดสินนโยบาย จะมีคณะกรรมการนโยบายภายใต้กฎหมายอยู่แล้ว ดังนั้นประธานกรรมการ ธปท. จะดูแลในภาพรวมของการบริหารจัดการ และการดำเนินงานทั่วไปของ ธปท.มากกว่า เช่น งบประมาณ การบริหารบุคคล การบริหารจัดการเงินสำรอง เป็นต้น ในแง่กฎหมายและโครงสร้างที่มีอยู่นั้น จะมีการตรวจสอบ ถ่วงดุล รวมทั้งมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ชัดเจนในระดับหนึ่งอยู่แล้ว”น.ส.ชญาวดี ย้ำ
เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น
โฆษก ธปท. ยังกล่าวถึงในภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ว่า ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าที่เร่งขึ้นตามการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับได้รับผลดีจากปัจจัยชั่วคราวในบางสินค้า รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวสูงจากทั้งรายจ่ายลงทุนและประจำ หลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ ประกอบกับและการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม รายรับภาคท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนลดลงเล็กน้อย ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง โดยเฉพาะหมวดยานยนต์
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยระยะต่อไป ธปท.มองว่า ยังมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวและบริการ ขณะที่การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังทยอยฟื้นตัว แต่มีบางอุตสาหกรรมที่จะยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายรับธุรกิจ และรายได้ครัวเรือนในบางกลุ่มยังเปราะบาง
นอกจากนี้ ต้องติดตามปัจจัยที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป เช่น 1.การฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิต 2.การใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และ 3.ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
‘เจิมศักดิ์’สับเละปมครอบงำธปท.
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์กับรายการ “ตอบโจทย์” ทางสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS เมื่อคืนวันที่ 31 ต.ค. 2567 ในประเด็นกลุ่มนักวิชาการนับร้อยคนออกมารวมตัวกันคัดค้านการที่ฝ่ายการเมืองจะแทรกแซงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ต้องพูดในหลักการ ธปท.เป็นหน่วยงานอิสระ
ดังนั้นทำอย่างไรจะทำให้ประธานคณะกรรมการ ธปท. ไม่ถูกอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง อีกทั้งคณะกรรมการธปท.ยังสามารถแต่งตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าไปเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ซึ่ง กนง. จะมีทั้งหมด 7 คน แบ่งเป็นผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ ธปท. รวม 3 คน บวกกับผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน อีกทั้งรองผู้ว่าฯ ธปท. แม้ผู้ว่าฯ ธปท. จะเป็นผู้เสนอ แต่คนรับรองคือคณะกรรมการ ธปท. ดังนั้นผู้ว่าฯ ธปท. ก็อาจหัวเดียวกระเทียมลีบได้
ห่วงธนาคารกลางไม่น่าเชื่อถือ
“ถ้าธนาคารกลางของประเทศไทยไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ เราสัมพันธ์การเงินกับทั่วโลก การลงทุน การเงิน ทุกคนจะรู้สึกว่าถ้าอัตราดอกเบี้ยสั่งได้ อัตราการแลกเปลี่ยนสั่งได้ ถูกสั่งเรื่องสถาบันการเงินได้ เพราะผลประโยชน์ระยะสั้นหรือผลประโยชน์ส่วนตัวของบางกลุ่มบางก้อน ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร?” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ระบุ
ทั้งนี้ ตนไมได้หมายความว่าเมื่อการเมืองไม่เข้าไปแล้วจะทำได้ดี แต่การที่การเมืองเข้าไปความน่าเชื่อถือจะตกก่อน ส่วนคำถามว่า ภาพความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับ ธปท. ตั้งแต่ยุคอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน น่าเป็นห่วงหรือไม่ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายที่ต้องดูแลการเงิน ตนว่าน่าเป็นห่วง เหมือนคนของพรรคเพื่อไทยโฉ่งฉ่าง จริงๆ ทำกันหลังบ้านก็ได้ เชิญมาคุยกันไม่ต้องให้เป็นข่าวก็ได้
หรืออย่างสมัยที่นายกิตติรัตน์ เป็น รมว. คลัง ก็เคยบอกว่าหากปลดผู้ว่าฯ ธปท. ได้คงปลดไปแล้ว ลักษณะท่าทีแบบนี้คือการแสดงออกว่ามีอำนาจเพราะมาจากการเลือกตั้ง เรามาดูแลประเทศดังนั้นคุณจะมาใหญ่กว่าผมไมได้ แต่ในแง่โครงสร้างฝ่ายบริหารไม่ควรไปแตะต้องตรงนั้น ธปท. เป็นสถาบันที่ต้องดูเสถียรภาพระยะยาวเพื่อความยั่งยืน รัฐบาลในฐานะกระทรวงการคลังก็ทำไป ซึ่งเป็นคนละเครื่องมือกัน
อย่าดันทุรังดัน”กิตติรัตน์”
ด้าน รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ระบุว่า...เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า รัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่รัฐบาลคุณเศรษฐา ทวีสิน มีความขัดแย้งกับ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ อย่างชัดแจ้ง เริ่มตั้งแต่ที่ ผู้ว่าฯธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบาย digital wallet อย่างเปิดเผย และเนื่องจาก คุณเศรษฐา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน ซึ่งผู้ว่าฯก็เป็นหนึ่งในนั้น มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เช่นเดิม
คุณเศรษฐาพยายามกดดันด้วยวิธีการต่างๆอย่างต่อเนื่องแต่ก็ไม่เป็นผล คุณแพทองธาร ชินวัตรในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในการแสดงปาฐกถาในการประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อไทย ยังได้กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นรัฐบาลคุณแพทองธาร ชินวัตร การกดดันผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังคงดำเนินต่อไป นอกจากเรื่องอัตราดอกเบี้ยแล้ว ยังตำหนิว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ดูแลค่าเงินบาทให้ดี เพราะค่าเงินบาทแข็ง ทำให้เป็นผลเสียต่อผู้ส่งออก รัฐมนตรีว่าการระทรวงพาณิชย์ คุณพิชัย นริพทะพันธุ์ ถึงกับพูดถึงผู้ว่าฯออกสื่อมวลชนว่า
เคยขัดแย้งกับแบงค์ชาติ
ต่อมาเมื่อจะต้องมีการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่แทนคนเดิมที่หมดวาระ ก็มีข่าวว่า กระทรวงการคลังจะเสนอชื่อ คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธาน คณะกรรมการสรรหาชุดนี้มีคุณสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน
มีข้อสังเกตว่าในคณะกรรมการสรรหา ไม่มี อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการด้วยเช่นในอดีต เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปเช่นกันว่า คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในขณะที่เป็นประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี คุณเศรษฐา ทวีสิน ได้เคยโพสต์ข้อความโจมตี ดร.เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หลายครั้ง และเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็เคยขัดแย้งกับ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยขณะนั้น ซึ่งไม่ยอมทำตามความต้องการของรัฐบาล ถึงกับเคยปรารภว่า ถ้าปลดผู้ว่าฯได้ก็คงปลดไปแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงมีเสียงคัดค้านอย่างมาก ทั้งศิษย์หลวงตามหาบัว กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี