แห่ลงชื่อต้านการเมืองยึดธปท.
ผวาหายนะประเทศ
นักวิชาการกองทัพธรรมลุย
ปลุกปชช.คุ้มกันแบงก์ชาติ
ปชป.สะกิดเพื่อไทยให้ถอย
อย่าจุ้นจัดตั้งประธานบอร์ด
นักวิชาการ-กองทัพธรรม รณรงค์ให้ประชาชนลงชื่อต้านการเมืองยึดแบงก์ชาติ ผวาหายนะประเทศ “สรรเพชญ บุญญามณี” สส.ประชาธิปัตย์ ออกโรงสะกิดพรรคเพื่อไทยถอยห่างอย่าไปแทรกแซงการแต่งตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย โดยชี้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ระดับประมาณ 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งสูงที่สุดในรอบหลายปี ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยรายละเอียดเชิงลึกยังแสดงให้เห็นว่าหนี้ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของสินเชื่อบุคคล สินเชื่อเพื่อการบริโภค และสินเชื่อบัตรเครดิต โดยเฉพาะในกลุ่มรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยที่ต้องเผชิญกับภาระดอกเบี้ยสูง ซึ่งทำให้สถานการณ์หนี้ของประชาชนฐานรากยากต่อการผ่อนชำระและอาจกลายเป็นหนี้เสียได้ในอนาคต
แนะเร่งปรับโครงสร้างหนี้
นายสรรเพชญกล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยไม่อาจพึ่งพานโยบายการเงินหรือโครงการคลินิกแก้หนี้เพียงอย่างเดียว แม้คลินิกแก้หนี้จะมีบทบาทในการช่วยผู้มีปัญหาหนี้สินปรับโครงสร้างหนี้และลดภาระดอกเบี้ย แต่พบว่ามีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น เงื่อนไขที่เข้มงวด ทำให้ผู้ที่มีรายได้ต่ำหรือไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่สามารถเข้าร่วมได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะหนี้สินต่อครัวเรือนสูงกว่ารายได้ประจำหลายเท่าตัว ทำให้ภาระดอกเบี้ยสูงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถปลดหนี้ได้เร็วอย่างที่คาดหวัง อีกทั้งกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ยังมีความซับซ้อน โดยเฉพาะเมื่อหนี้มีหลายแหล่ง เช่น หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่อการบริโภคอื่น ๆ ที่ต้องผ่านกระบวนการเจรจากับเจ้าหนี้หลายฝ่าย ทำให้ใช้เวลานานกว่าในการหาข้อตกลง การปรับเงื่อนไขหนี้บางรายการอาจต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และส่งผลให้ประชาชนที่เข้าโครงการบางรายยังไม่สามารถรับการช่วยเหลือได้ตามเป้าหมาย ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังคงเห็นผลไม่ชัดเจนในระดับมหภาค ประชาชนจำนวนมากยังคงมีภาระหนี้สะสมที่สูง เมื่อการใช้จ่ายเพื่อบริโภคลดลง เศรษฐกิจโดยรวมจึงอาจได้รับผลกระทบ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
สะกิดพท.อย่าจุ้นแบงชาติ
ในตอนท้าย นายสรรเพชญ แนะให้รัฐบาลเข้ามาเป็นแกนนำในการจัดการปัญหานี้ ไม่ควรปล่อยให้เป็นภาระของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือคลินิกแก้หนี้เพียงลำพัง โดยเสนอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายเชิงรุก เช่น การควบคุมอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบริโภคในตลาด ควบคู่กับการเพิ่มการเข้าถึงโครงการคลินิกแก้หนี้ให้ครอบคลุมมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเร่งปรับโครงสร้างนโยบายแก้หนี้ให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ควรเน้นการเจรจาปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน ควบคู่ไปกับการสร้างโครงสร้างระบบที่ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้เสีย ให้สามารถฟื้นฟูและกลับมามีสถานะการเงินที่เข้มแข็งได้ ซึ่งจะทำให้การลดภาระหนี้ในระดับครัวเรือนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงการสร้างระบบการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน การสร้างสภาวะแวดล้อมให้บรรดาธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องตามสถานการณ์ดอกเบี้ย
เตือนความเสี่ยงจะตามมา
นอกจากนี้ ยังได้เตือนถึงความเสี่ยงในการแทรกแซงธปท. โดยการแต่งตั้งบุคคลที่ใกล้ชิดเป็นประธานบอร์ด และได้ขอให้รัฐบาลเคารพโครงสร้างการบริหารงานของธปท. และสนับสนุนให้มีการคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางในด้านการเงินการคลังมาดำรงตำแหน่ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการตัดสินใจของ ธปท. จะเกิดขึ้นจากการพิจารณาที่อิสระและเป็นมืออาชีพ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้น หากความเป็นอิสระของ ธปท. ถูกบั่นทอนโดยอิทธิพลทางการเมืองที่อาจทำให้การตัดสินใจในเชิงนโยบายเบี่ยงเบนไปตามความต้องการของรัฐบาล ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว
4พย.เลือกปธ.บอร์ดแบงค์ชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ในวันจันทร์ที่ 4 พ.ย. นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือประธานบอร์ดธปท. และได้มีการเคลื่อนไหวของ227 นักวิชาการ และกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ที่ออกแถลงการณ์ เรื่อง ห่วงใยธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกแทรกแซงจากกลุ่มการเมือง เพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น ทําลายเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของประเทศในระยะยาว ที่แสดงความเป็นห่วงหากการเมืองเข้าครอบงำธปท.ผ่านบอร์ดธปท. หลังมีกระแสข่าวว่า คณะกรรมการสรรหาฯ อาจเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯและอดีตรมว.คลัง ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและอดีตประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี(เศรษฐา ทวีสิน) เป็นประธานบอร์ดธปท.คนใหม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อดังกล่าวด้วยกับกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม กล่าวว่า เหตุที่ร่วมลงชื่อ เพราะทราบดีว่า หากธนาคารกลาง ซึ่งเป็นองค์กรที่ต้องเป็นอิสระ ถูกฝ่ายการเมืองกินรวบจะเป็นหายนะของประเทศ และในฐานะที่เป็นอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และเป็นคนไทยคนหนึ่งที่รู้ผิดรู้ถูก
เตือนทุกคนอย่างได้นิ่งเฉย
หากนิ่งเฉย ไม่ทำอะไร จะรู้สึกเสียใจ เมื่อประเทศต้องเข้าสู่จุดนั้น แต่ถ้าวันนี้ได้ทำเต็มที่ ก็จะไม่มีอะไรค้างคาใจเพราะได้ทำในสิ่งที่ควรจะทำ ได้ตอบแทนคุณแผ่นดินแล้ว
ดร.ชิดตะวัน จากกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม กล่าวว่า ที่ผ่านมาการทำงานของธปท.แม้อาจจะมีจุดบกพร่องบ้าง เช่น การอธิบายสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจอาจจะน้อยหรือยากเกินไปแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่เคยทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย ไม่สมควรให้คนของรัฐบาลเข้ามาดูแลหรือนั่งในบอร์ดแบงค์ชาติ เนื่องจากหลักการสำคัญของ central bankคือต้องไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายการเมือง เพราะรัฐบาลโดยทั่วไปจะบริหารประเทศโดยคำนึงถึงกลุ่มทุนที่ให้การสนับสนุน และความนิยมของประชาชน ซึ่งเป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทำให้มักออกนโยบายสายตาสั้น (myopic policy) เช่น นโยบายประชานิยม นโยบายเอื้อประโยชน์นายทุนซึ่งเป็นผลเสียต่อประเทศชาติและประชาชนในระยะยาว นอกจากนี้เมื่อพิจารณาการจัดอันดับโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ปัจจุบันประเทศไทยมีการคอร์รัปชันที่รุนแรงมากในขณะที่ประเทศเดนมาร์กและภูฐานมีการคอร์รัปชันต่ำที่สุดในโลก อันดับ 1 และ 26 ตามลำดับประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 108 จากจำนวน 177 ประเทศ
สุ่มเสี่ยงเกิดความหายนะ
“การให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดหายนะต่อประเทศจากการที่นักการเมืองแสวงหาประโยชน์ ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในปี 2540ซึ่งทำให้ชาติบ้านเมืองได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวงการที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของฝ่ายการเมืองก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศโดยรวม เช่น กรณีท่านเศรษฐพุฒิ ผู้ว่าฯธปท.ได้แสดงจุดยืนคัดค้านนโยบายรัฐบาลที่จะแจกเงินประชาชนที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป ทุกคนซึ่งต้องใช้งบประมาณแผ่นดินเกือบ 6 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดภาระทางการคลังที่คนไทยทั้งประเทศต้องรับผิดชอบในระยะยาวจนในที่สุดรัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายเป็นแจกเงินเฉพาะกลุ่มเปราะบางทำให้ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติน้อยลง เป็นต้น”ดร.ชิดตะวันกล่าว
แห่ลงชื่อคัดค้านแตะ4พันราย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากกลุ่มนักวิชาการ กว่า 200 ราย และกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ออกแถลงการณ์ห่วงใยธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกแทรกแซงจากกลุ่มการเมือง เพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น ทำลายเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของประเทศในระยะยาว และกลุ่มอดีตพนักงานธปท.ที่ร่วมกันลงชื่อเคลื่อนไหว ไม่ให้การเมืองเข้าครอบงำธปท.แล้ว
ในส่วนของภาคประชาสังคมพบว่า ในเพจของ”กองทัพธรรม” ก็ได้มีการรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อผ่านกองทัพธรรม และเครือข่าย ในหัวข้อ “กองทัพธรรม ขอเชิญพี่น้องประชาชนร่วมลงนามสนับสนุน นักวิชาการและกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ออกแถลงการณ์คัดค้าน รัฐบาลครอบงำแบงก์ชาติ “
โดยล่าสุดจนถึงเวลา 12.00 น. พบว่ามีประชาชนจำนวน 3,740 คน ได้ร่วมลงชื่อผ่านทางกองทัพธรรม สนับสนุน นักวิชาการ และกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ออกแถลงการณ์ห่วงใยธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกแทรกแซงจากกลุ่มการเมือง เพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น ทำลายเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของประเทศในระยะยาว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี