หวั่นเสียเปรียบ! ‘ธีระชัย’แนะ‘ไทย’อย่าเพิ่งเจรจา ต้องให้‘กัมพูชา’รับรองกฎหมายทะเล1982เสียก่อน
3 พ.ย. 2567 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขียนบทความ “ต้องให้กัมพูชารับรองอนุสัญญาปี 1982 ก่อน” เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก เนื้อหาดังนี้
ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า
[กัมพูชาเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคแถบนี้ ที่ไม่ยอมเข้าร่วมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 หรือ United Nations Convention on the Law Of the Sea (UNCLOS)
เพราะทางกัมพูชาทราบดีว่าจะเสียเปรียบในการเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้าน
ไทยจึงไม่ควรเจรจาตราบใดที่กัมพูชายังไม่ยอมเข้าร่วม UNCLOS เพราะไทยจะกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบเสียเองหากยังคงยึดข้อพิพาทเดิมตามแนวทาง MOU 2544 ที่ล้าสมัยไปแล้ว]
ผมให้ข้อมูลดังนี้
**หนึ่ง ในด้านสิทธิทางประวัติศาสตร์ กัมพูชารับได้ทั้ง UNCLOS 1958 และ 1982
รูป 1 กฤษฎีกาของกัมพูชา ระบุว่า ไม่ได้ลากเส้นตาม UNCLOS 1958 อย่างเดียว แต่ใช้สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสประกอบด้วย หลักฐานนี้ชัดเจน
รูป 2 กัมพูชาอ้างสนธิสัญญาฯ เพราะ UNCLOS 1958 ข้อ 12 - 1 อนุญาตให้ใช้ "เหตุแห่งสิทธิทางประวัติศาสตร์"
สนธิสัญญาฯ มีข้อความระบุถึง "ยอดเขาสูงสุดของเกาะกูด" กัมพูชาจึงถือโอกาสลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 ที่ชายฝั่ง ผ่านยอดเขาสูงสุดของเกาะกูด กินแดนเข้าไปในอ่าวไทย
เสมือนกับเข้าใจไปว่า สนธิสัญญาฯ บรรยายเรื่องพื้นที่ในทะเลอ่าวไทย
แต่เป็นการบิดเบือน เพราะถ้อยคำในสนธิสัญญาฯ บรรยายสถานที่เฉพาะบนชายฝั่ง เป็นการแบ่งพื้นที่เฉพาะบนบก หลักฐานนี้ชัดเจนเช่นกัน
กัมพูชาจึงอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์ปลอม
อย่างไรก็ดี UNCLOS 1982 ไม่ได้ตัดสิทธิทางประวัติศาสตร์ทิ้งไป ดังนั้น กัมพูชาไม่ได้รังเกียจ 1982 เพราะประเด็นนี้
**สอง ในด้านสภาพการถือเป็นเกาะ กัมพูชารับได้แค่ UNCLOS 1958 แต่รับไม่ได้กับ 1982
รูป 3-4 ถึงแม้กัมพูชาร่วมในกระบวนการเจรจาร่าง UNCLOS 1982 แต่จนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่รับรอง UNCLOS 1982
เหตุผลหลักที่กัมพูชาไม่รับรอง เพราะ UNCLOS 1982 ปรับคำนิยามเรื่องการนับอาณาเขตจากเกาะ
รูป 5 ถ้าโขดหิน/เกาะใดไม่สามารถรองรับให้มนุษย์ดำรงชีวิต หรือมีการดำรงอยู่ทางเศรษฐกิจ
UNCLOS 1958 สามารถถือทุกโขดหิน/เกาะ เป็นฐานสำหรับนับอาณาเขตในทะเลได้ แต่ใน 1982 เปลี่ยนเป็นห้ามนับ
ดังนั้น เส้นแบ่งเขตในทะเลของกัมพูชาตาม UNCLOS 1982 จะหดเล็กลง
นี่เอง เป็นเหตุผลที่ไม่รับรอง 1982
กรณีไทย-มาเลเซียก็คล้ายกัน ตาม UNCLOS 1958 ไทยนับโขดหินโลซินเป็นเกาะ มาเลเซียไม่นับ
UNCLOS 1982 ไทยไม่สามารถนับได้อีกต่อไป โชคดีที่ JDA ไทย-มาเลเซีย ทำขึ้นก่อน 1982 โดยเมื่อครบกำหนดสัญญา ไม่ทราบว่ามาเลเซียจะยอมให้ต่อ JDA หรือไม่
แต่ไทยก็ปฏิบัติตรงไปตรงมา ตามกติกาโลก โดยรับรอง 1982 ไปแล้ว
สรุปแล้ว ข้อเสนอว่าไทยไม่ควรเจรจา ตราบใดที่กัมพูชายังไม่ยอมรับรอง UNCLOS 1982 ก็น่าเอามาประกอบการพิจารณาเหมือนกัน
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2567
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี