ร้องกกต.สอบผิดจริยธรรมร้ายแรง
เขย่าขวัญ‘อุ๊งอิ๊งค์’
‘เรืองไกร’ขุดหลายประเด็นไล่บี้
โพลล์เชียร์‘นายกฯรุ่ง-ค้านร่วง’
รทสช.เบรก‘พท.’แก้ไขรธน.
ลดทำประชามติเหลือแค่2ครั้ง
“เรืองไกร” เดินหน้าเขย่าขวัญ“อุ๊งอิ๊งค์” ยื่นสอบบัญชีทรัพย์สินอีกหลังได้เบาะแสยังไม่เรียบร้อย ต้องให้บริษัทเก่าช่วยเช็ครายละเอียดด้าน “รวมไทยสร้างชาติ” เบรก“เพื่อไทย” ลดทำ “ประชามติ” เหลือ2ครั้ง ชี้ต้องยึดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้เคร่งครัด ‘สวนดุสิตโพล’กางดัชนีชี้วัด คะแนน‘นายกฯ’กระเตื้อง-‘ฝ่ายค้าน’ร่วง
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ช่วงนี้ต้องอยู่ที่บ้านบ่อย เวลาว่างเหลือเยอะ จึงใช้เวลาดังกล่าวตรวจสอบข่าวสาร บัญชีทรัพย์สินนักการเมือง และข่าวนายกรัฐมนตรี ซึ่งของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ก็มีข่าวออกมาให้ตรวจสอบอยู่เรื่อยๆ วันนี้จึงได้ส่งหนังสือถึง กกต. ทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ตรวจสอบว่า น.ส.แพทองธาร มีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ หรือมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ กรณีจะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.แพทองธาร สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่ โดยมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคำร้องเป็นข้อๆ ดังนี้
สอบการยื่นบัญชีทรัพย์สิน
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า ข้อ 1. เมื่อวันที่ 22 ต.ค. เว็บไซต์ข่าวออนไลน์สำนักหนึ่ง ปรากฏหัวข้อข่าว กลัวไม่ครบ! นายกฯ อิ๊งค์ หนักใจ เร่งถ่ายรูปทรัพย์สินยื่น ป.ป.ช. ย้ำต้องทำให้ถูกก.ม. ลงข่าวไว้ส่วนหนึ่งว่า “เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 22 ต.ค. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการเตรียมข้อมูลการโอนหุ้นบริษัทต่างๆ ก่อนยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ตอนนี้ทางบริษัทช่วยกันดูอยู่ว่ามีอะไรอย่างไร ซึ่งต้องให้เป็นไปตามกฎหมายทุกอย่าง”
ข้อ 2. เมื่อวันที่ 2 พ.ย. เว็บไซต์ www.thaimoveinstitute.com หัวข้อ เปิดโป๊ะที่แท้ นายกฯ อิ๊งค์ ไม่ได้ร่วมซ้อมพิธีรับเสด็จ จนเกิดเรื่องฉาวสนั่น พบแค่เดินทางมาตรวจตั้งแต่กันยา-ฟังขั้นตอน ลงข่าวไว้ส่วนหนึ่งดังนี้ ต่อมามีคลิปที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์ก็คือ น.ส.แพทองธาร ได้เข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ ด้วย และได้มีการเดินร่วมกับขบวนเสด็จฯ แต่ถูกส่งสัญญาณมือให้นายกรัฐมนตรีอิ๊งค์ ทราบเบาๆ เรื่องการเดินล้ำแนวแถวเสด็จฯ งานพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค เรียกว่าถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมเป็นจำนวนมากทั้งนี้ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็มีรายงานเปิดเผยถึงความผิดพลาดของนายกรัฐมนตรี ได้เกิดจากการที่ไม่ได้เดินทางไปร่วมซ้อมพิธี (ตามข่าวน่าจะไม่ได้ไปร่วมซ้อมทุกนัด
ส่อขัดด้านจริยธรรม
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า ข้อ 3. จากการกระทำของ น.ส.แพทองธาร ตามข่าวทั้งสองข้างต้น จึงควรไปตรวจสอบกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและมาตรฐานทางจริยธรรม ในมาตราและข้อต่างๆ ดังนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ มาตรา 160 รัฐมนตรีต้อง (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง มาตรา 161 ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคํา ดังต่อไปนี้ “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
มาตรา 170 ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 9 ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการ ที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ ข้อ 17 ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง
ข้อ 4. กรณีตามข่าวเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่มีการระบุไว้ส่วนหนึ่งว่า “ตอนนี้ทางบริษัทช่วยกันดูอยู่ว่ามีอะไรอย่างไร” นั้น เป็นเหตุอันควรตรวจสอบเนื่องจาก น.ส.แพทองธาร เคยแจ้งการลาออกจากบริษัทต่างๆ ไปแล้ว เหตุใดจึงยังมีบริษัทมาช่วยทำบัญชีทรัพย์สินซึ่งควรเป็นเรื่องส่วนตัว และการช่วยนั้น จะเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 9 หรือไม่ อันเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือไม่
ลุ้นอิ๊งค์พ้นสภาพความเป็นรมต.
นายเรืองไกร กล่าวต่ออีกว่า ข้อ 5. กรณีตามข่าวเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ในข่าวมีการระบุไว้เป็นส่วนๆ ว่า “เรื่องการเดินล้ำแนวแถวเสด็จฯ งานพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค เรียกว่าถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมเป็นจำนวนมาก” หรือที่ระบุว่า “ทั้งนี้ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็มีรายงานเปิดเผยถึงความผิดพลาดของนายกรัฐมนตรี ได้เกิดจากการที่ไม่ได้เดินทางไปร่วมซ้อมพิธี” นั้น กรณีการล้ำแนวแถวเสด็จฯ งานพระราชพิธี และการที่ไม่ได้เดินทางไปร่วมซ้อมพิธีจะเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 19 หรือไม่ ข้อ 6. ดังนั้น กรณีตามข้อเท็จจริงจากข่าวทั้งสองข้างต้น จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. ตรวจสอบต่อไปว่า การกระทำ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ดังกล่าว ทั้งสองเหตุการณ์นั้น จะเข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือไม่ หรือมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือไม่ กรณี จะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่
อย่าคิดไกลไปแก้รธน.
นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รัฐสภา กล่าวถึงการประชุมกมธ.ร่วมฯในวันที่ 6พ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2ชั้นในการทำประชามติว่า จะหารือเรื่องหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2ชั้น การทำประชามติ ตนจะขอหารือลดหลักเกณฑ์จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิที่กำหนดต้องมีไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง ให้มีจำนวนลดลง การกำหนดจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิประชามติต้องไม่น้อยกว่า50% ถือว่ามากไป โดยเฉพาะถ้าเป็นการทำประชามติเรื่องที่ประชาชนไม่สนใจ อาจทำให้ประชามติเป็นโมฆะได้ ควรปรับลดลง แต่จะลดลงเท่าไร ให้มาหารือในที่ประชุม เช่น อาจปรับจำนวนผู้ออกมามาใช้สิทธิเหลือ 20-30% จะทำได้หรือไม่ เป็นการหาแนวทางประนีประนอม
เมื่อถามว่า กรณีทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก สว.จะยอมหรือไม่ให้ลดเกณฑ์ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงลงมา นายประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องมาพูดคุยกันด้วยเหตุผล ยังไม่รู้สว.จะตอบรับหรือไม่ ยังไม่เคยคุยกันนอกรอบประเด็นนี้ เดาใจสว.ไม่ถูก แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้วน่าจะหาหลักเกณฑ์ตกลงรอมชอมกันได้ในชั้นกมธ.ร่วม ถ้าตกลงไม่ได้ เรื่องจะบานปลาย ต่างฝ่ายต่างยืนยันในจุดยืนตัวเอง อาจจะต้องพักร่างกฎหมายฉบับนี้ 180วัน เพื่อยืนยันเนื้อหาตามร่างเดิมของสส.ที่ให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว
ต้องคุยกันให้รอบคอบ
เมื่อถามว่า หากต้องพักกฎหมาย 180วัน เพื่อยืนยันร่างเดิมของสส.จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ นายประยุทธ์ตอบว่า อย่าเพิ่งคิดล่วงหน้าไปไกล รอดูในชั้นก็มธ.ร่วมก่อน คิดว่าการประชุมในวันที่6พ.ย.น่าจะมีทิศทางชัดเจนขึ้น เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยจะยอมถอย ใช้เสียงข้างมาก 2ชั้นหรือไม่ เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญเสร็จทันในรัฐบาลชุดนี้นายประยุทธ์ตอบว่า ต้องใช้เหตุผลคุยกัน ยังไม่ฟันธงจะยอมตามที่สว.เสนอมา ขอรอมชอมกันก่อน ส่วนแนวทางนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะให้ทำประชามติ 2ครั้งนั้น เรามีเป้าหมายเช่นนี้ แต่จะใช้วิธีใดดำเนินการยังไม่รู้ ต้องคุยกันให้รอบคอบ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เมื่อถามว่า เกรงหรือไม่ ถ้าแก้รัฐธรรมนูญไปม่สำเร็จจะมีการโยนความผิดให้พรรคเพื่อไทย นายประยุทธ์ตอบว่า ไม่ใช่ความรับผิดชอบพรรคเพื่อไทยโดยตรง แต่ก็คงไปห้ามความคิดใครไม่ได้
รทสช.เบรคทำประชามติ2หน
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย เสนอแนวทางเพื่อเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เร็วขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงการลดทำประชามติเหลือ 2 ครั้ง ว่า เรื่องนี้เคยเสนอเข้าสู่สภาแล้ว และที่ประชุมเคยมีมติว่า เราต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นั่นคือต้องทำประชามติ 3 ครั้ง นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังมีบทบัญญัติว่า หากจะแก้ไขมาตราใด ต้องมีการทำประชามติอีกครั้งด้วย ดังนั้นหลักการของพรรค รทสช.คือ ต้องทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ทำไม่ได้ก็ต้องชี้แจงประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จไม่ทันสมัยนี้ จะเป็นผลเสียต่อรัฐบาลหรือไม่ นายอัครเดช กล่าวว่า พรรค รทสช.ไม่ได้ขัดข้องในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ขอให้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างเคร่งครัด และต้องไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 หรือมาตราที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น หากแก้ไขไม่ทัน เราก็ต้องชี้แจงกับประชาชนว่าเหตุผลเกิดจากอะไร คิดว่าประชาชนจะเข้าใจ ดีกว่าไปดันทุรังแก้โดยที่ผิดกฎหมายและถูกร้อง ก็จะเป็นปัญหาได้ในภายหลัง
นายอัครเดช กล่าวอีกว่า หากพรรค พท.มีข้อเสนอใหม่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ขอให้นำมาหารือพรรค รทสช. จะได้นำเข้าสู่ที่ประชุมพรรค เพื่อให้กรรมการบริหารพรรคและ ส.ส. มีมติว่าจะไปในทิศทางใด
สว.พร้อมรับฟังเหตุผล
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รัฐสภา กล่าวถึงกรณีนายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธาน กมธ.ร่วมกันฯ จะเสนอต่อที่ประชุมร่วมฯวันที่ 6 พ.ย.ให้ปรับลดหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น เหลือจำนวนผู้มาออกเสียงทำประชามติ 20-30 เปอร์เซ็นต์ จากเดิม 50 เปอร์เซ็นต์ ว่า ที่ประชุมกมธ.ร่วมฯพร้อมรับฟังเหตุผล แต่จะได้ข้อสรุปอย่างไร ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมด้วย “เจตนารมณ์ สว.ในการระบุเรื่องเสียงข้างมาก 2 ชั้น เพราะต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมการทำประชามติให้มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่างการแก้รัฐธรรมนูญ จึงกำหนดต้องมีผู้มาใช้สิทธิไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง หากจะลดจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเหลือ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ต้องดูรายละเอียดและองค์ประกอบอื่นๆด้วยว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร เอาเหตุผลมาคุยกัน สว.ไม่ได้ติดขัดเรื่องจำนวนเสียงที่ออกมาใช้สิทธิ แต่จะต้องเป็นเรื่องที่ประชาชนได้ประโยชน์จริงๆ” นายวุฒิชาติ กล่าว
อิ๊งค์กระเตื้อง-ฝ่ายค้านร่วง
วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนตุลาคม2567” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,136 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 25-30 ตุลาคม2567 พบว่า กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนภาพรวมดัชนีการเมืองไทยประจำเดือนตุลาคม 2567 เฉลี่ย 5.01 คะแนน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2567 ที่ได้ 4.80 คะแนน ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ผลงานของฝ่ายค้าน เฉลี่ย 5.34 คะแนน (ลดลงจากเดือนกันยายน) ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนต่ำสุด คือ การแก้ปัญหายาเสพติดและผู้มีอิทธิพล เฉลี่ย 4.58 คะแนน นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือ แพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 52.81 รองลงมาคือ อนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 26.40
นักการเมืองฝ่ายค้านที่มีบทบาท โดดเด่นประจำเดือน คือ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ร้อยละ 37.80 รองลงมา คือ ศิริกัญญา ตันสกุล ร้อยละ 34.36 ผลงานฝ่ายรัฐบาลที่ชื่นชอบประจำเดือน คือ มาตรการช่วยน้ำท่วม ร้อยละ 40.15 ผลงานฝ่ายค้านที่ชื่นชอบประจำเดือน คือ ติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ร้อยละ 49.76
ฝ่ายค้านไม่เข้าตาประชาชน
นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า ผลสำรวจล่าสุดดัชนีผลงานของนายกฯ แพทองธารพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นผลจากการทำงานของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการตอบสนองปัญหาของประชาชนอย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางด้วยเงินหมื่น มาตรการบรรเทาภัยน้ำท่วม ลดค่าไฟ หรือการแก้ไขปัญหาเชิงรุกในหลายด้าน ซึ่งทั้งหมดได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้น สวนทางกับคะแนนผลงานของฝ่ายค้านที่ปรับตัวลดลงในรอบ 10 เดือนสะท้อนถึงความไม่แน่นอนในการดำเนินงาน แม้ประชาชนจะชื่นชมการอภิปรายของฝ่ายค้านแต่ก็ยังไม่สามารถดึงความสนใจในวงกว้างได้
ผู้นำฝ่ายคานไม่โดดเด่น
ด้าน อาจารย์วัลลภ ห่างไธสง อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิตอธิบายว่า เดือนตุลาคมของทุกปีมักมีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทยเกิดขึ้นเสมอ ในเดือนตุลาคมปีนี้ ภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ได้แจกจ่ายให้กับกลุ่มเปราะบางไปแล้วบางส่วน มาตรการการช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมทางภาคเหนือ ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาในสภาวะวิกฤติของชาติได้อย่างทันท่วงที ส่วนบทบาทของผู้นำฝ่ายค้านก็ยังคงไม่ได้มีความโดดเด่นมากนัก เนื่องจากยังไม่ได้มีการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้นจริงจัง เพราะเป็นรัฐบาลชุดใหม่ที่พึ่งเข้ามา โดยในเดือนนี้สถานการณ์การเมืองได้รับผลกระทบจากคดีใหญ่ที่เป็นกระแสสังคมก็คือ “คดีดิไอคอน” ซึ่งมีการอ้างว่ามีผู้มีอิทธิพลทั้งข้าราชการผู้ใหญ่ และนักการเมืองได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI ก็ได้รับเรื่องนี้ไว้พิจารณาแล้ว เพราะมองว่าน่าจะเป็น “คดีแชร์ลูกโซ่” ประชาชนคนไทยทุกคนคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ผลสุดท้ายแล้วคดีนี้จะจบลงอย่างไร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี