วันนี้ (5 พฤศจิกายน 2567) เวลา 10.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดียาเสพติด พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดียาเสพติด พ.ศ. .... และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรอง ที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดียาเสพติด พ.ศ. .... ที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดียาเสพติด โดยยกฐานะแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ขึ้น โดยมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในชั้นอุทธรณ์ตลอดท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์คดียาเสพติดจะต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาปริมาณคดียาเสพติดที่เพิ่มมากขึ้นของแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ รวมทั้งให้ผู้พิพากษา ที่พิจารณาในชั้นอุทธรณ์เกี่ยวกับคดียาเสพติดเป็นผู้มีทักษะและความรู้ความชำนาญในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันจะส่งผลให้คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดียาเสพติดมีเอกภาพและมีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเป็นไป ตามนโยบายของประธานศาลฎีกา พ.ศ. 2566 – 2567 ซึ่งได้กำหนดให้ศาลยุติธรรมเป็นหลักประกันแห่งสิทธิและเสรีภาพให้แก่ประชาชนทั้งทางแพ่งและทางอาญา โดยมีแผนปฏิบัติการให้ศึกษาแนวทางในการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดียาเสพติด เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมได้ให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว
2. สำนักงานศาลยุติธรรมได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ และได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 แล้ว รวมทั้งได้จัดทำแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จำนวน 1 ฉบับ คือ พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดทำการของศาลอุทธรณ์คดียาเสพติด โดยจะออกภายใน 3 ปีหลังจากร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ มีผลใช้บังคับ
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญ
1. ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา
ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อ สำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2555 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อกำหนดปริญญาในสาขาวิชาและอักษรย่อสำหรับสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ในระดับปริญญาตรี ซึ่งสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้มีมติเห็นชอบหลักสูตรแล้ว และได้แจ้งหลักสูตรการศึกษาดังกล่าวต่อสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งได้พิจารณาความสอดคล้องของหลักสูตรดังกล่าวแล้ว
2. ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อ สำหรับสาขาวิชา
ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (ฉบับที่..)
พ.ศ. .... เพื่อกำหนดปริญญาในสาขาวิชาและอักษรย่อสำหรับ สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ดังนี้
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2560
|
ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัย ราชภัฏสุราษฎร์ธานี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
|
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัย
ฯลฯ
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชาครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ฯลฯ (13) สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มีปริญญาสองชั้น คือ (ก) เอก เรียกว่า “สาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ส.ด.” และ “ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ปร.ด.” (ข) โท เรียกว่า “สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ส.ม.” |
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัย
ฯลฯ
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชาครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ฯลฯ (13) สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มีปริญญาสามชั้น คือ (ก) เอก เรียกว่า “สาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ส.ด.” และ “ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ปร.ด.” (ข) โท เรียกว่า “สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ส.ม.” (ค) ตรี เรียกว่า “สาธารณสุขศาสตรบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ส.บ.” |
3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. ร่างพระราชกฤษฎีกาที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบกรรมการโดยตำแหน่งในคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยกำหนดให้กรรมการโดยตำแหน่ง จาก “เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” เป็น “อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม”เพื่อให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566
2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชกฤษฎีกาฯ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า คณะรัฐมนตรีสามารถพิจารณาให้ความร่างพระราชกฤษฎีกานี้ได้ ซึ่ง สคก.ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้วเป็นการล่วงหน้า
4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดระยะเวลาเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบเพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ. .... ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบที่จะต้องส่งให้แก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับนายจ้างจัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ 1) ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดระยะเวลาเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบเพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ. ..... 2) ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบที่จะต้องส่งให้แก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ. .... และ 3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับนายจ้างจัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย พ.ศ. ..... รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว โดยให้แก้ไขร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวง รวม 3 ฉบับดังกล่าว ในส่วนของวันเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างและวันใช้บังคับให้เป็นไปตามข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และให้ดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวง รวม 3 ฉบับ ที่กระทรวงแรงงานเสนอ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินการจัดเก็บเงินสะสมจากลูกจ้างและเงินสมทบจากนายจ้าง เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและสร้างหลักประกันในการทำงานให้กับลูกจ้างกรณีออกจากงานหรือตาย และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่กำหนดให้มีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเพื่อจัดเก็บเงินสะสมจากลูกจ้างและเงินสมทบจากนายจ้าง เพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในกรณีดังกล่าวพร้อมดอกผล รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อเป็นทางเลือกให้นายจ้างที่จัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับการยกเว้นให้ลูกจ้างไม่จำต้องเป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งถือเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นหลักประกันในการทำงานให้กับลูกจ้างเช่นเดียวกัน กระทรวงแรงงานจึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาและ ร่างกฎกระทรวงรวม 3 ฉบับดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเห็นชอบแล้ว
2. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีข้อสังเกตว่า โดยที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ มีข้อสังเกตในประเด็นเดียวกันว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ รวม 3 ฉบับอาจก่อให้เกิดผลกระทบและภาระทางการเงินต่อลูกจ้างและนายจ้างในการส่งเงินเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างดังกล่าว ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับลูกจ้างและนายจ้างและเพื่อให้กระทรวงแรงงานได้ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทราบ รวมถึงเพื่อไม่ให้เป็นภาระของประชาชนมากเกินสมควร จึงควรปรับแก้ไขร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ รวม 3 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ดังนี้
2.1 แก้ไขวันเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบฯ ในร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดระยะเวลาเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ. .... จาก “ให้ดำเนินการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ตั้งวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป” เป็น “ให้ดำเนินการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป”
2.2 แก้ไขวันใช้บังคับร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสะสมและเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ. ... จาก “กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป” เป็น “กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป” โดยกำหนดอัตราเงินสะสมจากลูกจ้างและเงินสมทบจากนายจ้างที่แต่ละฝ่ายจะต้องนำส่งเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ดังนี้
2.2.1 จาก “ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2568 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ 2573” เป็น “ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2568 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2573” ลูกจ้างและนายจ้าง (แต่ละฝ่าย) ต้องนำส่งเข้ากองทุนฯ ในอัตราร้อยละ 0.25 ของค่าจ้าง
2.2.2 จาก “ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2573 เป็นต้นไป” เป็น “ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2573 เป็นต้นไป” ลูกจ้างและนายจ้าง (แต่ละฝ่าย) ต้องนำส่งเข้ากองทุนฯ ในอัตราร้อยละ 0.5 ของค่าจ้าง
2.2.3 แก้ไขวันใช้บังคับร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย พ.ศ. .... จาก “กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป” เป็น “กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป”
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย พ.ศ ....
คณะรัฐมนตรีมีมติ อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้พิจารณาตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้ง ให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงสาธารณสุขสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญ
เนื่องจากการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศโดยมีกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการแก้ไขปัญหาขยะในภาพรวมของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยโดยออกข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติซึ่งใช้กรอบอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตหนังสือรับรองการแจ้ง และการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม2 แต่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวไม่สะท้อนค่าใช้จ่ายที่แท้จริงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยส่งผลให้การบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร นอกจากนี้ ยังขาดกลไกทางกฎหมายที่ส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะมูลฝอยก่อนทิ้งและการส่งเสริมให้มีการจัดการมูลฝอยจนปราศจากมูลฝอย (zero waste) ณ แหล่งกำเนิด
ประกอบกับปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมขั้นต่ำสำหรับการเก็บ ขน กำจัดขยะมูลฝอยจากบ้านเรือน รวมทั้งไม่ได้กำหนดยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย สำหรับ 1) บุคคล 2) ชุมชน และ 3) หมู่บ้าน ที่สามารถคัดแยกสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยได้ตามที่กำหนด และเพื่อให้องค์กรปกครองถิ่นมีงบประมาณเพียงพอในการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทยจึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้มาเพื่อดำเนินการโดยอาศัย อำนาจตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 โดยได้ปรับแก้ไขจากร่างกฎกระทรวงที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 มีนาคม 2560) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมขั้นต่ำในการเก็บค่าธรรมเนียมในการเก็บ ขน และยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย โดยจะกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมให้แตกต่างกันโดยคำนึงถึงปริมาณสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ระยะเวลาการจัดเก็บ ลักษณะการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย รวมทั้งต้นทุนและความคุ้มค่าในการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ซึ่งเปรียบเทียบกับอัตราการเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยที่ผ่านมา สรุปดังนี้
1.1 กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ที่ราชการท้องถิ่นมีหน้าที่ออกข้อกำหนดของท้องถิ่นให้เอกชนดำเนินการแทน ต้องไม่เกินอัตราค่าธรรมเนียม ดังนี้
|
รายการ |
กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้ง และการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559 |
ร่างกฎกระทรวงที่ มท. เสนอ |
1. |
การรับทำการเก็บและขนสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย |
5,000 บาท (ใบอนุญาตมีอายุ 1 ปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต) |
5,000 บาท (ใบอนุญาตมีอายุ 1 ปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต) |
2. |
การกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย |
7,500 บาท (ใบอนุญาตมีอายุ 1 ปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต) |
37,500 บาท (ใบอนุญาตมีอายุ 5 ปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต) |
3. |
การหาประโยชน์จากการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย |
ไม่มี |
25,000 บาท (ใบอนุญาตมีอายุ 5 ปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต) |
1.2 กำหนดค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ของส่วนราชการท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนที่ราชการท้องถิ่นมอบหมายให้ดำเนินการแทน (กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมขั้นต่ำและกำหนดหลักเกณฑ์ปริมาณมูลฝอยหรือสิ่งปฏิกูลใหม่) ดังนี้
ประเภทค่าธรรมเนียม |
ร่างกฎกระทรวงที่ มท. เสนอ |
1. รายเดือน |
|
1.1 การเก็บและขนมูลฝอย - กรณีปริมาณมูลฝอยต่อเดือนไม่เกิน 120 กิโลกรัม หรือ 600 ลิตร หรือ 0.6 ลูกบาศก์เมตรให้เดือนละ |
- 35 บาท แต่ไม่เกิน 102 บาท หากมีปริมาณมากกว่า ให้เก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเป็นหน่วยตามอัตราที่กำหนด (เดิมที่ สคก. เคยตรวจพิจารณา 60 บาท แต่ไม่เกิน 102 บาท) |
1.2 การกำจัดมูลฝอย - กรณีปริมาณมูลฝอยต่อเดือนไม่เกิน 120 กิโลกรัม หรือ 600 ลิตร หรือ 0.6 ลูกบาศก์เมตรให้เดือนละ |
- 40 บาท แต่ไม่เกิน 70 บาท หากมีปริมาณมากกว่า ให้เก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเป็นหน่วยตามอัตราที่กำหนด (คงเดิมตามร่างที่ สคก. ตรวจแล้ว) |
2. เป็นครั้งคราว |
|
2.1 การเก็บและขนมูลฝอย - การเก็บ หรือการกำจัดมูลฝอยเป็นรายครั้งให้คิดเป็นหน่วย หน่วยละ 120 กิโลกรัม หรือ 600 ลิตร หรือ 0.6 ลูกบาศก์เมตร |
- ให้เก็บค่าธรรมเนียมหน่วยละ 200 บาท หากปริมาณเกิน 240 กิโลกรัม หรือ 1,200 ลิตรหรือ 1.2 ลูกบาศก์เมตร ให้เก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มได้ในอัตราที่กำหนด (คงเดิมตามร่างที่ สคก. ตรวจแล้ว) |
2.2 การเก็บและขนสิ่งปฏิกูล - การเก็บและขนสิ่งปฏิกูลเป็นรายครั้งให้คิดเป็นหน่วย หน่วยละ 100 กิโลกรัม หรือ 500 ลิตร หรือ 0.5 ลูกบาศก์เมตร |
- ให้เก็บค่าธรรมเนียมหน่วยละ 250 บาท หากปริมาณเกิน 200 กิโลกรัมหรือ 1,000 ลิตร หรือ 1 ลูกบาศก์เมตร ให้เก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มได้ในอัตราที่กำหนด (คงเดิมตามร่างที่ สคก. ตรวจแล้ว) |
2.3 การกำจัดสิ่งปฏิกูล - การกำจัดสิ่งปฏิกูลเป็นรายครั้ง ให้คิดเป็นหน่วย หน่วยละ 100 กิโลกรัม หรือ 500 ลิตร หรือ 0.5 ลูกบาศก์เมตร |
- ให้เก็บค่าธรรมเนียมหน่วยละ 300 บาท หากปริมาณสิ่งปฏิกูลที่กำจัดเป็นรายครั้งเกิน 200 กิโลกรัม หรือ 1,000 ลิตร หรือ 1 ลูกบาศก์เมตรให้เก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มได้อัตราที่กำหนด (คงเดิมตามร่างที่ สคก. ตรวจแล้ว) |
1.3 กำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย สำหรับ 1) บุคคล 2) ชุมชน และ 3) หมู่บ้าน ที่มีการจัดการปริมาณสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจนปราศจากสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย หรือพื้นที่ในห้วงเวลาที่ได้มีประกาศเป็นเขตช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
1.4 กำหนดวันใช้บังคับของร่างกฎกระทรวงฯ ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี (แก้ไขจาก 180 วัน) นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมความพร้อมการออกข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติ และสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่
2. ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายที่แท้จริงและส่งให้การจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยมีประสิทธิภาพและสิ่งแวดล้อม อันจะทำให้ประชาชนมีสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นและเป็นการออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทยได้เสนอขอขยายระยะเวลาการดำเนินการออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้แล้ว และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาจัดทำกฎหมายลำดับรองซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 (ครบกำหนดในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567) ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องเร่งการดำเนินการร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ให้ทัน ภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567
6. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา พ.ศ. 2553 พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา พ.ศ. 2553 พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญ
1. ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา พ.ศ. 2553 พ.ศ. .... ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เป็นการยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา พ.ศ. 2553 ซึ่งกำหนดให้มีคณะกรรมการว่าด้วยการประสานงานในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อบูรณาการแนวทางปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เนื่องจากมีความซ้ำซ้อนกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ พ.ศ. 2555 ซึ่งกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเสริม คุ้มครอง และป้องกันและปราบปรามการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงกำหนดแนวทาง และขับเคลื่อนการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ที่กำหนด มีขอบเขตของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ครอบคลุมมากกว่าระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา พ.ศ. 2553 พร้อมได้มีคณะอนุกรรมการและคณะทำงานที่ตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ พ.ศ. 2555 เพื่อสนับสนุนการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาผ่านกลไกคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ คณะอนุกรรมการ คณะทำงานอื่น ๆ ตามระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ พ.ศ. 2555 สามารถดำเนินการด้านป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมการปฏิบัติงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาในทุกมิติอยู่แล้ว
2. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้องโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าคณะรัฐมนตรีสามารถพิจารณาอนุมัติหลักการร่างระเบียบดังกล่าวได้
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือองค์การเอกชนที่ต้องรายงานสถิติข้อมูลต่อส่วนราชการหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ที่มีหน้าที่ตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือองค์การเอกชนที่ต้องรายงานสถิติข้อมูลต่อส่วนราชการหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ที่มีหน้าที่ตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. .... ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปไปได้ รวมทั้ง ให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญ
ร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือองค์การเอกชนที่ต้องรายงานสถิติข้อมูลต่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ที่มีหน้าที่ตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
1. กำหนดนิยาม |
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หมายความว่า กิจการผลิตสินค้า กิจการให้บริการ กิจการค้าส่ง กิจการค้าปลีก หรือกิจการอื่นที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่มีจำนวนการจ้างงาน รายได้มูลค่าสินทรัพย์ถาวร หรือทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หมายความว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตั้งแต่ห้าวิสาหกิจขึ้นไปรวมกลุ่มกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันหรือดำเนินกิจกรรมร่วมกันในการพัฒนากิจการ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม องค์การเอกชน หมายความว่า องค์การเอกชนที่จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือตามกฎหมายเฉพาะที่มีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเป็นวิสาหกิจขนาดกลางหรือวิสาหกิจขนาดย่อมที่ดำเนินการในทางการอุตสาหกรรม การบริการหรือการค้า และให้หมายความรวมถึงองค์การเอกชนที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หมายความว่า ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่ตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม
|
2. กำหนดประเภท |
ให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในประเภทดังต่อไปนี้รายงานสถิติข้อมูลต่อส่วนราชการหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ (1) ประเภทกิจการผลิตสินค้า เช่น โรงงานผลิตเครื่องดื่ม โรงงานผลิตอาหารกระป๋อง (2) ประเภทกิจการให้บริการ เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจโรงแรม ร้านเสริมสวย (3) ประเภทกิจการค้าส่ง เช่น ขายส่งสิ่งทอ ขายส่งอาหาร (4) ประเภทกิจการค้าปลีก เช่น ผลิตภัณฑ์ขนมอบ เครื่องประดับ ร้านขายวัสดุก่อสร้าง (5) ประเภทกิจการอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา |
3. กำหนดหน้าที่ |
ให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือองค์การเอกชน ในประเภทตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับนี้ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือสนับสนุนจากส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่ตามแผนปฏิบัติการ รายงานสถิติข้อมูล เช่น ขนาดธุรกิจ ประเภทการจัดตั้ง (นิติบุคคล บุคคลธรรมดา วิสาหกิจชุมชน) ภาคธุรกิจ (ภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคการบริการ ภาคธุรกิจการเกษตร) สาขาธุรกิจ (สาขาสิ่งทอ สาขาเครื่องสำอาง) ต่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจนั้น ทั้งนี้ แบบของรายงานและรายละเอียดของสถิติข้อมูลให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกำหนด องค์การเอกชนที่จะต้องรายงานสถิติข้อมูลต่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ต้องเป็นองค์การเอกชนประเภทที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ดำเนินกิจการในทางการอุตสาหกรรม การบริการ การค้า หรือกิจการอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา |
ประโยชน์และผลกระทบ
ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศ สังคม หรือประชาชน ดังนี้
1) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จะได้รับการส่งเสริม สนับสนุน หรือช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมและไม่ซ้ำซ้อนจากการออกแบบมาตรการหรือความช่วยเหลือของรัฐที่อ้างอิงข้อมูลจากฐานข้อมูลวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อีกทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลในการดำเนินธุรกิจของตนได้ด้วย
2) หน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์ (อาทิ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงอุตสาหกรรม (อาทิ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ที่มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีข้อมูลที่ครบถ้วนมากขึ้น เพื่อใช้จัดทำและรับรองสถิติข้อมูลของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมออกเผยแพร่และส่งสถิติข้อมูลดังกล่าวให้แก่ สสว. เพื่อเก็บรวบรวมไว้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำรายงานสถานการณ์และแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งสามารถร่วมใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลนี้ เพื่อใช้ในการจัดทำภารกิจในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน (หน่วยงานภายใต้แผนปฏิบัติการส่งเสริม SME เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะมีระบบ SME Profile โดยให้ผู้ประกอบการ SME ให้ข้อมูล อาทิ ขนาดธุรกิจ ประเภทการจัดตั้ง ภาคธุรกิจ สาขาธุรกิจ รายได้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะสามารถเชื่อมต่อไปยัง สสว. ได้โดยอัตโนมัติ)
3) สสว. จะสามารถใช้ข้อมูล เช่น ข้อมูลการจัดตั้ง/ยกเลิก/เปลี่ยนแปลง งบการเงินของผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล เพื่อการบูรณาการนโยบายและงบประมาณด้านการส่งเสริม SME ของประเทศ และติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ของหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และรองรับการจัดทำฐานข้อมูลวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ประเทศมีข้อมูลด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีการเชื่อมโยงรวมไว้ในที่เดียว เพื่อช่วยวางแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รอบด้านเกิดการบูรณาการเชื่อมโยงทำให้การดำเนินงานร่วมกันของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น และมีการใช้จ่ายงบประมาณที่มีประสิทธิภาพไม่เกิดความซ้ำซ้อน คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตรงตามความต้องการ และ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนธุรกิจ ส่งผลให้ทุกภาคส่วนมีความเข้มแข็งขึ้น และทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นตามลำดับ
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์และค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์และค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอและให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญ
1. ร่างกฎกระทรวงค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษฯ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ เป็นการออกกฎหมายลำดับรองซึ่งโดยอาศัยอำนาจตามความในประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่บัญญัติให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดค่าธรรมเนียมที่เจ้าหน้าที่ได้ให้บริการ และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ประกอบกับพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ซึ่งบัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อ จิตและประสาท พ.ศ. 2559 และให้บรรดากฎกระทรวงยังคงใช้ได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติดหรือจนกว่าจะมีกฎกระทรวงมาใช้บังคับ จึงมีความจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงเพื่อใช้บังคับแทนกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม สำหรับผู้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2547 กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม สำหรับผู้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547 และกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2560 รวมทั้งประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 7 ฉบับ ซึ่งกำหนดค่าใช้จ่ายที่จะจัดเก็บจากผู้ยื่นคำขอในกระบวนการพิจารณาอนุญาต ในส่วนที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์
2. ร่างกฎกระทรวงค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษฯ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว โดยร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ยังคงมีหลักการเช่นเดียวกับกฎกระทรวงฉบับเดิม ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
1. ยกเลิกบทบัญญัติ |
ㆍยกเลิกข้อ 2 (14) และ (15) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับใบแทนใบอนุญาตโฆษณา เพื่อการค้าซึ่งยาเสพติดให้โทษ แห่งกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2547 ㆍยกเลิกข้อ 3 (1) แห่งกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตโฆษณาเพื่อการค้าซึ่งยาเสพติดให้โทษ ㆍยกเลิกข้อ 1 (9) และ (12) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับใบแทนใบอนุญาตโฆษณาวัตถุออกฤทธิ์ และข้อ 2 (1) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตโฆษณาวัตถุออกฤทธิ์ แห่งกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2560 |
2. คำนิยาม |
ㆍกำหนดนิยามคำว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” หมายความว่า ผู้เชี่ยวชาญตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามมาตรา 19 วรรคสอง และคำว่า “องค์กรผู้เชี่ยวชาญ” หมายความว่า องค์กรผู้เชี่ยวชาญตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามมาตรา 19 วรรคสอง |
3. ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษ |
ㆍกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ ฉบับละ 3,000 บาท (อัตราเดิม 3,000 บาท) |
4. ค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนอื่น |
4.1 กำหนดค่าธรรมเนียมการขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือองค์กรเอกชน 4.2 กำหนดค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตหรือคำขออื่น ๆ เช่น คำขอรับใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ ค่าคำขอรับใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษ และค่าคำขอขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 4.3 กำหนดค่าธรรมเนียมการประเมินเอกสารทางวิชาการ กรณีส่งให้ผู้เชี่ยวชาญ หรือองค์กรผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประเมิน 4.4 ค่าธรรมเนียมการตรวจสถานประกอบการ 4.5 ค่าธรรมเนียมการดำเนินการอื่น ๆ ได้แก่ (1) ค่าหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และ (2) ค่าพิจารณาวินิจฉัยผลิตภัณฑ์ หรือค่าคำขอรับบริการข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อใช้ในการประกอบกิจการ โดยตอบเป็นหนังสือ |
5. หลักเกณฑ์จัดเก็บค่าธรรมเนียมในกรณีมีหลายคำขอ |
ㆍกรณีที่มีการยื่นคำขอหลายคำขอมาพร้อมกัน ให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมในคำขอใดคำขอหนึ่งเต็มจำนวนและจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับคำขออื่นในอัตราร้อยละ 25 ของอัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ โดยคำขอนั้นมีลักษณะทุกประการดังต่อไปนี้ (1) เป็นการยื่นคำขอเพื่อให้ดำเนินการอย่างเดียวกัน โดยเป็นคำขอขึ้นทะเบียนตำรับ คำขอต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับ คำขอแก้ไขรายการทะเบียนตำรับ หรือคำขอประเมินเอกสารทางวิชาการ แล้วแต่กรณี (2) ต้องมีตัวยาสำคัญและรูปแบบเดียวกันซึ่งตัวยาสำคัญนั้นมีหลายขนาดความแรง โดยมีสัดส่วนของสูตรตัวยาสำคัญและตัวยาไม่สำคัญเดียวกัน และใช้เอกสารกำกับยาร่วมกัน (3) สามารถพิจารณาประเมินไปในคราวเดียวกันได้ |
6. กรณีที่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม |
ㆍให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมในกรณีดังต่อไปนี้ (1) การดำเนินการเกี่ยวกับตำรับยาเสพติดให้โทษหรือตำรับวัตถุออกฤทธิ์ที่มีลักษณะเป็นยากำพร้า* หรือยามุ่งเป้าซึ่งได้รับการสนับสนุนเพื่อความมั่นคงของประเทศหรือแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตามประกาศของสำนักงาน อย. (2) การดำเนินการเกี่ยวกับตำรับยาเสพติดให้โทษหรือตำรับวัตถุออกฤทธิ์ที่เป็นยาใหม่ซึ่งพัฒนาและผลิตในประเทศตามนโยบายรัฐบาลเพื่อความมั่นคงด้านยา และการเข้าถึงยา (3) การแก้ไขรายการในทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษหรือตำรับวัตถุออกฤทธิ์ ตามประกาศ สธ. หรือคำสั่ง สธ. ที่เกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพและความปลอดภัย (4) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลของสถานที่ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ โดยผลของกฎหมายหรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้แจ้งหรือสั่งให้มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง |
7. หน่วยงานและระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม |
ㆍให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมตามข้อ 3 ข้อ 4.2 - ข้อ 4.5 แก่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สภากาชาดไทย และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ㆍให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงนี้แก่หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ㆍให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญองค์กรผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือองค์กรเอกชน ตามข้อ 4.1 เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ |
8. การพิจารณาวินิจฉัย การเรียกเก็บค่าธรรมเนียม |
ㆍกำหนดให้ในกรณีที่มีข้อสงสัยในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงนี้ ให้เลขาธิการ อย. มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัย โดยต้องเป็นไปตามหลักวิชาการและสอดคล้องกับหลักสากล และให้เลขาธิการ อย. ประกาศผลการพิจารณาวินิจฉัย หรือหลักเกณฑ์การพิจารณาที่นำมาวินิจฉัยลงในระบบสารสนเทศของสำนักงาน อย. |
_____________________________________
*ยากำพร้า หมายถึง ยาที่มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อวินิจฉัย บรรเทา บำบัด ป้องกัน หรือรักษาโรคที่พบได้น้อย หรือโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง หรือโรคที่ก่อให้เกิดความทุพพลภาพอย่างต่อเนื่อง หรือยาที่มีอัตราการใช้ต่ำ โดยไม่มียาอื่นมาใช้ทดแทนได้ และมีปัญหาการขาดแคลน
9. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดตำแหน่งพนักงานอื่นเพื่อช่วยเหลือผู้อำนวยการสถานพินิจหรือผู้ดูแลหรือผู้ปกครองสถานที่ที่กำหนดในหมวด 4 พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขการออกใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาตดำเนินการหรือจัดตั้งสถานศึกษา สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิต พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดตำแหน่งพนักงานอื่นเพื่อช่วยเหลือผู้อำนวยการสถานพินิจหรือผู้ดูแลหรือผู้ปกครองสถานที่ที่กำหนดในหมวด 4 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยให้รับความเห็นของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการอนุญาตดำเนินการหรือจัดตั้งสถานศึกษา สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิต พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ ให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของกระทรวงกลาโหมและสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญ
1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดตำแหน่งพนักงานอื่นเพื่อช่วยเหลือผู้อำนวยการสถานพินิจหรือผู้ดูแลหรือผู้ปกครองสถานที่ที่กำหนดในหมวด 4 พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดตำแหน่งพนักงานอื่น เช่น พยาบาล นักวิชาการอบรมและฝึกวิชาชีพ เจ้าพนักงานอบรมและฝึกวิชาชีพ บรรณารักษ์ พนักงานพินิจ พนักงานพิทักษ์ ฯลฯ (นอกเหนือจากแพทย์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา พนักงานคุมประพฤติ นักสังคมสงเคราะห์ ครู) เพื่อช่วยเหลือผู้อำนวยการสถานพินิจตามสมควร หรือผู้ปกครองสถานที่ในหมวด 4 เช่น การช่วยเหลือเมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉิน การก่อเหตุจลาจล กรณีเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ เนื่องจากกำลังของเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ซึ่งบางครั้งได้ขอกำลังจากทหาร ตำรวจ หรือหน่วยงานด้านสาธารณสุขก็อาจไม่ได้รับความร่วมมือ ด้วยเหตุมีภารกิจที่ต้องปฏิบัติ และเห็นว่ามีความเสี่ยง และไม่มีกฎหมายรองรับ
2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบอนุญาต และการเพิกถอนใบอนุญาตดำเนินการหรือจัดตั้งสถานศึกษา สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิต พ.ศ..... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบอนุญาต และการเพิกถอนใบอนุญาตให้ส่วนราชการดำเนินการ หรือให้เอกชนจัดตั้งสถานศึกษา สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดเป็นจำเลย หรือเป็นผู้ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน เนื่องจากปัจจุบันศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนของหน่วยงานในสังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนมีจำนวน 20 แห่งทั่วประเทศ และไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด รวมทั้งมีรูปแบบเป็นสถานที่ควบคุมในระบบปิดทั้งหมด ซึ่งบางแห่งต้องรับเด็กและเยาวชนเกินความจุ ทำให้ต้องมีการกระจายไปยังศูนย์ฝึกและอบรมที่อื่น ส่งผลให้ผู้ปกครองไม่สามารถเยี่ยมเยียนและติดต่อได้อย่างสะดวก ตลอดจนการจัดตั้งสถานศึกษาฯ มุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาพฤตินิสัย การศึกษาและการประกอบวิชาชีพ โดยส่วนราชการหรือเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งสถานศึกษา สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐเต็มจำนวน
10. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอและให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญ
ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 (เช่น มอร์ฟีน โคคาอีน โคเดอีน หรือฝิ่นยา) หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (เช่น Phentermine Zolpidem Ketamine) กำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาต การออกใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การแก้ไขรายการในใบอนุญาต และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 และวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
1. นิยาม |
|
หน่วยกระจายยา |
· หมายความว่า หน่วยงานของรัฐ หรือสภากาชาดไทยที่ได้รับอนุญาตเป็นหน่วยกระจายยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ให้สถานพยาบาลอื่นที่เป็นผู้รับอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ในเครือข่ายเดียวกันและสังกัดส่วนราชการเดียวกัน หรือในสังกัดสภากาชาดไทย |
2. ผู้มีสิทธิขออนุญาต |
|
2.1 วัตถุประสงค์ในการขออนุญาต |
· การรักษาหรือป้องกันโรคให้แก่ผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยในทางการแพทย์ · การเป็นหน่วยกระจายยา · การวิเคราะห์หรือการศึกษาวิจัยทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ · การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด |
2.2 คุณสมบัติผู้ขออนุญาต |
· เป็นหน่วยงานของรัฐ · เป็นสภากาชาดไทย · เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล หรือเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลสัตว์ โดยต้องจัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่งที่เป็นผู้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล หรือกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลสัตว์ เป็นผู้ดำเนินการตามใบอนุญาต · ผู้มีหน้าที่ในการตรวจวิเคราะห์หรือการศึกษาวิจัยทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ |
3. กระบวนการขออนุญาต |
|
3.1 การยื่นคำขออนุญาต |
· การยื่นคำขออนุญาตจะใช้ข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานที่แตกต่างกันไปตามประเภทของบุคคลที่เป็นผู้ขอรับใบอนุญาต โดยให้ดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก |
3.2 ระยะเวลาการพิจารณาคำขออนุญาต |
· ให้ผู้อนุญาตตรวจสอบคำขอรับใบอนุญาต หากไม่ถูกต้องหรือขาดข้อมูลเอกสาร หรือหลักฐานใด ให้แจ้งผู้ขออนุญาตทราบทันทีเพื่อให้แก้ไขเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่ผู้อนุญาตกำหนด และหากเอกสารครบถ้วนถูกต้องแล้วให้ออกหลักฐานการรับคำขอให้แก่ผู้ขออนุญาต และแจ้งให้ผู้นั้นชำระค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนภายในเวลาที่กำหนด (เป็นค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินการพิจารณาคำขอ ไม่ใช่ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต) · ผู้ขออนุญาตชำระค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนแล้วให้ผู้อนุญาตพิจารณาคำขอดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวครบถ้วน (กรณีพิจารณาออกใบอนุญาตให้จำหน่ายเกินปริมาณ จะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวครบถ้วน) · ในกรณีที่ผู้อนุญาตมีคำสั่งอนุญาต ให้ผู้อนุญาตแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งอนุญาต เมื่อผู้ขออนุญาตได้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแล้ว ให้ผู้อนุญาตออกใบอนุญาตให้ผู้ขออนุญาต · ในกรณีที่ผู้อนุญาตมีคำสั่งไม่อนุญาต ให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งไม่อนุญาต พร้อมด้วยเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ |
4. สิทธิและหน้าที่ของผู้รับอนุญาต |
|
4.1 การขอใบแทนใบอนุญาตการต่ออายุใบอนุญาตและการแก้ไขรายการในใบอนุญาต |
· ในกรณีที่ใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 สูญหาย ถูกทำลาย หรือเสียหายในสาระสำคัญ ให้ผู้รับอนุญาต ยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตตามแบบคำขอรับใบแทนใบอนุญาต · ใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือใบอนุญาตจำหน่าย วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ให้ใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่สอง นับจากปีที่ออกใบอนุญาต หากผู้รับอนุญาตประสงค์จะขอต่อใบอนุญาตให้ยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ พร้อมเอกสารตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ ต่อใบอนุญาต เมื่อได้ยื่นคำขอแล้วจะประกอบกิจการต่อไปก็ได้จนกว่า ผู้อนุญาตจะสั่งไม่อนุญาตให้ต่อใบอนุญาตนั้น · ผู้รับอนุญาตประสงค์จะแก้ไขรายการในใบอนุญาตให้ยื่นคำขอแก้ไขรายการในใบอนุญาตภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลนั้น พร้อมด้วยข้อมูล เอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอแก้ไขรายการในใบอนุญาต |
4.2 หน้าที่ของผู้รับอนุญาต |
· จัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือผู้ประกอบ วิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง แล้วแต่กรณี เพื่อสั่งจ่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ให้เฉพาะผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยซึ่งตนให้การรักษา · จำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามที่ได้รับอนุญาต และเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตหรือนำเข้า · ดูแลให้มีฉลากและเอกสารกำกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือ วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ซึ่งมีข้อมูลครบถ้วนตามที่ผู้รับอนุญาตผลิตหรือนำเข้าจัดไว้ · จัดให้มีการเก็บยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 แยกจากยาหรือวัตถุอื่น · จัดให้มีการทำบัญชีเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 แยกจากยาหรือวัตถุอื่น · เสนอรายงานเกี่ยวกับการดำเนินกิจการตามที่ได้รับอนุญาตต่อผู้อนุญาตเป็นรายเดือนภายในระยะเวลา 1 เดือนนับแต่วันสิ้นเดือน · จัดให้มีการป้องกันตามสมควรเพื่อมิให้ยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 สูญหายหรือมีการนำไปใช้โดยมิชอบ · กระจายยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามที่ได้รับอนุญาต และเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตหรือนำเข้า |
5. อัตราค่าธรรมเนียม |
|
· กำหนดให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ดังนี้ (1) ใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ฉบับละ 2,000 บาท (2) ใบอนุญาตจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ฉบับละ 2,000 บาท (3) ใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ฉบับละ 500 บาท เกินปริมาณที่รัฐมนตรีกำหนด (4) การต่ออายุใบอนุญาต เท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียม สำหรับใบอนุญาตนั้น กำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมกรณีผู้ขออนุญาตเป็นราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่นและสภากาชาดไทย รวมทั้งองค์การมหาชนและหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข |
|
6. บทเฉพาะกาล |
|
· กำหนดให้ใบอนุญาตที่ออกตามกฎกระทรวงเดิมใช้ได้ต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่สอง ที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ |
เศรษฐกิจ – สังคม
11. เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 กรอบวงเงิน 2,553,009,800 บาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. มติศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 เห็นชอบในหลักการ กรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 3,286.6016 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับข้อสังเกตจากที่ประชุม ศปช. ที่ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาการใช้งบประมาณเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก ฟื้นฟูเกษตรกรรมที่ประสบอุทกภัยในระยะเร่งด่วนหลังน้ำลด และระยะต่อไปในพื้นที่อื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ และนำเสนอเข้า ครม. ทั้งนี้ ขอให้สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลางพิจารณาในรายละเอียดแผนงาน/โครงการ ตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยพิจารณาพื้นที่เป้าหมายจากข้อมูลพื้นที่ประสบสาธารณภัย/พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 8 โครงการ วงเงินงบประมาณ 2,553.0098 ล้านบาท เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างรายได้หรือลดรายจ่ายในครัวเรือนให้แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2567 ให้สามารถทำการผลิตได้ทันทีหลังน้ำลด เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรผู้ประสบภัย ให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างรายได้และผลผลิตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ในระยะเวลาอันสั้น
แผนงาน / โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 จำนวน 8 โครงการ วงเงินงบประมาณ 2,553.0098 ล้านบาท
โครงการ/กิจกรรม |
งบประมาณ (ล้านบาท) |
รวมทั้งสิ้น 1. การฟื้นฟูอาชีพหลังน้ำลด 1.1 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวของเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย 1.2 โครงการสกัดการระบาดของโรคแมลงศัตรูพืช เชื้อรา และการสนับสนุนพันธุ์พืช และปัจจัยการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ ปี 2567/2568 (กรมวิชาการเกษตร) 1.3 โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่ประสบอุทกภัย (กรมหม่อนไหม) 1.4 โครงการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2567 (กรมปศุสัตว์) 1.5 โครงการส่งเสริมทางเลือกอาชีพด้านประมง การเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อพลาสติกและในกระชังบก (กรมประมง) |
2,553.0098 2,038.0293 1,571.3516
421.0323
1.6754 20.0500 23.9200 |
2. การฟื้นฟูพื้นที่เกษตรและซ่อมแซมเครื่องจักรกลเกษตร 2.1 โครงการปรับระดับพื้นที่เกษตรและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยระยะหลังน้ำลด ปี 2567 (กรมพัฒนาที่ดิน) 2.2 การซ่อมแซมและฟื้นฟูเครื่องจักรกลเกษตรขนาดเล็กหลังน้ำท่วม (กรมวิชาการเกษตร) |
214.9805 182.5893
32.3912 |
3. การลดภาระหนี้สินของสมาชิกสถาบันเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร (กรมส่งเสริมสหกรณ์) 3.1 การลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยปี 2567 โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรแทนสมาชิก ต้นเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาท ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี ทั้งนี้ ส่วนต้นเงินกู้ที่เกินกว่า 300,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราปกติ 3.2 การขยายระยะเวลาการชำระหนี้สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร โดยขอความร่วมมือให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรขยายระยะเวลาการชำระหนี้ในสัญญาเงินกู้ของสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ด้านการเกษตร โดยความสมัครใจ 3.3 ชดเชยความเสียหายของทรัพย์สินของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจาก อุทกภัย |
300.0000 200.000
100.0000 |
ประโยชน์และผลกระทบ
เพื่อสร้างรายได้หรือลดรายจ่ายในครัวเรือนให้แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 ให้สามารถทำการผลิตได้ทันทีหลังน้ำลด เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรผู้ประสบภัย ให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างรายได้และผลผลิตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ในระยะเวลาอันสั้น
12. เรื่อง ตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน (Joint KPIs) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน (Joint KPIs) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ ดังนี้
1. ประเด็นการจัดทำ Joint KPIs ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ทั้ง 6 ประเด็น ได้แก่
(1) การบริหารจัดการและอนุรักษ์ฟื้นฟูน้ำทั้งระบบ (2) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (3) รายได้จากการท่องเที่ยว (4) รายได้ของผู้ประกอบการ SMEs และ OTOP (5) การลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 และ
(6) การยกระดับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment: PISA) (ผลการประเมิน PISA) รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมาย และมอบหมายให้ ก.พ.ร.พิจารณาการกำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายของ Joint KPIs
2. ให้ ก.พร. นำ Joint KPIs ไปขับเคลื่อนส่วนราชการ จังหวัด และองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะที่ไม่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558
3. ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) นำ Joint KPIs ไปขับเคลื่อนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และส่งผลการดำเนินงานหรือผลการประเมินให้สำนักงาน ก.พ.ร.ในสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
4. ให้กรมบัญชีกลางนำ Joint KPIs ไปขับเคลื่อนอังค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 และทุนหมุนเวียนอื่นภายใต้ระบบการประเมินของกรมบัญชีกลาง และส่งผลการดำเนินงานหรือผลการประเมินให้สำนักงาน ก.พ.ร. ในสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
5. ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) นำ Joint KPIs ไปขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และส่งผลการดำเนินงานหรือผลการประเมินให้สำนักงาน ก.พ.ร. ในสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2568 6. ให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) นำ joint KPIs ไปขับเคลื่อนในมหาวิทยาลัยรัฐ (ยกเว้นสถาบันวิทยาลัยชุมชน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ (ยกเว้นสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา และสภากาชาดไทย) และส่งผลการดำเนินงาน หรือผลการประเมินให้สำนักงาน ก.พ.ร. ในสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
7. ให้องค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 และไม่อยู่ในระบบการประเมินของกรมบัญชีกลาง กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงาน อื่น ๆ นำ Joint KPIs ไปขับเคลื่อนภายในหน่วยงาน และส่งผลการดำเนินงานหรือผลการประเมินให้สำนักงาน ก.พ.ร. ในสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
สาระสำคัญ
คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน (Joint KPIs) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 9 ตัวชี้วัด ตามประเด็นนโยบายสำคัญ (Agenda) จำนวน 6 ประเด็น ได้แก่ (1) การบริหารจัดการและอนุรักษ์ฟื้นฟูน้ำทั้งระบบ (2) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (3) รายได้จากการท่องเที่ยว (4) รายได้ของผู้ประกอบการ SMEs และ OTOP (5) การลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 และ (6) การยกระดับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment: PISA) (ผลการประเมิน PISA) ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายระดับชาติที่ได้กำหนดไว้ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวม 20 เป้าหมาย เพื่อให้ส่วนราชการ จังหวัด องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่อยู่ภายใต้ระบบการประเมินของสำนักงาน ก.พ.ร. และที่อยู่ภายใต้ระบบการประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานอื่น ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรมบัญชีกลาง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานอื่นที่มีระบบการประเมินผลการดำเนินงาน ร่วมกันขับเคลื่อนประเด็น Agenda และนำ Joint KPIs ไปขับเคลื่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบูรณาการสามารถขับเคลื่อนได้อย่างครบถ้วนในทุกประเภทหน่วยงาน รวมทั้งสามารถเตรียมความพร้อมในการประเมินได้ทันก่อนเข้าสู่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการในการประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว ทั้งนี้ Joint KPIs ดังกล่าวยังสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานต่าง ๆ เฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับแต่ละประเด็น Agenda ด้วย เช่น ประเด็น Agenda ที่ 1 การบริหารจัดการและอนุรักษ์ฟื้นฟูน้ำทั้งระบบ สอดคล้องกับ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566 – 2580) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (11 มิถุนายน 2567) เห็นชอบ ประเด็น Agenda ที่ 2 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับ (ร่าง) แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี พ.ศ. 2564 – 2573 (Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021-2030) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (23 พฤษภาคม 2560) เห็นชอบ และประเด็น Agenda ที่ 5 การลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 สอดคล้องกับมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 และกลไกการบริหารจัดการ ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (19 ธันวาคม 2566) เห็นชอบ อย่างไรก็ดี Joint KPIs ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (ที่เสนอในครั้งนี้) แตกต่างจาก Joint KPIs ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (8 สิงหาคม 2566) เห็นชอบไว้ สรุปได้ ดังนี้
Joint KPIs ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566) |
Joint KPIs ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (ที่เสนอในครั้งนี้) |
- ประเด็นนโยบายสำคัญ (Agenda) |
|
มี 5 ประเด็น ได้แก่ (1) การบริหารจัดการและอนุรักษ์ฟื้นฟูน้ำทั้งระบบ (2) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (3) รายได้จากการท่องเที่ยว (4) รายได้ของผู้ประกอบการ SMEs และ OTOP (5) การลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 และ PM10 |
- มี 6 ประเด็น โดยเพิ่มประเด็นที่ 6 การยกระดับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล (PISA) - มีการทบทวนประเด็นที่ 5 จากเดิมที่ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM10 ด้วย มามุ่งเน้นเฉพาะการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เนื่องจากเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเร่งรัดการแก้ไข และฝุ่นละออง PM10 เป็นปัญหาเฉพาะบางจังหวัดเท่านั้น |
- จำนวน Joint KPIs |
|
มี 217 ตัวชี้วัด |
มี 9 ตัวชี้วัด โดยตัวชี้วัดมีจำนวนลดลงเนื่องจากเป็นการนับเฉพาะ Joint KPIs หลัก ส่วนรายละเอียดของ Joint KPIs ย่อย จะได้มีการกำหนดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง (ข้อมูลจากการประสานสำนักงาน ก.พ.ร) |
- จำนวนเป้าหมายในภาพรวมที่ใช้ในการขับเคลื่อน |
|
มี 18 เป้าหมาย |
มี 20 เป้าหมาย โดยเพิ่มเป้าหมายของประเด็นAgenda ที่ 1 การบริหารจัดการและอนุรักษ์ฟื้นฟูน้ำทั้งระบบ จำนวน 1 เป้าหมาย คือ ยกระดับธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการน้ำเพิ่มขึ้น และประเด็น Agenda ที่ 6 การยกระดับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล จำนวน 1 เป้าหมาย คือ คนไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มีทักษะการเรียนรู้ และทักษะที่จำเป็นของโลกศตวรรษที่ 21 สามารถเข้าถึงการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตดีขึ้น |
13. เรื่อง กรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการและจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการและจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการและจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการในการประชุม ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 มีมติเห็นชอบแล้ว ทั้งนี้ กรอบการประเมินดังกล่าวมีรายละเอียดเช่นเดียวกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แต่มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางหัวข้อของกรอบการประเมินฯ โดยในส่วนของส่วนราชการ ได้แก่ องค์ประกอบการประเมิน กลุ่มเป้าหมายการประเมิน และเกณฑ์การประเมิน และในส่วนของจังหวัด ได้แก่ องค์ประกอบการประเมิน สรุปได้ ดังนี้
กรอบการประเมินฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เดิม) |
กรอบการประเมินฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (ที่เสนอในครั้งนี้) |
||||||||||||||||||
1.องค์ประกอบการประเมิน |
|||||||||||||||||||
(1) การประเมินประสิทธิผลการดำเนินงาน : (1.1) ส่วนราชการ : มีการจัดกลุ่มตัวชี้วัดใหม่ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยนำตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับการดำเนินการขับเคลื่อนในระดับประเทศ เช่น นโยบายรัฐบาล แผนระดับชาติต่าง ๆ ซึ่งอยู่ภายใต้ตัวชี้วัดตามภารกิจ (Function KPIs) ของปีงประมาณ พ.ศ. 2567 มาจัดอยู่ภายใต้ตัวชี้วัดเชิงยุทธศาสตร์สำคัญ (Strategic KPIs) ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ส่วนตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับการดำเนินการขับเคลื่อนในระดับหน่วยงาน เช่น ภารกิจงานประจำ ให้อยู่ภายใต้ตัวชี้วัดตามภารกิจพื้นฐาน/งานตามหน้าที่ความรับผิดชอบหลัก (Function KPIs) เช่นเดิม เพื่อมุ่งเน้นให้ส่วนราชการนำตัวชี้วัดเชิงยุทธศาสตร์สำคัญไปกำหนดเป็นตัวชี้วัดระดับกรมต่อไป |
|||||||||||||||||||
|
|
||||||||||||||||||
- ผลการดำเนินงานตามภารกิจพื้นฐาน งานประจำ |
(1.1.1) ตัวชี้วัดตามภารกิจพื้นฐาน/งานตามหน้าที่ ความรับผิดชอบหลัก (Functional KPIs) |
||||||||||||||||||
- ผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 มติคณะรัฐมนตรี นโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน (Agenda KPIs) |
(1.1.2) ตัวชี้วัดเชิงยุทธศาสตร์สำคัญ (Strategic KPIs) |
||||||||||||||||||
(1.1.2) ตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน (Joint KPIs) |
(1.1.3) ตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน (Joint KPIs) |
||||||||||||||||||
(1.2) จังหวัด : มีการจัดกลุ่มตัวชี้วัดใหม่ โดยนำตัวชี้วัดนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดย่อยภายใต้ตัวชี้วัดตามภารกิจ ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มาจัดอยู่ภายใต้ตัวชี้วัดขับเคลื่อนการพัฒนาระดับพื้นที่ (Function KPIs) ของจังหวัด ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดของจังหวัด เพื่อให้จังหวัดนำนโยบายเร่งด่วนของ มท. ไปขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น |
|||||||||||||||||||
(1.2.1) ตัวชี้วัดตามภารกิจ (Functional KPIs) ประกอบด้วย |
(1.2.1) ตัวชี้วัดขับเคลื่อนการพัฒนาระดับพื้นที่ (Function KPIs) ประกอบด้วย |
||||||||||||||||||
- ผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 มติคณะรัฐมนตรี นโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน (Agenda KPIs) เช่น นโยบายเร่งด่วนของ มท. |
- ตัวชี้วัดนโยบายเร่งด่วนของ มท. (Agenda) (ตัวชี้วัดบังคับ)
|
||||||||||||||||||
- ผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาของจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด (Area KPIs) และ/หรือ ผลการดำเนินการเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาสำคัญ (Pain Point) และต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน |
- ตัวชี้วัดในการพัฒนาพื้นที่ (Area KPIs) ตามแผนพัฒนาของจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด และ/หรือผลการดำเนินการเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาสำคัญ - ตัวชี้วัดที่กำหนดจากการบูรณาการร่วมกันภายใต้ภารกิจเดียวกันระหว่างส่วนราชการและจังหวัด (Joint KPIs by Function) ตามภารกิจและนโยบายสำคัญที่ต้องการความร่วมมือระดับพื้นที่ในการยกระดับผลการดำเนินงาน/แก้ไขปัญหา |
||||||||||||||||||
(1.2.2) ตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน (Joint KPIs) |
(1.2.2) ตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน (Joint KPIs) |
||||||||||||||||||
(2) การประเมินศักยภาพในการดำเนินงาน (น้ำหนักร้อยละ 30): (2.1) ปรับลดน้ำหนักของการประเมินระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐจาก ร้อยละ 20 เป็น ร้อยละ 10 (2.2) เพิ่มการประเมินเรื่องความพึงพอใจของหน่วยงาน โดยใช้ข้อมูลจากผลการประเมินผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส่ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ในแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภายนอก (เกี่ยวกับการบริการของหน่วยงานภาครัฐ) น้ำหนักร้อยละ 10 เพื่อให้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงการบริการของหน่วยงานภาครัฐกับผู้รับบริการ |
|||||||||||||||||||
การประเมินระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐ น้ำหนักร้อยละ 20 |
การประเมินระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐ น้ำหนักร้อยละ 10 |
||||||||||||||||||
ไม่มี |
การประเมินความพึงพอใจของหน่วยงานน้ำหนัก ร้อยละ 10 |
||||||||||||||||||
การประเมินสถานะของหน่วยงานในการเป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) (น้ำหนักร้อยละ 10) |
การประเมินสถานะของหน่วยงานในการเป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) (น้ำหนักร้อยละ 10) |
||||||||||||||||||
2. กลุ่มเป้าหมายการประเมิน : เพิ่มส่วนราชการสังกัดกระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลกลับเข้าสู่ระบบการประเมินฯ ของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เนื่องจากได้มีการยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่กำหนดให้ส่วนราชการดังกล่าวนำกรอบการประเมินฯ ไปประยุกต์ใช้ |
|||||||||||||||||||
ส่วนราชการ (ในสังกัดฝ่ายบริหาร) จำนวน 154 หน่วยงาน |
ส่วนราชการ จำนวน 163 หน่วยงาน |
||||||||||||||||||
3. เกณฑ์การประเมิน : ปรับระดับของเกณฑ์การประเมินส่วนราชการและจังหวัด (คะแนนเต็ม 100 คะแนน) ในระดับมาตรฐานที่มีการแบ่งเป็นมาตรฐานขั้นสูงและมาตรฐานขั้นต้น มายุบรวมเป็นระดับเดียว เพื่อเป็นกลไกหนึ่ง ในการขับเคลื่อนการทำงานภาคราชการให้มีความท้าทายมากขึ้น และผลักดันให้การดำเนินงานของส่วนราชการเกิดผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นตามค่าเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ |
|||||||||||||||||||
|
|
14. เรื่อง รายงานสถานะของหนี้สาธารณะตามมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานะของหนี้สาธารณะตามมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เสนอ
สาระสำคัญ
1. สถานะของหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 มีจำนวน 11,728,149.06 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 64.02 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ [Gross Domestic Product (GDP)] ซึ่งยังอยู่ในกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่กำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 70 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
รายการ |
หนี้สาธารณะ (ล้านบาท) ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 |
ร้อยละต่อ GDP |
(1) หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง |
9,781,833.59 |
53.39 |
(2) หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) |
583,627.00 |
3.19 |
(3) หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน |
1,060,739.48 |
5.79 |
(4) หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินโดยมีรัฐบาลค้ำประกัน |
189,254.59 |
1.03 |
(5) หนี้หน่วยงานของรัฐ |
112,694.10 |
0.62 |
รวมข้อ 1-5 |
11,728,149.06 |
64.02 |
2. พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดสัดส่วน เพื่อใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ประกอบด้วย (1) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 70 (2) สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณไม่เกินร้อยละ 35 (3) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดไม่เกินร้อยละ 10 และ (4) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ ไม่เกินร้อยละ 5 ทั้งนี้ สถานะสัดส่วนหนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 อยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะที่กำหนดและเป็นประโยชน์ต่อการรักษาวินัยทางการคลังของประเทศ โดยแสดงให้เห็นว่า การก่อหนี้และการบริหารหนี้สาธารณะของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐกระทำด้วยความรอบคอบ และคำนึงถึงถึงความคุ้มค่า ความสามารถในการชำระหนี้การกระจายภาระการชำระหนี้ เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการเงินการคลัง ตลอดจนความน่าเชื่อถือของประเทศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สัดส่วน |
กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ |
สถานะ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 |
(1) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP |
ไม่เกินร้อยละ 70
|
ร้อยละ 63.67 |
(2) สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการ รายได้ประจำปีงบประมาณ |
ไม่เกินร้อยละ 35
|
ร้อยละ 19.01 |
(3) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด |
ไม่เกินร้อยละ 10
|
ร้อยละ 1.23 |
(4) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ |
ไม่เกินร้อยละ 5
|
ร้อยละ 0.05 |
หมายเหตุ : พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 51 กำหนดให้ กค. รายงานสัดส่วนหนี้ตามมาตรา 50 ที่เกิดขึ้นจริงต่อคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเพื่อทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนมีนาคมและกันยายนของทุกปี
3. การกู้เงินของรัฐบาลแม้จะทำให้มีหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการกู้เงินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ วางรากฐานการพัฒนา สร้างรายได้และเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่กระจายไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเป็นการลงทุนด้านคมนาคม สาธารณูปการ และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นสำคัญ เพื่อกระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขยายโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นและเศรษฐกิจของประเทศขยายตัว อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะทำให้สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ นอกจากนี้ กค. ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการหนี้สาธารณะเพื่อสนับสนุนการลงทุนและการดำเนินมาตรการทางการคลัง รวมทั้งการชำระหนี้อย่างเคร่งครัดและครบถ้วนตามกรอบการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ
15. เรื่อง ขออนุมัติทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ในการเปลี่ยนแปลงหน่วยรับการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” จากมูลนิธิรัฐบุรุษพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็น มูลนิธิ “สานใจไทย สู่ใจใต้”
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 จากเดิมเห็นชอบในหลักการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” และเห็นชอบให้ ศอ.บต. เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นเงินอุดหนุนให้แก่มูลนิธิรัฐบุรุษพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ภายในกรอบวงเงิน 11.08 ล้านบาทต่อปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป เปลี่ยนเป็น เห็นชอบในหลักการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” และเห็นชอบให้ ศอ.บต. เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นเงินอุดหนุนให้แก่มูลนิธิ “สานใจไทย สู่ใจใต้” ภายในกรอบวงเงิน 11.08 ล้านบาทต่อปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอ และให้ ศอ.บต.รับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
ศอ.บต. รายงานว่า
1. โครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเกิดจากการดำริของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเป็นการน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาปรับใช้ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการนำเยาวชนในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอสงขลา (อำเภอจะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย) ในระหว่างปิดภาคเรียนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้มิติสังคมพหุวัฒนธรรมต่างพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง อันจะนำไปสู่ความสมานฉันท์ของพื้นที่และสังคมประเทศไทย รวมทั้งทำให้เด็กและเยาวชนดังกล่าวสามารถพัฒนาตนเอง ให้เป็นแบบอย่างและประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องการทำงานและการดำรงชีวิตในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งได้รวมตัวกันเป็นสมาคมเยาวชนสานใจไทย สู่ใจใต้ เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมจิตอาสาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ “สานใจไทย สู่ใจใต้” เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 และมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1.1 สนับสนุนการดำเนินงานกิจกรรม โครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” 1.2 เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการดำเนินโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้”
1.3 ดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นเพื่อสาธารณประโยชน์
1.4 ไม่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ศอ.บต. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อน โครงการฯ ระหว่าง ศอ.บต. กับ มูลนิธิ “สานใจไทย สู่ใจใต้” เพื่อให้มูลนิธิ “สานใจไทย สู่ใจใต้” สามารถพัฒนาศักยภาพของเยาวชนได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 – 30 กันยายน 2570 รวมเป็นเวลา 3 ปี
2. โครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
การดำเนินการ
|
กระบวนการทำงานที่สำคัญประกอบด้วย 3 ระยะ ได้แก่ (1) ระยะต้นทาง : การคัดเลือกเยาวชนเข้าร่วมโครงการฯ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 15 – 19 ปี มีผลการเรียนคะแนนเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป กำลังศึกษาในสถานศึกษาของรัฐและเอกชนทั้งในและนอกระบบ มีสถานภาพทางครอบครัวยากจนและกำพร้า ขาดโอกาสทางการศึกษาประสบเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 2 รุ่นต่อปี รุ่นละ 320 คน รวมจำนวน 640 คนต่อปี (ดำเนินการไปแล้วทั้งหมด 42 รุ่น มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการฯ 10,265 คน) เมื่อจบโครงการฯ เยาวชนกลับมายังภูมิลำเนา รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมาคมเยาวชนสานใจไทย สู่ใจใต้ (2) ระยะกลางทาง : ศอ.บต. ร่วมสนับสนุนงบประมาณและร่วมขับเคลื่อนภารกิจ ของมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ ในการฝึกอบรมและพัฒนาการเรียนรู้ของเยาวชนตลอดระยะเวลาของโครงการฯ ให้มีประสิทธิภาพ (3) ระยะปลายทาง : ศอ.บต. สนับสนุนการทำงานด้านการดึงศักยภาพของเยาวชนมาขยายผลโครงการฯ สู่พื้นที่ รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายสมาคมเยาวชนสานใจไทย สู่ใจใต้ มุ่งเน้นกิจกรรมจิตอาสาทำความดีเพื่อแผ่นดินสร้างความเชื่อมโยงการทำงานเป็นเครือข่ายสมาชิกและการขยายเครือข่ายสู่กลุ่มเยาวชนอื่น ๆ |
ผลที่คาดว่าจะได้รับ |
(1) เยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับการพัฒนาความรู้ความเข้าใจ ทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมเกิดเป็นเครือข่ายของเด็กและเยาวชนที่เข้มแข็ง โดยเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับชุมชนต่างศาสนา ตั้งแต่ปี 2548 – 2567 (รุ่นที่ 1 – 12) จำนวนทั้งสิ้น 10,265 คน (2) เยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ร่วมโครงการฯ มีความรู้ความเข้าใจด้านทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม เกิดเป็นเครือข่ายของเยาวชนที่เข้มแข็ง โดยเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับชุมชนต่างศาสนาสามารถเป็นแกนนำสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและส่งผลให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (3) มีเด็กและเยาวชน ระดับแกนนำ และเครือข่ายที่สามารถพัฒนากิจกรรมเพื่อการสร้างความรู้ ความเข้าใจและมีทักษะในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมเป็นผู้นำหรือเป็นต้นแบบการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขท่ามกลางสังคม (4) เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับโอกาสทางการศึกษา เช่น ได้รับทุนการศึกษาเล่าเรียนจนจบระดับปริญญาตรี เป็นต้น ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ดีขึ้น มีความก้าวหน้าในชีวิตและหน้าที่การงานที่มั่นคง และจะได้นำโอกาสหวนกลับคืนสู่สังคมส่งต่อโอกาสให้กับเยาวชนรุ่นต่อ ๆ ไปให้ได้มีโอกาสเหมือนเช่นที่ผ่านมา ดังคำของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่ว่า “เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” จึงเป็นผลสำเร็จของโครงการฯ ได้เป็นที่ประจักษ์ว่า สามารถสร้างคนดีกลับคืนสู่สังคม และสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดความเข้มแข็งและสันติสุขได้อย่างแท้จริง |
ต่างประเทศ
16. เรื่อง การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาบริหารและสภาปฏิบัติการไปรษณีย์ในการประชุมใหญ่สหภาพสากลไปรษณีย์ สมัยที่ 28
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ประเทศไทยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาบริหาร (Council of Administration: CA) และสภาปฏิบัติการไปรษณีย์ (Postal Operations Council: POC) ในการประชุมใหญ่สหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union: UPU) สมัยที่ 28 รวมทั้ง มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดําเนินการขอเสียง/ แลกเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิกของ UPU ในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก CA และ POC ของประเทศไทย ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. UPU เป็นองค์การชํานัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ จัดตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2417 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระบบงานการให้บริการและปรับปรุงกิจการ ไปรษณีย์ระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือ ระหว่างประเทศด้านบริการไปรษณีย์ มีสํานักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงเบิร์น สมาพันธรัฐสวิส ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกรวมทั้งสิ้น 192 ประเทศ และมีสํานักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
2. ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก UPU ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2482 และได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งสํานักงานที่ปรึกษาประจําภูมิภาคเอเชียของ UPU (UPU Regional Adviser Office for Asia) โดยประเทศไทยได้มีการส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมสําคัญของ UPU อย่างสม่ำเสมอและได้รับความไว้วางใจจากประเทศสมาชิกให้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก CA 9 สมัย (รวมถึงปัจจุบันที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก CA วาระปี 2564 - 2568) และเป็นสมาชิก POC 10 สมัย (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 - 2564) ซึ่งประเทศไทยมีบทบาทในการร่วมพิจารณา ข้อเสนอด้านกิจการไปรษณีย์ ด้านการเงิน งบประมาณ และความช่วยเหลือระหว่างประเทศสมาชิก ตลอดจนเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการและคณะทํางานในแต่ละคณะเพื่อศึกษาปัญหาต่าง ๆ ในกิจการไปรษณีย์มาโดยตลอด รวมทั้งให้ความเห็นชอบต่อกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการเสนอแนะ ที่เป็นประโยชน์ของประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก CA วาระปี พ.ศ. 2564 - 2568 และสามารถสมัครตําแหน่ง CA ได้ต่อเนื่องอีก 1 สมัย
3. โดยที่ UPU มีกําหนดจัดการประชุมใหญ่ สมัยที่ 28 ระหว่างวันที่ 8 - 20 กันยายน 2568 และจะจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิก CA และสมาชิก POC (วาระปี พ.ศ. 2569 - 2572) ซึ่งประเทศไทยมีกําหนดจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกทั้งสองสภาในการประชุมดังกล่าว ทั้งนี้ ที่ผ่านมา คศ. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กต. บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด ในการขอเสียงและหาเสียงสนับสนุน โดยการมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของ UPU การแสดงความคิดเห็นในเวทีการประชุมระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดีการที่ประเทศไทยจะได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิก CA และ POC นอกจากการปฏิบัติงานในบทบาทของสมาชิกทั้งสองสภาอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังขึ้นอยู่กับการได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น จึงมีความจําเป็นที่ประเทศไทย โดย กต. จะต้องเริ่มดําเนินการทางการทูตในการขอเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิกต่าง ๆ ของ UPU
4. คศ. แจ้งว่า หากประเทศไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิก CA และ POC จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย ดังนี้
1) เข้าร่วมการประชุมประจําปีของทั้งสองสภาดังกล่าว และมีบทบาทในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนการเสนอแนะที่เป็นประโยชน์และเป็นการรักษา ผลประโยชน์ของประเทศได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้น ยังมีสิทธิ์ในการพิจารณาและตัดสินปัญหา ด้านการเงิน งบประมาณ และบุคลากรของ UPU รวมทั้งได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการ และคณะทํางานต่าง ๆ ของ UPU
2) การมีส่วนร่วมในการกําหนดนโยบายของ UPU ซึ่งจะทําให้ประเทศไทยสามารถผลักดันให้มีการพัฒนากิจการไปรษณีย์ของไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
3) โอกาสในการติดตามขอรับความร่วมมือเพื่อพัฒนากิจการไปรษณีย์จาก UPU เนื่องจากผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมมีโอกาสเสนอแนะชี้แจงเหตุผลความจําเป็น ที่จะให้ UPU ให้ความร่วมมือกับประเทศไทย
4) เสริมสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย
5) เสริมสร้างมิตรภาพทั้งในระดับบุคคลและระดับประเทศ ในกลุ่มประเทศสมาชิก CA และ POC และกับผู้บริหารระดับสูงของ UPU อย่างต่อเนื่อง
17. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 16 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรี สาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 16 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง จํานวน 6 ฉบับ รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขร่วมรับรองแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 16 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง จํานวน 6 ฉบับ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. แถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนครั้งที่ 16 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง จํานวน 6 ฉบับ เป็นเอกสารผลลัพธ์ที่เกิดจากการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน (ASEAN Health Ministers Meeting: AHMM) ครั้งที่ 16 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นแล้วในระหว่างวันที่ 5 - 9 สิงหาคม 2567 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) โดยประเทศไทย ได้แจ้งเห็นชอบในหลักการต่อแถลงการณ์ร่วมทั้ง 6 ฉบับไปก่อนแล้ว โดยที่ สธ. จะดําเนิน กระบวนการภายในประเทศเพื่อร่วมรับรองแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวต่อไป
2. แถลงการณ์ร่วมของการประชุม AHMM ครั้งที่ 16 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง จํานวน 6 ฉบับ ประกอบด้วย
เอกสารผลลัพธ์การประชุม |
สาระสําคัญ เช่น |
1. แถลงการณ์ร่วมการประชุม AHMM ครั้งที่ 16 |
• ส่งเสริมนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยีสุขภาพดิจิทัลเพื่อปรับปรุงระบบ สาธารณสุขอาเซียน ผ่านการเพิ่มการจัดบริการสุขภาพและอํานวยความสะดวกในการประสานงานและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิก • มอบหมายเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการพัฒนาสุขภาพแสวงหาความร่วมมือ กับประเทศคู่เจรจาและหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในด้านการพัฒนาสาธารณสุขอาเซียน |
2. แถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนกับประเทศบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) |
• ใช้กลไกของอาเซียนกับประเทศบวกสามให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดการกับภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพและเสริมสร้างระบบสุขภาพในบริบทของการระบาด ในอนาคต • สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาร่วมกันในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อจัดการประเด็นสําคัญทางสุขภาพในภูมิภาค (การพัฒนาวัคซีน การรักษาและการตรวจวินิจฉัยโรค) |
3. แถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ครั้งที่ 9 |
• เน้นย้ำถึงความจําเป็นในการลงทุนกับระบบสุขภาพ โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยี เพื่อความสําเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเพื่อทําให้มั่นใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง • เพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคติดต่ออุบัติใหม่ (เสริมสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้า การแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องและทันสมัย) • ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสุขภาพดิจิทัลเพื่อปรับปรุงการให้บริการด้านสุขภาพ (การบริการการแพทย์ทางไกล การใช้ AI มาช่วยในการวิเคราะห์และพยากรณ์โรค) |
4. แถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2
|
• มุ่งมั่นพัฒนาด้านสาธารณสุขของอาเซียนในบริบทใหม่ ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ ผ่านการสนับสนุนการจัดทําข้อมูลด้านสุขภาพที่อ้างอิงกับระบบสารสนเทศด้านสุขภาพในท้องถิ่นของเกาหลีใต้ • เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้ให้แข็งแกร่งขึ้น โดยการเพิ่มช่องทางการสื่อสารระหว่างกันและการจัดสัมมนาระหว่างอาเซียนและเกาหลีใต้เป็นประจํา |
5. แถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและกระทรวงสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 2 |
• มุ่งเสริมสร้างขีดความสามารถด้านสุขภาพและการเงินเพื่อจัดการกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขผ่านการจัดตั้งกองทุนเพื่อรองรับภาวะฉุกเฉิน โดยการให้เงินสนับสนุน การวิจัยและพัฒนายา วัคซีน และอุปกรณ์ทางการแพทย์สําหรับการรับมือกับโรคระบาด • มอบหมายคณะทํางานด้านการคลังและสาธารณสุขอาเซียนสร้างสมดุลระหว่างการจัดการด้านการเงินของรัฐกับการจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอกับความต้องการด้านสุขภาพของประชาชน |
6. แถลงการณ์ร่วมการประชุมพิเศษรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา |
• มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา เพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านสุขภาพในภูมิภาคและพัฒนาระบบสาธารณสุข • ยกระดับความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา ผ่านการจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนและสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ (ปัจจุบันยังเป็นการประชุมพิเศษ โดยไม่ได้จัดประชุมเป็นประจําทุกวาระการประชุม AHMM) |
18. เรื่อง ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจใน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. ร่างเอกสารผลลัพธ์ที่จะมีการรับรองในการประชุมสุดยอดผู้นํา ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Greater Mekong Subregion Economic Cooperation Program: แผนงาน GMS) ได้แก่ (1) ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดผู้นํา ครั้งที่ 8 แผนงาน GMS (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ) และ (2) ร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 (ร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมฯ) ทั้งนี้ ให้ สศช. สามารถปรับปรุงถ้อยคําในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ได้ในกรณีที่มิใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสําคัญ โดยไม่ต้องนําเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบอีก
2. ให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเข้าร่วมการประชุมร่วมกับผู้นําประเทศ ลุ่มแม่น้ำโขงให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมทั้ง 2 ฉบับ โดยไม่มีการลงนาม
3. ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐมนตรีประจําแผนงาน GMS เพื่อเข้าร่วมการประชุม สุดยอดผู้นํา ครั้งที่ 8 แผนงาน GMS
สาระสําคัญของร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ สรุปได้ ดังนี้
1 ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
รับทราบความก้าวหน้าสําคัญ ในการดําเนินการตามกรอบ ยุทธศาสตร์แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 (GMS-2030)
|
เช่น (1) การจัดเตรียมแผนปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล พ.ศ. 2568 - 2570 ซึ่งมุ่งใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติดิจิทัลและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัลที่ครอบคลุมแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ที่ก้าวหน้าในแต่ละสาขาความร่วมมือ ประกอบด้วย สาขาการท่องเที่ยว สาขาการเกษตร และสาขาการค้าและการลงทุน ผ่านขั้นตอนการดําเนินงานที่เป็นรูปธรรม (2) การศึกษาเพื่อประเมินและปรับปรุงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา พื้นที่เศรษฐกิจชายแดนในบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ของแผนงาน GMS (3) การจัดทําแนวทางเชิงกลยุทธ์สําหรับการมีส่วนร่วม ของภาคเอกชนในแผนงาน GMS โดยเน้นแนวทางที่ส่งเสริม และขับเคลื่อนด้วยผลลัพธ์สําหรับการหารือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน การเสนอการจัดการเชิงสถาบันที่เฉพาะเจาะจง และกระบวนการเพื่อส่งเสริมและวางโครงสร้างการมีส่วนร่วม ของภาคเอกชน ในแผนงาน GMS |
ความสำเร็จภายใต้ความ ร่วมมือ รายสาขา แผนงาน GMS |
(1) สาขาการเกษตร ซึ่งมีโครงการการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน ซึ่งเสริมสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เกี่ยวกับคุณภาพ ความปลอดภัยทางอาหาร และการเกษตรยั่งยืน (2) สาขาพลังงาน ซึ่งมีความร่วมมือกับหุ้นส่วนการพัฒนาและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะด้านโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (3) สาขาสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีการจัดทํากรอบการดําเนินงาน เชิงยุทธศาสตร์เพื่อเร่งรัดการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2573 (4) สาขาสุขภาพ ซึ่งได้ดําเนินการตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (แนวคิดที่จะปรับปรุงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีผ่านการป้องกันความเสี่ยงและการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมต่อ ระหว่างมนุษย์ สัตว์และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ) และความพยายาม ในการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ผ่านการหารือด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย (5) สาขาการท่องเที่ยว ซึ่งได้มีความพยายามในด้านต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยว เช่น การเปิดพรมแดนอีกครั้งอย่างปลอดภัย (6) สาขาคมนาคม ซึ่งมีโครงการใหญ่ที่ประสบความสําเร็จ และจะช่วยพัฒนาความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค เช่น โครงการขยายทางหลวง ระยะที่ 2 ในไทย |
การดำเนินการในระยะต่อไป |
มุ่งเน้นถึงความจําเป็นในการออกแบบยุทธศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลและพัฒนาความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลข้ามพรมแดน สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสีเขียว และสนับสนุนความเชื่อมโยงจากความร่วมมือข้ามพรมแดนกับอนุภูมิภาคอื่น ๆ |
ร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมฯ
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อเร่งรัดกระบวนการที่มุ่งสู่การบรรลุกรอบยุทธศาสตร์แผนงานความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 ผ่านการดําเนินการต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมให้เกิดระบบนวัตกรรมที่สามารถจัดการกับความท้าทายของอนุภูมิภาค และการสนับสนุนการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่มีพลวัต |
แนวคิดเชิงกลยุทธ์ |
1. การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล: โดยสนับสนุนการพัฒนาความเชื่อมโยง ด้านดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานข้ามพรมแดน ส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลข้ามพรมแดน อํานวยความสะดวกในการแบ่งปันความรู้และการอภิปราย ในเรื่องกฎหมาย กฎ ระเบียบ และกรอบการดําเนินการด้านธรรมาภิบาล รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพสําหรับการเป็นผู้ประกอบการด้านดิจิทัล 2. การเปลี่ยนผ่านสีเขียว: ส่งเสริมแนวทางด้านนวัตกรรมและความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงความพยายามในการถ่ายทอดและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสีเขียว สนับสนุน การประยุกต์ใช้โครงสร้างพื้นฐานที่คาร์บอนต่ำและยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ พัฒนาความร่วมมือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อนําไปสู่การพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างตัวแสดงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้เกิดการหารือในเรื่องกรอบการดําเนินการด้านกฎระเบียบสําหรับโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศและเสริมสร้างทักษะเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านที่ยั่งยืน 3. ความเชื่อมโยง: ส่งเสริมการพัฒนาของทางเลือกความเชื่อมโยงด้านนวัตกรรม และพัฒนาการเชื่อมโยง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพด้านนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยบูรณาการ ระเบียงเศรษฐกิจจีเอ็มเอสเพื่อเชื่อมโยงเมือง ท่าเรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ และศูนย์การผลิต ทางเศรษฐกิจ รวมถึงเอื้อให้เกิดการแบ่งปันองค์ความรู้ด้านรูปแบบ ความเชื่อมโยง พลังงานขั้นสุดท้าย การเสริมสร้างเครือข่ายข้ามพรมแดนเพื่อส่งเสริมการพัฒนา ศักยภาพและการแลกเปลี่ยน และการส่งเสริมการหารือด้านการบูรณาการ กฎระเบียบเพื่อทําให้เกิดการขยายความเชื่อมโยง ในรูปแบบต่าง ๆ |
กลไกการขับเคลื่อน |
จะดําเนินการผ่านคณะทํางานรายสาขาของ GMS และกลไกอื่น ๆ เช่น (1) คณะทํางานเฉพาะกิจด้านนวัตกรรม: เพื่อกําหนดทิศทางการดําเนินงาน ติดตาม และรายงานผลความคืบหน้าของการดําเนินการ (2) การจัดประชุม: เพื่อแบ่งปันความรู้ด้านนวัตกรรมและนโยบายด้านนวัตกรรม (3) ความร่วมมือกับภาคเอกชน และ (4) การติดตามประเมินผล เพื่อใช้วัดผลลัพธ์ความก้าวหน้าเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย |
3. การรับรองร่างเอกสารทั้งสองฉบับจะก่อให้เกิดประโยชน์ ดังนี้
1. ส่งเสริมบทบาท สถานะ และเกียรติภูมิของไทยในเวที ระหว่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากการดําเนินความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคภายใต้แผนงาน GMS ในการพัฒนาและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ร่วมกันในทุกสาขาความร่วมมือที่มีศักยภาพ เพื่อสนับสนุน การดําเนินงานที่มีความสอดคล้องกับประเด็นการพัฒนาที่สําคัญและเป็นประโยชน์ร่วมกันในอนุภูมิภาคให้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันในทุกระดับ ทั้งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
2. เสริมสร้างความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ เช่น การพัฒนาความเชื่อมโยงของระบบคมนาคมขนส่งในอนุภูมิภาค ทั้งทางราง ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศ การสนับสนุนเกษตรกรรมที่ยั่งยืน และส่งเสริมบทบาทของสตรี ในภาคการเกษตร การส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืน การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม และการนําดิจิทัลมาปรับใช้ในการพัฒนา รวมถึงขยายความร่วมมือไปสู่การบูรณาการความร่วมมือ กับภาคส่วนต่าง ๆ
3. ส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและภาคธุรกิจไทยในการขยายการลงทุนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเชื่อมต่อและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ห่วงโซ่มูลค่าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งของไทยและอนุภูมิภาค
19. เรื่อง การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 6 (6th Greater Mekong Subregion Environment Ministers’ Meeting : GMS EMM-6) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรี ด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 6 (6Th Greater Mekong Subregion Environment Ministers’ Meeting : การประชุม GMS EMM-6) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง จํานวน 3 ฉบับ ได้แก่
1.1 GMS 2030 Strategic Framework for Accelerating Climate Action and Environmental Sustainability (กรอบยุทธศาสตร์ GMS 2030)
1.2 ร่างแถลงการณ์ร่วมกรุงพนมเปญว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากพลาสติกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ร่างแถลงการณ์กรุงพนมเปญฯ)
1.3 ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ร่างแถลงการณ์ลุ่มน้ำโขงฯ) ครั้งที่ 6
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม GMS EMM-6 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฉบับ
ทั้งนี้ หากมีความจําเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวที่มิใช่สาระสําคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้ ทส. พิจารณาดําเนินการได้ โดยไม่ต้องนํากลับไปเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
สาระสำคัญ
ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 6 (การประชุม GMS EMM - 6) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง จํานวน 3 ฉบับ ได้แก่ (1) GMS 2030 Strategic Framework for Accelerating Climate Action and Environmental Sustainability (2) ร่างแถลงการณ์ร่วมกรุงพนมเปญว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากพลาสติกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และ (3) ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 6 มีสาระสําคัญเป็นการแสดงความมุ่งมั่นของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (รวม 6 ประเทศได้แก่ ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน) ในการส่งเสริมการดําเนินงานเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การแก้ไขปัญหาและประเด็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมอื่น รวมถึงขยะพลาสติก ซึ่งจะมีการรับรองร่างเอกสารทั้ง 3 ฉบับ ดังกล่าวในที่ประชุมสุดยอดผู้นําแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 8 (The 8th GMS Summit) ระหว่างวันที่ 6 - 7 พฤศจิกายน 2567 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน
20. เรื่อง การรับรองร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ของการประชุมผู้นํายุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง ครั้งที่ 10
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ของการประชุมผู้นํายุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง ครั้งที่ 10 (Vientiane Declaration of the 10th Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) (ร่างปฏิญญาเวียงจันทร์ฯ) ทั้งนี้ หากมีความจําเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสําคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของราชอาณาจักรไทย ให้ กต. ดําเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
2. ให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ฯ ตามที่ประเทศสมาชิกมีฉันทามติ ในการประชุมผู้นํา ACMECS ครั้งที่ 10
สาระสำคัญ
ร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ของการประชุมผู้นํายุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง ครั้งที่ 10 (ร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ฯ) ซึ่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในฐานะประธานของ ACMECS มีกําหนดจัดการประชุมผู้นํา ACMECS ครั้งที่ 10 ภายใต้หัวข้อ “มุ่งสู่ความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อเพื่อการรวมตัวของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งต่อเนื่องกับการประชุมสุดยอดผู้นําแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Greater Mekong Subregion: GMS) ครั้งที่ 8 โดยจะมีการรับรองร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ฯ เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าว โดยมีสาระสําคัญ เช่น (1) สนับสนุนการรวมตัวทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก ACMECS (2) ยินดีต่อความสําเร็จของการจัดตั้งสํานักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS ณ กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทย (3) การขยายระยะเวลาดําเนินการของแผนแม่บท ACMECS (ค.ศ. 2019 - 2023) (4) การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นํา ACMECS ครั้งที่ 11 ในปี ค.ศ. 2026 ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่ง กต. และสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ฯ ไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 1778 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ประโยชน์ที่จะได้รับ: การรับรองร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ฯ สอดคล้องกับนโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยในการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และการลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนา รวมถึงเน้นย้ำบทบาทหลักของไทย ในการผลักดันประเด็นต่าง ๆ ที่ตอบสนองต่อความท้าทายในปัจจุบันของอนุภูมิภาคฯ และสนับสนุนความเข้มแข็งของอาเซียน โดยเฉพาะความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคมขนส่ง และความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และประเด็นความท้าทายรูปแบบใหม่อื่น ๆ เช่น ประเด็นปัญหาข้ามพรมแดน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในอนุภูมิภาค
21. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคม
และการพัฒนา สมัยพิเศษ และการประชุมครอบครัวแห่งเอเชีย (Special AFC-AMMSWD Meeting)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา สมัยพิเศษ เรื่อง “ความร่วมมือเพื่อความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับสถานภาพของครอบครัวในประเทศสมาชิกอาเซียน” (Joint Statement of the Special ASEAN Ministerial Meeting on Social Welfare and Development “Collaboration on Understanding the State of ASEAN Families”) (ร่างถ้อยแถลง ร่วมฯ) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ พม. ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และหลังจากนั้นให้รายงานผลเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป รวมทั้ง อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาสมัยพิเศษ และการประชุมครอบครัวแห่งเอเชีย (Special AFC-AMMSWD Meeting) (การประชุมฯ) ให้การรับรอง (adopt) ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ในวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. การประชุมฯ ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2567 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ จะมีการเสนอร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ซึ่งจะใช้เป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ เพื่อให้รัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาหรือผู้แทนพิจารณาให้การรับรองโดยไม่มีการลงนาม ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
2. ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการตระหนักรู้ถึงการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรในระดับภูมิภาคอาเซียน เช่น ประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สนับสนุนให้ประเทศอาเซียนได้ปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางประชากร ให้มีความเข้าใจต่อความท้าทายที่ครอบครัวอาเซียนกำลังเผชิญ โดยมุ่งมั่นที่จะดำเนินการร่วมกันเพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัวอาเซียนผ่านวิธีการต่าง ๆ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนข้อมูล แนวโน้ม และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวอาเซียนผ่านการทำแบบสำรวจระหว่างประเทศ (Cross-Country Survey) ภายในเมืองหลวงของประเทศสมาชิกเพื่อสำรวจค่าความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งครอบคลุมความสามารถในการฟื้นตัวและคุณภาพชีวิตของครอบครัวอาเซียน การส่งเสริมการวิจัยที่เน้นครอบครัวเป็นศูนย์กลาง และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนนักวิจัยในระดับภูมิภาคอาเซียนเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับสถานะของครอบครัวอาเซียนในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
3. ประโยชน์ที่จะได้รับ การให้ความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมฯ มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายและผลประโยชน์ของประเทศไทย โดยถือเป็นการย้ำเจตจำนงและความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงและความเข้มแข็งต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรในระดับภูมิภาค ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการดำเนินความร่วมมือเพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัวของประเทศสมาชิกอาเซียน
22. เรื่อง การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP 29) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน
คณะรัฐมนตรีรับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนของประเทศไทยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP 29) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน และเห็นชอบต่อกรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประจําปี พ.ศ. 2567-2568 ทั้งนี้ หากมีความจําเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกรอบท่าทีเจรจาฯ ที่ไม่ใช่สาระสําคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดําเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสําคัญ
1. ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่อกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิธีสารเกียวโต และความตกลงปารีส เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 วันที่ 28 สิงหาคม 2545 และวันที่ 21 กันยายน 2559 ตามลําดับ และได้ดําเนินการตามพันธกรณีของกรอบอนุสัญญาฯ พิธีสารเกียวโต และความตกลงปารีส รวมถึงการเข้าร่วมการประชุมในฐานะรัฐภาคีมาโดยตลอด โดยมีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทําหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานกลางของประเทศภายใต้กรอบ อนุสัญญาฯ
2. สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 29 (COP 29) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการประชุมประจําปีของรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ พิธีสารเกียวโต และความตกลงปารีส เพื่อหารือรายละเอียดความร่วมมือและกําหนดทิศทางการดําเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประชาคมโลก โดยสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ในฐานะประเทศเจ้าภาพและประธานการประชุม COP 29 กําหนดวิสัยทัศน์ในการยกระดับความมุ่งมั่น และสนับสนุนการดําเนินงาน (Enhance Ambition, Enable Action) เพื่อเป็น 2 เสาหลักในการดําเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเสาหลักที่ 1 การยกระดับความมุ่งมั่น ครอบคลุมการจัดทํานโยบายและแผนงานที่ชัดเจนในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส การจัดทําเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนด (Nationality Determined Contribution : NDC) การจัดทําแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan : NAP) การจัดทํารายงานความโปร่งใสรายสองปี (Biennial Transparency Report : BTR) ที่แสดงถึงความทะเยอทะยาน และมีประสิทธิภาพและเสาหลักที่ 2 การสนับสนุนการดําเนินงานครอบคลุมกลไกการสนับสนุน (Means of Implementation) อาทิ การเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพ นอกจากนี้ สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานกําหนดเป้าหมายสําคัญที่ต้องการผลักดันในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย การจัดทําเป้าหมายทางการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance : NCQG) การยกระดับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการจัดทําเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนดฉบับที่ 2 (NDC 3.0) ซึ่งมีกําหนดจัดส่งในปี ค.ศ. 2025 การจัดทําตัวชี้วัดภายใต้เป้าหมายการปรับตัวระดับโลก การดําเนินงานของกองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย
3. องค์ประกอบคณะผู้แทนของประเทศไทยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 29 (COP 29) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 9-22 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4. กรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประจําปี พ.ศ. 2567- 2568 เป็นไปตามหลักการของกรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนของประเทศด้านการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ และไม่ขัดกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา
ประโยชน์และผลกระทบ
การเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP 29) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน เป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้แสดงบทบาทและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับนานาประเทศในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและให้เกิดการขับเคลื่อนการดําเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลาง ทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065
23. เรื่อง รายงานผลการเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียของรองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ละคณะผู้บริหารระดับสูง พน. ตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอ
สาระสำคัญ
1. รองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 15 - 16 กรกฎาคม 2567 เพื่อหารือกับเจ้าชายอับดุลอะซีซ บิน ซัลมาน อาล ซะอูด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย และคณะผู้บริหารที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานของซาอุดีอาระเบีย และติดตามความคืบหน้าและพัฒนาความร่วมมือด้านพลังงานภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานระหว่าง พน. แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักร ซาอุดีอาระเบีย (บันทึกความเข้าใจฯ) โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
ผลการหารือกับซาอุดีอาระเบีย
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
การผลักดันความร่วมมือ
|
ภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าว ฝ่ายไทยได้ขอให้ฝ่ายซาอุดีอาระเบียพิจารณาความเป็นไปได้ในการเข้ามาลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในบริเวณ พื้นที่ภาคใต้ของไทย และเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทํางานร่วมกันเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนโครงการ/กิจกรรมความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าวต่อไป ในการนี้ ฝ่ายซาอุดีอาระเบียเห็นพ้องให้มีการจัดตั้งคณะทํางานร่วมกันเพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างสองประเทศ เช่น ด้านน้ำมัน ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและไฮโดรเจนสีเขียว ด้านไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้านการอนุรักษ์พลังงาน ด้านการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน ด้านเทคโนโลยีพลังงานที่ยั่งยืน ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และด้านคมนาคมขนส่ง |
การรายงานความก้าวหน้าและแนวทางแก้ไข |
ฝ่ายไทยได้รายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับความก้าวหน้าของการดําเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการศึกษาและพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว และแนวทางแก้ไข [เป็นความร่วมมือระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) และบริษัท ACWA Power ของซาอุดีอาระเบีย] ว่า ปัจจุบันต้นทุนในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวยังสูงและไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่มีแนวทางที่จะลดต้นทุนดังกล่าวได้ กล่าวคือ หากสามารถระบุกลุ่มลูกค้าและเป้าหมายของประเทศที่จะส่งออกก็จะช่วยในการวางแผนการเลือกสถานที่ก่อสร้างที่มีศักยภาพในพื้นที่ภาคใต้ที่สามารถลดต้นทุนบางส่วนได้ และหากเป็นการลงทุนที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์จะช่วยลดปัญหาข้อจํากัดของสายส่งและลดต้นทุนลงได้ นอกจากนี้หากบริษัท ACWA Power มีเทคโนโลยีที่จะสามารถช่วยลดต้นทุน ก็จะเป็นการสนับสนุนได้อีกทางหนึ่ง มติที่ประชุม: เห็นพ้องให้มีการจัดตั้งคณะทํางานร่วมกันเพื่อติดตามแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนการดําเนินงานร่วมกันต่อไป |
ประเด็นอื่น ๆ |
ฝ่ายซาอุดีอาระเบียได้แนะนําบริษัทชั้นนําด้านพลังงานให้แก่ฝ่ายไทย เช่น (1) บริษัท SABIC (Saudi Arabia Basic Industries Corporation) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ค้าน้ำมันดิบ และเคมีภัณฑ์และมีนโยบายการพัฒนาไฮโดรเจน (2) บริษัท SEIC (Saudi Egyptian Investment Company) ซึ่งเป็นบริษัทกองทุนที่มีเป้าหมายในการลงทุน ในหลากหลายอุตสาหกรรม ตลอดจนการผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ ทั้งนี้ ฝ่ายซาอุดีอาระเบีย เสนอให้ไทยพิจารณานําเข้าน้ำมันดิบเพิ่มเติมจากซาอุดีอาระเบียด้วย |
ทั้งนี้ พน. จะจัดตั้งคณะทํางานตามบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงาน ด้านพลังงานระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย สําหรับดําเนินการ/กิจกรรมความร่วมมือด้านพลังงาน ให้เกิดผลสําเร็จเป็นรูปธรรมตามวัตถุประสงค์ของบันทึกความเข้าใจฯ ต่อไป
1.2 การเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ ของซาอุดีอาระเบีย
สถานที่ |
สาระสำคัญ |
การเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ ของซาอุดีอาระเบีย |
|
SABIC Home of Innovation |
ได้นําเสนอโครงการบ้านประหยัดพลังงานที่มีการออกแบบบ้าน โดยนําเทคโนโลยีประหยัดพลังงานมาใช้เพื่อลดความร้อนและลดการใช้พลังงาน เช่น กระจกลดความร้อนและวัสดุที่ทนทาน รวมถึงการนําเทคโนโลยีอัจฉริยะ มาใช้ในการควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ การบําบัดและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังได้เชิญชวนให้ผู้ประกอบการ และนักลงทุนเข้ามาดําเนินธุรกิจร่วมกันต่อไป |
บริษัท Saudi Aramco ณ เมืองดาร์ราน |
(1) เยี่ยมชมศูนย์บริหารสั่งการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีหน้าที่ในการบริหารจัดการด้านการผลิต การขนส่ง และการติดตามการขนส่ง ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่สามารถรายงานผลได้แบบทันท่วงที (2) เยี่ยมชมศูนย์วิจัยและนวัตกรรมที่มีการนําเทคโนโลยีมาช่วยในการสํารวจ และวางแผน ตลอดจนความปลอดภัยของอุตสาหกรรมการผลิตปิโตรเลียม เช่น โดรน ทุ่นสํารวจใต้น้ำ หุ่นยนต์ รวมถึงการนําร่องโครงการดักจับ และกักเก็บคาร์บอนที่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 0.8 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ บริษัท Saudi Aramco เล็งเห็นว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความสําคัญในการลงทุนด้านพลังงานและการสร้างโรงกลั่น ซึ่งบริษัท Saudi Aramco เล็งเห็นถึงความสําคัญในการต่อยอดการนําน้ำมันดิบไปผลิตเป็นปิโตรเคมี จึงมีความพยายามที่จะหาช่องทางในการพัฒนาความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัท Saudi Aramco ได้มีการลงนามร่วมกับ บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) เพื่อร่วมกันศึกษาและพัฒนาไฮโดรเจนต่อไป |
1.3 การหารือกับองค์การการประชุมด้านพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Forum: IEF)
IEF เชิญชวนให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ IEF ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ต่อการเข้าร่วมการประชุมกับผู้นําระดับสูงทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยจะต้องมีค่าบํารุงสมาชิกรายปีด้วย ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้แจ้งว่าการสมัครเข้าเป็นสมาชิกจะมีกระบวนการภายในประเทศ ซึ่ง พน. จะจัดทําข้อมูลเกี่ยวกับเหตุผลความจําเป็นผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ และงบประมาณเพื่อนําเสนอประกอบการพิจารณาอนุมัติของคณะรัฐมนตรีต่อไป
2. พน. แจ้งว่า การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์ ในหลายด้าน เช่น (1) เปิดโอกาสในการแสวงหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูก เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว (2) ส่งเสริมแนวนโยบายการพัฒนา แหล่งสํารองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์จากการเชิญชวนฝ่ายซาอุดีอาระเบียร่วมลงทุนในโครงการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสําหรับการจัดเก็บ การขนส่ง และการกลั่นน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ของไทย (3) เปิดโอกาสในการผลักดันโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวร่วมกับบริษัทด้านพลังงาน ของซาอุดีอาระเบีย และ (4) ส่งเสริมความร่วมมือในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงาน
แต่งตั้ง
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางเพลินพิศ โพธิสัตย์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านข้อมูลข่าวสารของราชการ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ)
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 3 ราย ดังนี้
1. พลตำรวจเอก รอย อิงคไพโรจน์ ตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี
(นายภูมิธรรม เวชยชัย)
2. นายคารม พลพรกลาง ตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
3. นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ ตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
26. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางลาลีวรรณ กาญจนจารี และนายนิยม เติมศรีสุข เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว
27. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี จำนวน 11 ราย ดังนี้
1. พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
2. พลตำรวจตรี สุรสิทธิ์ สังขพงศ์
3. นางสาวณหทัย ทิวไผ่งาม
4. นายนิยม เวชกามา
5. นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา
6. นายเอกพร รักความสุข
7. นายวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ
8. นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา
9. นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ
10. นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์
11. นายสมศักดิ์ กาญจนวัฒนา
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว
28. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอาหารแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ จำนวน 7 ราย เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้
1. ศาสตราจารย์พิเศษภักดี โพธิศิริ ด้านคุณภาพอาหาร
2. นางอรทัย ศิลปนภาพร ด้านความปลอดภัยด้านอาหาร
3. นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ด้านความมั่นคงด้านอาหาร
4. นายสุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย ด้านอาหารศึกษา
5. นายโกมล จิรชัยสุทธิกุล ด้านกฎหมาย
6. นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ด้านเศรษฐกิจและการค้า
7. นายวันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ด้านการบริหารจัดการ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี