อีก2สัปดาห์ตั้งJTCถกพื้นที่ทับซ้อน
เมินเสียงต้านMOU44
‘อิ๊งค์’เดินหน้าลุยคุยเขมร
‘ภูมิธรรม’ย้ำเกาะกูดของไทย
คปท.ค้าน‘บิ๊กอ้วน’ปธ.เจรจา
ปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบฯ
“อุ๊งอิ๊งค์”ไม่สนเสียงคัดค้าน เดินแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา เข้าที่ประชุม ครม. ไม่เกินภายใน 2 สัปดาห์ “ภูมิธรรม”ย้ำอีกเกาะกูดเป็นของคนไทย โยน”บิ๊กป้อม”รู้ดีเพราะเคยไปเจรจามาก่อน ด้าน คปท.ชุมนุมหน้าทำเนียบฯจ่อปักหลักยาว หาก ‘ภูมิธรรม’ ได้นั่งประธาน ‘JTC’
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 5 พฤศจิกายน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า วันนี้ที่ประชุมยังไม่มีการพิจารณาเรื่องการแต่งตั้ง คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค หรือ Joint Technical Committee: JTC เพื่อเจรจาเรื่องสิทธิและผลประโยชน์ พื้นที่ซับซ้อนทางทะเล ระหว่างประเทศไทย และกัมพูชา หรือพื้นที่ OCA ภายใต้ MOU 2544 เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่คาดว่าไม่น่าเกิน 2 สัปดาห์ เรื่องดังกล่าวจะเข้าสู่ที่ประชุม ครม.
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า เรื่องของ MOU 44 ที่พูดไปเมื่อวานนี้ว่า จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อไปเจรจา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ที่ต้องมีคณะกรรมการขึ้นมา ซึ่งทุกรัฐบาลมีมาแล้ว แต่รัฐบาลนี้ยังแต่งตั้งไม่เสร็จ ซึ่งการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อมากลั่นกรองข้อมูล และการสื่อสาร จึงจำเป็นจะต้องตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมา
ส่วนจะเป็นนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง นั่งเก้าอี้เป็นประธานฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศแถลงหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า คงต้องไปดูกันอีกที
ภูมิธรรมร่ายยาวที่มาJTC
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะดูแลหน่วยงานด้านความมั่นคง กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทยกัมพูชา (JTC) เพื่อหารือกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลหรือเอ็มโอยู 44 ของ 2 ประเทศจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เมื่อไร ว่า เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องพิจารณา แต่ทางคณะกรรมการเดิม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการจะมีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน ตัวแทน กรมสนธิสัญญา กฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น คณะกรรมการชุดใหม่ก็ต้องให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้พิจารณา แต่ขณะนี้ตนยังไม่เห็นรายละเอียด
ย้ำ”เกาะกูด”เป็นของไทย
เมื่อถามว่ากรณีที่นายกรัฐมนตรี ระบุหากยกเลิกเอ็มโอยู 44 ไทยอาจจะเสียประโยชน์มากกว่า นายภูมิธรรม กล่าวว่า เรื่องเอ็มโอยู 44 ต้องกลับไปดูสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ตอนนั้นฝรั่งเศสได้ขอพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ และยกฝั่ง จ.ตราด และเกาะต่างๆให้ไทย ดังนั้นเกาะกูดหากยึดตามสนธิสัญญาดังกล่าว การแบ่งเส้นเขตแดน จึงเห็นว่าเกาะกูดเป็นของไทยมาตั้งแต่ต้นไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงและทางกัมพูชาก็ไม่ได้เคลมเรื่องนี้ รวมถึงยอมรับในสนธิสัญญาดังกล่าว ดังนั้นการนำมาเป็นประเด็นว่าจะยกเกาะกูดให้จึงไม่เป็นจริง และไม่เกี่ยวกับเอ็มโอยูดังกล่าว
“ยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของไทย 100% และนายกฯได้ประกาศแล้วว่าเราจะไม่ยอมเสียดินแดนตรงนี้ไป และรักษาไว้เท่าชีวิต ซึ่งขณะนี้เรามีหน่วยงานราชการต่างๆอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว และขอให้ยุติเรื่องนี้เพราะเป็นคำพูดที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง” นายภูมิธรรม กล่าว
ยุคอภิสิทธิ์แค่คิดยกเลิกMOU
นายภูมิธรรม ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เอ็มโอยู 44 มันเกิดขึ้นจากการประกาศไหล่ทวีป ซึ่งปี 2515 กัมพูชาประกาศมาใกล้เขตแดนไทยและปี 2516 เราก็ประกาศไปใกล้เขตแดนเขา จึงมีพื้นที่ทับซ้อนอยู่ และพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวก็เป็นเรื่องของเอ็มโอยูที่บอกว่าในโลกทั้งหมดไม่ว่าใครที่มี พื้นที่ทับซ้อนจะต้องเจรจา ดังนั้นเอ็มโอยู 44 จึงเป็นข้อตกลงที่ให้ไปเจรจากัน ว่าการแบ่งดินแดนในทะเลจะเป็นของใคร หากเข้าใจตรงนี้ก็จะไม่สับสนแล้วมาตั้งคำถามที่เป็นปัญหา ดังนั้นไทยกับกัมพูชาจึงต้องเจรจากัน เพราะหากไทยยกเลิกตรงนี้ก็เท่ากับว่าไทยไม่รักษาสิทธิในเขตแดน
นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่าสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นกระทรวงการต่างประเทศเสนอให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 เพราะมีแรงกดดันทั้งประเด็นปราสาทพระวิหาร และเรื่องชายแดนต่างๆ ซึ่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้แค่รับหลักการไปดูรายละเอียด และกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ขอความเห็นจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทุกหน่วยงานยืนยันว่าเอ็มโอยู 44 เป็นกลไกที่ดีที่สุดในการเจรจา และที่บอกว่าสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยกเลิกนั้นไม่จริง และในปี 2557 สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ก็ดำเนินการต่อโดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรีกำกับด้านความมั่นคง ไปเจรจาเรื่องเอ็มโอยู 44 ดังนั้น มองว่าไม่ว่าส่วนใดหรือพรรคการเมืองใดพูดเรื่องนี้ควรกลับไปดูประวัติศาสตร์ และข้อตกลงระหว่างสยามฝรั่งเศส จึงอย่าถามอะไรที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง และหากถามนอกเหนือจากกรอบดังกล่าวก็คงต้องหาคำตอบกันเอง และสำหรับประเด็นนี้ตนจะไม่ตอบอีกแล้ว
โยนพปชร.ไปถามบิ๊กป้อม
เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่กลุ่มการเมืองพรรคพลังประชารัฐออกมาโจมตีเรื่องนี้ทั้งที่ปี 2557 พล.อ.ประวิตร เป็นประธานเจรจาเรื่องดังกล่าว นายภูมิธรรม กล่าวว่า กลุ่มการเมืองพรรคพลังประชารัฐก็ต้องกลับไปดูว่าหัวหน้าพรรคไปเจรจาเอ็มโอยู 44 ทั้งหมดเหมือนกัน
“ถ้าถามแบบนี้พลังประชารัฐก็ต้องกลับไปถามหัวหน้าพรรคตัวเอง ว่าตอนนั้นทำไมถึงไปเจรจา” นายภูมิธรรม กล่าว เมื่อถามว่า เป็นเพราะสายสัมพันธ์ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯกับผู้นำกัมพูชาหรือไม่ ที่ทำให้ประเด็นดังกล่าวถูกหยิกยกมาโจมตีในรัฐบาล นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่เกี่ยวเลย เพราะประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องของรัฐบาล ส่วนการพูดโจมตีประเด็นไหนก็ต้องไปถามเหตุผลเขา แต่ตนคิดว่าควรยืนยันข้อเท็จจริง และหากถามมาก็ทำให้ภายในแตกแยก และวันนี้ต้องไปดูว่าต่อรองผลประโยชน์ทางทะเลได้อย่างไร แต่เรื่องนี้ถูกขุดขึ้นมาโดยที่ยังไม่ได้มีการดำเนินการอะไรเลย เมื่อถามว่า หลักการเจรจาแบ่งขุมทรัพย์ใต้ทะเลรัฐบาลนี้จะแบ่งเท่ากันหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่าอย่าพึ่งไปคุยตรงนั้นเลย เพราะมันยังไม่เกิดถึงเวลาเราใช้กฎหมายทางทะเล และกฎหมายระหว่างประเทศเป็นตัวดำเนินการ
ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่ตรวจราชการเกาะกูด จ.ตราด ผู้สื่อข่าวถามว่า การลงพื้นที่เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นใช่หรือไม่ รองนายกฯตอบ ไม่ต้องไปสร้างความเชื่อมั่น เพราะเกาะกูดเป็นของไทยอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดประเด็นเราก็ไปดูไปให้กำลังใจชาวบ้าน
รทสช.รักษาผลประโยชน์ชาติ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีจุดยืนการแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อน ระหว่างไทย-กัมพูชา ของรัฐบาลและพรรครวมไทยสร้างชาติ เรื่องนี้พรรครวมไทยสร้างชาติเรารักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นอันดับหนึ่ง ตนยืนยันว่าจะต้องไม่มีการนำพื้นที่อธิปไตยของประเทศไปอยู่ในการเจรจาต่อรองทุกรูปแบบ เมื่อวานนี้ตนได้รับคำยืนยันจากทีมงานของกระทรวงการต่างประเทศและตัวนายกรัฐมนตรีว่า ไม่ว่าเรื่องนี้จะออกมาในรูปแบบไหนทางเราจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นอันดับหนึ่งอย่างแน่นอน และพื้นที่เกาะกูดที่หลายฝ่ายยังกังวล ตนก็ยังยืนยันคำเดิมว่าเป็นพื้นที่ของไทยอย่างแน่นอน
เมื่อถามว่านายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯและรมว.พลังงาน นจะต้องเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการทางเทคนิคด้วยหรือไม่ เรื่องนี้ตนยังไม่ทราบ
ค้านภูมิธรรมประธานJCT
วันเดียวกัน ที่สะพานชมัยมรุเชฐ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) พร้อมรถเครื่องขยายเสียงเดินทางมาเคลื่อนไหวเพื่อแสดงจุดยืน และข้อกังวลในเรื่องบันทึกข้อตกลงไทย-กัมพูชา (MOU 2544) เกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ภายหลังกัมพูชาลากเส้นแบ่งเขตทับเกาะกูด ซึ่งห่วงว่า รัฐบาลพุ่งเป้าเจรจาด้านผลประโยชน์พลังงาน ก่อนทำเรื่องเขตแดนให้ชัด และเตรียมกำหนดแนวทางชุมนุมยืดเยื้อ หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติชอบตั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC)
โดย นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท.ระบุถึงแนวทางการชุมนุมทางการเมือง หน้าทำเนียบรัฐบาล ภายหลังจากพักการชุมนุมในช่วงที่ผ่านมา ว่า ยังคงเดินหน้าตรวจสอบนโยบายรัฐบาล รวมทั้งประเด็น MOU 2544 ระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องที่ตรวจสอบจากหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบ่อนคาสิโน, นโยบายการเช่าที่ดิน 99 ปี และกรณีชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
พร้อมชุมนุมยืดเยื้อ
สำหรับการชุมนุมเคลื่อนไหวในวันนี้ จะเน้นไปในประเด็นผลประโยชน์ทางทะเล ที่เกี่ยวข้องกับ MOU 2544 เพราะมีข้อกังวลเกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาล ที่อาจจะนำแหล่งพลังงานขึ้นมาใช้ก่อนที่จะมีการเจรจาเรื่องเขตแดน เนื่องจาก คปท.มองว่า ควรจะมีการเจรจาควบคู่กันไป เมื่อเขตแดนชัดเจน แล้วจึงพูดคุยถึงเรื่องผลประโยชน์ด้านพลังงาน
นายพิชิต กล่าวอีกว่า เรื่องนี้มีความชัดเจนตั้งแต่รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการตกลงร่วมกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในครั้งนั้น และท่าทีนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศชัดเจนว่า จะเร่งดำเนินการ เจรจาเรื่องผลประโยชน์พลังงาน
โดยหลังจากทางกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวถึงความคืบหน้าเรื่อง JTC และมีแนวโน้มว่า นายภูมิธรรม จะเป็นประธาน จึงมีข้อกังวลว่า ท่าทีของนายภูมิธรรม จะพูดเรื่องผลประโยชน์ด้านพลังงานก่อน ดังนั้น ถ้าคณะกรรมการชุดนี้ ผ่าน ครม. ก็จะกำหนดแนวทางการชุมนุมยืดเยื้อต่อไป
เผยสว.ร่วมชุมนุมด้วยเพียบ
ทั้งนี้ ได้มีการหารือกับอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) บางคน ที่จะมาร่วมกัน ติดตามกรณี MOU 2544 ซึ่ง คปท.มีการจัดกิจกรรมที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม ทุกเดือนอยู่แล้ว และก็จะใช้เวทีนี้เชิญอดีต สว. และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน มาเป็นพันธมิตรร่วมกัน
นายพิชิต ยืนยันว่า จะไม่ปล่อยเรื่องนี้ เพราะนอกจากเรื่อง MOU 2544 ทางกลุ่ม คปท. จะยังคงติดตามเรื่องของชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ และเรื่องบ่อนกาสิโน ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังพยายามจะผลักดันเข้าสู่ที่ประชุม ครม. รวมทั้งประเด็นร้อนที่ คปท.ไปยื่นหนังสือต่อธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะเกรงว่าการเมืองจะเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี