“นายกฯอิ๊งค์”แจงขอขยายเวลายื่นบัญชีทรัพย์สินฯต่อ ป.ป.ช.ไปอีก 30 วัน เหตุเตรียมไม่ทัน ต้องทำให้รอบคอบปัดตอบโอนหรือขายให้“พี่สาว-แม่”บอกไม่ติดอยู่แล้ว“ไอติม”ขอพบ-หารือปมแก้ไขรธน.แต่ต้องคุยแบบคณะทางการพร้อมรับฟัง ย้ำทำในส่วนที่ทำได้และถูกต้อง ย้ำไม่แตะหมวด 1-2ที่พรรคร่วมฯตกลงไว้‘เอกนัฏ’เผย‘รทสช.’ไม่ขัด‘แก้รัฐธรรมนูญ’แม้ไม่มีนโยบายแต่ห้ามแตะหมวด 1,2-มาตรการปราบโกง‘วราวุธ’ยันแก้รธน.ยังเป็นเรื่องด่วนรบ.แต่กลไกสสร.สำคัญกว่า นายกฯออนทัวร์!บินไปจีน ยกประเด็นแก้ปัญหาอาชญากรข้ามชาติ-ยาเสพติดประชุมประเทศกลุ่มอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขงที่คุนหมิง
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ถึงกรณียื่นหนังสือขอขยายเวลาการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกไป 30 วันเป็นเพราะอะไรว่า ยังเตรียมไม่ทัน งานทุกอย่างเข้ามารุมเร้ามาก ในเรื่องของการแจงบัญชีทรัพย์สินอย่างไรต้องแจงอยู่แล้ว การขอขยายเวลาเพื่อให้ละเอียดขึ้นครบถ้วนขึ้น ทางครอบครัวก็ช่วยด้วย
เมื่อถามว่าหุ้นที่เคยถือไว้ 16 บริษัทได้จัดการขายหรือโอนหุ้นไปแล้วหรือยัง น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า มีการจัดการทุกอย่าง เราต้องเอาเรื่องข้อกฎหมายมาดูว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เรื่องนี้ทางครอบครัวทั้ง น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ พี่สาว และนายปิฎก สุขสวัสดิ์ สามี ช่วยดูเรื่องนี้กับทีมกฎหมายเมื่อถามว่าหุ้นในบริษัท บริษัทอัลไพน์กอล์ฟแอนด์สปอร์ตคลับจำกัด และ บริษัท ประไหมสุหรีพร้อพเพอร์ตี้ จำกัด ที่โอนให้พี่สาวกับแม่ ข้อเท็จจริงเป็นการโอนหรือขายหุ้น น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ขอให้รายละเอียดภายหลังขอยังไม่ตอบเรื่องนี้
ไม่ติด’ไอติม’ขอพบ-ถกปมแก้รธน.
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงกรณีที่ นายพริษฐ์วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชนจะขอเข้าหารือเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า“ได้ รับฟังอยู่แล้ว ถ้ามีอะไรก็ต้องมาคุยกันหรือคุยกันเป็นทางการเป็นกิจจะลักษณะ”เมื่อถามว่านายพริษฐ์ได้ส่งหนังสือขอเข้าพบมาแล้วหรือยัง น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า”ไม่มีนะคะ ได้ยินจากทางสื่อเป็นครั้งแรก”เมื่อถามย้ำว่าถ้าเขาติดต่อมาจะให้เจอตัวหรือไม่ นายกฯกล่าวพร้อมพยักหน้าว่า”ได้คะ ไม่ติดอยู่แล้ว“
ย้ำจะต้องทำส่วนที่ทำได้-ถูกต้อง
เมื่อถามว่านายพริษฐ์ กังวลว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเสร็จไม่ทันสมัยนี้จึงจะขอความร่วมมือกับนายกฯ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เราต้องทำในส่วนที่เราทำได้ และถูกต้อง เพราะถ้าระยะยาวไปจะมีปัญหาภายหลัง การมาอยู่ตรงนี้ทำให้ทราบเรื่องของปัญหาต่างๆเยอะว่าถ้าเรารีบในขั้นตอนเกินไป นอกจากจะไม่ได้ผลลัพธ์แล้วระหว่างทางจะถูกฟ้องกันด้วย อันนี้ต้องช่วยกันดูนิดหนึ่ง
ไม่แตะหมวด1-2ข้อตกพรรคร่วมฯ
เมื่อถามว่าแนวทางของรัฐบาลจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐบาลสมัยนี้ใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เราต้องรับฟังความคิดเห็นให้ครบ แล้วต้องคุยกันว่าไทม์ไลน์เป็นอย่างไรบ้าง และเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ก็ต้องมาพูดคุยกัน และเก็บหมวด 1 หมวด 2ไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคร่วมมือกัน
เมื่อถามว่าในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายกฯ มองว่าอะไรเป็นอุปสรรค์มากที่สุดในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ถามเช่นนี้มันก็จะเปิดการโต้แย้งไปนิดหนึ่ง แต่เราก็ทราบอยู่แล้วว่าเราต้องพยายามให้เอื้อต่อประชาธิปไตย และพี่น้องประชาชนมากที่สุด ขอตอบกว้างๆ แบบนี้
รทสช.ไม่ขัดแก้รธน./ห้ามแตะหมวด1-2
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.)กล่าวถึงการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 4พ.ย.ที่ผ่านมาว่าได้มีการพูดคุยกัน2เรื่องคือพ.ร.บ.นิรโทษกรรมและการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยังได้รับคำยืนยันว่าในส่วนของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะไม่มีการแตะมาตรา112ซึ่งเป็นจุดยืนหลักของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด เราจะไม่สังฆกรรมไม่สนับสนุนและพร้อมจะขัดขวางทุกวิถีทางในเรื่องการแก้ไขมาตรา 112รวมไปถึงการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องไม่นับรวมเรื่องมาตรา 112
“ผมได้ชี้แจงในที่ประชุมว่าในฐานะที่เป็นเลขาธิการพรรครทสช.เรามีจุดยืนที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มหาเสียงว่า การแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่นโยบายหลักของพรรค แต่หากเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาลอื่น เราไม่ขัดข้อง แต่จะไม่ต้องแตะหมวด 1และ2ของรัฐธรรมนูญรวมถึงมาตรการการป้องปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ”นายเอกนัฎ ย้ำ
‘วราวุธ’ยันแก้รธน.เป็นเรื่องด่วนรบ.
นายวราวุธศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์ที่นายนิกร จำนง ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนาระบุว่าอาจทำประชามติไม่ทันการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดช่วงเดือนกุมภาพันธ์2568ว่าเรื่องนี้ยังถือเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าในการเลือกตั้งท้องถิ่นต้นปีหน้า จะไม่ทันการทำประชามติ ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปี 2570ก็อาจจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ทัน การทำงานเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหัวใจสำคัญอยู่ที่รัฐบาลชุดนี้จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)
“เพราะกลไกการทำงานแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อมีส.ส.ร.แล้ว อายุหรือสถานะของ ส.ส.ร. ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวาระของสภาชุดนี้ เนื่องจากสภาจะครบวาระในวันที่ 13 พฤษภาคม 2570 หากมีการตั้ง ส.ส.ร.ได้ก่อนหน้านั้นการดำเนินการของส.ส.ร.ก็จะสามารถดำเนินการไปโดยที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับสภาอย่างสมัยรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ไม่ได้เกิดขึ้นช่วงสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปะอาชา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือส.ส.ร.และแม้รัฐธรรมนูญ2540 ไม่ได้ประกาศใช้ในช่วงรัฐบาลนั้นแต่ประชาชนก็ยังได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้”หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุ
หนุนกลไกสสร.-แก้รายมาตราได้
นายวราวุธ กล่าวว่า ดังนั้น การทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ขออย่าเพิ่งหมดหวัง หัวใจสำคัญคือการเร่งดำเนินการให้เต็มที่ เพื่อให้เกิดส.ส.ร.ขึ้นมารวมถึงจะมีกลไกในการรับฟังความคิดเห็นประชาชนทุกพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การได้มาของรัฐธรรมนูญที่เป็นฉบับของประชาชนอย่างแท้จริงการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ก็อย่าเพิ่งกังวลว่าเราจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะกฎหมายเลือกตั้งเป็นกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้ต้องแก้ที่ตัวรัฐธรรมนูญอย่างเดียวยังมีสภาที่สามารถแก้ไขกฎหมายมาตราต่างๆได้ เว้นแต่กติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หากมีประเด็นใดที่อยากจะแก้ก็สามารถใช้สภาในการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งได้อยากฝากข้อสังเกตและให้กำลังใจกับรัฐบาล
สำหรับกรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มีแนวทางมาค่อนข้างชัดเจนว่าการแก้มาตรา 256 จะต้องมีการทำประชามติก่อน เมื่อจัดทำส.ส.ร.แล้ว จะมีการทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง แต่จะเป็น 2หรือ3ครั้งนั้น ย้ำว่าช้าๆ ได้พร้าเล่มงานเสียดีกว่า หากทำลัดขั้นตอน แล้วเกิดปัญหา ความพยายามตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา จะกลับไปที่ศูนย์ใหม่ หากเพิ่มเวลาอีกนิด ทำประชามติตามขั้นตอน ท้ายที่สุดแล้วจะคุ้มค่าเงิน
“เครดิตของการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ ไม่ได้แปลว่ารัฐธรรมนูญจะต้องประกาศใช้ในรัฐบาลนั้นๆ แต่การที่ทำให้เกิด ส.ส.ร. คือหัวใจสำคัญมากกว่า เพราะเป็นที่มาที่ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ ฉันใดฉันนั้น เหมือนสมัยรัฐบาลของนายบรรหาร”นายวราวุธ กล่าว
นายกฯออนทัวร์!บินไปจีน 6-7พ.ย.นี้
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Economic Cooperation Program Summit: GMS Summit) ครั้งที่ 8 และการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ 10 ในวันพุธ-พฤหัสบดีที่ 6-7 พฤศจิกายน 2567 ณ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการประชุมระดับสุดยอดผู้นำ GMS summit ครั้งที่ 8 ครั้งนี้ ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ภายใต้หัวข้อหลัก “มุ่งสู่การเป็นประชาคมที่ดีกว่าเดิมด้วยการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”
ทั้งนี้ มีประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ผู้แทนสภาธุรกิจ GMS ร่วมกับผู้นำ 6 ประเทศ ไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และเจ้าภาพจีน(เฉพาะมณฑลยูนนาน และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง)
อาทิตย์บินอเมริกาใต้ถกผู้นำเอเปคที่เปรู
นอกจากการประชุม GMS ครั้งที่ 8 แล้ว ยังมีการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ซึ่งเป็นครั้งที่ 10 โดยสปป.ลาว ในฐานะประธานของ ACMECS กำหนดจัดการประชุมครั้งนี้ภายใต้หัวข้อ “มุ่งสู่ความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อเพื่อการรวมตัวของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง”โดยมีสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนามและเมียนมา โดยมีเป้าหมาย เพื่อทบทวนความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้ 3 สาขาหลักของแผนแม่บท ACMECS ปี ค.ศ. 2019-2023 ได้แก่ 1.ความเชื่อมโยงไร้รอยต่อ (Seamless Connectivity) 2.การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ (Synchronized Economies) และ 3. การพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนและมีนวัตกรรม (Smart and Sustainable ACMECS)
จากนั้น วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะจะเดินทางไปประชุมสุดยอดผู้นำประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปคที่กรุงลิมา ประเทศเปรู
ตั้ง‘รอย’ที่ปรึกษาฯภูมิธรรม
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 3 ราย ดังนี้ 1.พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ เป็น ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม 2.นายคารม พลพรกลาง เป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 3.น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ เป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
สำหรับรองโฆษกประจำสำนักนายกฯ จะมีทั้งหมด 3 คน ซึ่งอีก 1 ตำแหน่งที่ยังไม่ได้มีการแต่งตั้ง ขณะนี้รอความชัดเจนในสัดส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล
ไฟเขียวผู้ช่วยรมต.อีก13 ราย
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี 13 ราย ดังนี้ นางลาลีวรรณกาญจนจารี , นายนิยม เติมศรีสุข, พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก,พล.ต.ต.สุรสิทธิ์สังขพงศ์,น.ส.ณหทัย ทิวไผ่งาม,นายนิยม เวชกามา,นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา,นายเอกพร รักความสุข,นายวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ, นายกฤชนนท์อัยยปัญญา,นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ,นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์,นายสมศักดิ์ กาญจนวัฒนา
‘บอร์ดอาหารแห่งชาติ’ 7 ราย
นายจิรายุ ยังกล่าวอีกว่าครม.ยังเห็นชอบแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ 7 ราย ดังนี้ นายภักดี โพธิศิริ ด้านคุณภาพอาหาร , นางอรทัย ศิลปะนภาพร ด้านความปลอดภัยด้านอาหาร , นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ด้านความมั่นคงด้านอาหาร ,นายสุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย ด้านอาหารศึกษา,นายโกมล จิรชัยสุทธิกุล ด้านกฎหมาย,นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ด้านเศรษฐกิจและการค้าและนายวันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ด้านการบริหารจัดการ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี