วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 นายไทกร พลสุวรรณ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง แกนนำกลุ่มอีสานกู้ชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ เรื่องลับจาก 3 ป. มีเนื้อหาดังนี้
ทำไมรัฐบาลประยุทธ์จึงไม่ยอมเจรจากับกัมพูชาตามกรอบ MOU 44 ?
เหตุ เสียทั้งทะเล เสียทั้งเกาะ
หลังพรรคพลังประชารัฐเสนอให้ยกเลิก MOU 44 นายภูมิธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โยนให้สมาชิกพรรคพลังประชารัฐกลับไปถาม พล.อ.ประวิตร เรื่องเจรจากับกัมพูชาตาม MOU 44 ว่าเจรจาอย่างไร?
จุดเริ่มต้นของปัญหาเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา
- ปี 1970(2513) นายพลลอนนอน ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากกษัตริย์สีหนุ สถาปนาสาธารณรัฐกัมพูชา และตั้งตนเองเป็นประธานาธิบดีของกัมพูชา ชาวกัมพูชาจึงต่อต้านนายพลลอนนอนอย่างหนัก เพื่อสร้างกระแสความนิยมให้กับตนเอง นายพลลอนนอน จึงใช้สาเหตุที่รัฐบาลไทยสมัยจอมพลถนอมได้ออกพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และได้ให้สัมปทานกับบริษัทของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ในวันที่ 13 กันยายน 2514 เพื่อขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย นายพลลอนนอนจึงได้ประกาศประกาศเขตทะเลของกัมพูชาในวันที่ 1 กรกฎาคม 2515 โดยลากเส้นสมมุติจากหลักเขตที่ 73 มาประชิดเกาะกูดด้านตะวันออก แล้วอ้อมเกาะกูดเป็นรูปตัว U แล้วลากไปทางทิศตะวันตกจนถึงกึ่งกลางอ่าวไทย แต่กลับไม่ได้สร้างความพึงพอใจให้กับชาวกัมพูชาในเวลานั้น
ดังนั้นในวันที่ 12 กันยายน 2515 นายพลลอนดอนจึงสั่งให้ลากเส้นเขตแดนทะเลอาณาเขตของกัมพูชาใหม่ โดยลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 มาประชิดเกาะกูดทางทิศตะวันออกแล้วลากผ่ากลางเกาะกูดไปทางทิศตะวันตกจนถึงกึ่งกลางอ่าวไทย แบ่งเกาะกูดออกเป็นสองส่วน
ซึ่งในการกระทำของกัมพูชาที่ลากเส้นเขตแดนทางทะเลทั้งสองเส้นทำให้ไทยปฏิเสธไม่ยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลที่กัมพูชาลากขึ้นโดยไม่มีกฎหมายทะเลใดๆ หรือสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาใดๆ รองรับ ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 ได้มีการประกาศพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ประกาศเขตแดนทางทะเลของไทยโดยยึดหลัก
1. สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส 1907
2. อนุสัญญาว่าด้วยทะเล อาณาเขตและเขตต่อเนื่อง ลงวันที่ 29 เมษายน 1958 หรือเรียกกันสั้นๆ ว่าอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป 1958
โดยลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 ลากพากึ่งกลางของพื้นที่เท่ากันระหว่างเกาะกูด(ไทย) และเกาะกง(กัมพูชา) แล้วลากตรงไปถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล แล้วลากเส้นเขตแดนทางทะเลไปยังทิศใต้ตามแนวเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลจนถึงเขตทะเลมาเลเซีย
กองทัพไทยโดยเฉพาะกองทัพเรือได้ยึดถือเส้นเขตแดนทางทะเลตามพระบรมราชโองการวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 นี้มาโดยตลอดไม่เปลี่ยนแปลง
รัฐบาลได้นำพระบรมราชโองการเขตแดนทางทะเลของไทยด้านอ่าวไทยประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 1 มิถุนายน 2516
จากวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 ถึงเดือนมกราคม 2544 เป็นเวลา 28 ปีเศษที่ทะเลไทยไม่เคยทับซ้อนกับทะเลกัมพูชา
ผ่านนายกรัฐมนตรีมา 13 คน จากจอมพลถนอมถึงนายชวน หลีกภัย
ทะเลไทยไม่เคยทับซ้อนกับทะเลกัมพูชา
พ.ต.ท.ทักษิณ ชนะการเลือกตั้งปี 2544 ได้รับโปรดเกล้าเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ต่อมาอีก 4 เดือนกับ 9 วันได้มีการลงนาม MOU 44 ระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา
ยอมรับว่าทะเลไทยกับทะเลกัมพูชาทับซ้อนกันเป็นพื้นที่มากกว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร ตามเอกสารประกอบใน MOU 44 จึงทำให้ประชาชนชาวไทยวิตกกังวลว่าเรื่องนี้จะซ้ำรอยเขาพระวิหาร
ทำให้ MOU 44 กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุของวิกฤตการเมืองในประเทศไทย
จนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 คณะรัฐมนตรียุคนายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีมติให้กระทรวงต่างประเทศไปดำเนินการยกเลิก MOU 44 ต่อมารัฐบาลนางยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ดำเนินการยกเลิก MOU 44 ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แต่กลับมีการรื้อฟื้นการเจรจากับกัมพูชาตามกรอบ MOU 44 ใหม่อีกครั้ง
เมื่อรัฐบาลนางยิ่งลักษณ์หมดอำนาจเหตุมีการรัฐประหาร พลเอกประยุทธ์จากกลุ่ม 3 ป. เป็นนายกรัฐมนตรี และตลอดระยะเวลา 5 ปีของการเป็นรัฐบาล คสช. มีการเจรจาลับกับกัมพูชาในเรื่อง MOU 44 แต่ไม่มีการเจรจาอย่างเป็นทางการของทั้งสองฝ่ายแต่ประการใด
รัฐบาล คสช. ดอง MOU 44
ในรัฐบาลหลังการเลือกตั้งปี 2562 พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่อง จึงได้มีการเปิดเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา อย่างเป็นทางการในประเด็นเขตแดนทางทะเลและกรอบการปฎิบัติตาม MOU 44
แต่มีการเจรจากันเพียงครั้งเดียว
ครั้งเดียวเท่านั้น
หลังจากนั้นไม่มีการเจรจาตามกรอบ MOU 44 อีกเลย
ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ได้เข้าร่วมการประชุมเจรจาดังกล่าวได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจไว้ดังนี้
1. กัมพูชาขอให้ไทยรับรองเขตแดนทางทะเลของกัมพูชาตามเอกสารประกาศเขตแดนฉบับลงวันที่ 12 กันยายน 2515 ที่ลากเส้นผ่ากึ่งกลางเกาะกูด
2. กัมพูชาพยายามยื่นข้อเสนอให้ไทยกับกัมพูชาใช้พื้นที่เกาะกูดเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน
ฝ่ายไทยเมื่อได้รับทราบเจตนารมย์ของกัมพูชา จึงขอยุติการประชุมโดยให้เหตุผลว่าต้องนำข้อเสนอกลับไปปรึกษากับรัฐบาลเสียก่อน จากนั้นก็เลิกประชุม
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ไม่มีการประชุมกันอีกเลย
ปัญหาการเจรจาตามกรอบ MOU 44 คือ
1. กัมพูชาไม่ให้ความสำคัญกับเขตแดนทางทะเลของไทยตามพระบรมราชโองการลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2516
2. กัมพูชาต้องการให้ไทยแสดงการรับรองเขตแดนทางทะเลของกัมพูชาที่ลากเส้นขึ้นในปี 2515 อย่างเป็นทางการ
3. กัมพูชายังมีความพยายามตลอดเวลาที่จะนำประเด็นเกาะกูดขึ้นมาเจรจาไปพร้อมกับการให้ไทยรับรองเขตแดนทางทะเลที่กัมพูชากำหนดขึ้นในปี 2515
นี่คือเหตุผลว่าทำไมยุค 3 ป. จึงไม่มีการเจรจากับกัมพูชาตามกรอบ MOU 44 อย่างต่อเนื่อง เปิดการเจรจากันเพียงครั้งเดียวแล้วก็เลิกคุย เพราะยิ่งเดินหน้าตามกรอบ MOU 44 ต่อไป ยิ่งจะทำให้เสียทั้งทะเลและเสียทั้งเกาะ
เปิดเรื่องลับทำไมยุค 3 ป. เจรจากับกัมพูชาตามกรอบ MOU 44 เพียงครั้งเดียวแล้วเลิกคุย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี