“มาริษ”รมว.ต่างประเทศ ยืนยันผลการเจรจาเพื่อใช้ประโยชน์ปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนไทย-กัมพูชา ประชาชนไทยต้องเห็นชอบก่อน-ย้ำผลประโยชน์ต้องเป็นของประชาชน ชี้ MOU 44 เป็นกลไกทำให้การเจรจา ไทยกับกัมพูชา เดินหน้าได้ โวกต.ทำงานเป็นมืออาชีพสูงสุด เผย“ยุคบิ๊กตู่”ล้มโต๊ะเจรจาเพราะเขมรขอเอี่ยวเกาะกูด
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ตอบคำถามผู้สื่อข่าว ประเด็นเรื่องเกาะกูดที่ยังเป็นปัญหายังไม่จบ เนื่องจากยังมีคำถามว่า สามารถยกเลิกเอ็มโอยู 44 ได้หรือไม่ โดยนายกฯไม่ตอบคำถามดังกล่าว เพียงแต่ยิ้มและโบกมือ
บัวแก้วยืนยันเจรจาฝ่ายเขมร
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ ชี้แจงถึงความกังวลเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทยกับกัมพูชาในบริเวณอ่าวไทยว่า ผลการเจรจา หากจะสำเร็จ และยุติได้ จะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย รัฐสภาของทั้งสองประเทศ จะต้องให้ความเห็นชอบ ผ่านการเสนอจากคณะรัฐมนตรี เข้าสู่กระบวนการรัฐสภาในฐานะผู้แทนประชาชน ที่จะเป็นผู้ตัดสินว่า เห็นชอบกับผลการเจรจาหรือไม่ และข้อตกลงจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น จึงเป็นไปไม้ได้ ที่จะให้มีการเจรจาเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งได้ตามที่มีการกล่าวอ้าง
ส่วนการใช้ประโยชน์เหนือแหล่งปิโตรเลียมนั้น รมว.ต่างประเทศ ชี้แจงว่า ยังไม่สามารถกระทำได้จนกว่าการเจรจาดังกล่าวจะมีข้อยุติ โดยผลการเจรจาจะต้องเป็นที่ยอมรับได้ของประชาชนทั้งสองประเทศ ซึ่ง MOU44 กำหนดให้จะต้องเจรจา 2 เรื่องทั้ง “เขตทางทะเล”และ”การพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน” ไปพร้อม ๆ กันโดยไม่อาจแบ่งแยกได้ พร้อมยืนยันว่า หากการเจรจาสำเร็จ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดต้องเป็นประเทศชาติ และพี่น้องประชาชนคนไทย ที่จะมีเขตทางทะเลที่ชัดเจนกับประเทศเพื่อนบ้าน และได้ใช้พลังงานที่มีราคาถูกลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
ยืนยันมีMOUดีกว่ายกเลิก
นายมาริษ กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้มีการยกเลิก MOU44 เพราะถือเป็นการยอมรับเส้นอ้างสิทธิของกัมพูชา และทำให้ไทยเสี่ยงเสียดินแดนว่า MOU44 ไม่ได้เป็นการยอมรับเส้นอ้างสิทธิในไหล่ทวีปของกัมพูชา และไม่ได้ทำให้ไทยเสียดินแดนใด ๆ เพราะเกาะกูดอยู่ภายใต้อธิปไตยของไทย 100 เปอร์เซ็นต์ และจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เพราะสาระสำคัญ ใน MOU44 เป็นเพียงการตกลงร่วมกัน “เพื่อที่จะเจรจาเท่านั้น” โดยแผนผังแนบท้าย เป็นเพียง “ภาพประกอบของพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปของแต่ละประเทศ” ซึ่งเส้นอ้างสิทธิในข้อตกลงนี้ ไม่ใช่เส้นเขตทางทะเล ตามที่มีการเข้าใจผิดแต่อย่างใด
นายมาริษ ยังย้ำอีกว่า การคงไว้ซึ่ง MOU44 เป็นผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะข้อตกลงนี้ทำให้ ทั้งสองฝ่าย มีพันธกรณีที่จะต้องมาเจรจากัน ทั้งในเรื่อง “เขตทางทะเล” และ “พื้นที่พัฒนาร่วม” ไปพร้อม ๆ กัน
ส่วนกรณีที่รัฐบาลเมื่อปี 2552 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ยกเลิก MOU44 โดยให้ไปศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบก่อนนำเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรี และรัฐสภานั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า ในกระบวนการศึกษาข้อมูลดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศได้ประชุมหารือ และรับฟังข้อคิดเห็นจากคณะที่ปรึกษากฎหมายต่างประเทศ ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคง และด้านกฎหมาย จนได้ข้อสรุป เสนอเป็นมติคณะรัฐมนตรีในปี 2557 ว่า การคง MOU44 ไว้ เป็นผลดีมากกว่าเสีย และที่สำคัญการมีเขตทางทะเลที่ชัดเจน จะนำไปสู่การเจรจาการใช้ประโยชน์เหนือแหล่งปิโตรเลียมได้อย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน
“ขอให้เชื่อมั่นว่า การเจรจาจะคำนึงถึงอธิปไตยและผลประโยชน์ของคนไทยเป็นที่ตั้ง โดยยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศ จะทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพสูงสุด” นายมาริษ ยืนยัน
อดีตสว.สมชายยันคนไทยไม่โง่
นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่านายกฯและตัวแทนครม ที่จะตั้งคณะไปเจรจาตามMOU2544 ช่วยตอบคำถามง่ายๆ ตามแผนที่พลังงานในอ่าวไทย ที่กัมพูชา ตีเส้นเคลมผ่าเกาะกูดเข้ามากลางอ่าวไทย ไทยจะไปยอมเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ตามโครงการคนละครึ่ง โดยไม่ทำการเจรจาเขตแดนทางทะเลให้ยุติก่อน เพียงอ้างว่า ถ้าไม่รีบขุดมาใช้ น้ำมันและก๊าซจะหมดราคาหมดคุณค่าในอนาคต
และให้คนไทยฝันว่าจะได้ใช้น้ำมันและก๊าซราคาถูกนั้นตอบหน่อยครับว่า พื้นที่แปลงสัมปทานขุดเจาะไหน เป็นของไทย เพราะเท่าที่นับได้ ตามแผนที่ที่ถูกอ้างความทับซ้อนนั้น มีchevron 16 แปลง มีtotal1แปลง มี pttep 2แปลง ตอบให้คนไทยรักชาติ ตาสว่างด้วยครับ ว่า คนไทยทั้งประเทศจะได้ประโยชน์ตรงไหน จะได้ใช้น้ำมันและก๊าซราคาถูกอย่างไรครับ #คนไทยไม่ได้โง่ #รู้ทัน #นักโกงเมือง #ทุนพลังงาน #saveเกาะกูด #saveอธิปไตยท้องทะเลไทย#สมบัติชาติ #รักชาติดีกว่าขายชาติ
‘ไทกร’ยุคย้อนอดีตMOU
นายไทกร พลสุวรรณ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง แกนนำกลุ่มอีสานกู้ชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ เรื่องลับจาก 3 ป. มีเนื้อหาดังนี้ ทำไมรัฐบาลประยุทธ์จึงไม่ยอมเจรจากับกัมพูชาตามกรอบ MOU 44 ? เหตุ เสียทั้งทะเล เสียทั้งเกาะ หลังพรรคพลังประชารัฐเสนอให้ยกเลิก MOU 44 นายภูมิธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โยนให้สมาชิกพรรคพลังประชารัฐกลับไปถาม พล.อ.ประวิตร เรื่องเจรจากับกัมพูชาตาม MOU 44 ว่าเจรจาอย่างไร?
จุดเริ่มต้นของปัญหาเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา ปี 1970(2513) นายพลลอนนอน ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากกษัตริย์สีหนุ สถาปนาสาธารณรัฐกัมพูชา และตั้งตนเองเป็นประธานาธิบดีของกัมพูชา ชาวกัมพูชาจึงต่อต้านนายพลลอนนอนอย่างหนัก เพื่อสร้างกระแสความนิยมให้กับตนเอง นายพลลอนนอน จึงใช้สาเหตุที่รัฐบาลไทยสมัยจอมพลถนอมได้ออกพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และได้ให้สัมปทานกับบริษัทของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ในวันที่ 13 กันยายน 2514 เพื่อขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย นายพลลอนนอนจึงได้ประกาศประกาศเขตทะเลของกัมพูชาในวันที่ 1 กรกฎาคม 2515 โดยลากเส้นสมมุติจากหลักเขตที่ 73 มาประชิดเกาะกูดด้านตะวันออก แล้วอ้อมเกาะกูดเป็นรูปตัว U แล้วลากไปทางทิศตะวันตกจนถึงกึ่งกลางอ่าวไทย แต่กลับไม่ได้สร้างความพึงพอใจให้กับชาวกัมพูชาในเวลานั้น
เขมรกำหนดเขตแดนก่อน
ดังนั้นในวันที่ 12 กันยายน 2515 นายพลลอนดอนจึงสั่งให้ลากเส้นเขตแดนทะเลอาณาเขตของกัมพูชาใหม่ โดยลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 มาประชิดเกาะกูดทางทิศตะวันออกแล้วลากผ่ากลางเกาะกูดไปทางทิศตะวันตกจนถึงกึ่งกลางอ่าวไทย แบ่งเกาะกูดออกเป็นสองส่วน
ซึ่งในการกระทำของกัมพูชาที่ลากเส้นเขตแดนทางทะเลทั้งสองเส้นทำให้ไทยปฏิเสธไม่ยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลที่กัมพูชาลากขึ้นโดยไม่มีกฎหมายทะเลใดๆ หรือสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาใดๆ รองรับ ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 ได้มีการประกาศพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ประกาศเขตแดนทางทะเลของไทยโดยยึดหลัก 1. สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส 1907 2. อนุสัญญาว่าด้วยทะเล อาณาเขตและเขตต่อเนื่อง ลงวันที่ 29 เมษายน 1958 หรือเรียกกันสั้นๆ ว่าอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป 1958
โดยลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 ลากพากึ่งกลางของพื้นที่เท่ากันระหว่างเกาะกูด(ไทย) และเกาะกง(กัมพูชา) แล้วลากตรงไปถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล แล้วลากเส้นเขตแดนทางทะเลไปยังทิศใต้ตามแนวเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลจนถึงเขตทะเลมาเลเซีย กองทัพไทยโดยเฉพาะกองทัพเรือ ได้ยึดถือเส้นเขตแดนทางทะเลตามพระบรมราชโองการวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 นี้มาโดยตลอดไม่เปลี่ยนแปลง
รัฐบาลได้นำพระบรมราชโองการเขตแดนทางทะเลของไทยด้านอ่าวไทยประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 1 มิถุนายน 2516 จากวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 ถึงเดือนมกราคม 2544 เป็นเวลา 28 ปีเศษที่ทะเลไทยไม่เคยทับซ้อนกับทะเลกัมพูชา ผ่านนายกรัฐมนตรีมา 13 คน จากจอมพลถนอมถึงนายชวน หลีกภัย ทะเลไทยไม่เคยทับซ้อนกับทะเลกัมพูชา
ยุค‘อภิสิทธิ์’เสนอเลิกMOU
พ.ต.ท.ทักษิณ ชนะการเลือกตั้งปี 2544 ได้รับโปรดเกล้าเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ต่อมาอีก 4 เดือนกับ 9 วันได้มีการลงนาม MOU 44 ระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา
ยอมรับว่าทะเลไทยกับทะเลกัมพูชาทับซ้อนกันเป็นพื้นที่มากกว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร ตามเอกสารประกอบใน MOU 44 จึงทำให้ประชาชนชาวไทยวิตกกังวลว่าเรื่องนี้จะซ้ำรอยเขาพระวิหารทำให้ MOU 44 กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุของวิกฤตการเมืองในประเทศไทย
จนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 คณะรัฐมนตรียุคนายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีมติให้กระทรวงต่างประเทศไปดำเนินการยกเลิก MOU 44 ต่อมารัฐบาลนางยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ดำเนินการยกเลิก MOU 44 ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แต่กลับมีการรื้อฟื้นการเจรจากับกัมพูชาตามกรอบ MOU 44 ใหม่อีกครั้ง
เมื่อรัฐบาลนางยิ่งลักษณ์หมดอำนาจเหตุมีการรัฐประหาร พลเอกประยุทธ์จากกลุ่ม 3 ป. เป็นนายกรัฐมนตรี และตลอดระยะเวลา 5 ปีของการเป็นรัฐบาล คสช. มีการเจรจาลับกับกัมพูชาในเรื่อง MOU 44 แต่ไม่มีการเจรจาอย่างเป็นทางการของทั้งสองฝ่ายแต่ประการใด รัฐบาล คสช. ดอง MOU 44
‘บิ๊กป้อม’เจรจาหนเดียวแล้วเลิกคุย
ในรัฐบาลหลังการเลือกตั้งปี 2562 พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่อง จึงได้มีการเปิดเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา อย่างเป็นทางการในประเด็นเขตแดนทางทะเลและกรอบการปฎิบัติตาม MOU 44
แต่มีการเจรจากันเพียงครั้งเดียว ครั้งเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นไม่มีการเจรจาตามกรอบ MOU 44 อีกเลย
ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ได้เข้าร่วมการประชุมเจรจาดังกล่าวได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจไว้ดังนี้
1. กัมพูชาขอให้ไทยรับรองเขตแดนทางทะเลของกัมพูชาตามเอกสารประกาศเขตแดนฉบับลงวันที่ 12 กันยายน 2515 ที่ลากเส้นผ่ากึ่งกลางเกาะกูด 2. กัมพูชาพยายามยื่นข้อเสนอให้ไทยกับกัมพูชาใช้พื้นที่เกาะกูดเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน ฝ่ายไทยเมื่อได้รับทราบเจตนารมย์ของกัมพูชา จึงขอยุติการประชุมโดยให้เหตุผลว่าต้องนำข้อเสนอกลับไปปรึกษากับรัฐบาลเสียก่อน จากนั้นก็เลิกประชุม จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ไม่มีการประชุมกันอีกเลย
ปัญหาการเจรจาตามกรอบ MOU 44 คือ 1. กัมพูชาไม่ให้ความสำคัญกับเขตแดนทางทะเลของไทยตามพระบรมราชโองการลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 2. กัมพูชาต้องการให้ไทยแสดงการรับรองเขตแดนทางทะเลของกัมพูชาที่ลากเส้นขึ้นในปี 2515 อย่างเป็นทางการ 3. กัมพูชายังมีความพยายามตลอดเวลาที่จะนำประเด็นเกาะกูดขึ้นมาเจรจาไปพร้อมกับการให้ไทยรับรองเขตแดนทางทะเลที่กัมพูชากำหนดขึ้นในปี 2515
นี่คือเหตุผลว่าทำไมยุค 3 ป. จึงไม่มีการเจรจากับกัมพูชาตามกรอบ MOU 44 อย่างต่อเนื่อง เปิดการเจรจากันเพียงครั้งเดียวแล้วก็เลิกคุย เพราะยิ่งเดินหน้าตามกรอบ MOU 44 ต่อไป ยิ่งจะทำให้เสียทั้งทะเลและเสียทั้งเกาะ
เปิดเรื่องลับทำไมยุค 3 ป. เจรจากับกัมพูชาตามกรอบ MOU 44 เพียงครั้งเดียวแล้วเลิกคุย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี