"เจิมศักดิ์"ซัดเปรี้ยง!!! การเมืองแทรกแซง"แบงก์ชาติ"ห่วงประเทศเสียหายระยะยาวมากกว่ารัฐบาล ยันอำนาจบอร์ด ธปท.มหาศาล หวั่นล้วงเงินสำรองประเทศ ปูดมีล่าชื่อหนุน"กิตติรัตน์"นั่ง ปธ.บอร์ด ธปท. ห่วงสรรหา"ผู้ว่าฯธปท.คนใหม่" หลัง"เศรษฐพุฒิ"พ้นตำแหน่ง
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นที่มีหลายฝ่ายกังวลว่าในการสรรหาประธานคณะกรรมการหรือบอร์ดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หาก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับตำแหน่งดังกล่าว อาจส่งผลให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ ว่า กลุ่มที่ออกมาลงชื่อคัดค้าน คือ กลุ่มเศรษฐศาสตร์และสังคมซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการและคนที่จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์เป็นจำนวนมาก ส่วนที่กังวลกัน เพราะธรรมชาติของธนาคารกลางและรัฐบาลมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เพราะรัฐบาลย่อมรู้ว่าตนอยู่ได้ไม่นาน ก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจ ฟู่ฟ่า รุ่งเรือง ที่เรียกว่า ควิกวิน นโยบายที่ทำแล้ว เห็นผลรวดเร็ว แต่อาจสุ่มเสี่ยงในระยะยาว ขณะที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆทั่วโลก จะมีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพในระยะยาวได้ ไม่ดู แต่เพียงระยะสั้น
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ว่านักเศรษฐศาสตร์แบบพวกเราไม่อยากให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ของประเทศเติบโต เพราะ GDP คือ รายได้รวมของคนทั้งประเทศ หากจีดีพีสูง พวกเราก็มีความสุข แต่การสูงขึ้นนั้น ต้องสอดคล้องกับศักยภาพการผลิตของประเทศด้วย อย่างที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการแข่งขัน ศักยภาพการผลิตแย่ลง ไม่เหมือนในอดีตที่ GDP ไทย เคยเติบโตร้อยละ 7 - 8 ต่อปี หากศักยภาพไม่ถึง แต่ยังพยายามดัน GDP ให้โต สุดท้าย ก็เกิดฟองสบู่ เกิดภาวะเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจของประเทศ ก็จะไปต่อไม่ได้
และขอย้ำว่าการออกมาเคลื่อนไหวของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ครั้งนี้ ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ เพราะเป็นนายกิตติรัตน์ ไม่ได้มองว่าไม่มีความรู้ ความสามารถ หรือไม่หวังดีต่อบ้านเมือง แต่เพราะนายกิตติรัตน์ มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับพรรคเพื่อไทยและระบอบทักษิณ แม้ในทางลายลักษณ์อักษร จะไม่ได้เป็นรัฐมนตรี หรือสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้วก็ตาม แต่เชื่อไหมว่าไม่มีความสัมพันธ์กัน ที่สำคัญคือเมื่อ 3 - 4 เดือนก่อน นายกิตติรัตน์ออกมากดดันให้ ธปท.ลดดอกเบี้ย ประสานเสียงกับ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันเป็น รมว.พาณิชย์
“ทำไมต้องเป็นห่วง เพราะประธานบอร์ดและบอร์ดแบงก์ชาติ สามารถทำจะอะไรได้ 3 - 4 อย่าง อย่างแรก สามารถที่จะเอาเงินสำรอง ซึ่งเรามีอยู่เยอะทั้งเงินสำรองระหว่างประเทศ และเงินสำรองที่หลวงตาบัวและอื่นๆนำมา โดยบอร์ดแบงก์ชาติ สามารถออกกำหนดกฎเกณฑ์ที่จะเอาเงินสำรองออกมาใช้ได้ น่าเป็นห่วงไหม ถ้าเราคิดจะเอาเงินมาใช้ลูกเดียว ถ้าลับไปดูในสมัยก่อน จะเห็นว่าคุณทักษิณก็ดี คนอื่นๆรวมทั้งคุณกิตติรัตน์ด้วย เคยพูดว่าเรามีเงินไว้ทำไมเยอะแยะ น่าจะเอาออกมาใช้ ออกมาลงทุนให้มันเกิดประโยชน์ เขามองในมุมนั้น น่าเป็นห่วงไหม” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าว
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลปัจจุบัน มีความต้องการลดแลกแจกแถม อยากแจก 1 หมื่นบาท ทุกคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้เงินทั้งหมด 6 แสนล้านบาท แต่ติดข้อกฎหมายว่าด้วยเงินตราซึ่งระบุว่าหากจะแจกก็เหมือนกับพิมพ์เงินขึ้นมาใหม่ เพราะต้องการแจกแบบเงินดิจิทัล ซึ่งแบงก์ชาติก็บอกว่าหากจะทำ ก็ต้องมีเงินบาทหนุนหลัง อัตราส่วน 100 ต่อ 100 หมายถึงแจกเงินดิจิทัล 100 บาท ก็ต้องมีเงินจริง 100 บาทด้วย ดังนั้น จึงมีการแจกเงินจริง แต่เลือกแจกเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง ซึ่งก็ดีแล้ว ปัญหาอยู่ว่า รัฐบาลยังไม่เลิกโครงการแจกเงิน และพยายามเดินหน้าต่อ คำถามคือจะเกิดอะไรขึ้นหากนำเงินสำรองมาใช้หนุนหลัง อะไรจะเกิดขึ้น นี่คือการแก้ความเข้าใจที่ก่อนหน้านี้ พูดกันว่าบอร์ดแบงก์ชาติไม่มีอำนาจอะไร แต่นี่คืออำนาจตามกฎหมายที่บอร์ด ธปท.
รศ.ดร.เจิมศักดิ์กล่าวว่าประการต่อมา บอร์ดแบงก์ชาติ ยังมีอำนาจตั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีอำนาจหน้าที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยซึ่งมีผลต่อการเกิด หรือไม่เกิดภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้น ธปท.จึงต้องเป็นอิสระในการกำหนดเรื่องนี้ ที่ผ่านมาจะเห็นรัฐบาล พยายามกดดันให้ลดอัตราดอกเบี้ยอยู่ตลอด โดย กนง.จะมีกรรมการ 7 คน เป็นคนของ ธปท.จริงๆ เพียง 3 คน คือผู้ว่าการ 1 คนและ รองผู้ว่าการอีก 2 คน ส่วนอีก 4 คน จะมาจากการสรรหา และอนุมัติโดยบอร์ด ธปท.แม้ทาง ธปท.จะให้ความเห็นเสนอแนะในการสรรหากรรมการส่วนนี้ได้ แต่สุดท้ายก็อยู่ที่บอร์ด ธปท.ว่าจะให้ใครเป็น จึงขอมองแบบร้ายที่สุด คือ หากสามารถส่งคนเข้าไปได้และกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ของ กนง. 4 ต่อ 3 ก็มีปัญหาแล้ว
ดังนั้น หากรัฐบาลสามารถสั่งอัตราดอกเบี้ยได้ แล้วตนรู้ล่วงหน้าว่าอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นหรือลง บอกเลยว่ารวยแน่นอน ที่นี่คือสิ่งที่น่ากลัว และเป็นเหตุผลที่ต้องการให้คนที่เป็นมืออาชีพมาทำงาน อย่างเมื่อปี 2540 ที่มีการลดค่าเงินบาท ก็มีคนที่รวยขึ้นจากเหตุการณ์นั้นมาแล้ว
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ระบุอีกว่านอกจากนั้น ยังมีคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด เรื่องนี้ก็สำคัญเพราะมีผลประโยชน์มหาศาล อาทิ การเพิ่มหรือลดจำนวนธนาคาร การจัดตั้งธนาคารในรูปแบบที่ไม่ต้องมีอาคารสำนักงาน ดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด หรือเวอร์ชวลแบงก์ การกำหนดว่าธนาคารพาณิชย์ต้องมีเงินทุนสำรองเท่าใด ซึ่งสัดส่วน กนส.ก็เช่นเดียวกับ กนง.คือคนของ ธปท.อยู่ในสัดส่วนเสียงข้างน้อย แต่ฝั่งเสียงส่วนใหญ่ เป็นคนที่บอร์ด ธปท.ส่งเข้าไป ดังนั้น หากเป็นคนที่มีความสัมพันธ์ทางการเมือง ต้องการผลประโยชน์ระยะสั้น อยากเห็นเศรษฐกิจฟู่ฟ่า ต้องการแจกเงิน ลดแลกแจกแถมประชานิยมต่างๆ เรื่องนี้ก็น่าเป็นห่วง ธปท.
ส่วนคำถามว่าในวันที่ 11 พ.ย.2567 จะสามารถเลือกประธานบอร์ด ธปท.ได้หรือไม่ หลังจากที่เลื่อนมาแล้วครั้งหนึ่ง ตนมองว่า ต้องรู้ก่อนว่าระบบการสรรหาเป็นอย่างไร คือจะมีคณะกรรมการสรรหา 7 คน ซึ่งตามกฎหมายระบุว่าให้เลือกมาจากอดีตปลัดกระทรวง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ ซึ่งอาจจะคิดว่าอดีตปลัดกระทรวงคงไม่แยแสว่าฝ่ายการเมืองจะเอาอย่างไรเพราะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว
“พอจริงๆ เรามานั่งดูว่า 10 หน่วยงานที่สำคัญ มีปลัด หรือหัวหน้ากี่คน ไม่ได้มี 10 เลือกให้เหลือ 7 แต่ละกระทรวง จะมีปลัดที่เกษียณปีนี้ เกษียณปีหน้า เกษียณไปแล้วก็จะมีคนที่เกษียณไปแล้ว หรืออดีตปลัดหลายคนในแต่ละกระทรวง รวมกันแล้วอาจจะ 20-30คน ถ้าคุณเป็นฝ่ายการเมือง เขาให้รัฐบาลเป็นคนจิ้มเลือก จากจำนวนอดีตปลัด คุณจิ้มเหลือ 7 สบายไหม คุณจะจิ้มอย่างไร” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ระบุ
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ในการเลือกประธานบอร์ด ธปท. กระทรวงการคลัง จะเสนอชื่อ 1 คน ขณะที่ ธปท.เสนอได้ 2 คน มาให้คณะกรรมการสรรหาเลือก แต่เพราะเห็นว่ามีคนที่ถูกมองเป็นตัวแทนฝ่ายการเมืองเข้ามา และดูท่าแล้วคณะกรรมการสรรหา มีแนวโน้มน่าจะเลือก จนนำไปสู่การแทรกแซง ธปท.จากฝ่ายการเมือง จึงนำมาสู่การเลื่อนการสรรหาจากเดิม คือวันที่ 4 พ.ย.2567 ออกไปเป็นวันที่ 11 พ.ย.2567
“แต่จริงๆ หากจะเลือกตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย.2567 แบบตรงไปตรงมาเลยก็เลือกได้ก็เพียงเลือกคนอื่นที่ดูแล้วไม่ใช่คนจากฝ่ายการเมือง แต่ก็ไม่เลือก เรื่องนี้สะท้อน คือ อาจรอให้กระทรวงการคลังส่งชื่อบุคคลใหม่เข้ามา ตามที่มีชื่อของ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่ก็มีสื่อไปขุดคุ้ยว่านายพงษ์ภาณุเคยพูดอะไรไว้บ้าง”
ส่วนสาเหตุที่เลื่อน หากไปดูที่ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ด ธปท.ให้สัมภาษณ์กับสื่อ จะมีการให้เหตุผลการเลื่อนจากวันที่ 4 เป็นวันที่ 11 พ.ย.ออกไปว่า 1.ให้กรรมการสรรหาได้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมให้รอบคอบ แต่จริงๆ มีการเลื่อนมาหลายทีแล้ว ยังไม่ได้ดูอีกหรือ อาจจะมีน้ำหนักอยู่บ้างแต่ไม่มาก 2.ยึดหลักรัฐศาสตร์ ในเมื่อกระแสแรงก็เลื่อนออกไปก่อน หมายความว่าเมื่อกระแสเบาลงจะเลือกก็เป็นไปได้ ถามว่าคนไทยลืมง่ายหรือไม่อย่างเรื่องรถบัสติดก๊าซไฟไหม้ มีนักเรียนเสียชีวิตจำนวนมาก จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร วันนี้ยังมีคนสนใจหรือไม่ เดี๋ยวก็ไปสนใจเรื่องเกาะกูดและพื้นที่ทับซ้อน หรือก็จะมีเรื่องใหม่ๆ ออกมา
ที่สำคัญคือเรื่องธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก หลายคนก็ไม่ได้สัมผัสโดยตรง บางคนยังคิดว่าเหมือนกับธนาคารพาณิชย์ด้วยซ้ำ ขณะนี้มีการล่ารายชื่อเพื่อสนับสนุนนายกิตติรัตน์ โดยมุ่งนำเสนอว่าเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ แต่พวกเราพูดถึงเรื่องการแทรกแซงทางการเมือง เป็นคนละเรื่องกัน หรือที่มีความเห็นว่า ธปท.ก็มีจุดบกพร่อง หาก ธปท.บกพร่องก็แก้ไขไป แต่ไม่ใช่ส่งคนของฝ่ายการเมืองเข้าไป
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ยังแสดงความเป็นห่วงว่าในเดือน ก.ย.2568 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ จะต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งการสรรหาผู้ว่าฯ ธปท.ก็ใช้วิธีการเดียวกับการสรรหาประธานบอร์ด ธปท.รอบนี้ จะยิ่งหนัก เพราะเสนอได้มากกว่า 1 คน แล้วให้กระทรวงการคลังเลือก ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ ให้พูดกันตรงๆ ตนก็เป็นห่วง ต้องดูว่ากระแสผู้คนว่าจะลืมไปแล้วหรือไม่
ทั้งนี้ ย้ำว่าก่อนยุค ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะเป็นผู้ว่าฯ ธปท. ธนาคารกลางของไทย ถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซงมาตลอด มีการปลดผู้ว่าฯ ธปท.กันเป็นว่าเล่น ซึ่ง ศ.ดร.ป๋วย เป็นผู้วางรากฐานให้ ธปท.เป็นอิสระทางการเมือง และพบว่า หลังจากนั้นผู้ว่าฯ ธปท.อยู่ในตำแหน่งได้นานขึ้น เศรษฐกิจของประเทศก็เจริญรุ่งเรืองขึ้น การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ทำได้ดีขึ้น เรื่องนี้มีงานวิจัยปรากฏชัดเจน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความเป็นอิสระของ ธปท.คือจะทำอะไรก็ได้ เพราะ ธปท.ก็ต้องมีสัญญากับรัฐบาล เช่นในปีนี้ต้องควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ให้อยู่ที่ร้อยละ 1 - 3 หากเกินจากนี้ ก็ต้องกดให้ต่ำลงเพื่อให้ราคาสินค้าลดลง
แต่หากรัฐบาลวันนี้ อยากได้อย่างนั้น วันนั้นจะเอาอย่างนี้ บอกได้เลยว่าประเทศไทยคงไม่เหลือ หากดูบทเรียนจากประเทศที่พังเช่นเวเนซูเอลา ที่รัฐบาลสามารถแทรกแซงได้ เอาเงินสำรองมาใช้ พอไม่รู้จะไปไหนต่อก็พิมพ์ธนบัตรออกมา พินาศทันทีเลย ส่วนที่มีความเห็นว่าญี่ปุ่น เป็นประเทศที่รัฐบาลกำกับดูแลธนาคารกลาง ก็ต้องย้อนถามกลับว่า สันดานรัฐบาลญี่ปุ่นกับรัฐบาลไทย เหมือนกันหรือไม่
“คุณนอนตื่นขึ้นมาอีกวันหนึ่ง ราคาข้าวของแพง 5 เท่า 10 เท่า เป็น 100 เท่าก็มี เพราะคุณเอาแบงก์ที่ไม่มีค่าอะไร เป็นเพียงกระดาษ เอามาหมุนเวียนใช้จ่ายกัน ประชาชนได้รับโอ้!แฮปปี้ เราได้เงิน แต่ว่าประเทศพินาศ แล้วคุณเห็นไหมว่า เวเนซูเอลาเกิดความยากจนอย่างรวดเร็ว นั่นละฝีมือของการแทรกแซงธนาคารกลาง” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าว
และกล่าวว่า ถ้าหากฝ่ายการเมืองออกมากดดันให้ดอกเบี้ย แล้วธนาคารกลางไทยรับลูกปั๊บ ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยก็ขาดความน่าเชื่อถือ เพราะธนาคารกลางไทยที่สัมพันธ์กันหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งตนเป็นห่วงประเทศไทยมากกว่ารัฐบาล เพราะประเทศจะต้องอยู่อีกยาว แต่รัฐบาลและคนกลุ่มนี้อยู่อีกไม่นานก็ไป ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไรก็เกิดความหวาด ระแวงทุกเรื่อง เพราะคนเขาไม่เชื่อ ไม่ศรัทรา จะเป็นระเบิดเวลาที่คนไทยจะต้องรับเคราะห์ และส่งผลเสียหายประเทศในระยะยาว ตนห่วงเรื่องนี้
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี