“อุ๊งอิ๊งค์-ภูมิธรรม” ยอมรับ MOU44 ยังไม่ได้เข้าสภา แต่ต้องเดินหน้าปันเขตแดนแล้วเข้าสภา แบ่งปันพลังงานตามหลัง คาดตั้ง JTC กลางพฤศจิกายน นายกฯเผยพบผู้นำเขมรเขาห่วงใย พร้อมยื่นมือช่วยขณะที่พปชร.ตามขยี้ MOU44 มหาภัย ย้ำจุดยืนต้องยกเลิก พร้อมแนะทำใหม่ ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายสากล ถ้ารัฐบาลยังดื้อเดินหน้า เสี่ยงต่อการเสียพื้นที่ทางทะเล
เมื่อเวลา 09.10 น.วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ถนนวิภาวดีรังสิต น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)กดดันให้ยกเลิก MOU44 โดยเห็นว่า ยังมีปัญหาทางกฎหมาย และยังไม่ได้ผ่านรัฐสภาว่า MOU44 จริงๆแล้ว ในเรื่องของตัวกฎหมายยังไม่เข้าสภาก็จริง แต่เรายึดหลักอันนี้อยู่ เพราะเป็นหลักเปิดเสรีในการเจรจา ฉะนั้นการเจรจาทั้งกัมพูชาและเราตกลงร่วมกันเพื่อจะเจรจา
ห่วงความสัมพันธ์กับเขมร
“ส่วนเรื่องฟ้องหรือไม่ฟ้อง ขออธิบายว่าเรื่องไม่ฟ้องมันเกิดขึ้นได้ถ้ามีการยกเลิกฝ่ายเดียว ฉะนั้นการที่เราคุยกันระหว่างประเทศนั้นสำคัญมาก ถ้าสมมติว่าจะยกเลิกก็ต้องดูว่าจะยกเลิกเพื่ออะไร และถ้ายกเลิกแล้วความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่พวกเราต้องคิดในเรื่องนี้ ถ้ายกเลิกเรื่องนี้มีผลอย่างไรระหว่างประเทศ ลองคิดในกรอบง่ายๆถ้าสมมติว่าเราเป็นเพื่อนกัน ถ้าจะยกเลิกบางอย่างที่เราแชร์ร่วมกัน เราก็ต้องตกลงกัน มันทำได้ แต่ไม่ควรไปยกเลิกฝ่ายเดียว เพราะจะเกิดปัญหาระหว่างประเทศ ฉะนั้นจะต้องมีการคุยกันก่อน ซึ่งต้องขอเวลาเล็กน้อยที่จะคุยกัน” น.ส.แพทองธาร กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า จริงๆแล้วไม่ได้มีปัญหาอะไรในเรื่องของรายละเอียดต่างๆ และตนได้มีโอกาสเจอกับผู้นำกัมพูชาในช่วงที่ไปประชุมระดับสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ซึ่งก็ไม่มีอะไรเลย ท่านยังพูดว่ามีอะไรให้ทางกัมพูชาซัพพอร์ตประเทศไทยไหมให้บอกกันมา และจริงๆแล้วเป็นเรื่องที่เราต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจมากกว่าว่าเรายังไม่ได้เสียเปรียบอะไร ตรงนี้คือสิ่งที่ต้องขอเน้นย้ำอีกรอบหนึ่ง และการขีดเส้นของทั้ง 2 ประเทศไม่เหมือนกัน จึงต้องเกิดMOU44 ขึ้น เพื่อเป็นการหารือให้เข้าใจกันในความที่ไม่เหมือนกัน อันนี้คือสิ่งที่เราต้องทำต่อ
กลับจากเอเปกตั้งJTC
นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้ขั้นตอนของรัฐบาลอยู่ในขั้นตอนคาดว่าหลังกลับจากการไปประชุมเอเปกในวันที่ 18 พ.ย. การตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ก็น่าจะสำเร็จเรียบร้อย ซึ่งอันนี้ได้บอกกับทางกัมพูชาแล้วว่าการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวน่าจะเสร็จสิ้นประมาณกลางเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งก็โอเค แล้วเดี๋ยวจะคุยทุกอย่างร่วมกันผ่านคณะกรรมการนี้
แบ่งบันเขตแดนนำเจ้าสภา
ผู้สื่อข่าวถามว่า MOU44 ยังไม่สมบูรณ์มีข้อเรียกร้องให้ยกเลิก ตรงนี้คณะกรรมการฯจะนำมาหารือด้วยหรือไม่ โดยจังหวะนี้ นายกฯ ได้ให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ซึ่งยืนอยู่ด้วยเป็นผู้ตอบคำถาม
ด้านนายภูมิธรรม กล่าวเสริมว่า MOU44 เป็นข้อที่ได้พูดคุยเพื่อให้พูดคุยกันในเรื่องการขยายไหล่ทวีป เป็นข้อตกลงกันแต่ไม่จำเป็นต้องเข้าสภา อันนี้สมบูรณ์โดยตัวของมันอยู่แล้ว แต่ถ้าหลังจากตกลงอะไรกันเรียบร้อยแล้ว หากมีอะไรที่เป็นสนธิสัญญาก็จะต้องเข้ารัฐสภาอีกครั้ง แต่ตรงนี้ถือว่าสมบูรณ์ในตัวของมันเองอยู่แล้ว เป็นข้อตกลงร่วมกัน
เมื่อถามว่าแม้จะเป็นข้อตกลงแต่เป็นเรื่องของเขตแดนก็จำเป็นต้องเข้าสภาก่อนหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เขาประกาศเขตแดนเขาปี 2515 ขณะที่เราประกาศในปี 2516 ฉะนั้นต่างฝ่ายต่างมีเส้นอยู่ MOU44 จึงให้มาตกลงกันว่าเส้นตรงนี้จะอยู่ที่ตรงไหน ยังไม่จบในเรื่องของอธิปไตย
ด้าน น.ส.แพทองธาร อธิบายเพิ่มเติมว่า MOU44นี้ ไม่ได้บอกหรือเป็นตัวชี้ว่าของฉันหรือของเธอ แต่เป็น MOU จากการที่ของฉันและของเธอไม่เหมือนกัน เราต้องคุยกัน ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเข้าสภาตามที่นายภูมิธรรมได้พูดแล้ว มันเป็นการตกลงระหว่างสองประเทศเรียบร้อยแล้ว เข้าใจตรงกัน แต่ถ้าหากมีข้อตกลงเพิ่มเติมก็ต้องคุยผ่านคณะกรรมการอย่างเป็นกิจจะ ขีดเส้นอะไรเรียบร้อยแล้วค่อยเข้าสภา
อยู่ในกรอบกฎหมายทะเล
เมื่อถามว่าจะเป็นอุปสรรคอะไรหรือไม่ ในเมื่อประเทศไทยเป็นสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 หรือ United Nations Convention on the Law Of the Sea (UNCLOS) แต่กัมพูชาเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ไม่เข้าร่วม จะเป็นปัญหาตามมาหรือเปล่า นายภูมิธรรม กล่าวว่า สนธิสัญญาที่เจนีวา ประกาศกฎหมายทางทะเลไม่ว่าคุณจะเข้าหรือไม่เข้าก็ตาม คุณก็ต้องยอมรับอนุสัญญานี้ ฉะนั้นในการเจรจาทั้งหมดต้องอยู่ในกรอบนี้ เพราะกรอบนี้เป็นกรอบที่คุมทั่วโลกทุกประเทศ ฉะนั้นไม่มีปัญหาในเรื่องนี้เลย
“ใน MOUพูดชัดเจน และแสดงออกชัดเจนว่าเป็นอนุสนธิสัญญา เป็นข้อตกลงร่วมกันของ 2 ฝ่าย เพื่อเจรจาเรื่องเขตแดน วัตถุประสงค์เป้าหมายมีแค่นี้เอง และหลังจากคุยกันแล้ว ได้ผลอะไรก็มาว่ากันอีกที จึงรีบตั้งคณะกรรมการของเรา เพราะทางกัมพูชาเขามีอยู่แล้ว เมื่อตั้งเรียบร้อยแล้วก็จะเร่งเจรจา ซึ่งเป็นส่วนที่ผูกพันกันสองส่วน เรื่องผลประโยชน์ทางทะเลและเขตแดนที่ชัดเจน”
ต้องอธิบายให้ทุกฝ่ายเข้าใจ
เมื่อถามว่าเข้าใจความตั้งใจของรัฐบาล แต่ในเมื่อมีปัญหาความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน จะต้องชะลอหรือหยุด MOU44 ไว้ก่อนหรือไม่ ให้เกิดความชัดเจนก่อนเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นายกฯ กล่าวว่า “เราชะลอได้เลย แต่สิ่งที่เราต้องมีคือคณะกรรมการ เพราะฉะนั้นก็ไม่ทราบว่ากัมพูชาจะต้องคุยกับใครอย่างไร มันก็จะไม่เป็นหลักฐานในการคุย การตั้งคณะกรรมการนั้นสำคัญ อันนี้คือสิ่งที่ต้องเร่งเรื่องเดียว ส่วนเนื้อหาข้างในไม่ต้องเร่ง ไม่จำเป็น ดีแล้วที่สื่อมวลชนถามเรื่องนี้”
“จริงๆแล้วได้คุยกับกัมพูชา ทางนั้นพูดเหมือนกันว่าจริงๆแล้วไม่มีอะไรเลย แต่ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ หากเราตั้งคณะกรรมการเสร็จ ซึ่งรัฐบาลเร่งอยู่แล้ว ถ้าตั้งเสร็จก็จะง่ายขึ้น ทุกอย่างจะถูกตรวจสอบ และมีการพูดคุยกันสองประเทศเกิดความแฟร์ และความเข้าใจขึ้น และข้อมูลที่ประชาชนอยากได้ ก็จะครบถ้วนมากยิ่งขึ้น จึงต้องคุยกันทั้งสองฝ่าย คณะกรรมการจึงจำเป็น” นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่าล่าสุดทางกองทัพเรือได้เผยแพร่คลิปผ่านโซเชียล ยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ตรงกับที่นายกฯแถลงก่อนหน้านี้ แต่พื้นที่โดยรอบ 200 ไมล์ทะเล ต้องเป็นของประเทศไทยด้วยตามกฎหมาย UNCLOS นายกฯ กล่าวว่า ไม่ใช่ปัญหา เดี๋ยวจะให้เลขาฯส่งแผนที่ให้เห็นว่าเขาแบ่งกันอย่างไร จะได้เห็นว่าเส้นปี 2515 ที่กัมพูชาขีด และ 2516 ที่เราขีดไม่เหมือนกัน แต่ที่ทางกัมพูชาขีดเขาได้เว้นอ้อมเกาะกูดของเราชัดเจน ฉะนั้นทางเขาไม่มีปัญหา
ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเกาะกูด
“การที่ไปพูดคุยกัน เขาก็พูดเรื่องเดียวว่าคณะกรรมการจะเสร็จเมื่อไร จึงบอกไปว่ากลางเดือน พ.ย. ฉะนั้นเรื่องเกาะกูดไม่มีปัญหาแน่นอน เขาขีดเส้นข้ามไปเลย เขาก็ไม่ได้อยากจะเป็นปัญหาเหมือนกัน” น.ส.แพทองธาร กล่าว เมื่อถามย้ำว่า ยืนยันว่าการเจรจาผลประโยชน์ใต้ทะเลจะต้องชะลอไปก่อนหรือไม่ เพื่อรอให้เกิดความชัดเจน นายกฯ กล่าวว่า ใช่ ต้องชัดเจนก่อน เพื่อไม่ให้มีปัญหา
พปชร.จี้ทำเอ็มโอยูใหม่
วันเดียวกัน ที่พรรคพลังประชารัฐ แถลงข่าว หัวข้อ “MOU 2544 ภาคต่อ EP 2” นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ยังไม่ต้องการเห็นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนสำเร็จ ไม่ได้มีเจตนาคัดค้านการเจรจาการแบ่งปันผลประโยชน์ แต่มุ่งหวังที่จะเสนอแนะการเจรจานั้นสัมฤทธิ์ผล และยืนยันว่าเกาะกูด เป็นของประเทศไทย แต่น่านน้ำถูกละเมิดสิทธิ ดังนั้นการตั้งต้นกรอบการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนด้วยการละเมิดน่านน้ำเกาะกูด เป็นจุดเริ่มต้นพื้นที่ทับซ้อนที่ยาก ในการตกลงร่วมกัน และกรณี MOU 2544 พรรคยืนยันจุดยืนว่าเป็นอุปสรรคต่อการเจรจา เป็นสาเหตุให้พรรคยกเลิก
ห่วงนำไปสู่การปันพลังงานที่ไม่ชอบ
“เพราะเกิดการถกเถียงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เริ่มมาจากกรณีไม่ได้มีการเจรจาอาณาเขตทางทะเลตามกฏหมายสากล กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ต่างฝ่ายต่างเคลม เป็นจุดเริ่มต้นในการเจรจา เป็นสาเหตุที่เราเห็นว่า หากไม่ได้เริ่มต้นเจรจาอยู่บนกรอบของกฎหมายสากลในการแบ่งอาณาเขตทางทะเลแล้วยอมรับในเรื่องของการนำจุดตั้งต้นนั้น เป็นจุดการเจรจา เราพบแล้วว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุข้อตกลงและการยอมรับของทั้ง2 ฝ่าย” นายสนธิรัตน์ กล่าว
นายสนธิรัตน์ ระบุว่า อาจจะนำไปสู่การแบ่งผลประโยชน์ที่ไม่ชอบและไม่เป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้นหลักการเจรจาจะต้องเริ่มต้นตามหลักกฏหมายสากล เพื่อจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งผลประโยชน์ที่เป็นธรรม ซึ่งพรรคพลังประชารัฐยืนยันมาตลอดว่ากังวลใจ แม้กระทรวงต่างประเทศจะบอกว่า MOU2544 ไม่ได้กำหนดถึงอาณาเขตทางทะเล แต่หากการเจรจายังใช้บันทึกตกลงดังกล่าวและมีการเซ็นสัญญาระหว่าง 2 ฝ่าย โดยมีเอกสารแนบท้าย อนาคตหากเกิดกรณีพิพาท 2 ประเทศ ซึ่งสิ่งนี้เป็นหลักฐานว่าเกิดการยอมรับทางประวัติศาสตร์ขึ้น จึงมีความไม่สบายใจ
MOUที่ทำไปไทยเสียเปรียบ
ด้าน ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการ กล่าวชี้แจงตอบนายกรัฐมนตรี เรื่อง MOU 2544 ที่ไทยเสียเปรียบและเป็นบันไดนำไปสู่การเสียดินแดนจากความตกลงนี้ในอนาคต
รัฐบาลให้สิทธิพิเศษในการเจรจากับกัมพูชาเหนือกว่าประเทศอื่นในการแบ่งเขตไหล่ทวีป ที่ล้วนต้องปฏิบัติตามกฎหมายทะเลสากล เหตุใด กัมพูชาเป็นคู่เจรจาที่ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทะเลสากล ที่สำคัญคือ ขัดกับวรรคท้ายของพระบรมราชโองการที่ระบุว่า การกำหนดไหล่ทวีป กับประเทศใกล้เคียงให้ตกลงกันโดยยึดถือบทบัญญัติอนุสัญญาเจนีวา 1958
กินพื้นที่ไทยมหาศาล
MOU 2544 เป็นการลดสถานะของเส้นเขตแดนตามประกาศพระบรมราชโองการที่ทำตามกฎหมายสากล ให้มีค่าเท่ากับเส้นที่ลากเส้นเขตแดนที่ไม่มีกฎหมายสากลรองรับ กินพื้นที่พระราชอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยไปถึง 26,000 ตร. กม.MOU 2544 ทำให้ไทยที่ทำตามกฎหมายสากลกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะอีกฝ่ายทำนอกกฎหมายสากล และเรื่องการไม่ปฏิบัติตามกฏหมายสากลของกัมพูชานี้เป็นที่ทราบดีในวงวิชาการ กระทรวงต่างประเทศ และกองทัพ
การลากเส้นเขตแดนทางทะเลเกินสิทธิ์ของกัมพูชา ทับน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด ทับทะเลอาณาเขตชิดเกาะกูด แต่กลับปรากฎในแผนที่แนบท้าย MOU 2544 เท่ากับรัฐบาลไทยรับรู้ว่า ทะเลตราดและทะเลเกาะกูดอยู่ในเขตของฝ่ายกัมพูชา และถูกนำเข้ามาอยู่ในกรอบการเจรจา ไทยจึงเป็นฝ่ายเสียเปรียบตั้งแต่ยังไม่เริ่มเจรจา
รัฐบาลอธิบายว่า MOU 2544 ไม่ปรากฎข้อความไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา แต่เส้นดังกล่าวไปปรากฏในแผนที่แนบท้าย แม้ไม่ได้เขียนตรงๆ ว่า ยอมรับ แต่แผนที่คือเอกสารราชการที่แสดงการรับรู้รับทราบว่า เส้นของกัมพูชาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เพราะไม่เคยปรากฏบนเอกสารราชการไทยมาก่อนปี 2544 เลย การรับรู้เส้นเขตแดนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในเอกสารราชการไทย ก็ทำให้ฝ่ายกัมพูชาได้ประโยชน์ ถือว่าทำให้ไทยเสียหาย
เตือนอย่าเพิ่งปันผลประโยชน์
สำหรับการเจรจา MOU 44 กับประเทศกัมพูชานั้น เป็นการดำเนินการที่เร่งรีบผิดปกติโดยใช้เวลาเจรจาเพียง 44 วัน จนระบุเส้นละติจูดผิด เมื่อเทียบกรณี กับมาเลเซีย ใช้เวลา 7 ปี จึงเกิด MOU แสดงให้เห็นความรีบร้อน ไม่รัดกุม อาจนำประเทศไปสู่ความสุ่มเสี่ยงในอนาคต
หากยอมให้มีการขุดปิโตรเลียมและมีการแบ่งผลประโยชน์กัน 50% ระหว่างไทยและกัมพูชาเมื่อใด จะเป็นหลักฐานสำคัญว่า ไทยยอมรับสิทธิอธิปไตยของกัมพูชาในพื้นที่ดังกล่าว และมีความเสี่ยงที่จะถูกนำขึ้นสู่ศาลโลกเพื่อแบ่งพื้นที่ให้กัมพูชา 13,000 ตร.กม. ต่อไปในอนาคต
ยกเลิกMOUแล้วทำฉบับใหม่
ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของคนไทย จึงควรยกเลิก MOU 2544 แล้วทำ MOU ฉบับใหม่กับกัมพูชา ปี 2568 ก็ได้โดยขอให้กัมพูชา ทำตามกฎหมายทะเลเสียก่อน
ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่ามีบางกระแสคิดว่าที่ พรรคพลังประชารัฐออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ เพื่อประโยชน์ทางการเมือง แต่ขอย้ำว่าออกมาเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ของประเทศ พร้อมตั้งข้อสงสัยว่า การทำงานของกระทรวงต่างประเทศ (กต.) อาจไม่ได้ให้ข้อมูลแก่รัฐบาลต่างๆที่ผ่านมาอย่างครบถ้วน โดยขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้มีหน้าที่ปกป้องประเทศในเวทีกฎหมายสากล ชี้้แจงต่อประชาชนว่า กระทรวงการต่างประเทศไปเสนอให้รัฐบาลทำ MOU ทั้งที่รู้ดีอยู่แล้วว่าเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ผ่านเกาะกูดนั้นขัดกับกติกาสากล ใช่หรือไม่
เอาบันทึกในอดีตมาดูใหม่
นายธีระชัย กล่าวต่อว่า เส้นดังกล่าวขัดกับกติกาสากล 3 ข้อ คือ ขัดอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตฯ เพราะรุกล้ำอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลรอบเกาะกูด ขัดสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ เพราะอ้างจุดสูงสุดบนเขาเกาะกูดบิดเบือนเจตนารมณ์ และขัดอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป เพราะอนุสัญญาฯ ไม่ได้อนุญาตเรื่องเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในสนธิสัญญาฯ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศในฐานะผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศย่อมจะรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงรู้สึกแปลกใจว่าทำไมไปทำ MOU โดยนำเส้นที่ผิดกติกาไปใส่
นายธีระชัย กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีควรจะเรียกให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตอบคำถามและบันทึกไว้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างชัดเจน ว่า กระทรวงต่างประเทศทราบหรือไม่ว่าเส้นสีแดงที่ผ่านเกาะกูดของกัมพูชานั้นผิดกฎหมายสากลและ กระทรวงการต่างประเทศ เคยแจ้งทักท้วงทางกัมพูชาหรือไม่ และได้เคยแจ้งให้รัฐบาลไทยชุดใดทราบหรือไม่ การไปทำMOU โดยนำเส้นที่ผิดกติกาสากลไปทำนั้นเกิดประโยชน์อะไรกับประเทศไทย, MOU มีการเขียนไว้ว่า ไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของประเทศคู่สัญญา ก็หมายความว่าไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของกัมพูชา หมายความว่าไทยจะสละสิทธิ์ในการทักทวงเส้นนี้ที่ผิดกฎหมายสากลหรือไม่ และเส้นที่ผ่านเกาะกูดจะถูกต้องตามอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ก็เฉพาะกรณีที่ไทยและกัมพูชาเป็นเจ้าของเกาะกูดกันคนละส่วนใช่หรือไม่
MOUสามารถยกเลิกได้เลย
นายสนธิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พลังประชารัฐยืนยันจุดยืนในการยกเลิก MOU2544 ไม่ได้ประสงค์จะให้ รัฐบาลทำงานไม่ได้ แต่ประสงค์ให้รัฐบาลทำงานได้บรรลุผล เพราะใน MOU มีข้อบกพร่อง การทำสัญญา ณ ขณะนั้นขาดความรอบคอบ จึงเรียกร้องให้กลับมาเริ่มต้นโดยการเจรจา บนหลักสากลของการแบ่งอาณาเขตทางทะเล 1982 ซึ่งนี่จะเป็นจุดที่จะตัดความกังขา
อย่างไรก็ตาม การนำเสนอนี้ไม่ได้มีเจตนาโต้แย้ง แต่ต้องการความเห็นรอบ เพราะประเทศไม่ใช่ของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง แต่ประเทศเป็นของประชาชนคนไทย
ส่วนจะยกเลิก MOU2544 ได้หรือไม่นั้น พรรคพลังประชารัฐกำลังตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกฝ่ายเดียว แต่ขอทำการบ้านก่อน เรื่องนี้เป็นเพียงบันทึกข้อตกลง ไม่ใช่หนังสือสัญญาระหว่างกัน ต้องให้กระทรวงการต่างประเทศศึกษาเชิงลึกด้วย เพราะตอนที่เซ็นMOUกันนั้น ไม่ได้ผ่านสภา ดังนั้นเมื่อจะยกเลิกก็ไม่จำเป็นต้องผ่านสภา และเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า ถ้าจะยกเลิกจะต้องทำอย่างไร
สำหรับการยกเลิก MOU เชื่อว่าสามารถยกเลิกได้ผ่านการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งตามข้อมูลที่พรรคมีนั้น เชื่อว่าสามารถยกเลิกได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี