‘อิ๊งค์’ลุยเอเปก
จีบนักลงทุน
หาเงินเข้าไทย
หวังกระตุ้นศก.
เวทีเอเปกต้อนรับ นายกฯ ไทย เตรียมบินถกประชุมสำคัญเปรูสัปดาห์นี้ แสดงวิสัยทัศน์ โชว์ศักยภาพไทยแลนด์ดึงนักลงทุนมาไทยมากขึ้น
เมื่อวันที่9 พฤศิกายน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางเยือนนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา และร่วมการประชุมผู้นำประเทศเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เอเซีย-แปซิฟิก (เอเปค) ครั้งที่ 31 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ในระหว่างวันที่ 10-18 พฤศจิกายน 2567 นี้ โดยนายกรัฐมนตรีจะเดินทางเยือนนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ในวันจันทร์ตามเวลาประเทศไทยและจะพบกับทีมไทยแลนด์เป็นครั้งแรกเพื่อมอบนโยบายแก่เอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ และหัวหน้าสำนักงานทีมประเทศไทยในภูมิภาคอเมริกา เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคอเมริกา ให้เป็นไปตามเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง เน้นส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงและ ความมั่นคงของมนุษย์ การส่งเสริมการค้าการลงทุนเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่เป็นเป้าหมายของไทย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังเน้นนโยบายส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พลังงานสะอาดและเศรษฐกิจสีเขียว และการส่งเสริม soft power อีกด้วย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้พบปะ แลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็น กับพี่น้องคนไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งปัจุบันมีกว่า 4แสนคน และที่แอลเอยังเป็นชุมชนไทยในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีคนไทยอาศัยอยู่ประมาณ 107,000 คน ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจส่วนตัว และทำงาน ร้านอาหารไทย และนักศึกษาในทุกระดับ
นายจิรายุกล่าวต่อไปว่า สำหรับกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเซียแปซิฟิก หรือ เอเปค ครั้งที่ 31 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศสมาชิก 21 ประเทศ อาทิ ไทย สหรัฐอเมริกา เปรู ชิลี แม็กซิโก รัสเซีย ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ ฯลฯ โดยนายกรัฐมนตรีจะหารือกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและแขกพิเศษของประธานเอเปค นอกจากนี้ ยังจะหารือระหว่างผู้นำเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคในช่วงระหว่างการเลี้ยงรับรองอาหารกลางวัน ในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค ประจำปี 2567 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในรูปแบบ Retreat อีกด้วย
“นายกรัฐมนตรีจะใช้การเข้าร่วมเวทีระดับโลกนี้ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นของไทยในการมีส่วนร่วมในเวทีพหุภาคี สร้างความเชื่อมั่น และยืนยันความต่อเนื่องของนโยบายต่างๆ ที่ รัฐบาลไทยพร้อมจะมีส่วนร่วมสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ในที่ประชุม เอเปค พร้อมใช้โอกาสนี้ หารือทวิภาคีกับผู้นำเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประชุมฯ อาทิ นางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา (H.E. Ms. Dina Ercilia Boluarte Zegarra) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเปรู โดยมีเป้าหมายที่จะเชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น“ นายจิรายุ กล่าว
สำหรับ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) คือเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 โดยมีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค
ปัจจุบันเอเปคมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจประกอบด้วย ประเทศไทย ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม
เอเปคดำเนินงานโดยยึดหลักฉันทามติ ความเท่าเทียมกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน ของประเทศสมาชิก ทั้งนี้ ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคปี 2564 ได้รับรองวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 (Putrajaya Vision 2040) เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของเอเปคในระยะข้างหน้า โดยมุ่งเน้นประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ (1) การค้าและการลงทุนเสรี (2) นวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล และ (3) การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี