"ภูมิธรรม"เผย ครม.เคาะ 2 ร่างกฤษฎีกาป่าอนุรักษ์ ใน 4 อุทยาน 2 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หลังม็อบร้องสิทธิที่ดินทำกิน ย้ำผู้ผ่านตรวจสอบสิทธ์ ถือครองที่ดินในกรมอุทยานฯได้ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ โอนให้คนอื่นไม่ได้
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า การประชุม ครม.วันนี้ได้หารือกันในเรื่องของกฎหมายรอง ที่ภายในวันที่ 27 พ.ย.นี้ จะหมดวาระลง จึงต้องรีบออกกฏหมายรองให้เร็วที่สุด แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดและส่งผลกระทบกับประชาชนที่มาเรียกร้องอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล คือ ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) โครงการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติตามมาตรา 64 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และร่าง พ.ร.ฎ.โครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามมาตรา 121 ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ซึ่งร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้มีการอนุรักษ์ และรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าในระยะเวลา 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.ฎ.มีผลบังคับใช้ เพื่อให้ประชาชนอยู่อาศัยและมีพื้นที่ทำกินในพื้นที่ดังกล่าว โดยวันที่กฎหมายดังกล่าวบังคับใช้แล้ว แต่ประชาชนสามารถอยู่อาศัยและทำกินชั่วคราว โดยมีการกำหนดพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินอย่างชัดเจน แต่ไม่มีการขยายพื้นที่อีก
นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 กำหนดให้โครงการในพื้นที่ ตามที่มีการกำหนดแนบท้ายของพระราชกฤษฎีกาให้มีแนวเขตโครงการที่กำหนดไว้ในแผนที่ท้ายจำนวน 6 แห่ง สอดคล้องกับเรื่อง วันแมปที่ได้ข้อยุติไปแล้ว มีอุทยานแห่งชาติ จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์, อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี, อุทยานแห่งชาติเขา 15 ชั้น จังหวัดจันทบุรี, อุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 2 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง จังหวัดเพชรบูรณ์ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี
นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ที่จะอยู่อาศัยหรือทำกินภายใต้โครงการจะต้องมีผลสำรวจ โดยผู้ที่มีรายชื่อตามผลสำรวจถือครองที่ดินของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ ในกรณี 2 ครอบครัวขึ้นไปที่ทำกินร่วมกันในสถานที่ทำกินเดียวกันให้อยู่อาศัยหรือทำกินได้ไม่เกิน 40 ไร่ ส่วนผู้ที่อยู่อาศัยหรือทำกินในรูปแบบผู้ครอบครองที่ดิน แบ่งเป็น 1.ผู้ครอบครองที่ดิน 2.สมาชิกในครอบครัวหรือครัวเรือน จะต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น มีสัญชาติไทย ไม่มีที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัย ไม่เคยต้องคำพิพากษาจนถึงที่สุด ในเรื่องของการทำลายป่าหรือ การล่าสัตว์
นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ผู้ครอบครองที่ดินจะโอนการครอบครองหรือยินยอมให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวเข้ามาอยู่อาศัย หรือทำกินไม่ได้ และผู้อยู่อาศัยหรือทำกินมีหน้าที่ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเรื่องนี้ได้เสนอกฤษฎีกาไปแล้ว และ ครม.ได้เห็นชอบตามนี้แล้ว โดยยังมีปัญหาและข้อขัดแย้งอยู่บ้าง ซึ่ง พ.ร.บ.นี้ได้ใช้มาอยู่ 5 ปีแล้ว ฉะนั้นได้เวลาที่จะทบทวน ดังนั้น ครม.จึงมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกันในการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อทบทวน ดูแลและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ต่อไป
นายภูมิธรรม กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีผู้ไร้สัญชาติที่มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง จำนวน 4 แสนราย ที่ ครม.มีมติรับรองแล้วเป็นผู้ที่ได้อยู่อาศัยใน 6 พื้นที่ที่กำหนดส่วนที่เหลือจะดำเนินการต่อไป
ด้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ก่อนจะนำร่าง พ.ร.ฎ.ทั้ง 2 ฉบับ ผ่านความเห็นชอบของ ครม. รัฐบาลได้ทำความเข้าใจกับประชาชนที่มาเรียกร้องสิทธิ์ และวันนี้ ครม.ได้ผ่านความเห็นชอบร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ย้ำว่า รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน และ พ.ร.ฎ.ทั้ง 2 ฉบับ เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี