เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง?! ’อดีตสว.สมชาย‘ แนะช่องหาข้อมูลทาง ’พฤตินัย‘ ชงส่งศาลรธน.วินิจฉัยปม ‘โต้ง กิตติรัตน์‘ ขาดคุณสมบัตินั่ง ’ประธานบอร์ดธปท.‘ หรือไม่ เตือนระวังทำผิดกราวรูด
12พ.ย.2567 นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสรรหาประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดธปท. พิจารณาคัดเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี(นายเศรษฐา ทวีสิน) อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.คลัง นั่งประธานบอร์ดธปท. คนใหม่ มีบางฝ่ายมองว่าอาจขัดคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็นกรรมการธปท.ว่า นายกิตติรัตน์ ได้รับการแต่งตั้งจากนายเศรษฐา ให้เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ ตามคำสั่งนายกฯ ที่214/2566 ลงวันที่ 14 ก.ย.66 และต่อมาได้พ้นจากตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกฯ ไปพร้อมกับนายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 14 ส.ค.67 จึงมีคำถามว่า ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกฯ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ อีกทั้งนายกิตติรัตน์ พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมายังไม่ถึง 1 ปี จะขัดคุณสมบัติตามลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งบอร์ดธปท.หรือไม่ ที่ระบุว่า ต้องไม่เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีหรือไม่
นายสมชาย กล่าวต่อว่า ถือเป็นเรื่องทางข้อกฎหมายที่หลายฝ่ายไม่สบายใจ เนื่องจากตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกฯ ของนายกิตติรัตน์ โดยทางนิตินัยแม้จะไม่เป็นข้าราชการการเมือง เนื่องจากเคยมีการเขียนกฎหมายแบบเลี่ยงบาลีศรีธนญชัย กับบรรดาตำแหน่ง ประธานที่ปรึกษาของนายกฯ ที่ปรึกษาของนายกฯ กรรมการผู้ช่วยรองนายกฯ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างๆนั้น จนมีการแต่งตั้งกันมากมาย นำมาซึ่งการแสวงหาประโยชน์ทางการเมืองจากบุคคลในระดับสั่งการ แต่ในทางพฤตินัยปฏิเสธไม่ได้ว่าตำแหน่งเหล่านี้มีหน้าที่ทำตามข้อสั่งการของนายกฯที่ได้รับมอบหมาย ตามคำสั่งที่ 214/66 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา11(6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535 โดยระบุแนบท้ายด้วยว่า ให้ส่วนราชการสนับสนุนการดำเนินงานของที่ปรึกษาของนายกฯตามที่ได้รับการร้องขอ รวมถึงอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาของนายกฯ ดังนั้นต้องไปดูว่าตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกฯ มีการสั่งการเป็นนโยบายต่อข้าราชการประจำหรือไม่ มีการลงนามเบิกงบราชการเพื่อเดินทางไปดูงานต่างประเทศหรือไม่
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ตนจึงเห็นว่าสมควรควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นเคสตัวอย่างเพื่อสืบข้อเท็จจริงว่า ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกฯ ที่เกิดจากการเลี่ยงบาลีทางกฎหมายแบบศรีธนญชัย เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ เพราะในบันทึกความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องฐานะและการดำรงตำแหน่งของผู้ช่วยรัฐมนตรี เรื่องเสร็จที่139/2547 ที่อยู่ในพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535 ระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในที่นี้จึงหมายถึง คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันที่มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินฯ ดังนั้น แน่นอนว่านายกิตติรัตน์ ไม่ได้เป็นคณะรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภา แต่ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นฯ ตามพฤตินัยจะเข้าข่ายเป็นประธานปรึกษาของนายกฯด้วยหรือไม่ ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน เป็นคำที่กว้าง แต่ส่วนตัวตนมองว่า ประธานที่ปรึกษาของนายกฯ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยพฤตินัย
”คงไม่ใช่ผมที่จะดำเนินการยื่นต่อศาลฯวินิจฉัย แต่พนักงาน หรือผู้บริหารของแบงค์ชาติ แม้แต่บุคคลอื่นๆ ควรดำเนินการรวบรวมข้อมูลทางพฤตินัยของอดีตประธานที่ปรึกษาของนายกฯ เช่น ในช่วงนั้นใช้งบฯทำพีอาร์หรือไม่ เบิกงบไปดูงานต่างประเทศหรือไม่ หรือมีการสั่งการนโยบายต่อข้าราชการหรือไม่ เพื่อยื่นต่อศาลฯวินิจฉัยว่า เพราะเรื่องนี้หากท้ายที่สุดแล้วมีความผิดขาดคุณสมบัติในการเป็นประธานบอร์ดแบงค์ชาติ คนที่มีความผิดไปด้วยคือ 1.คณะกรรมการสรรหา 2.บุคคลที่เกี่ยวข้องที่ให้ความเห็นชอบ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะที่เป็นผู้รับเรื่อง“ นายสมชาย กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี