รอดูฝีมือคกก.เทคนิค!!! "กษิต"ชี้ชัด"ไทย-กัมพูชา"สุดท้ายต้องจบที่เจรจา "MOU44"ลากแบบไหนก็ไม่มีผลบังคับ
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบซูมกับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็น บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ซึ่งจัดทำขึ้นในปี 2544 หรือ MOU44 ที่มีข้อถกเถียงกันว่าสมควรยกเลิกหรือไม่? ว่า การจะคงไว้ซึ่ง MOU44 เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลปัจจุบัน
ซึ่งหากถามตนในฐานะพลเรือนที่ไม่เกี่ยงข้องกับการเมือง ตนไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะ MOU เป็นเพียงกรอบที่ได้มีการตกลงกันในสมัยรัฐบาลไทยยุคทักษิณ ชินวัตร กับรัฐบาลกัมพูชายุคฮุน เซน ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) เพื่อเจรจาว่าด้วยข้อพิพาททางทะเล และพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรใต้ทะเลเพื่อนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน แต่การเจรจาก็กระท่อนกระแทนขาดตอนไปบ้าง และเวลานี้รัฐบาลชุดปัจจุบันก็อยากเริ่มต้นใหม่ เราก็ต้องตามดูการเจรจา ย้ำว่า MOU เป็นแค่กรอบเท่านั้น จะมีหรือไม่มีก็เจรจากันได้ สำหรับตนจึงไม่มีปัญหา
ส่วนที่มีข้อกังวลว่า MOU44 อาจทำให้ประเทศไทยเสียดินแดน เรื่องนี้กรุงสยามกับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส มีข้อตกลงกันเมื่อปี ค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) ระบุไว้ชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของสยาม และระหว่างนั้นก็มีการสำรวจดินแดน มีการจัดทำเสาหลักเขตแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ที่มีอยู่ประมาณ 70 กว่าเสา ดังนั้นสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศสยังมีชีวิตอยู่จนกระทั่งบัดนี้ และตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ กัมพูชาเป็นผู้สืบสิทธิ์ต่างๆ ที่ฝรั่งเศสเคยมี ภายหลังจากที่ฝรั่งเศสออกไปจากอินโดจีนแล้ว
อีกทั้งเมื่อกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1954 (พ.ศ.2497) มาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 70 ปี กัมพูชาก็ไม่ได้ฉีกสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสทิ้ง เพราะเขารับเต็มที่ 100% ในฐานะประเทศที่สืบทอดมาจากฝรั่งเศส ประกอบกับในความเป็นจริงก็มีคนไทยไปตั้งรกรากบนเกาะกูด และเกาะกูดก็เป็นอำเภอหนึ่งใน จ.ตราด ก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร รวมถึงไม่เคยมีข่าวว่ารัฐบาลกัมพูชา ไม่ว่าลอนนอล เจ้าสีหนุ เขมรแดง ฮุน เซน และปัจจุบันคือฮุน มาเนด บุตรชายของฮุน เซน ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด
ส่วนเรื่องที่กัมพูชาขีดเส้นผ่านกึ่งกลางเกาะกูดเพื่ออ้างสิทธิ์ 200 ไมล์ทะเล เรื่องนี้ทั้งกัมพูชาและไทยต่างก็ขีดเส้น แต่ในเมื่อตกลงกันไม่ได้ต้องเจรจากัน เขาจะขีดอะไรอย่างก็เป็นเรื่องที่ต้องเจรจา ส่วนคำถามว่าการขีดเส้นของกัมพูชาสอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) หรือไม่ เรื่องนี้ตนไม่ใช่นักกฎหมายแต่มองว่ากัมพูชาเลอะเทอะ และเป็นหน้าที่ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องเจรจาเพราะขีดเส้นไม่เหมือนกัน
“เริ่มกันคนละหลัก-คนละจุด เจตนารมณ์ทางการเมืองก็ต้องใช้กรอบการเจรจาเพื่ออำนวยให้มีการเจรจาอย่างจริงจังก็เท่านั้นเอง จะขีดอย่างไรก็ขีดได้ แต่มันไม่มีผลบังคับใช้เพราะมันต้องเจรจากัน เพราะมันมีการขีดไขว้กันไป-มา หรือทับซ้อน มันไม่มีผลในทางปฏิบัติเพราะมันต้องเจรจา ก็สบายใจได้ ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของคณะผู้แทนไทยที่จะไปเจรจา” นายกษิต กล่าว
นายกษิต กล่าวต่อไปว่า ส่วนข้อกำหนดใน MOU44 ที่ต้องการให้เจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลกับการเจรจาแบ่งเขตแดนประเทศต้องทำไปพร้อมกัน ตนมองว่าไม่ได้พร้อมกันขนาดนั้น แต่ต้องตกลงเรื่องข้อพิพาทว่าด้วยเขตแดนทางทะเลเสียก่อน เพื่อให้รู้ว่าพื้นที่ทะเลและดินที่อยู่ใต้ทะเล ส่วนไหนตกลงกันไม่ได้และจะต้องเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกัน เพราะไม่สามารถที่จะนำก๊าซหรือน้ำมันที่อยู่ใต้ทะเลขึ้นมาได้โดยที่ไม่มีการตกลงกันเสียก่อนว่าด้วยการขีดเส้นหรือปักปันเขตแดนทางทะเล
ดังนั้นก็ต้องเจรจาเรื่องเขตแดนก่อน แต่ระหว่างนั้นก็สามารถพูดคุยกันนอกรอบได้ว่าจะนำตัวเลขทรัพยากร ซึ่งก็มีข้อมูลอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศบ้าง กระทรวงพลังงานบ้าง ในขณะเดียวกัน ทั้ง 2 ชาติก็ได้ให้สัมปทานกับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งก็คงได้สำรวจไปอีกต่างหาก ทุกคนก็มีข้อมูลอยู่ ก็สำรวจไป แต่ยังทำอะไรไม่ได้จนกว่าจะมีการตกลงกันเรื่องเขตแดนก่อน
ซึ่งเหตุที่เกิดความสับสนขึ้น เพราะมีช่วงหนึ่งในแวดวงการเมืองของทั้งไทยและกัมพูชา อยากนำน้ำมันและก๊าซขึ้นมาก่อนโดยที่การเจรจาว่าด้วยการปักปันเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จ และอาจมีผลประโยชน์ที่ไมค่อยงามทั้งต่อชาวกัมพูชาและชาวไทย แต่เรื่องนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้จนกว่าจะมีการตกลงว่าด้วยข้อพิพาททางทะเล ทำแผนที่ให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อนแล้วค่อยมาคุยกัน
ส่วนที่มีการแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือส่วนบนหรือที่อยู่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ 10,000 9รางกิโลเมตร เป็นพื้นที่เจรจาเรื่องเขตแดน กับส่วนที่อยู่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ 16,000 9รางกิโลเมตร เป็นพื้นที่เจรจาผลประโยชน์ทางทะเล เท่ากับไทยจะเจรจาได้เพียงส่วน 10,000 9รางกิโลเมตร หรือไม่? ตนมองว่าไม่ใช่ แต่เรื่องนี้ต้องไปว่ากันในรายละเอียด จึงขึ้นอยู่กับการเจรจา
ซึ่งการขีดเส้นไม่ว่าโดยไทยหรือกัมพูชา เป็นการแสดงเจตนารมณ์ แต่เมื่อขัดกันก็ต้องมาเจรจากัน ไม่ได้หมายความว่าขีดไปแล้วจะต้องเป็นเด็ดขาด เป็นเพียงการบอกว่าฝ่ายไทยเห็นแบบนี้ ฝ่ายกัมพูชาเห็นแบบนี้ ไม่มีอะไรแล้วเสร็จและต้องมาเจรจากัน ส่วนคำถามว่า สมัยที่เป็น รมว. ต่างประเทศ เคยทักท้วงการลากเส้นของกัมพูชาหรือไม่ ตอนนั้นไม่ได้เข้าไปในรายละเอียด เพราะต้องปล่อยให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่เจรจาไป และการที่มี MOU ก็เท่ากับเป็นการทักท้วงโดยปริยายว่าเราไม่ยอมรับเส้นที่กัมพูชาขีด ในทางกลับกัน กัมพูชาก็ไม่ยอมรับเส้นที่ไทยขีดเช่นกัน
ส่วนข้อกังวลเรื่องแผนที่ห้อยท้าย MOU จะมีผลทางกฎหมายหรือไม่? ตนก็มองว่าไม่มีผล เพราะเป็นเพียงการบ่งบอกว่าไทยมองอย่างไร กัมพูชามองอย่างไร เมื่อมองต่างกันก็ต้องมาเจรจากัน ไม่ใช่เราขีดแล้วเขายอมรับ หรือเขาขีดแล้วเรายอมรับ ซึ่งหากทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับซึ่งกันและกัน ก็คงไม่ต้องเจรจาหรือไม่ต้องมี MOU ตนมองว่าอย่าไปห่วง ปล่อยให้รัฐบาลและผู้เจรจาเขาเจรจาไป
ทั้งนี้ MOU44 เกิดขึ้นในสมัยนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) โดยมี นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็น รมว.ต่างประเทศ ในส่วนแนบท้าย MOU ให้มีเอกสารเป็นภาคผนวกทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา เพราะต่างฝ่ายต่างขีดกันคนละเส้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการต้องเจรจามากกว่าจะบอกว่าเป็นการยอมรับว่าแล้วเสร็จ จึงไม่ต้องไปประท้วงอะไร เพราะในเมื่อยังไม่แล้วเสร็จก็เป็นประเด็นที่ต้องเจรจากัน
“ตัวของสนธิสัญญาไทย (สยาม) – ฝรั่งเศส มันเป็นแม่ แล้วกัมพูชาก็ไม่ได้ไปเลิก ฉะนั้นเกาะกูดก็เป็นของไทย ก็มีแค่นี้ ส่วนการเจรจาภายใต้ MOU มันก็จะเข้ามาแตะต้องเกาะกูดไม่ได้ แล้วผมก็ไม่รู้ว่าใครบอกเกาะกูดเป็นของกัมพูชา หรือกัมพูชาเขาจะมาเคลมได้ ผมไม่ทราบว่ามันเป็นมาอย่างไร แล้วมันก็อยู่ที่ฝีมือการเจรจา เมื่อมี MOU ก็เจรจาไป แล้วเอาหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เอาเรื่องกฎหมายทางทะเลระหว่างประเทศ ก็เอาเข้ามาใช้ มันก็ขึ้นอยู่กับสติปัญญา ขีดความสามารถในการที่จะเจรจากัน” นายกษิต ระบุ
นายกษิต ยังกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องอาณาบริเวณของเกาะกูด ตามหลักสมัยโบราณคือมีอาณาบริเวณออกไปอีก 3 กิโลเมตร เป็นหลักที่ใช้กันมาหลายร้อยปี ต่อมาเมื่อมีกฎหมายทางทะเล จะมีคำว่าไหล่ทวีป (Continental Shelf) มีคำว่าเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) ก็ต้องมาปรับกันตามกฎเกณฑ์สมัยใหม่ เพราะไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของกฎหมายทางทะเลแล้ว ไทยก็ต้องยืนในจุดนี้ และหากมีข้อพิพาทก็สามารถไปที่ศาลระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล (ITLOS) ได้ ซึ่งอยู่ที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี
ดังนั้นหากยึดสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสเป็นตัวตั้ง ก็ไม่มีประเด็นอะไรที่กัมพูชาจะเข้ามายุ่งกับเกาะกูดได้ เราปฏิเสธตั้งแต่ต้น เขาจะขีดอย่างไร จะเบี้ยวจะโกหกพกลม เราปฏิเสธก็ไม่ต้องเจรจา เรื่องก็มีแค่นี้ ซึ่งเรื่องไปศาลโลกคือหากมีการฟ้องร้อง แต่การที่มีสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ตนก็ไม่เห็นว่ากัมพูชาจะเบี้ยวได้อย่างไร เพราะเป็นประเทศเอกราชที่สืบสิทธิ์จากฝรั่งเศสมา 70 ปีแล้ว ก็ถือว่ายอมรับโดยปริยาย ส่วนที่กังวลเรื่องหลักกฎหมายปิดปากเหมือนกรณีปราสาทเขาพระวิหาร ตนมองว่า 2 กรณีนี้เป็นคนละเรื่องกัน
โดยเรื่องเขาพระวิหาร สมัยนั้นฝรั่งเศสยังเป็นเจ้าอาณานิคม มีทั้งแสนยานุภาพทางการทหารและองค์ความรู้ด้านแผนที่ ในขณะที่ไทยยังไม่มีความสามารถ คิดว่าฝรั่งเศสโกงมาตั้งแต่ต้น เพราะการขีดเส้นเขตแดนมาทางตอนใต้ของปราสาทพระวิหาร ซึ่งจริงๆ แล้วมันต้องเป็นไปตามไหล่เขา แต่อาจเป็นความเลินเล่อ มองไม่เห็นหรือไม่เข้าใจ ไม่ได้คิดว่าฝรั่งเศสจะไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อวิชาการ และศาลโลกก็ตัดสินตามเส้นที่ฝรั่งเศสขีดไว้ แต่กรณีบนบกจะไปปิดปากกรณีทะเลได้อย่างไร เพราะเป็นคนละเรื่องและคนละพื้นที่กัน
ส่วนที่ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แนะนำให้ใช้คำว่าพื้นที่อ้างสิทธิ และไม่ควรใช้คำว่าพื้นที่ทับซ้อน เพราะอาจเป็นประเด็นสุ่มเสี่ยง เรื่องนี้ตนไมทราบ เพราะภาษาไทยตนก็ไม่ชัดเจนขนาดนั้น และตนก็ไม่ใช่นักกฎหมาย แต่ถามว่ามีความจำเป็นที่เลขาฯ กฤษฎีกา จะต้องมาเป็นผู้กำหนดหรือไม่? ในเมื่อมีกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ) และมีนักกฎหมายที่กระทรวงยุติธรรม รวมถึงมีอาจารย์ระหว่างประเทศ
ซึ่งทุกคนล้วนแต่ห่วงบ้านเมืองกันทั้งนั้น แต่หากห่วงแล้วมาแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของคนคนเดียวแล้วเสริมสร้างความสับสน แล้วการทำตนเป็นผู้มีประกาศิตว่าจะต้องตีความเป็นแบบนี้ ก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ หากยังไม่มีการถกเถียงก็ไปที่ราชบัณฑิตสภา ไปให้ตีความว่าคำคำนี้แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย และจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร และสุดท้ายเรื่องทั้งหมดก็ต้องผ่านกลไกรัฐสภา เพราะเป็นเรื่องดินแดน เรื่องอำนาจอธิปไตย และเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรใต้ดินซึ่งเป็นสมบัติของประเทศชาติและปวงชนชาวไทย
“สมมติเริ่มมีการตั้งคณะเจรจาทางด้านเทคนิค การเจรจาคืบหน้าเป็นอย่างไร มันก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลที่จะต้องไปรายงานให้รัฐสภาทราบเป็นระยะๆ แล้วก็ก่อนจะไปเจรจาอย่างจริงจัง ก็น่าจะเสนอต่อสภา ขออนุมัติเรื่องกรอบเจรจา เนื้อหาเป้าหมายโดยสังเขปว่าเราจะไปเจรจาอย่างไร อันนี้ก็น่าจะเสนอต่อสภาเพราะสภาเป็นใหญ่ที่สุดในเรื่องสนธิสัญญากฎหมายระหว่างประเทศ ก็เหมือนไปบอกว่าจะมีโผการจรจาอย่างนี้ ก็อยากให้รัฐสภาได้รับทราบแล้วก็ให้ความเห็นชอบในหลักการ จะทำให้การดำเนินการของฝ่ายไทยมีความมั่นคงตั้งแต่เริ่มต้น” นายกษิต กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ‘กฤษฎีกา’ชี้ยกเลิกMOU44ฝ่ายเดียวได้ แต่ไม่ควร เตือนอย่าใช้คำว่า‘พื้นที่ทับซ้อน’หวั่นเสียประโยชน์
ชมคลิปเต็มได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=PXa5uQVxFc0
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี