กต.ชงครม.19 พ.ย.ตั้ง JTC
หนุน 2 ปท.เจรจา MOU 44
“ผู้ช่วย รมต.กต.” แจงยังไม่เคยมีการยกเลิก MOU44 ย้ำ เป็นกลไกเจรจารักษาประโยชน์ประเทศที่ดีที่สุด ซัดคนบิดเบือนไม่ปรารถนาดีต่อชาติ เผยเตรียมชง ครม.ตั้งคณะกรรมการ JTC 19 พฤศจิกายนนี้ ด้าน“กษิต”ชี้ชัด ‘ไทย-กัมพูชา’สุดท้ายต้องจบที่เจรจา MOU44 ลากแบบไหนก็ไม่มีผลบังคับ รอดูฝีมือ คกก.เทคนิค
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงย้ำถึงความสำคัญ และความจำเป็นของ “บันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ปี 2544” หรือ “MOU 44” ดังนี้ 1. MOU 44 เป็นเพียงการกำหนดกรอบ และกลไกการเจรจาเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ระหว่างไทย-กัมพูชา ที่เกิดขึ้นมากว่า 50 ปีแล้ว โดยให้เจรจากันทั้งเรื่องเขตทางทะเล และการแบ่งปันผลประโยชน์ในไหล่ทวีปไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ โดยไม่ได้เป็นการยอมรับการอ้างสิทธิของอีกฝ่าย จนกว่าจะมีข้อยุติ โดย MOU44 เป็นเพียงการกำหนดกรอบกลไกในการเจรจา ซึ่งยังไม่มีผลของการเจรจาใดๆ จึงยังไม่จำเป็นต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
2.หากท้ายที่สุด ผลของการเจรจาตาม MOU 44 เมื่อมีข้อยุติ และมีบทสรุปแล้วนั้น จะต้องนำผลสรุปดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้ได้รับความเห็นจากรัฐสภาก่อน จึงจะมีผลในทางกฎหมาย ซึ่งหมายความว่า ผลการเจรจาใดๆ ในเรื่องนี้ ประชาชนชาวไทย จะต้องให้ความเห็นชอบผ่านผู้แทน สส. และ สว.ก่อน ตามระบอบประชาธิปไตยที่ตรวจสอบได้ จึงจะมีผลบังคับทั้งเรื่องอธิปไตยของประเทศ และการนำทรัพยากรมูลค่ามหาศาลมาใช้ เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้ประเทศชาติ ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนทั้งหมด โดยไม่สามารถเป็นของใครบางคนได้
พร้อมยังย้ำว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยส่วนใหญ่ ล้วนยึดถือแนวทางตาม MOU 44 นี้ ซึ่งแม้จะเคยมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี 2552 ให้ยกเลิกในหลักการ แต่ก็ขอให้ศึกษาผลดี และเสียให้รอบคอบเสียก่อน ซึ่งจากการศึกษาของหน่วยงานต่างๆ พบว่า MOU 44 มีข้อดีมากกว่า ต่อมาในปี 2557 ครม. จึงได้อนุมัติให้คง MOU 44 ไว้ ดังนั้น จึงยังไม่เคยมีการยกเลิก MOU 44 อย่างเป็นทางการจนถึงปัจจุบันแต่อย่างใด และ MOU 44 จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศชาติ ในทั้งเรื่องเขตทางทะเล และการแบ่งปันผลประโยชน์ในไหล่ทวีป รวมทั้งการยกเลิก MOU 44 ก็ไม่ได้ทำให้เส้นอ้างสิทธิของฝ่ายกัมพูชาหายไปแต่อย่างใด 3. เกาะกูด เป็นดินแดนของไทยที่แน่ชัดมาตั้งแต่ปี 2450 ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสแล้ว ซึ่งไม่อาจเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ และจะไม่มีการเจรจาใดๆ ในประเด็นนี้ทั้งสิ้น และผู้ใดที่พยายามพูดบิดเบือนเป็นอย่างอื่น ถือได้ว่า ไม่มีความปราถนาดีต่อประเทศชาติ และประชาชนชาวไทย
นายรัศม์ เปิดเผยอีกว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 19 พ.ย.นี้นั้น นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบคณะกรรมการทางเทคนิค (Joint Technical Committee) หรือ คณะกรรมการ JTC ตามขั้นตอน เพื่อเจรจากับ JTC ของทางกัมพูชาต่อไป
วันเดียวกัน นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบซูมกับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็น บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ซึ่งจัดทำขึ้นในปี 2544 หรือ MOU44 ที่มีข้อถกเถียงกันว่าสมควรยกเลิกหรือไม่? ว่า การจะคงไว้ซึ่ง MOU44 เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลปัจจุบัน
ซึ่งหากถามตนในฐานะพลเรือนที่ไม่เกี่ยงข้องกับการเมือง ตนไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะ MOU เป็นเพียงกรอบที่ได้มีการตกลงกันในสมัยรัฐบาลไทยยุคทักษิณ ชินวัตร กับรัฐบาลกัมพูชายุคฮุน เซน ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) เพื่อเจรจาว่าด้วยข้อพิพาททางทะเล และพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรใต้ทะเลเพื่อนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน แต่การเจรจาก็กระท่อนกระแทนขาดตอนไปบ้าง และเวลานี้รัฐบาลชุดปัจจุบันก็อยากเริ่มต้นใหม่ เราก็ต้องตามดูการเจรจา ย้ำว่า MOU เป็นแค่กรอบเท่านั้น จะมีหรือไม่มีก็เจรจากันได้ สำหรับตนจึงไม่มีปัญหา
ส่วนที่มีข้อกังวลว่า MOU44 อาจทำให้ประเทศไทยเสียดินแดน เรื่องนี้กรุงสยามกับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส มีข้อตกลงกันเมื่อปี ค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) ระบุไว้ชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของสยาม และระหว่างนั้นก็มีการสำรวจดินแดน มีการจัดทำเสาหลักเขตแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ที่มีอยู่ประมาณ 70 กว่าเสา ดังนั้นสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศสยังมีชีวิตอยู่จนกระทั่งบัดนี้ และตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ กัมพูชาเป็นผู้สืบสิทธิ์ต่างๆ ที่ฝรั่งเศสเคยมี ภายหลังจากที่ฝรั่งเศสออกไปจากอินโดจีนแล้ว
นายกษิต กล่าวว่า ส่วนข้อกำหนดใน MOU44 ที่ต้องการให้เจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลกับการเจรจาแบ่งเขตแดนประเทศต้องทำไปพร้อมกัน ตนมองว่าไม่ได้พร้อมกันขนาดนั้น แต่ต้องตกลงเรื่องข้อพิพาทว่าด้วยเขตแดนทางทะเลเสียก่อน เพื่อให้รู้ว่าพื้นที่ทะเลและดินที่อยู่ใต้ทะเล ส่วนไหนตกลงกันไม่ได้และจะต้องเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกัน เพราะไม่สามารถที่จะนำก๊าซหรือน้ำมันที่อยู่ใต้ทะเลขึ้นมาได้โดยที่ไม่มีการตกลงกันเสียก่อนว่าด้วยการขีดเส้นหรือปักปันเขตแดนทางทะเล ดังนั้นก็ต้องเจรจาเรื่องเขตแดนก่อน แต่ระหว่างนั้นก็สามารถพูดคุยกันนอกรอบได้ว่าจะนำตัวเลขทรัพยากร ซึ่งก็มีข้อมูลอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศบ้าง กระทรวงพลังงานบ้าง ในขณะเดียวกัน ทั้ง 2 ชาติก็ได้ให้สัมปทานกับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งก็คงได้สำรวจไปอีกต่างหาก ทุกคนก็มีข้อมูลอยู่ ก็สำรวจไป แต่ยังทำอะไรไม่ได้จนกว่าจะมีการตกลงกันเรื่องเขตแดนก่อน
ส่วนข้อกังวลเรื่องแผนที่ห้อยท้าย MOU จะมีผลทางกฎหมายหรือไม่? ตนก็มองว่าไม่มีผล เพราะเป็นเพียงการบ่งบอกว่าไทยมองอย่างไร กัมพูชามองอย่างไร เมื่อมองต่างกันก็ต้องมาเจรจากัน ไม่ใช่เราขีดแล้วเขายอมรับ หรือเขาขีดแล้วเรายอมรับ ซึ่งหากทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับซึ่งกันและกัน ก็คงไม่ต้องเจรจาหรือไม่ต้องมี MOU ตนมองว่าอย่าไปห่วง ปล่อยให้รัฐบาลและผู้เจรจาเขาเจรจาไป
ทั้งนี้ MOU44 เกิดขึ้นในสมัยนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) โดยมี นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็น รมว.ต่างประเทศ ในส่วนแนบท้าย MOU ให้มีเอกสารเป็นภาคผนวกทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา เพราะต่างฝ่ายต่างขีดกันคนละเส้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการต้องเจรจามากกว่าจะบอกว่าเป็นการยอมรับว่าแล้วเสร็จ จึงไม่ต้องไปประท้วงอะไร เพราะในเมื่อยังไม่แล้วเสร็จก็เป็นประเด็นที่ต้องเจรจากัน
ส่วนเรื่องอาณาบริเวณของเกาะกูด ตามหลักสมัยโบราณคือมีอาณาบริเวณออกไปอีก 3 กิโลเมตร เป็นหลักที่ใช้กันมาหลายร้อยปี ต่อมาเมื่อมีกฎหมายทางทะเล จะมีคำว่าไหล่ทวีป (Continental Shelf) มีคำว่าเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) ก็ต้องมาปรับกันตามกฎเกณฑ์สมัยใหม่ เพราะไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของกฎหมายทางทะเลแล้ว ไทยก็ต้องยืนในจุดนี้ และหากมีข้อพิพาทก็สามารถไปที่ศาลระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล (ITLOS) ได้ ซึ่งอยู่ที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี
ดังนั้นหากยึดสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสเป็นตัวตั้ง ก็ไม่มีประเด็นอะไรที่กัมพูชาจะเข้ามายุ่งกับเกาะกูดได้ เราปฏิเสธตั้งแต่ต้น เขาจะขีดอย่างไร จะเบี้ยวจะโกหกพกลม เราปฏิเสธก็ไม่ต้องเจรจา เรื่องก็มีแค่นี้ ซึ่งเรื่องไปศาลโลกคือหากมีการฟ้องร้อง แต่การที่มีสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ตนก็ไม่เห็นว่ากัมพูชาจะเบี้ยวได้อย่างไร เพราะเป็นประเทศเอกราชที่สืบสิทธิ์จากฝรั่งเศสมา 70 ปีแล้ว ก็ถือว่ายอมรับโดยปริยาย
นายกษิต กล่าวว่า เรื่องทั้งหมดก็ต้องผ่านกลไกรัฐสภา เพราะเป็นเรื่องดินแดน เรื่องอำนาจอธิปไตย และเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรใต้ดินซึ่งเป็นสมบัติของประเทศชาติและปวงชนชาวไทย สมมติเริ่มมีการตั้งคณะเจรจาทางด้านเทคนิค การเจรจาคืบหน้าเป็นอย่างไร มันก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลที่จะต้องไปรายงานให้รัฐสภาทราบเป็นระยะๆ แล้วก็ก่อนจะไปเจรจาอย่างจริงจัง ก็น่าจะเสนอต่อสภา ขออนุมัติเรื่องกรอบเจรจา เนื้อหาเป้าหมายโดยสังเขปว่าเราจะไปเจรจาอย่างไร อันนี้ก็น่าจะเสนอต่อสภาเพราะสภาเป็นใหญ่ที่สุดในเรื่องสนธิสัญญากฎหมายระหว่างประเทศ ก็เหมือนไปบอกว่าจะมีโผการจรจาอย่างนี้ ก็อยากให้รัฐสภาได้รับทราบแล้วก็ให้ความเห็นชอบในหลักการ จะทำให้การดำเนินการของฝ่ายไทยมีความมั่นคงตั้งแต่เริ่มต้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี