"อ.ธนพร"มองพรรคร่วม ถึงตีกันเองแต่ต้องจับมือไล่หวดพวกสีส้ม แนะรัฐบาลเอา"MOU44"เข้าสภาถกให้เต็มที่
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ให้สัมภาษณ์กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นฉากการเมืองไทยช่วงปลายปี 2567 ถึงต้นปี 2568 ว่า ขณะนี้ยังคงอยู่ในกรอบเดิมซึ่งนับตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง คือต้องเข้าใจก่อนว่าผู้มีอำนาจตัวจริงเสียงจริงมีเป้าหมายกำจัดขั้วการเมืองสีส้ม อย่างที่เห็นการยุบพรรคและสลักหลังว่าคนเหล่านั้นเป็นพวกล้มล้าง แต่ขั้วการเมืองสีส้มเขาก็มีการสืบทอดกันมา ดังนั้นการบดขยี้ขั้วสีส้มออกไปจากการเมืองไทยจึงยังเกิดขึ้นต่อไป
โดยในภาพใหญ่หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เมื่อปี 2566 อย่างที่เห็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น ที่อย่างไรก็ไม่มีวันได้เป็นนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันก็ยังเป็นกรอบนั้นเช่นเดิม แต่ในกรอบเดิมก็ยังมีกรอบย่อย คือบรรดาพรรคการเมืองที่มาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล แน่นอนพรรคเพื่อไทยก็ถือว่าได้เปรียบเพราะมีเสียงมากกว่าพรรคอื่นๆ ที่ร่วมรัฐบาลด้วยกัน คนของพรรคเพื่อไทยได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้คุมงบประมาณ
แต่ก็ใช่ว่าพรรคอื่นๆ จะไม่รู้ เพราะแต่ละพรรคในอดีตก็เคยไล่ฟาดนายใหญ่กันมาทั้งนั้น ให้พูดกันตรงๆ คือเป็นการจับมือกันเพื่อไล่กระทืบขั้วการเมืองสีส้ม แต่ระหว่างจับมือกันก็มีทั้งถีบหลัง แทงหลัง ตบหัวกันเองด้วย ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติของรัฐบาลผสมไม่ว่าที่ไหนในโลก โดยสรุปการเมืองภาพใหญ่ต้องดู 2 เรื่อง 1.ร่วมกันเพื่อกำจัดพวกสีส้ม กลุ่มพวกเหล่านี้ก็ยังดำรงความมุ่งหมายนั้นอยู่ ให้สังเกตว่าเมื่อพรรคการเมืองสีส้มเสนอกฎหมายอะไรก็ไม่เคยผ่าน โดยรัฐบาลจะต้องเสนอร่างกฎหมายมาประกบด้วยเสมอ
กับ 2.การตีรันฟังแทงกันเองในหมู่พรรคร่วมรัฐบาล ยุครัฐบาลนายกฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็เคยมีแบบนี้ แต่ พล.อ.เปรม เอาอยู่ หรือยุคนายกฯ คนอื่นๆ เช่น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายบรรหาร ศิลปอาชา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายชวน หลีกภัย ก็เป็นแบบเดียวกัน และโดยเฉพาะสมัยรัฐบาลนายกฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเห็นลีลาการเมืองของพรรคภูมิใจไทย ก็ไม่ได้ต่างจากสมัยรัฐบาลนายน้อย คือจังหวัดไหนขี่ได้ก็ขี่ แต่พรรคเหล่านี้อย่างไรก็ไม่เป็นฝ่ายค้าน จะเกาะกันไปแบบนี้
ส่วนคำถามว่า รัฐบาลปัจจุบันที่นำโดยนายกฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เพิ่งอยู่ได้เพียง 2 เดือน เหตุใดมีปัญหารุมเร้าเต็มไปหมด อย่างแรกปฏิเสธไมได้ว่าเทคโนโลยีมีส่วน สมัยก่อนมีสื่อมวลชนเพียงไม่กี่สำนัก แต่ทุกวันนี้มีสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) การไหลเวียนของข้อมูลก็รวดเร็วขึ้น มีประเด็นอะไรโพสต์เผยแพร่คนก็ดูเป็นล้าน ดูอย่างเรื่องบอสต่างๆ ก็ได้ สมัยก่อนศิลปินออกเทปขายได้ล้านตลับก็ทึ่งมากแล้ว แต่วันนี้ยอดวิวเขาไปกันหลักสิบล้าน
ซึ่งเมื่อข้อมูลไหลเวียนเร็ว ใครพูดอะไรนิดหรือเกิดเหตุการณ์อะไรหน่อย ทุกคนเป็นสื่อได้ด้วยตนเอง ใครเป็นผู้บริหารประเทศจะรู้เลยว่าเหมือนกับสถานการณ์น้ำหลาก มาเร็วและแรง แถมไม่ได้มาแล้วผ่านไปเพราะทิ้งโคลนไว้อีกต่างหาก รัฐบาลจึงอยู่ในสภาพจมโคลน ก็ต้องแก้ไขกันไป แต่ทิศทางการเมืองหลักๆ ขั้วนี้ยังจับมือกันแน่น แต่ก็มีตบตีกัน และสุดท้ายทุกฝ่ายก็ต้องไปชิงชัยกันในการเลือกตั้งปี 2570
โดยสารพัดปัญหาของรัฐบาล 1.ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ตนขอพูดตรงๆ จะให้นายใหญ่กลับเข้าคุกอีกรอบไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะตามกฎหมายคือกรมราชทัณฑ์ออกใบบริสุทธิ์ให้แล้ว โดยหากลากไปถึงจุดนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะต้องรับแทน หากจำได้สมัยนายใหญ่เป็นนายกฯ ก่อนรัฐประหาร 2549 ก็จะมีคนเป็นมือไม้ทำนั่นทำนี่ และสุดท้ายคนเหล่านั้นก็ติดคุกแทน มีทั้งที่ปัจจุบันยังถูกจองจำอยู่และที่พ้นโทษออกมาแล้ว เรื่องชั้น 14 เจ้าหน้าที่ก็รับเวรรับกรรมกันไป
2.บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ซึ่งจัดทำขึ้นในปี 2544 หรือ MOU44 ต้องบอกว่าต้นทุนเดิมที่รัฐบาลมีอยู่ไม่ว่ารัฐบาลชุดใดก็ตาม คือความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า MOU44 เป็นเพียงกรอบการเจรจา ซึ่งหากฝ่ายการเมืองคิดว่าเจ้าหน้าที่คิดผิด ทำได้อย่างเดียวคือไปรณรงค์หาเสียงให้กลับมาเป็นรัฐบาล แล้วก็มาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหาทางยกเลิก MOU44 เสีย
ซึ่งสมัยรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เคยอาศัยช่องทางนี้ในการยกเลิก MOU44 แต่สุดท้ายความเห็นของเจ้าหน้าที่ประจำกระทรวงการต่างประเทศก็จะเหนี่ยวรั้ง หากจำได้ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมัยนั้นคือเห็นชอบในหลักการ แต่ให้กระทรวงการต่างประเทศไปดำเนินการ และสุดท้ายฝ่ายเจ้าหน้าที่ประจำก็ยืนยันในจุดเดิมว่าเป็นเพียงกรอบการเจรจา ดังนั้นเรื่อง MOU44 ตนขอแยกเป็น 2 เรื่อง เรื่องแรกในหลักการ ความเห็นของเจ้าหน้าที่ประจำมีส่วนในการทำให้เรื่องไปไกลกว่านี้ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ตนคิดว่าต้องจับตามอง คือสิ่งที่พรรคสีส้มเสนอ นั่นคือการไปดูการเจรจาเรื่องสัมปทาน อย่างที่รู้กันว่านายใหญ่มีภาพจำเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) มาตลอด เรื่องนี้ต่างหากที่น่าสนใจ แล้วธุรกิจพลังงาน ตั้งแต่สมัยนายกฯ พล.อ.เปรม จนถึงปัจจุบันมีมูลค่ามหาศาล ตนกล้าพูดว่านายใหญ่ต้องให้นายกฯ นายน้อย ดันไปให้สุดให้ได้ เพราะถ้าดันได้นายใหญ่ก็เหมือนชูชกท้องแตก
“เรื่องนี้มันมีประวัติศาสตร์บอกเราไว้ว่าผลประโยชน์แบบนี้เป็นเรื่องเกมเจรจา ซึ่งนายใหญ่เขาถนัด แล้วที่ผ่านมา ดูจากปี 2549 ก็ได้ว่าจะกรณีอะไรก็แล้วแต่ที่ คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ไปตรวจและนำไปสู่ศาลฎีกาตัดสิน ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งสิ้น เป็นจุดอันตราย แต่ว่าการเจรจา ผมถึงบอกว่านายกฯ นายน้อย บอกว่าจะตั้งคณะกรรมการอะไรไปคุยกับกัมพูชา เริ่มนับหนึ่งก่อนเลยนะ ผมก็ได้แต่บอกว่า เราต้องเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดคณะเจรจาให้ละเอียดที่สุด” รศ.ดร.ธนพร กล่าว
รศ.ดร.ธนพร กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาคณะเจรจาต่างๆ จะมีรองนายกรัฐมนตรีแถลงข่าวว่าตนเองเป็นประธาน ส่วนคนอื่นๆ คือผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สังคมก็เบาใจเพราะเห็นมีผู้แทนหน่วยงาน ซึ่งตนก็เคยมีประสบการณ์ร่วมคณะเจรจาในช่วงที่ประเทศไทยถูกสหภาพยุโรป (EU) ให้ใบเหลืองกรณีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) อยากบอกว่าอย่าเพิ่งวางใจ เพราะคำว่าผู้แทนหมายถึงหัวหน้าหน่วยงานจะส่งใครมาก็ได้ และคนที่ถูกส่งมาบางทีไม่รู้เรื่องนั้นๆ ก็มี
ดังนั้น การจะแต่งตั้งใครเข้ามาร่วมคณะเจรจาก็ต้องมีภูมิหลังการทำงานในเรื่องนั้นด้วย เช่น กองทัพเรือส่งนายทหารท่านนั้นท่านนี้มา ก็เปิดเผยชื่อมาให้ประชาชนก็ไปตรวจสอบว่าท่านเคยเจรจาเรื่องพวกนี้หรือไม่ ไม่ใช่ท่านเป็นนักรบลำน้ำโขง อยู่แถว จ.เชียงราย หรือ จ.หนองคาย มาทั้งชีวิต แต่ถูกแต่งตั้งให้ไปร่วมเจรจาผลประโยชน์ทางทะเล เรื่องนี้สังคมต้องเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผย ซึ่งอีกมุมหนึ่งก็เป็นประโยชน์กับรัฐบาลเองด้วย เพราะสังคมเขาเข็ดกับนายใหญ่จนคลางแคลงใจเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การเปิดเผยจะทำให้สังคมสบายใจ
ประการต่อมา อยากให้นำเรื่องการเจรจาเข้าไปหารือในรัฐสภา ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หรือสมาชิกวุฒิสภา (สว.) อยากอภิปราย 15 วัน 15 คืน หรือ 30 วัน 30 คืน ก็เอากันให้เต็มที่ไปเลย เอากันให้ทุกมุม ฝ่ายค้านอยากถามเรื่องสัญญาสัมปทาน พรรคพลังประชารัฐอยากถามเรื่องเขตแดน ทำแบบนี้สังคมก็สบายใจขึ้น ซึ่งตนก็หวังว่านายกฯ นายน้อย จะใช้วิธีนี้ผลักดันเรื่องที่ตนเองตั้งเป้าไว้ ซึ่งก็ต้องพูดตรงๆ ว่าในการเจรจาสัมปทาน นายใหญ่เขาก็มีเครือข่าย แต่อย่างน้อยก็ควรให้สังคมรับทราบโดยละเอียด และได้ซักถามกันโดยละเอียด ก็จะลดความสงสัยลงได้
“มันเป็นเวทีที่ไม่เห็นจำเป็นต้องหลีกหนี เราเป็นรัฐบาลที่มาตามระบอบรัฐสภา ผมพูดจริงๆ นะ คุณคุมเสียงข้างมากอยู่แล้ว ให้ทีมงานป้อนคำถาม-เขียนคำตอบให้เลยยังได้ ส่วนพวก สว. ก็ปล่อยไปเลย ไม่มีปัญหา เพราะการเอาเข้าสภามันไม่มีการลงมติ นายกฯ ก็ถือโอกาสทอล์กโชว์เลย จะแสดงวิสัยทัศน์อะไรก็ว่าไปเลย เอาเป็นว่าเรื่อง MOU44 ผมคิดว่าเรื่องดินแดนมันจะไปได้ประมาณเท่านี้ แต่เรื่องที่ต้องติดตามต่อคือประเด็นเรื่องสัมปทาน ผมถึงบอกเอาเข้าสภาเถอะ มันก็จะทำให้ทุกอย่างกระจ่างขึ้น ทางการเมืองรัฐบาลก็ตอบได้” รศ.ดร.ธนพร กล่าว
ชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=HBR_JV_y3gs
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี