อย่ารื้อโครงสร้างมากเกินไป
‘แม้ว’เคลียร์‘ธนาธร’
ยันพรรคร่วมไม่แตะ ม.112
ปชน.ชงแก้รธน. 17 ประเด็น
หั่นอำนาจสว.ไม่ให้มีเอี่ยว
ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ
“ทักษิณ”ย้ำพรรคร่วมรัฐบาลลงสัตยาบันไม่แตะ ม.112 หลังเสียงแตกปมพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โอดตัวเองก็ตกเป็นเหยื่อเพราะถูกหมั่นไส้ เผยเคยคุยกับ “ธนาธร” ขอให้ช่วยกันทำเพื่อบ้านเมือง แต่อย่ารื้อโครงสร้างมากเกินไป ชี้บางทีจุดที่โฆษณาอันตรายกว่าความตั้งใจ แนะหากจะแก้กฏหมายที่ไม่ดี ควรทำทีละขั้นตอน ไม่ใช่ไม่ทำเลย ด้าน”สส.ปชน.”ยื่นร่างแก้รธน.รายมาตรา ต่อรัฐสภาแล้ว รวม 17 ฉบับ พบหลากหลายประเด็น เขี่ย”สว.”พ้นทางแก้รธน.-ให้สิทธิพรรคฝ่ายค้านได้ตำแหน่ง”ปธ.-รองปธ.สภาฯ-ติดทางด่วนสอบ”ป.ป.ช.” จับตา”ประธานรัฐสภา”นัดประชุมวิป3 ฝ่าย เคาะวันพิจารณา
เมื่อเวลา 12.25 น.วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ที่อุดรธานี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่ได้พูดบนเวทีปราศรัยในเรื่องความเท่าเทียมและโอกาส จะเป็นการทวงคืนความยุติธรรมให้กับนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ ได้อย่างไร นายทักษิณ กล่าวว่า เรื่องนี้มีความซับซ้อนหลายอย่าง ที่จริงแล้วเรื่องการเมือง หลังจากการปฏิวัติ ที่ตนโดนปฏิวัติ ก็ไล่ห้ำหั่นกันในทางการเมือง และต่อมาที่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดนปฏิวัติ ก็เหมือนกัน หลังจากนั้นก็ผสมโรงด้วยคนต่างๆ ซึ่งวันนี้ตนจะพูดบนเวทีปราศรัยและจะมีความชัดเจนมากขึ้น
ยันพรรคร่วมไม่แตะ ม.112
ผู้สื่อข่าวถามว่าเรื่องนิรโทษกรรมที่ดูเหมือนพรรคร่วมรัฐบาลไม่เอาด้วย ในประเด็นมาตรา 110 และ 112 นายทักษิณ กล่าวว่า คดี 112 เป็นเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลให้สัตยาบันไว้ว่าเราจะเทิดทูนสถาบันฯ เราจะไม่แตะเรื่อง 112 แต่จริงๆแล้วปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย ตนก็เป็นเหยื่อรายหนึ่ง และการบังคับใช้กฎหมาย สมมุติว่า คนที่รับคดีครั้งแรกบอกว่าเดี๋ยวจะหาว่าไม่จงรักภักดี ก็ฟ้องไปก่อน ทั้งที่หลักฐานไม่มี คนที่สองบอกว่าถ้าไม่ฟ้องเดี๋ยวโดนอีก ก็ฟ้อง โดยที่ไม่ได้ดูความถูกต้องของพยานหลักฐาน จึงทำให้การจงรักภักดีและรักสถาบันไม่ถูกต้อง การจงรักภักดีที่ถูกต้อง คือการรักษากฎหมายที่เป็นธรรม นี่คือสิ่งที่ต้องแก้ไข แต่ก็ไม่ง่าย ในการแก้ซึ่งต้องใช้เวลา
อ้างโดนข้อหาเพราะความหมั่นไส้
เมื่อถามว่าในสมัยหน้า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนจะผลักดันหรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า ตนไม่อยากไปให้ความเห็นในเรื่องนี้ ไม่อยากมีบทบาท เดี๋ยวจะหาว่าเพราะคนนั้นคนนี้ ถ้าเราอยู่บนหลักการทุกอย่างมีทฤษฎี มันก็จะไม่เป็นแบบนี้ แต่เนื่องจากว่า เราไปมองว่าเป็นเรื่องของพวกใครพวกมันมากกว่า มันถึงได้เป็นปัญหา ถ้าเมื่อไหร่เราจิตใจนิ่งสงบ คิดถึงหลักการเป็นหลักไม่คิดถึงพวกใครพวกมัน ก็จะดีขึ้น
เมื่อถามว่า มองว่าอะไรที่ทำให้ข้อหาไม่จงรักภักดี ใช้ได้ผลเสมอในทางการเมือง นายทักษิณ กล่าวว่า “ก็การเมืองไง ดูสิ ผมนี่โดนหนักที่สุด ทั้งๆที่เป็นคนที่ถวายงานที่สุด แต่ด้วยความหมั่นไส้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา”
ถ้ากฎหมายไม่ดีก็ต้องแก้ที่ละขั้นตอน
เมื่อถามต่อว่า ในแต่ละเหตุการณ์มีบริบทเหมือนหรือต่างกัน อย่างไร ทั้งเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ปี 2557 จนถึงพรรคการเมืองโดนยุบเพราะมีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 นายทักษิณ กล่าวว่า จริงๆแล้วตนเคยคุยกับนายธนาธรว่าตนก็โดน 3 พรรค ต้องไปอยู่ต่างประเทศ 17 ปี ดังนั้นขอให้เราช่วยทำงานให้บ้านเมือง อย่าพยายามไปรื้อโครงสร้างให้มากเกินไป ถ้าเราแก้ปัญหาด้วยหลักการ และเอาบ้านเมืองให้อยู่ได้มันจะดีที่สุด อย่าไปคิดถึงสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่คนไทยเคารพนับถือ ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญของสถาบัน เราต้องจรรโลงอย่างเดียว ตนไม่ได้บอกว่านายธนาธร หรือพรรคก้าวไกลไม่จงรักภักดี แต่ต้องยึดหลักให้ถูกต้อง อย่าไปมุ่งหาเสียง บางทีจุดที่โฆษณามันอันตราย กว่าความตั้งใจที่จะทำ
เมื่อถามว่าถ้าจะแก้ปัญหาโดยไม่แตะโครงสร้าง จะมีวิธีการอย่างไร นายทักษิณ กล่าวว่า ก็ต้องทำตามหลักการของกฎหมาย ถ้ากฎหมายไม่ดีก็ต้องแก้ไขกฏหมายไปทีละขั้นตอน ไม่ใช่บอกว่ากฎหมายไม่ดีต้องไม่ทำเลย เพราะกฎหมายมันมีอยู่
สส.ปชน.ยื่นแก้รัฐธรรมนูญ17ฉบับ
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ถึงความเคลื่อนไหวต่อการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ว่าเตรียมนัดประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่าย คือ วุฒิสภา, สส.รัฐบาล และ สส.ฝ่ายค้าน ในช่วงต้นเดือน ธ.ค.ก่อนที่จะเปิดสมัยประชุมสภาฯ ซึ่งมีวาระพิจารณากำหนดกรอบการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผู้เสนอต่อรัฐสภา
ทั้งนี้ ในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภานั้น ล่าสุด สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้เผยแพร่รายละเอียดต่อการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ในสภาฯ ชุดที่ 26 มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา เข้ามาแล้ว รวม 17 ฉบับ ซึ่งเป็นของฉบับที่ สส.พรรคประชาชน (ปชน.) เข้าชื่อเสนอทั้งหมด ได้แก่
ตัด สว.พ้นทางแก้รัฐธรรมนูญ
1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยสาระสำคัญ คือ ตัดเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียง สว.ร่วมโหวตเป็นจำนวนตามเกณฑ์กำหนด โดยเปลี่ยนใช้เสียง สส.เห็นชอบทั้งหมด และมีเงื่อนไข คือ ต้องได้เสียง สส.เห็นชอบ ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกที่มีอยู่ของสภา
2.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตัดประเด็นเงื่อนไขกรณีต้องไม่มีสมาชิกพรรคที่ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ ออกไป เพื่อให้ผู้นำฝ่ายค้านฐานะพรรคการเมืองหลักในฝ่ายค้านสามารถมีตำแหน่งรองประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ ได้
3.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 ว่าด้วยหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการ โดยเพิ่มอำนาจให้สอบสวนข้อเท็จจริงได้ จากเดิมที่กำหนดหน้าที่เพียงสอบหาข้อเท็จจริง
4.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 199 ว่าด้วยขอบเขตอำนาจศาลทหาร ที่กำหนดกรอบอำนาจให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของผู้กระทำความผิดเป็นบุคคล เฉพาะในระหว่างการประกาศสงคราม
5.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 ว่าด้วยหน้าที่ของบุคคล ซึ่งแก้ไข (5) ที่กำหนดให้มีหน้าที่รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นรับราชการทหารเมื่อมีภัยสงครามหรือเหตุที่ประเทศเผชิญสงครามในระยะเวลาอันใกล้ตามที่กฎหมายกำหนด
6.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ซึ่งตัดข้อห้ามการใช้สิทธิและเสรีภาพ ประเด็นที่จะกระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐออกไป
ขยายสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น
7.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ว่าด้วยการขยายการใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ที่ไม่ให้กฎหมายใดจำกัดการแสดงความคิดเห็นที่เป็นการติชม ด้วยความเป็นธรรม อีกทั้งยังกำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพทางวิชาการ และกำหนดบทคุ้มครองการศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย การเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการที่ไม่ขัดต่อหน้าที่พลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
8.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ว่าด้วยสิทธิการขอประกันตัวผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญา ที่แก้ไขให้การคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างรวดเร็ว และเหตุที่ไม่ปล่อยตัวชั่วคราว กำหนดบทบัญญัติเป็นกรณีเฉพาะว่า เพราะมีพฤติการณ์อันเชื่อได้ว่าหากปล่อยตัวชั่วคราวจะทำให้เกิดกรณีหลบหนี หรือเหตุอื่น
นอกจากนั้นได้เพิ่มข้อความในวรรคท้ายขึ้นใหม่ โดยกำหนดระยะเวลาคุมขังของผู้จำเลย ห้ามเกิน 1 ปี ทั้งในศาลชั้นต้น หรือชั้นของศาลอุทธรณ์ กรณีไม่ถูกพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
ให้ทุกเพศสภาพมีสิทธิเท่าเทียมกัน
9.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ว่าด้วยการเสมอภาคทางเพศ ซึ่งได้แก้ไขในวรรคสองให้ บุคคลทุกคน ไม่ว่าเพศ เพศสภาพ เพศวิถี หรืออัตลักษณ์ทางเพศใดมีสิทธิเท่าเทียมกัน
10.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราว่าด้วยสิทธิของประชาชนและชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้เพิ่มเติมให้สิทธิของบุคคลดำรงชีพอยู่อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ยั่งยืนและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน
นอกจากนั้นแล้วยังได้เพิ่มบทว่าด้วยหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ ต่อเรื่องในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ยั่งยืนและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัยยหรือคุณภาพชีวิต และยังกำหนดเงื่อนไขของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ให้องค์กรอิสระ ประกอบด้วย เอกชน สถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ
11.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราว่าด้วยการศึกษา ซึ่งกำหนดให้บุคคลได้รับการศึกษาที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ เป็นเวลาอย่างน้อย 15 ปี ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
คุ้มครองกรณีแจ้งเบาะแสทุจริตภาครัฐ
12.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราว่าด้วยสิทธิในการรับทราบข้อมูล ข่าวสารสาธารณะ ซึ่งเพิ่มบทบัญญัติที่ว่าด้วย การได้รับคุ้มครองจากรัฐในกรณีเปิดเผยหรือแจ้งเบาะแสการทุจริตภาครัฐ พร้อมทั้งกำหนดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารของรัฐ ยกเว้นความลับทางราชการ ในรูปแบบที่ง่ายต่อการใช้งาน 13.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 ว่าด้วยการยื่นตรวจสอบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ให้อำนาจ สมาชิกรัฐสภาดำเนินการผ่านประธานรัฐสภา ซึ่งได้กำหนดให้ ประธานรัฐสภาหลังได้รับเรื่องต้องส่งให้ประธานศาลฎีกาทันที โดยตัดเงื่อนไขที่ ประธานรัฐสภาต้องใช้ดุลยพินิจว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาออก
ยกเลิกผลพวงรปห.-ยุทธศาสตร์ชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ พรรคประชาชน โดย นายพริษฐ์วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภามาแล้ว 4 ฉบับ คือ
1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ คือ รัฐมนตรี สส. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตัดคุณสมบัติที่ว่าด้วยต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงออก และเชื่อมโยงไปยังกระบวนการตรวจสอบของ ป.ป.ช.ในการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ทำผิดจริยธรรมร้ายแรงด้วย 2.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร เมื่อ 22 พ.ค.2557 และการป้องกันและต่อต้านรัฐประหาร 3.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติและยกเลิกแผนการปฏิรูปประเทศตามหมวด16การปฏิรูปประเทศและ 4.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ยกเลิกมาตรา 279 และเพิ่มสิทธิให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากคำสั่ง การกระทำของ คสช.หรือหัวหน้า คสช.มีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายได้ ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขของการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ประธานรัฐสภาต้องพิจารณาความถูกต้องของรายละเอียดการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ และบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระภายใน 15 วัน ส่วนจะพิจารณาในช่วงเวลาใดของสมัยประชุมนั้นตามการปฏิบัติปกติจะขึ้นอยู่กับการหารือของวิป3 ฝ่าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี