ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามสื่อเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2567 ในประเด็นการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ในส่วนของฝ่ายไทย เพื่อไปเจรจากับฝ่ายกัมพูชา ตามกรอบ
“MOU44” หรือบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี 2544
โดยก่อนหน้านี้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งแถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 ย้อนถามกรณีมีเสียง
เรียกร้องให้ “ยกเลิก MOU44” ว่า “ยกเลิกแล้วได้อะไร?” พร้อมกับอธิบายว่า ทุกประเทศคิดไม่เหมือนกันได้ จึงต้องมี MOU ว่าหากคิดไม่เหมือนกันก็ต้องคุยกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก การรักษาไว้ซึ่งความสงบระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ และย้ำว่า MOU44 ไม่ได้ยอมรับการลากเส้นเขตแดนของกัมพูชา และไม่ได้เป็นการทำให้ประเทศไทยเสียเกาะกูดอย่างที่กังวลกัน
ขณะที่ รัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2567 ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 19 พ.ย. 2567 มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค หรือ JTC ของฝ่ายไทยตามขั้นตอน เพื่อเจรจากับคณะกรรมการ JTC ของฝ่ายกัมพูชาต่อไป
รายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2567 หนึ่งในผู้ที่ตั้งข้อสังเกตว่าด้วยปัญหาของ MOU44 ตลอดมา คํานูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ให้ความเห็นไว้ว่า นายกฯ หรือรัฐบาลจะเห็นข้อดีของ MOU44 และจะเดินหน้าอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ของท่าน ตนในฐานะประชาชนก็เสนอความเห็น และเห็นทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ไม่ได้สรุปว่าควรยกเลิกหรือไม่เพราะพูดกันเยอะแล้ว
ส่วนกรณีการแถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ให้ใช้คำว่า “พื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (ไม่ใช่คำว่าพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล)” เรื่องนี้ต้องเล่าย้อนไปในปี 2515 หรือ ค.ศ.1972 กัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีป โดยลากเส้นออกมาจากหลักเขตที่ 73 เป็นเส้นตรงลงทะเลมาทางทิศตะวันตกไปทางอ่าวไทยก่อนจะวกลงทิศใต้และอ้อมกลับขึ้นมาบรรจบกัน โดยการลากเส้นนั้นได้ผ่านกลางเกาะกูดซึ่งชัดเจนว่าเป็นของไทยตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 สร้างความตกใจให้กับฝ่ายไทยในเวลานั้นมาก
ดังนั้นในอีก 1 ปีต่อมา คือปี 2516 ฝ่ายไทยจึงได้กำหนดเขตไหล่ทวีปบ้าง ลากออกจากหลักเขตที่ 73 เช่นเดียวกัน โดยหลักเขตดังกล่าวมีความสำคัญคือเป็นหลักเขตสุดท้ายในการแบ่งเขตแดนระหว่างสยามกับดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศส แต่เส้นของไทยนั้นลากผ่านทะเลที่เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทยกับเกาะกงของกัมพูชา ซึ่งการลากเส้นที่แตกต่างกันของทั้ง 2 ชาติ นำมาสู่การเกิดพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตร
โดยนอกจากการประกาศเขตไหล่ทวีปแล้ว ฝ่ายไทยยังสร้างประภาคารและจัดตั้งหน่วยทหารบนเกาะกูด และส่งกำลังพลออกลาดตระเวนตามแนวเขตไหล่ทวีป เพื่อแสดงท่าทีให้ชัดว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ของไทย อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่มีการค้นพบแหล่งปิโตรเลียม (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ในพื้นที่อ่าวไทย ซึ่งรวมถึงพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลดังกล่าว แต่กัมพูชาต้องเผชิญสถานการณ์ความรุนแรงภายในประเทศ กว่าจะสงบได้จริงๆ ก็ล่วง
เข้าสู่ประมาณปี 2535 หรือ 2536
อย่างไรก็ตาม การเจรจาของทั้ง 2 ชาติไม่คืบหน้า เพราะกัมพูชาต้องการเพียงนำทรัพยากรพลังงานขึ้นมาใช้เท่านั้นโดยตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กับไทย แต่ไม่ต้องการพูดคุยกับไทยเรื่องเส้นเขตไหล่ทวีป โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญกัมพูชาไม่อนุญาตให้เปลี่ยนแปลงเขตแดน แต่ไทยย้ำเสมอว่าต้องเจรจาคู่กันทั้งเรื่องเส้นเขตแดนและเรื่องพลังงาน กระทั่งเกิด MOU44 ขึ้น ซึ่งตนมองว่า ด้านหนึ่งกระทรวงการต่างประเทศของไทยต้องการรักษาหลักการ แต่อีกด้านก็ต้องโอนอ่อนผ่อนตามกระทรวงพลังงานและฝ่ายการเมืองที่เห็นประโยชน์ของการนำปิโตรเลียมมาใช้
ทั้งนี้ ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ การบอกว่าเกาะกูดเป็นของไทย ไม่ได้หมายความเฉพาะตัวเกาะที่มีน้ำล้อมรอบเท่านั้น แต่เกาะกูดยังมีทะเลอาณาเขตของตนเอง รวมถึงในบางกรณียังมีไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตนเอง ซึ่งเป็นไปตาม อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ค.ศ.1982 ข้อ 121 เรื่องนี้ต้องจับประเด็นให้ถูก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นแผนที่ที่กัมพูชาลากเส้นผ่านเกาะกูด หรือแผนที่เดินเรือฝรั่งเศสที่ลากเส้นจรดขอบเกาะกูดฝั่งตะวันออก จากนั้นเว้นไว้แล้วลากใหม่ที่ขอบเกาะกูดฝั่งตะวันตกไปทางอ่าวไทย
หรือแม้แต่ MOU ปี 2543 ที่เขียนแผนที่โดยลากเส้นเว้าเป็นรูปตัวยู (U) ล้อมเกาะกูดทางทิศใต้ล้วนไม่ถูกต้องทั้งสิ้น ซึ่งที่กล่าวมานี้คือเส้นด้านบนที่ลากออกจากหลักเขต 73 ไปทางทิศตะวันตกก่อนจะวกลงทิศใต้เกิดเป็นเส้นด้านข้างและด้านล่าง หากเส้นด้านบนนั้นไม่อาจยอมรับได้แล้วเส้นด้านล่างและด้านข้างจะมาได้อย่างไร ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า MOU44 ไทยไม่ได้ยอมรับการลากเส้นของกัมพูชาว่าถูกต้อง เพียงแต่ยอมรับการมีอยู่ของเส้นดังกล่าวเพื่อเจรจากัน แต่หากมาทำความเข้าใจ MOU2544 จะแบ่งพื้นที่ทับซ้อนเป็น 2 ส่วน
ซึ่งการแบ่งนี้ใช้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือ เพื่อแบ่งการเจรจาใน 2 เรื่อง โดยพื้นที่เหนือเส้นให้เจรจาการแบ่งเขตแดน ส่วนพื้นที่ใต้เส้นคือเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ แต่กำหนดให้ต้องเจรจาทั้ง 2 เรื่องควบคู่กัน จะแยกกันไม่ได้ ตรงนี้ก็เป็นความฉลาดของกระทรวงการต่างประเทศ แต่ MOU44 ก็มีข้อเสีย เพราะมุมหนึ่งแม้กระทรวงการต่างประเทศหรือนายกรัฐมนตรีจะบอกว่าไทยไม่ได้ยอมรับความถูกต้องของเส้นที่กัมพูชาลาก จึงไม่มีผลใดๆ ทางกฎหมาย
แต่อีกมุมหนึ่งก็สามารถมองได้ว่า ลำพังเพียงยอมรับการมีอยู่ของเส้นที่กัมพูชาลาก แม้ไทยจะไม่ยอมรับความถูกต้องของเส้นนั้น หากมีกรณีพิพาทจนต้องนำไปสู่การตัดสินทางกฎหมายในอนาคต กัมพูชาอาจหยิบยกไปอ้างอิงได้ว่าไทยยอมรับโดยปริยาย หรือเจอกับหลักกฎหมายปิดปากดังกรณีของศาลโลกในปี 2505 เรื่องเขาพระวิหาร ที่มีปัญหาเรื่องแผนที่ฝรั่งเศสอัตราส่วน1 : 200,000 ระวางดงรัก หรือแผนที่ภาคผนวก (Annex) 1 ที่เวลานั้นฝ่ายไทยชี้แจงว่านำมาบรรจุไว้เพื่อเจรจาแต่ไม่ได้ยอมรับ
อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดศาลโลกได้ตัดสินว่า การที่ฝ่ายไทยรับแผนที่ฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปี 2451 (ค.ศ.1908) โดยไม่ทักท้วงในทันทีหรือทักท้วงในเวลาต่อมาเท่าที่จะทำได้ รวมถึงกรณีที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จฯ ไปเขาพระวิหาร เห็นมีการชักธงชาติฝรั่งเศส ในปี 2472 แต่ก็ไม่ได้ทักท้วง เท่ากับไทยยอมรับแผนที่นั้นโดยปริยาย ตามหลักกฎหมายปิดปาก
“เราก็มีประสบการณ์สูญเสียมาแบบนั้นแล้ว ก็เป็นธรรมดาอยู่ที่ผู้ที่มีความคิดเห็นต่างเขาจะไม่อยากให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกรณีปราสาทพระวิหารอีก แต่ว่าหนักไปกว่านั้นก็คือการมีเส้นเขตไหล่ทวีปที่แตกต่างกันของ 2 ชาติ ผมว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สามารถจะเจรจากันได้ เพียงแต่ฝ่ายที่เขาไม่เห็นด้วยว่าเราไม่ควรจะไปยอมรับเส้นปี 2515 ของกัมพูชามาแสดงไว้ ก็เพราะมันเป็นเส้นที่กัมพูชาทำนอกกฎหมายอย่างชัดเจน และเป็นเส้นที่มารุกล้ำอธิปไตยของเกาะกูดและน่านน้ำไทยอย่างชัดเจน” นายคํานูณ กล่าว
นายคํานูณ กล่าวต่อไปว่า ไทยไม่ควรรับเส้นดังกล่าว แต่ต้องให้กัมพูชาไปขีดเส้นมาใหม่โดยเคารพอธิปไตยของไทยและสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ โดยหากกัมพูชาทำแล้วยังมีพื้นที่ทับซ้อนอยู่อีกก็ค่อยมาเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์กัน ซึ่งตนเชื่อว่าพื้นที่ทับซ้อนไม่น่าสูงถึง 26,000 ตารางกิโลเมตร ฝ่ายที่เห็นต่างจะมองแบบนี้ โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่สยามยอมเสียเมืองเสียมราฐ พระตะบองและศรีโสภณให้ฝรั่งเศส แลกกับเมืองจันทบุรีและตราด ซึ่งรวมถึงเกาะกูด ส่งผลให้แผ่นดินไทยสามารถมีเส้นไหล่ทวีปเกือบจะโอบล้อมอ่าวไทยได้ทั้งหมด
ในทางกลับกัน กัมพูชาแทบจะไม่มีทางออกมาถึงกลางอ่าวไทยได้เลย จากที่กัมพูชาจะเป็นรัฐตรงกันข้ามชายฝั่งทะเลกับไทยทางด้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ การมีเกาะกูดทำให้กัมพูชาเป็นเพียงรัฐประชิดชายฝั่ง คืออยู่ติดกัน ดังนั้นการที่กัมพูชาจะมามีสิทธิ์ในเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยที่มีแหล่งทรัพยากร ก็จะต้องลากเส้นผ่านกลางเกาะกูดโดยใช้เหตุผลนานาประการ เพื่อไปสู่จุดกึ่งกลางอ่าวไทยแล้ววกลงทิศใต้ โดยสรุปแล้ว “ข้อเสียของ MOU44” ประกอบด้วย 1.ทำให้เกาะกูดหรือทะเลอาณาเขตรอบๆ เกาะกูด ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการเจรจา
2.เข้าข่ายยอมรับเส้นที่กัมพูชาลากไปโดยปริยาย 3.สารัตถะ ใน MOU44 เป็นคุณต่อกัมพูชามากกว่าไทย อย่างพื้นที่เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือ หากอ้างอิงกฎหมาย UNCLOS1982 กัมพูชาแทบไม่มีทางสู้ไทยได้เลย แต่กัมพูชาสามารถใช้เงื่อนไขพื้นที่เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือ ต่อรองกับไทยเรื่องพื้นที่ใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือได้ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายอยากได้ทรัพยากรพลังงานในพื้นที่นี้เท่ากัน แต่ต้องเจรจา 2 พื้นที่พร้อมกัน
“มันก็อาจมีคำพูดประมาณว่าถ้าไทยอยากให้ลากเส้นพ้นเกาะกูดไกลๆ เลย ก็ได้นะ แต่เรื่องตกลงผลประโยชน์ปิโตรเลียมข้างล่างจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็กลายเป็นเงื่อนไขซึ่งกันและกัน นี่ก็คือส่วนบน ในขณะที่ส่วนล่างมันหลุดจากกรอบกฎหมายระหว่างประเทศที่เราได้เปรียบไปเลย แล้วที่สำคัญคือเส้นทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งก็เป็นเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชา ปี 2515 ที่ประกาศออกมา พอใต้เส้น 11 องศาเหนือลงมาเราจะไม่มีการเจรจาเขตแดน เราบอกเป็นการเจรจาผลประโยชน์ แต่เราไปยอมรับเส้นนี้มาในฐานะเป็นเส้นขีดกรอบของพื้นที่ที่จะแบ่งปันผลประโยชน์ หรือที่เรียกว่า JDA ทันทีเลย” นายคํานูณ ระบุ
นายคํานูณ ยังกล่าวอีกว่า แม้ไทยจะไม่ได้ยอมรับเส้นที่กัมพูชาลากในฐานะเส้นเขตแดน แต่ก็ยอมรับมาเป็นเส้นแบ่งปันผลประโยชน์ที่ต้องแบ่งกัน คำถามคือรับด้วยพื้นฐานอะไร จากของของเราที่ควรจะเป็นมากกว่านี้ ทำไมจะต้องแบ่งให้เขาด้วย ไม่ใช่ว่าเรางก “ลองนึกถึงบ้าน 2 หลังติดกันแต่ไม่ได้ล้อมรั้ว จู่ๆ เพื่อนบ้านมาบอกว่าสนามหญ้าหน้าบ้านเราเป็นของเขา เมื่อเราคัดค้านไปเพื่อนบ้านก็บอกว่าหากเป็นเช่นนั้นก็ไม่เจรจาแบ่งสนามหญ้ากันคนละครึ่ง แบบนั้นเราเสียแต่เขาได้” นี่คือประเด็น
ซึ่งข้อเสียของ MOU44 ประการต่อมาคือ 4.ทำให้กัมพูชาได้เจรจาส่วนแบ่งที่ในบางกรณีไม่ควรได้เป็นเจ้าของในกรณีที่ประกาศเส้นอย่างถูกต้อง กลับกันคือไทยจะเสียในส่วนที่ควรได้มากกว่านี้ ดังนั้นการไปยึดสารัตถะของ MOU44 จึงมีคำถามว่าไทยยอมสละความได้เปรียบตามกฎหมาย UNCLOS หรือไม่ เรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นที่สามารถถกเถียงกันได้
ในขณะที่ข้อดีของ MOU44 จะมีอยู่ 2 ข้อ คือ 1.ทำให้มีกรอบการเจรจา ซึ่งทั้งกระทรวงการต่างประเทศและฝ่ายการเมืองชอบพูดกันมากว่าการเจรจาไม่ใช่มานั่งกินกาแฟกันแล้วใครอยากพูดอะไรก็พูดไป แต่ต้องมีกรอบ ซึ่งแน่นอนการมีกรอบเป็นสิ่งที่ดี แต่ตนก็มีคำถามว่าหากกรอบนั้นตั้งมาไม่ดีจะถือเป็นข้อดีหรือไม่ ซึ่งที่กระทรวงการต่างประเทศพยายามบอกว่าอย่ามอง MOU44 เป็นปีศาจร้าย ตนก็ไม่ได้มองแบบนั้นแต่มองตามความเป็นจริง
กับ 2.เป็น MOU ที่ไม่มีวันนำไปสู่การเจรจาได้สำเร็จ เพราะไปกำหนดให้ต้องทำทั้ง 2 เรื่อง คือการเจรจาแบ่งเขตแดนกับการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ทางพลังงาน ในขณะที่ทั้ง 2 ชาติ มีมุมมองแตกต่างกัน ลองย้อนมองไปในปี 2544 อันเป็นยุคที่ MOU44 เกิดขึ้น แล้วรัฐบาลยุคนั้นก็อยู่ต่อมาอีกหลายปี ถามว่าเหตุใดจึงไม่มีความคืบหน้า ตนเห็นแต่ข่าวการแบ่งปันผลประโยชน์ มีแผนผังต่างๆ ออกมา แต่เรื่องเส้นเขตแดนยังไม่เห็นว่ากัมพูชาจะยอมรับอะไร
ซึ่งขนาดรัฐบาลยุคนั้นมีบารมีมากก็ยังไม่สำเร็จ แต่รัฐบาลยุคปัจจุบันบารมีไม่เท่ากับปี 2544 จะทำอะไรก็เห็นถูกจับผิดกัน ดังนั้นก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อรัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ในส่วนของฝ่ายไทย ก็ต้องดูว่าจะตั้งเมื่อใด และตั้งเสร็จแล้วจะเริ่มเจรจาเมื่อใด เจรจากันอย่างไร จะคืบหน้าอย่างไร ในขณะที่ภาคประชาชนตื่นรู้มากขึ้น อาจจะถูกประณามว่าคลั่งชาติ แต่การที่ประชาชนยิ่งรู้และถกเถียงกันมากเท่าไรก็ยิ่งดี ตนก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะอยู่ได้นานเพียงใด หรือแม้จะอยู่ได้ครบวาระ การเจรจาจะคืบหน้าเพียงใด
“ถ้าการเจรจาไม่สำเร็จมันก็เป็นข้อดี ก็คือไม่มีใครได้-ใครเสีย เราก็ไม่เสียอะไร เราก็ยึดเส้นของเรา เขาก็ไม่เสียและไม่ได้อะไร ก็ยึดเส้นของเขาไป อาจจะมองว่าเสียคือทั้ง 2 ชาติก็ไม่ได้ใช้ปิโตรเลียม แต่เรื่องนี้เป็นอีกสกุลความคิดหนึ่ง ต้องเอาคุณรสนา (รสนา โตสิตระกูล อดีต สว. กรุงเทพฯ) มานั่งพูดก็คือถ้าได้ใช้ปิโตรเลียมจริง ประชาชนได้จริงๆ เท่าไร? จะได้ใช้ก๊าซใช้น้ำมันถูกลงเท่าไร? ในขณะที่กลุ่มทุนพลังงานจะร่ำรวยขึ้นเท่าไร? อันนั้นเป็นอีกกรณีหนึ่ง” นายคํานูณ กล่าวทิ้งท้าย
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ