เจรจาการค้า/รอหมีแพนด้า
‘อิ๊งค์’ถก‘สี จินผิง’
กระชับสัมพันธ์‘ไทย-จีน’
รับมือป้องกันภัยพิบัติ
ร่วมประชุมเอเปกชื่นมื่น
ชูภาคธุรกิจ/ประชาชน
“นายกฯอิ๊งค์” ทวิภาคี “สี จิ้นผิง” ยืนยันสนับสนุนไทยในเวทีระดับโลกทุกมิติพร้อมแชร์ประสบการณ์อุตสาหกรรมสมัยใหม่ระหว่างกันเพื่อเศรษฐกิจไทยเติบโต เตรียมเปิดการนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มส่วน “แพนด้ายักษ์” มาไทยแน่นอนปีหน้า พร้อมอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจากปักกิ่ง ประดิษฐานท้องสนามหลวง 4 ธ.ค.
เมื่อวันที่ 15 พ.ย.67 เวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงลิมา ประเทศเปรู ซึ่งช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง) โรงแรม Delfines Hotel Lima นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบหารือทวิภาคีกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันความพร้อมของไทยที่จะร่วมมือกับจีน ทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรอบเอเปค ซึ่งไทยยินดีสนับสนุนจีนเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี พ.ศ. 2569 และพร้อมให้การต้อนรับประธานาธิบดีและภริยา ในโอกาสงานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์จีน-ไทย ครบรอบ 50 ปี ในปีหน้านี้ซึ่งถือเป็นปีทองของมิตรภาพไทย-จีนอีกด้วย
ด้าน สี จิ้นผิง กล่าวถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และกล่าวต่อไปว่า “จีน-ไทยมีมิตรภาพที่มีความพิเศษยิ่ง เรามีความร่วมมือที่ใกล้ชิดในทุกระดับ มาอย่างยาวนาน ซึ่งเชื่อว่าความสัมพันธ์ จีน-ไทย ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ที่มีความเจริญรุ่งเรืองที่ลึกซึ้ง และจะยิ่งมากขึ้นไปอีก 50 ปี โดยจีนและไทยจะขยายความร่วมมือทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรม และการศึกษา รวมทั้งวิทยาการใหม่ๆ ทั้งด้าน วิทยาศาสตร์ อวกาศ นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเชื่อว่าจะนำความเจริญรุ่งเรือง ให้กับทั้งสองประเทศและภูมิภาคได้”
นายกรัฐมนตรี กล่าวชี่นชมการพัฒนาด้านต่างๆของจีน รวมทั้ง นโยบายกำลังผลิตคุณภาพใหม่ (new quality productive force) ที่ทำให้จีนรุดหน้าอย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับหลักการพัฒนาด้านต่างๆของประเทศไทย ที่มุ่งส่งเสริมโลกาภิวัฒน์ ด้วยการค้าเสรีที่เปิดกว้างขึ้นโดยยึดมั่นในกฎกติกาของโลก
“ประเทศไทยพร้อมที่จะแลกเปลี่ยน และเรียนรู้ประสบการณ์การแก้ปัญหาความยากจนที่ประเทศจีนเคยประสบมาในอดีต รวมไปถึงนโยบายในการต่อสู้กับภัยธรรมชาติ เทคโนโลยีการผลิตคุณภาพใหม่ เทคโนโลยีอวกาศ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต รถยนต์ EV รวมไปถึงพลังสะอาดด้านอื่นๆ นอกจากนี้ ไทยยังพร้อมที่จะร่วมมือภายใต้แนวคิด Global Civilization Initiative (GCI) ที่จะส่งเสริม softpower เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวระหว่างกัน และขอขอบคุณจีนที่ให้การสนับสนุนประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่หรือ “BRICS” อีกด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ขณะที่ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ได้กล่าวยืนยันสนับสนุนไทยให้ไทยเป็นสมาชิก “BRICS” รวมทั้งการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในทุกระดับทั้ง การประชุมกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) การประชุมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) รวมทั้งพร้อมร่วมมือสาขาใหม่ๆ ระหว่างกัน เช่น พลังงานสะอาด เทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้ จีนยังยินดี นำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศไทย และพร้อมขยายการค้า การลงทุน และความร่วมมือด้านการศึกษา เยาวชน และการเชื่อมโยงระหว่างภาคประชาชน รวมทั้งการแก้ปัญหาอาญชญากรรมข้ามแดน และภัยออนไลน์ ต่างๆ ด้วย
นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้วจากกรุงปักกิ่ง มาประดิษฐานในไทยที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงในวันที่ 4 ธันวาคม นี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 นี้ ถือเป็นสิริมงคลยิ่งของคนไทยที่มีโอกาสได้สักการะ และวันนี้คนไทยยังตี่นเต้นที่จีนจะมอบ แพนด้ายักษ์ มาประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งเพี่อเป็นสัญลักษณ์ในโอกาส ครบรอบความสัมพันธ์ 50 ปี ไทย-จีนในปีหน้านี้ด้วย
นายกฯ ย้ำสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อช่วยเหลือกลุ่ม MSMEs ในอาเซียนกลางวงสภาที่ปรึกษาธุรกิจของเอเปกพร้อมขอความร่วมมือช่วยกันต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก หลังภาคเหนือของไทย และหลายประเทศในอาเซียน ประสบภัยธรรมชาติ
ขณะเดียวกัน ณ ห้อง San Borja ชั้น 1 Lima Convention Center กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ในช่วงอาหารกลางวัน (ABAC Dialogue with APEC Economic Leaders) โดย นายกรัฐมนตรี กล่าวในหัวข้อ “ประชาชน ภาคธุรกิจ และความรุ่งเรือง” (People. Business. Prosperity.)ว่า“ยินดีที่ได้มาร่วมกับสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ซึ่งหัวข้อของการประชุมของ ABAC ในปีนี้สอดคล้องกับหัวข้อการประชุม APECของเปรูที่ว่า “เสริมสร้างพลัง การมีส่วนร่วม และการเติบโตอย่างยั่งยืน”และตนสนับสนุนความคิดริเริ่มของเปรูในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลก (the transition to the formal and global economy) โดยแรงงานมากกว่าครึ่งของเอเปคมาจากเศรษฐกิจนอกระบบ จึงเป็นเรื่องที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ รวมทั้งบทบาทของการใช้ดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อสร้างการเข้าถึงอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะ ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ และกลุ่มที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับตัวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและมีความท้าทาย ในเรื่องต้นทุน และทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็น ดังนั้นการสนับสนุนผ่านโครงการเสริมสร้างศักยภาพโอกาส ในการเพิ่มทักษะและพัฒนาทักษะใหม่ๆตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างทั่วถึงจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่ง รัฐบาลไทยได้ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แน่ใจว่ามีมาตรการทางการเงินที่เหมาะสม“
นายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า นอกจากการค้า การลงทุน และการบูรณาการทางเศรษฐกิจ ยังมีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค นั่นก็คือการเติบโตทางนวัตกรรมทางการเงิน และระบบการชำระเงินดิจิทัลที่จะเป็นเครื่องมือช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ ได้ โดยประเทศไทย ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการวางระบบให้ประชาชนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน สามารถชำระเงินผ่านรหัส QR code ระหว่างกันได้แล้วซึ่งจะช่วยให้การทำธุรกรรม การเงิน ข้ามพรมแดน ได้อย่างสะดวกรวดเร็วอันเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจ ของแต่ละประเทศซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยัน สนับสนุนให้เอเปค พิจารณาโครงการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดนต่อไป เพื่อส่งเสริมระบบการเงินที่เสรี มีความปลอดภัยและแข่งขันได้
นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นถึงความยั่งยืน ที่จะเป็นแนวทางการเปลี่ยนแปลงที่เน้นประชาชนและโลกเป็นศูนย์กลางเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจาก ปีนี้โลกเผชิญกับสภาพอากาศ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง อย่างในภาคเหนือของประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก น้ำท่วม และดินถล่ม ในขณะที่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน จึงเป็นช่วงเวลาที่แต่ละประเทศต้องร่วมมือกันในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังยินดีที่เปรูผลักดันประเด็นสำคัญอย่างเช่น พลังงานสะอาด เช่นไฮโดรเจน และพลังงาน คาร์บอนต่ำ รวมถึงการป้องกันและลดการสูญเสีย และขยะอาหาร ซึ่งทั้งสองอย่างสอดคล้องกับเป้าหมายปฏิญญา กรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ของไทย พร้อมกล่าวชื่นชม National Center for APEC (NCAPEC) สำหรับการจัด Sustainable Future Forum เป็นปีที่สองติดต่อกันซึ่ง เป็นโอกาสดี ที่จะขับเคลื่อนและควรสนับสนุนถึงความพยายามเชิงนวัตกรรมและครอบคลุมจากภาคเอกชน องค์กร NGO และสถาบันการศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยนายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะดำเนินการต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี