เปิดเหตุผลทำไมไทยถึงเสียดินแดน ถ้าไม่ปักปันเขตแดน ก่อนเจรจาMOU44
17 พฤศจิกายน 2567 นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (อดีต สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...
ทำไมการดื้อเจรจาตามMOU2544แบ่งผลประโยชน์กัน
ถ้าไม่ปักปันเขตแดนทางทะเลไทย-กัมพูชาให้ถูกต้องยุติก่อน
จะทำให้ไทยเสียดินแดนรอบเกาะกูดและในอ่าวไทยอย่างแน่นอน
โดยขออ้างหลักฐานและข้อมูลที่ตรวจค้นปรากฏ ดังนี้
1) แผนที่สัมปทานพ.ศ.2510 ท้ายประกาศกระทรวงการพัฒนาการแห่งชาติ เรื่องการกำหนดเขตพื้นที่……ในการออกอาชญาบัตรผูกขาดสัมปทานปิโตรเลียมและการออกประทานบัตรทำเหมืองปิโตรเลียม ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 30 ม.ค. 2510 ทำให้กลุ่มทุนพลังงานที่มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลลอนนอลกำกับสั่งการให้ขีดเส้นแดนรุกล้ำเข้ามาในกลางอ่าวไทย เพื่อมีส่วนแบ่งหรือยึดแหล่งพลังงาน เพื่อเก็บไว้ใช้อ้างสิทธิ์ ฯลฯ
2) รัฐบาลลอนนอล ภายใต้กำกับของมหาอำนาจตะวันตกและกลุ่มทุนพลังงาน สั่งการให้ประกาศเส้นเขตแดนทางทะเลโดยไม่ได้ยึดหลักการตามกฎหมายทางทะเล ในราชกิจจากัมพูชา 1972ประกาศรุกเกาะกูดรุกล้ำน่านน้ำไทยชัดเจน โดยอ้างว่าทำตามสนธิสัญญา สยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 ที่ไทยยอมเสียดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ แลกจันทบุรี ตราดและเกาะกูดคืนจากฝรั่งเศส โดยกัมพูชาบิดเบือนตีเส้นเขตแดนทางทะเล พ.ศ.2515 แอบอ้างสนธิสัญญา ค.ศ.1907 ว่า ตีเส้นจากทางบกโดยใช้ยอดเขาสูงสุดบนเกาะกูดเป็นจุดเล็งผ่ากลางเกาะกูดเล็งไปทางจังหวัดประจวบคิรีขันธ์เกือบครึ่งอ่าวไทย ทั้งที่ข้อเท็จจริงในสนธิสัญญาค.ศ.1907 เป็นเรื่องตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงคือ เอกสารสนธิสัญญาระบุชัดว่า จุดสูงสุดบนเกาะกูดใช้เพื่อเล็งจากเกาะเข้าชายฝั่งทางทิศตะวันออก กำหนดว่าเส้นที่ลากไปโดนชายฝั่ง ใช้ชี้จุดแบ่งไทย-กัมพูชาเท่านั้น เพราะสมัย ร.5 ยังไม่มีกฎหมายพื้นที่ทะเล จึงเป็นไปไม่ได้ตามที่กัมพูชาอ้างสนธิสัญญาแล้วเล็งออกไปทะเล เส้นเขตแดนกัมพูชาพ.ศ.2515 จึงเป็นการอ้างโดยแกล้งเข้าใจผิด เพื่อตีเส้นไปยังแปลงสัมปทานปิโตรเลียมที่กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติของไทยกำหนดเขตอนุญาตให้สำรวจและจะออกประทานบัตรปิโตรเลียม เพื่อสร้างเหตุให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนที่ต้องมาเจรจากัน
ใช่หรือไม่
3) ทุกรัฐบาลไทย ปฏิเสธไม่ยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลที่กัมพูชาลากขึ้นโดยไม่มีกฎหมายทะเลใดๆ หรือสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาใดๆ รองรับ
ที่สำคัญคือในวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 ได้มีการประกาศพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ประกาศเขตแดนทางทะเลของไทย
โดยยึดหลัก สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส 1907และอนุสัญญาว่าด้วยทะเล อาณาเขตและเขตต่อเนื่อง ลงวันที่ 29 เมษายน 1958 หรือเรียกกันสั้นๆ ว่าอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป 1958 โดยลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 แบ่งพื้นที่เท่ากันระหว่างเกาะกูด(ไทย) และเกาะกง(กัมพูชา) แล้วลากตรงไปถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล แล้วลากเส้นเขตแดนทางทะเลไปยังทิศใต้ตามแนวเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลจนถึงเขตทะเลมาเลเซีย ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนที่ถูกต้องและยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
4) กองทัพไทยโดยเฉพาะกองทัพเรือได้ยึดถือเส้นเขตแดนทางทะเลตามพระบรมราชโองการวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 นี้มาโดยตลอดไม่เปลี่ยนแปลง ทุกรัฐบาลได้นำพระบรมราชโองการเขตแดนทางทะเลของไทยด้านอ่าวไทยประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 1 มิถุนายน 2516 จากวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 ถึงเดือนมกราคม 2544 เป็นเวลา 28 ปีเศษที่ทะเลไทยไม่เคยทับซ้อนกับทะเลกัมพูชา ผ่านนายกรัฐมนตรีถึง 13 คน จาก จอมพลถนอม กิตติขจร จนถึงนายชวน หลีกภัย
5) รัฐบาลทักษิณ ชนะการเลือกตั้งปี 2544 ได้รับโปรดเกล้าเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ต่อมาอีกเพียง 4 เดือนกับ 9 วัน ได้มีการลงนาม MOU 44 ระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยกับกัมพูชา ยอมรับว่าทะเลไทยกับทะเลกัมพูชาทับซ้อนกันเป็นพื้นที่มากกว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร ตามเอกสารประกอบใน MOU 2544
ทำให้ประชาชนชาวไทยวิตกกังวลว่าเรื่องนี้จะซ้ำรอยเสียดินแดนเช่นเดียวกับคดีเขาพระวิหาร
MOU 2544 จึงอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของวิกฤตการเมืองไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
6) แม้MOU2544 กระทรวงการต่างประเทศจะผูกเรื่องการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์แหล่งพลังงานต้องทำควบคู่กับการเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลที่ต้องตกลงกันได้อย่างถูกต้องและยอมรับกันได้ก็จริง แต่จากความไม่ไว้วางใจที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชัดเจนว่า การตีเส้นเขตแดนกัมพูชา2515 รุกมาในอ่าวไทย หลังไทยตีเส้นแบ่งตามแผนที่แปลงสัมปทานสำรวจและขุดเหมืองปิโตรเลียม2510ที่ประกาศ มค 2511คือสาเหตุที่ทุนพลังงานข้ามชาติ ต้องการเข้ามาฮุบแหล่งปิโตรเลียมของไทยผ่านอิทธิพลทางทหารและการเมืองในกัมพูชาขณะนั้น และการที่ปรากฏท่าทีชัดเจนจากนักการเมืองไทยบางกลุ่มที่มีความสัมพันธ์และประโยชน์ทับซ้อน คิดเอาผลประโยชน์ชาติไปแบ่งปันกัน
ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ไทยจะไม่เสียดินแดนทางทะเล อย่างแน่นอน ในการเจรจาที่รัฐบาลจะเดินหน้าต่อไปตามMOU2544 มีข้อเสนอเพื่อพิจารณา ดังนี้
1) ต้องเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเล ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสค.ศ.1907 อนุสัญญาว่าด้วยทะเล อาณาเขตและเขตต่อเนื่อง 1958 และ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ให้ได้ข้อยุติเสียก่อน
2) ควรแก้ไขปรับปรุง MOU2544 ให้ชัดเจน หรือ ยกเลิกMOU2544 ก่อน
เพื่อเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเล ให้ยุติก่อน จึงเริ่มการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ตามเส้นเขตแดนที่ถูกต้อง โดยจะมีMOUใหม่ หรือที่ปรับปรุงแก้ไขก็ได้
3) รัฐบาลต้องนำเรื่องMOU 2544 เดิม และกรอบการเจรจาของคณะกรรมการ JTC ที่ตั้งขึ้นใหม่เสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบหรือไม่ หรือกำหนดกรอบก่อนการเจรจาเพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายและขัดรัฐธรรมนูญ
สมชาย แสวงการ
อดีตสมาชิกวุฒิสภา
17 พ.ย.2567
ขอบคุณ ข้อมูลจาก พลรอ ถนอม เจริญลาภ ดร อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อดีต สว คำนูณ สิทธิสมาน พลรอ พัลลภ ตมิศานนท์ รวมถึงอดีตผู้รู้และสื่อมวลชนหลายท่าน
ที่มิได้เอ่ยนาม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี