"ภูมิธรรม"ร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) ครั้งที่ 18 และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 11 ระหว่าง 19 - 22 พ.ย.67 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมกำหนดแนวทางและขับเคลื่อนความมั่นคงในภูมิภาค สร้างเสถียรภาพ ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างรวดเร็ว พร้อมส่งเสริมความเชื่อมั่นและความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในอาเซียน
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 พลตรี ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กหเปิระทรวงกลาโหมเปิดเผยถึงการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ASEAN DEFENCE MINISTER’S MEETING (ADMM) ว่า เป็นกลไกการหารือที่สำคัญของรัฐมนตรีกลาโหมประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ครั้งที่ 18 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน 2567 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
การประชุม ADMM ถือว่าเป็นกรอบความร่วมมือที่สำคัญยิ่งในภูมิภาค เนื่องจากเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้นำระดับสูงฝ่ายกระทรวงกลาโหมของประเทศสมาชิกอาเซียนได้ทำความคุ้นเคย สร้างความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างความเป็นมิตร เพิ่มความไว้วางใจ และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังเป็นกลไกที่ได้สร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาความมั่นคง อีกหลายด้าน อาทิ การพัฒนาขีดความสามารถในการช่วยเหลือประชาชนในยามเกิดภัยพิบัติ การแพทย์ทหาร ความมั่นคงทางไซเบอร์ การต่อต้านการก่อการร้าย และการแพร่ขยายแนวคิดรุนแรง เป็นต้น
การประชุม ADMM เป็นกลไกหารือด้านการป้องกันประเทศระดับสูงของอาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค สร้างความเชื่อมั่นและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศ 10 ประเทศในอาเซียนสาระสำคัญของการประชุมฯ เพื่อยกระดับความร่วมมือทางทหารของอาเซียนให้เทียบเท่ากับความร่วมมือด้านการต่างประเทศและด้านเศรษฐกิจ ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ประกอบด้วยรัฐมนตรีกลาโหมประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และเลขาธิการอาเซียน (ปัจจุบันราชอาณาจักรกัมพูชาดำรงตำแหน่งอยู่)
สำหรับการประชุม ADMM ครั้งที่ 18 กับการประชุม ADMM-Plus ครั้งที่ 11 ที่ประชุมฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองโดยตระหนักถึงความท้าทายด้านความมั่นคงทั้งในปัจจุบันและอนาคตภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์การแข่งขันของประเทศมหาอำนาจและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และผลักดันความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา รวมทั้ง มีการปฏิสัมพันธ์กับภาคีภายนอกภูมิภาคอย่างครอบคลุมและสมดุล เพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นและความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนได้ให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมของการประชุมฯ ว่าด้วยเรื่องของผลกระทบจาก การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังได้เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์อาเซียน - เครือรัฐออสเตรเลีย ครบรอบ 50 ปี และความสัมพันธ์อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีครบรอบ 35 ปี รวมทั้งเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกา และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีน (อย่างไม่เป็นทางการ) ตลอดจนได้พบหารือทวิภาคีร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประเทศสมาชิกอาเซียนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประเทศคู่เจรจาได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา มาเลเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน และเครือรัฐออสเตรเลีย รวมทั้งเลขาธิการอาเซียน ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ และเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้ประโยชน์ คือ 1.ทำให้มีการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการใช้ทรัพยากรทางทหาร เพื่อรับมือกับ ความท้าทายรูปแบบใหม่ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อสวัสดิภาพ และความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน อาทิ การบรรเทาภัยพิบัติและการสนับสนุนทางการแพทย์ ความมั่นคงทางไซเบอร์ การต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดรุนแรงสุดโต่ง เป็นต้น
2.การประชุม ADMM เป็นกลไกสำคัญของการเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่น และความเป็นศูนย์รวม ของอาเซียน รักษาความเป็นมิตรและการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่ายอย่างสมดุล หลีกเลี่ยงการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ทำให้อาเซียนเป็นพื้นที่ซึ่งทุกฝ่ายสามารถเข้ามามีปฏิสัมพันธ์อย่างสะดวกใจ เพื่อส่งเสริม ให้อาเซียนสามารถเป็นภูมิภาคแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และการสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน อันจะส่งผลดี ต่อความมั่นคงปลอดภัย และการกินดีอยู่ดีของประชาชนในภูมิภาค
และ 3.การประชุม ADMM-Plus เสริมสร้างความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และระหว่างประเทศคู่เจรจาด้วยกัน ซึ่งภายใต้บริบทการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะระหว่างประเทศมหาอำนาจเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพ ความมั่นคง การอยู่ดีกินดี และการสร้างความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคและประชาชนในภูมิภาค
ซึ่งภายหลังการประชุมฯ เสร็จสิ้น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ส่งมอบการเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) ในปี 2568 ให้กับมาเลเซียต่อไป
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี