“ธีระชัย” ฟันธง “กิตติรัตน์” ขาดคุณสมบัติ ไม่สามารถนั่ง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” เหตุ “ที่ปรึกษาของนายกฯ” ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะงานที่ทำไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของนายกฯ เศรษฐา และเบิกค่าใช้จ่ายจากสำนักนายกฯ เตือนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ทั้งที่มีปัญหา เป็นเรื่องมิบังควร โป๊ะแตก! “เสี่ยนิด” พูดเอง “โต้ง” ขาดคุณสมบัติ ด้าน “รศ.ดร.เจษฎ์” แจง หากมีผู้ร้อง “อุ๊งอิ๊ง” อาจหลุดจากเก้าอี้นายกฯ เหมือนกรณีที่ “เศรษฐา” แต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน ลือสะพัด “เรืองไกร” เตรียมร้องเอาผิดคนเสนอชื่อ
18 พ.ย.67 เว็บไซต์ ผู้จัดการออนไลน์ ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ปัญหาการแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ พร้อมบทสัมภาษณ์ในมุมมองของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ในประเด็นที่ว่า นายกิตติรัตน์ ขาดคุณสมบัติหรือไม่?? และหากขาดคุณสมบัติ จะเป็นเช่นไร??
โดยบทวิเคราะห์ชี้ว่า หนึ่งในประเด็นร้อนขณะนี้คือเรื่องการแต่งตั้ง “ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย” หรือประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ซึ่งมีกระแสข่าวยืนยันว่าในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือก เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการตัดสินใจเลือก “โต้ง-กิตติรัตน์ ณ ระนอง” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ตัวเต็งจากพรรคเพื่อไทย ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย ด้วยเกรงว่าจะเป็นการส่งคนจากฝั่งการเมืองเข้าไปแทรกแซงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่สำคัญยังมีการทักท้วงว่านายกิตติรัตน์ ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากนายเขาเคยเป็น “ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี” นายเศรษฐา ทวีสิน โดยเพิ่งพ้นจากตำแหน่งมาไม่ถึง 1 ปี
แต่ทางด้าน นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ในฐานะประธานที่ทำหน้าที่คัดเลือกประธานบอร์ดและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ถือเป็นตำแหน่งทางการเมือง แต่ตำแหน่งของกิตติรัตน์คือ “ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี” ถือเป็นตำแหน่งส่วนตัว ซึ่งมิได้เป็นคุณสมบัติต้องห้ามในการเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
ขณะนี้สถานการณ์จึงยังอึมครึม คือเป็นการแต่งตั้งโดยไม่มีการประกาศรายชื่อ และจะเสนอรายชื่อดังกล่าวให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรับทราบ ในวันที่ 19 พ.ย.2567 เพื่อเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ส่วนว่า นายกิตติรัตน์ จะขาดคุณสมบัติหรือไม่? และหากขาดคุณสมบัติจะมีผลอย่างไรตามมา? คงต้องไปฟังความเห็นจากผู้รู้
ขาดคุณสมบัติหรือไม่?
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ชี้ว่า การที่นายกิตติรัตน์ เคยดำรงตำแหน่งเป็น ‘ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี’ (นายเศรษฐา ทวีสิน) นั้นชัดเจนว่านายกิตติรัตน์เป็น ‘ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ เนื่องจากเหตุผล 4 ประการ คือ
1.เป็นการแต่งตั้งโดยใช้อำนาจตามกฎหมายบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งการแต่งตั้งนายกิติรัตน์นั้นเป็นไปตามคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรีที่ 214/2566 เรื่องแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตามมาตรา 11(6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2535
2.ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในคำสั่ง เช่น ให้คำปรึกษา และพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่างๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารงานบ้านเมือง ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของนายกฯ
3.ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีมีอำนาจสามารถเรียกให้เจ้าหน้าที่มาชี้แจงในเรื่องต่างๆ โดยคำสั่งสำนักนายกฯ ระบุว่าให้ส่วนราชการสนับสนุนงานของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับการร้องขอ และให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
4.ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ โดยคำสั่งสำนักนายกฯ ระบุว่า ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบของราชการโดยให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขานายกรัฐมนตรี
“แน่นอนว่าคุณกิตติรัตน์ไม่ใช่ข้าราชการการเมือง เพราะไม่ใช่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แต่เป็น ‘ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี’ ซึ่งตำแหน่งนี้เข้าองค์ประกอบการเป็น ‘ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ อย่างชัดเจนเพราะทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบ้านเมือง ที่สำคัญคุณกิตติรัตน์ ยังพ้นจากตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกฯ ไม่ถึง 1 ปี คือเพิ่งพ้นจากตำแหน่งตอนที่คุณเศรษฐาหลุดจากตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 จนถึงปัจจุบันเท่ากับว่าไม่ถึง 3 ดือน จึงเข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” นายธีระชัย กล่าว
นอกจากนั้น แม้แต่ “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ยังเคยให้สัมภาษณ์ถึงการแต่งตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ว่า “ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของการแต่งตั้ง ตามกฎ ท่าน (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) เป็นไม่ได้ เพราะท่านเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ถ้าจะมาเป็นก็ต้องปลอดจากตำแหน่งไปแล้ว 1 ปี”
หากขาดคุณสมบัติ จะเป็นเช่นไร
ทั้งนี้ หลังจากที่คณะกรรมการคัดเลือกได้เลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา จากนี้จะส่งรายชื่อผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรับทราบ ในวันที่ 19 พ.ย.2567 เพื่อให้ รมว.คลังนำรายชื่อดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเมื่อ ครม.เห็นชอบแล้ว จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งต่อไป
นายธีระชัย กล่าวว่า ฝากเตือนไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรีทุกคนให้ระวังให้ดี เพราะสุดท้ายต้องนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ หากไม่ชัดเจนว่าประธานบอร์ดแบงก์ชาติขาดคุณสมบัติหรือไม่ การนำรายชื่อไปกราบบังคมทูลอาจเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
“ถ้าผมเป็น รมว.คลัง ผมจะเบรกเรื่องนี้ไว้ก่อน โดยจะทำการตรวจสอบซ้ำอีกครั้งให้แน่ใจว่าบุคคลที่กรรมการคัดเลือกเสนอชื่อมามีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ และถ้าเรื่องไปถึง ครม. แต่ดูแล้วมีความเสี่ยงหรือไม่ชัดเจนว่าคุณสมบัติถูกต้องหรือเปล่า ถ้าผมเป็น ครม.ก็จะยังไม่นำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูล ต้องตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งก่อน เพราะหากนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วภายหลังปรากฏว่าขาดคุณสมบัติ อาจจะเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการคัดเลือก รมว.คลัง คณะรัฐมนตรี ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่วนตัวผมเชื่อว่าถ้าคุณสมบัติไม่ชัดเจน ไม่มีใครกล้าเสนอ” นายธีระชัย กล่าว
ประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังจับตามองในขณะนี้คือ หากมีการนำเรื่องการแต่งตั้งนายกิตติรัตน์เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ภายหลังพบว่านายกิตติรัตน์ว่าขาดคุณสมบัติจะเกิดอะไรตามมา?
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ระบุว่า หากนายกิตติรัตน์ขาดคุณสมบัติแต่ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ และมีการนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ อาจจะมีคนเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ซึ่งคงดำเนินการในลักษณะเดียวกับกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ควรรู้ว่านายพิชิตขาดคุณสมบัติ
โดยขั้นตอนคือ ผู้ที่ต้องการเอาผิดกับคนที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ ไม่ว่าจะเป็น รมว.คลัง คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี สามารถยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวในการแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ ซึ่งขาดคุณสมบัติให้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ว่าจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ หาก กกต. ตรวจสอบแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องมีมูล กกต. จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไป
โดยเชื่อว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะยึดตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 21/2567 วันที่ 14 สิงหาคม 2567 กรณีที่ เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน ซึ่งขาดคุณสมบัติ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยศาลวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐาในฐานะนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) ส่งผลให้นายเศรษฐาต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ ครม.ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
“ในสมัยโบราณถ้านำอะไรที่ไม่ถูกต้องไปถวายพระมหากษัตริย์เนี่ย โดนตัดหัวนะ แต่สมัยนี้ไม่มีแล้ว ปัจจุบันมากสุดแค่พ้นจากตำแหน่ง กรณีนี้ถ้ามีคนจะเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ก็คงดำเนินการแบบเดียวกับกรณีที่นายกฯ เศรษฐาซึ่งแต่งตั้งคุณพิชิต โดยชี้ว่าขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยชี้ว่ามีคนท้วงติง รมว.คลังแล้วว่าคุณกิตติรัตน์ขาดคุณสมบัติ แต่คุณก็ไม่ฟัง คุณยังดึงดันเสนอชื่อคุณกิตติรัตน์เข้า ครม.ถ้า ครม.ไม่ฟังอีก นายกฯ อุ๊งอิ๊งยังลงนามและนำชื่อคุณกิตติรัตน์ขึ้นทูลเกล้าฯ จะซ้ำรอยคุณเศรษฐา” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีข่าวลือสะพัดว่า “นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ นักร้องในตำนาน ซึ่งเคยโค่น “นายสมัคร สุนทรเวช” พ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาแล้ว เตรียมที่จะยื่นคำร้องให้เอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ส่วนว่าจะเอาผิดใครบ้าง มีชื่อ “นายกฯ แพทองธาร” ด้วยหรือไม่ ก็คงต้องรอดูกันต่อไป!
ชี้ชัด “กิตติรัตน์” ทำงานให้ “เพื่อไทย”
ส่วนข้อครหาที่ว่าการแต่งตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยตั้งใจส่งคนของตัวเองเข้าไปแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาตินั้นก็เป็นเรื่องที่ยากจะปฏิเสธ เพราะตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ผ่านมาชัดเจนว่านายกิตติรัตน์มีความเกี่ยวพันกับ “พรรคเพื่อไทย” ชนิดที่เรียกว่าแยกกันไม่ออก โดยจากข้อมูลพบว่านายกิตติรัตน์มีบทบาทสำคัญในพรรคเพื่อไทยมาอย่างต่อเนื่อง
- ต.ค.2555 นายกิตติรัตน์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยมติจากที่ประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทย
- วันที่ 7 พ.ค.2556 นายกิตติรัตน์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี พร้อมกับ ครม.ทั้งคณะในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เนื่องจากศาลเห็นว่าคณะรัฐมนตรีมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นชอบกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยมิชอบ
- ปี 2560 นายกิตติรัตน์ ขึ้นศาลเบิกความคดีจำนำข้าว โดยเป็นพยาน ชี้แจ้งถึงเหตุผลในการจัดทำโครงการดังกล่าว
- ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 นายกิตติรัตน์ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 11 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
- ปี 2563 นายกิตติรัตน์ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
- ปี 2564 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด นายกิตติรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กับพวก ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยละเว้นไม่ควบคุมดูแลหรือสั่งการให้มีการตรวจสอบ กรณีองค์การคลังสินค้าคัดเลือกบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ให้เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้ BULOG ประเทศอินโดนีเซีย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- ก.ย.2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามแต่งตั้งให้นายกิตติรัตน์ ดำรงตำแหน่งปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โดยคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 2566
อย่างไรก็ดี แม้นายกิตติรัตน์จะถูกมองว่าเป็นคนของพรรคเพื่อไทย อีกทั้งที่ผ่านมายังมีท่าทีไม่พอใจการทำงานของแบงก์ชาติ แต่นักกฎหมายบางท่านมองว่าเป็นเรื่องยากที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติจะเข้าไปแทรกแซงการทำงานของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าแบงก์ชาติ) ได้
ขณะที่ในมุมของ “นายธีระชัย” กลับเห็นว่า แม้จะมีข้อกำหนดที่ป้องกันไม่ให้บอร์ดแบงก์ชาติเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่อาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะนอกจากประธานบอร์ดจะมีอำนาจดูแลการบริหารงานทั่วไปของแบงก์ชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานและงบประมาณ และประเมินผลการดำเนินการของ ธปท. แล้วยังมีหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของ ‘ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ และกำหนดข้อบังคับว่าด้วยการเสนอชื่อ การพิจารณา และการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการใน ‘คณะกรรมการนโยบายการเงิน’ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีกด้วย
ส่วนว่าปัญหาในการแต่งตั้ง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” จะจบลงอย่างไร และจะส่งผลต่อเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ “แพรทองธาร ชินวัตร” หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป!!
ขอบคุณข้อมูล ผู้จัดการออนไลน์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี