‘วิทยา’หนุนปรับเกณฑ์‘ประชามติ’แก้รัฐธรรมนูญ ลดเพดาน‘สว.’ใช้ทางสายกลาง ประเมินนักการเมืองอยากแก้รัฐธรรมนูญ ให้ยื่นแก้รายมาตรา
20 พฤศจิกายน 2567 นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ให้สัมภาษณ์ต่อการนัดประชุม กมธ. เพื่อลงมติในความเห็นต่างระหว่าง สส. และสว. ต่อหลักเกณฑ์การผ่านประชามติ ว่า ตนสนับสนุนในแนวทางที่ต้องกำหนดเกณฑ์ให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ส่วนเสียงเห็นชอบเรื่องที่ทำประชามตินั้นให้ถือเสียงข้างมาก ซึ่งเป็นแนวทางที่ลดเพดานหลักเกณฑ์ที่ สว.เสนอ ที่กำหนดให้ต้องมีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเสียงผ่านประชามติต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ ขณะเดียวกันคือ เพิ่มเพดานจากหลักเกณฑ์ที่สส. เสนอที่ระบุให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง
“ผมมองว่าการทำประชามติเป็นเรื่องสำคัญ จำเป็นต้องมีประชาชนออกมาใช้สิทธิระดับพอสมควร โดยตามหลักการสากลคือต้องได้ครึ่งหนึ่ง เช่น มีผู้มีสิทธิ 42 ล้านคน ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ 21 ล้านคน ส่วนเสียงที่จะผ่านประชามติ ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นฝ่ายชนะ หากเห็นชอบชนะให้แก้ ก็แก้ หากไม่เห็นชอบก็ไม่ต้องแก้ ดังนั้นหากใช้แบบพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาชนที่เสนอบอกว่าจะออกมาใช้สิทธิเท่าไรไม่เกี่ยว ยึดเสียงข้างมากก็เกินไป เช่นมีคนมีสิทธิประชามติ 60 ล้านคน แต่มีคนออกมา 5 ล้านคน แบบนี้ไม่ใช่ประชามติ” นายวิทยา กล่าว
นายวิทยา กล่าวว่า ในการพิจารณาของกมธ.ร่วมนั้น โดยปกติสามารถแก้ไขเนื้อหาเพิ่มเติมจากเนื้อหาที่เขียนไว้ในร่างกฎหมายได้ อย่างไรก็ดีหากยังเห็นไม่ตรงกัน ต้องใช้มติเพื่อตัดสิน เพื่อหาผู้ชนะ ทั้งนี้ตนมองว่าในประเด็นดังกล่าวสามารถขยับ หรือประนีประนอมกันได้
เมื่อถามว่าการแก้ไขกฎหมายประชามติที่เห็นต่างอาจทำให้ยืดกรอบการแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายวิทยา กล่าวว่า เรื่องแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องด่วน ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่มีประชาชนเรียกร้อง มีแต่พรรคการเมืองที่เสนอกันเอง ขณะเดียวกันนักการเมืองไม่เคยบอกว่าจะแก้ไขเรื่องอะไร มีแค่บอกว่าต้องการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ไม่เอารัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการ
“กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญต้องเดินไปตามกระบวนการ และทำตามระบบประชามติ ส่วนจะประชามติกี่รอบ ต้องเป็นไปตามขั้นตอน แม้จะได้ สสร. มาแก้รัฐธรรมนูญ อาจจะแก้ได้บางส่วน อีก 90% อาจเป็นของเดิม ดังนั้นหากเขาอยากแก้ไขจริง ควรเสนอมาทีละเรื่อง ผมเชื่อว่าหากเสนอแก้ทีละเรื่องได้ คงเสร็จไปแล้ว ดังนั้นหากจะเอาทั้งชามทีเดียว ยกซดอาจลวกคอได้ หากจิบทีละคำ ก็สามารถกินได้ ดังนั้นอยู่ที่หลักคิดว่า ต้องการแค่คำว่ารัฐธรรมนูญประชาธิปไตย มาแทนที่รัฐธรรมนูญฉบับประยุทธ์เท่านั้น” นายวิทยา กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี